วิกฤติเชื่อมั่น เขย่าบัลลังก์ "ผู้จัดการ ตลท."
ย้อนกลับไปในช่วงที่เกิดเหตุล้วงไส้โบรกเกอร์ ในวันที่ 10 พ.ย.2565 "หุ้น MORE"ซื้อขายผิดปกติ เฉพาะกลุ่ม เหตุจากนักลงทุนซื้อขายบัญชีมาร์จิ้น ว่าง่ายๆคือกู้เงินโบรกเกอร์มาซื้อ รวมมูลค่ากว่า 4 พันล้านบาท เรื่องมาแดงเพราะนักลงทุนผิดนัดชำระค่าหุ้น
ทาง ตลท. , ก.ล.ต. และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.)ร่วมพิจารณาหลายครั้งจนนำไปสู่การอายัดทรัพย์กว่า 5 พันล้านบาท พร้อมกล่าวโทษบุคคลรวม 32 ราย ฐานร่วมกันสร้างราคาหุ้นในช่วงวันที่ 18 ก.ค.-10 พ.ย.2565 และเหตุการณ์นี้ทาง "บล.เอเชียเวลท์"ได้นำเงินลูกค้าไปจ่ายค่าหุ้น MORE ซึ่งปกติทุกโบรกฯต้องกันเงินส่วนลูกค้าออกไปจากเงินทุนของบริษัท ท้ายที่สุด ก.ล.ต.ได้สั่งเพิกถอนใบอนุญาต
ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก เกิดวิกฤติเลขลวงตา การตกแต่งบัญชีขั้นเทพชนิดที่ใครก็ดูไม่ออก นั่นก็คือ "หุ้น STARK"ที่มาด้วยสตอรี่ Backdoor Listing โดย "SMM"ที่มีกลุ่มทุนใหม่"วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ"ทายาทคนโตอาณาจักรสีเข้ามาถือหุ้นใหญ่ จากนั้น SMM ได้ซื้อกิจการ "Phelps Dodge" ทำธุรกิจสายไฟฟ้า
พอดีลทุกอย่างสำเร็จ SMM ก็ชุบร่างใหม่ในชื่อ "STARK" จากธุรกิจสื่อ เปลี่ยนเป็นธุรกิจขายสายไฟฟ้า ขยายการเติบโตในประเทศที่ต้องการใช้ไฟค่อนข้างสูง โหนกระแสรถEVกับสตอรี่ซื้อหุ้น LEONI ซึ่งทำธุรกิจผลิตสายไฟฟ้ารถยนต์ EVและสายไฟฟ้าที่ใช้ในสถานีชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์ EV ประเทศเยอรมนี เสริมเรื่องราวน่าเชื่อถือ พร้อมออกเพิ่มทุนขาย PP และออกหุ้นกู้
แต่กลิ่นก็เริ่มโชย ข่าวปิดดีล LEONI เงียบ ท้ายที่สุดก็ล้มดีล อีกทั้งเลื่อนส่งงบการเงิน แถมผู้บริหารทยอยลาออก จน ตลท.แขวนหุ้นห้ามซื้อขายยาวนาน
กระทั่ง STARK กลับมาเปิดซื้อขายชั่วคราวในเดือน มิ.ย.66 ทำราคาหุ้นดิ่งหลายฟลอร์ พร้อมกับความจริงที่ว่า เกิดการลับ ลวง พราง งบปี 63-65 ขาดทุนหนัก มีการสร้างรายได้และลูกหนี้เทียม สร้างบาดแผลให้นักลงทุนในทุกมิติ โดนทั้งราคาหุ้นทิ้งดิ่งและหุ้นกู้ที่ไม่เหลืออะไรเลย มูลค่าเสียหายกว่า 5 หมื่นล้าน และดูเหมือนว่ามหากาพย์ STARK ยังคงรอบทสรุปที่ชัดเจนอีกเช่นกัน
เหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นสร้างกระแสความไม่พอใจต่อการเทคแอคชั่นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ตลท. และ ก.ล.ต. ในมุมผู้เสียหายถือว่ายัง "ล่าช้า" ส่งผลทำให้เกิดมูลค่าความเสียหายครั้งนี้ เรียกว่า "มหาศาล"
เท่านั้นยังไม่พอ เกิดเหตุจับเสือมือเปล่าในตลาดหุ้นไทย ปรากฎการณ์มือมืด(อีกแล้ว) กระทำการ "Naked Short Selling" ไม่มีหุ้นก็ Short ได้แบบไม่จำกัด
แถมไม่มีใครสามารถจับมือผู้กระทำผิดมาดมงมหาต้นตอได้จนถึงทุกวันนี้ เพราะแม้แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องยังคงยืนยันว่าไม่ปรากฎพบเจอการกระทำผิดใดๆและยอมให้เกิดเรื่องร้ายแรงแบบนั้นไม่ได้เพราะมันผิดกฎหมาย ผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์ โลกช่างสวนทางกับข้อมูลจากนักลงทุนทุกวงการที่ออกมายืนยันเสียงหนักแน่นว่า มี!!!
