กูรูประสานเสียงเศรษฐกิจยังไม่วิกฤติแต่อ่อนแอฝากรัฐดันจ้างงานเพิ่ม

ภายในเสวนาโต๊ะกลม หัวข้อ Economic Forum by Krungthepturakij : Thailand Crisis? ซึ่งมีกูรูเศรษฐกิจมาร่วมให้ความเห็นและฉายภาพเศรษฐกิจไทยว่าอยู่ในภาวะวิกฤติหรือไม่ ทั้งดร.บัณฑิต นิจถาวร ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล และอดีตรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ นักเศรษฐศาสตร์ และที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ในฐานะนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) และกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO)

ร่วมด้วยนายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด  ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์  และนายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) 

ทั้งนี้สืบเนื่องจากที่บรรดาฝั่งรัฐบาลและนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกมาตอกย้ำก่อนนี้ว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤติจนต้องเร่งออก พ.ร.บ. กู้เงิน 5 แสนล้าน เพื่อเดินหน้านโยบายแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ตนั้น

กูรูเศรษฐกิจที่ร่วมวงเสวนาต่างมองว่า แม้เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องเมื่อพิจารณาจากตัวเลขต่าง ๆ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) ประมาณการณ์ เพียงแต่ยังติดกับดักเติบโตไม่เต็มที่ตามศักยภาพ ด้