นักลงทุน รู้!! คนในวงการลงทุน รู้!! แต่คนกำกับดูแล ไม่รู้!!!
ทั้งๆที่หากพิจารณารายชื่อ "คณะกรรมการบอร์ด ตลท." นำโดย 1. ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการ 2. นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย รองประธานกรรมการ
3. ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ , 4. ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ , 5. ดร.กุลภัทรา สิโรดม , 6. นายธิติ ตันติกุลานันท์ , 7. นายไพบูลย์ นลินทรางกูร
8. นายศุภโชค ศุภบัณฑิต , 9. นางสาวโสภาวดี เลิศมนัสชัย , 10. ดร.อนุชิต อนุชิตานุกูล และ 11. ดร.ภากร ปีตธวัชชัย
บอร์ดทั้ง 11 ท่านถือเป็นผู้ที่ชำนาญการ เก่งกาจ และคร่ำหวอดในวงการตลาดทุน ตลาดหุ้นมาอย่างยาวนาน แต่ทำไมถึงเกิดเหตุวัวหายแล้วล้อมคอกแทบทุกครั้ง!!
ถึงขั้นเกิดการตั้งคำถามว่า นี่ถึงเวลาที่ต้องทบทวนและปลดระวาง ทั้ง "คณะกรรมการ และ ผู้จัดการ" ตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือไม่ ? เพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างให้ทันยุค ทันสมัย กระชับฉับไว ทันทุกเหตุการณ์ กล้าบล็อคทุกความเสี่ยงที่จะสร้างวิกฤติ พร้อมความชัดเจนที่จะยืนหยัดเคียงข้างนักลงทุนไทย เดินหน้าทุกทางที่จะสร้างความมีเสถียรภาพให้กับตลาดหุ้นไทย
เพราะหากไม่เร่งรีบดำเนินการใดๆแล้วไซร้ กระแสข่าวปรับโครงสร้างใหม่ในการประชุมบอร์ด ตลท.ครั้งหน้า อาจจะเห็นหน้าตาคนนั่งเก้าอี้ที่เปลี่ยนไปและอาจเห็นว่านเครือเพื่อไทยขึ้นมาคุมเก้าอี้สำคัญๆแทน โดยไม่ต้องรอให้ครบวาระใดๆก็เป็นได้ ด้วยเหตุเป็นที่ประจักษ์แล้ว ทั้ง วอลุ่มการซื้อขายที่เคยมากกว่า 5 หมื่นล้านบาท เหลือเพียง 3 หมื่นกว่าล้าน และคงไม่มีใครอยากเห็นตัวเลขลดลงไปมากกว่านี้
แม้สาเหตุที่ทำให้ตลาดหุ้นร่วงต่ำนั้นเกิดจากหลายเหตุปัจจัยเข้ามาถาโถม จะเฝ้าโทษ "ใคร" คงไม่ได้ แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่ามีส่วนที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อมั่นที่มีต่อบริบทของผู้คุมตลาด ป้อมปราการสำคัญที่หวังเป็นที่พึ่งพาได้เช่นกัน
อีกทั้งยังไร้การปกป้องนักลงทุนไม่ให้เกิดความเสียหายที่ยังไม่มากพอ ความไม่เชื่อมั่นกระจายสู่วงกว้าง แถมโรบอทถล่มหุ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ความมั่งคั่งนักลงทุนหดหาย ทิ้งไว้เพียงตัวเลขสถิติที่เคยทำได้เพียงเท่านั้น
"วิกฤติศรัทธาตลาดหุ้น" ครั้งนี้ถือเป็นความท้าทาย "ผู้จัดการ" ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทั้งคนที่ดำรงอยู่และคนใหม่ที่อาจจะเข้ามานั้นต้องเร่งฟื้นความเชื่อมั่น ฟื้นแรงศรัทธาให้กลับมาให้ได้ในเร็ววัน ถือเป็นโจทย์สำคัญสำหรับการเป็น "ผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย"
ประวัติ "ดร.ภากร ปีตธวัชชัย"
ดร.ภากร ปีตธวัชชัย ดำรงตำแหน่งกรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) คนที่ 13 ถือเป็นการต่ออีกวาระหนึ่ง เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 จากเดิมที่ครบวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2565
การศึกษา :
- Doctoral of Business Administration in Finance and Economics, Boston University ประเทศสหรัฐอเมริกา
- Master of Business Administration, Finance Major, University of Wisconsin ประเทศสหรัฐอเมริกา
- วิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต (อิเล็กทรอนิกส์) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หลักสูตรนักบริหาร
- Columbia Senior Executive Program, Columbia University ประเทศสหรัฐอเมริกา
ประกาศนียบัตรหลักสูตร :
1. Director Certification Program
2. Director Accreditation Program และ
3. Corporate Governance for Capital Market Intermediaries สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย
ประกาศนียบัตรหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านวิทยาการพลังงาน สถาบันวิทยาการพลังงาน
หลักสูตรผู้บริหารระดับสูง สถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.) รุ่นที่ 12
ตำแหน่งงานอื่นในปัจจุบัน การดำรงตำแหน่งกรรมการในบริษัทจดทะเบียน :
ไม่มี
ตำแหน่งงานอื่นในปัจจุบัน การดำรงตำแหน่งในบริษัทจำกัดหรือกิจการอื่น :
กรรมการ คณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทย
กรรมการและเลขานุการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย
กรรมการ กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน
ประธานกรรมการ บริษัท สำนักหักบัญชี (ประเทศไทย) จำกัด
ประธานกรรมการ บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด
ประธานกรรมการ บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด
ประธานกรรมการ บริษัท ซีเอ็มดีเอฟ โครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล จำกัด
รองประธานกรรมการ บริษัท ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
รองประธานกรรมการ บริษัท เซ็ท เวนเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด
อนุกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืน อนุกรรมการบริหารความเสี่ยง อนุกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศ และอนุกรรมการกฎหมาย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
กรรมการและเลขานุการ มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ประสบการณ์การทำงาน :
ประธานกรรมการ บริษัท ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย จำกัด
ประธานกรรมการ บริษัท เซ็ทเทรด ดอท คอม จำกัด
ประธานกรรมการ บริษัท ฟินเน็ต อินโนเวชั่น เน็ตเวิร์ค จำกัด
ประธานกรรมการ บริษัท ไลฟ์ฟินคอร์ป จำกัด
รองประธานในคณะทำงานกลุ่มตลาดหลักทรัพย์เกิดใหม่และกรรมการ สมาพันธ์ตลาดหลักทรัพย์โลก
รองผู้จัดการ สายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร และสายงานการเงินและบริหารเงินลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
รองผู้จัดการ สายงานการตลาด ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายการเงิน บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด
ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ หัวหน้ากลุ่มงานบริหารการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
กรรมการ และประธานคณะกรรมการการจัดการลงทุน บริษัท ไทยพาณิชย์นิวยอร์คไลฟ์ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)
ณ วันนี้ ต้องยอมรับว่าการออกมาแสดงจุดยืนและบทบาทหน้าที่ของผู้จัดการและบุคลากรต่างๆของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)มีมากขึ้น แทบจะพูดได้ว่าแสดงถึงความจริงใจในเบื้องต้นที่ว่า "ตลาดหลักทรัพย์ฯ" ไม่ใช่ "ตลาดลักทรัพย์" อย่างที่ใครเคยพูดไว้ แต่คือหน่วยงานที่ยืนหยัดเคียงข้างนักลงทุนไทยอย่างแท้จริง
และนับจากนี้หวังใจว่าจะเห็นแอคชั่นอย่างทันท่วงที ไม่ว่าจะเกิดอะไร หรือไม่เกิดอะไรก็ตาม นักลงทุนไทยจะเห็น "ผู้จัดการตลาด"ขยับอย่างทันท่วงที โดยเฉพาะมาตรการสกัดมิจฉาชีพทุกรูปแบบ ไม่ให้ใครสามารถใช้ช่องโหว่ทางกฎหมาย หรือ ช่องโหว่ในกฎเกณฑ์ต่างๆ เข้ามาเอารัดเอาเปรียบ ล้วงไส้นักลงทุนไทยได้ อีกต่อไป
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.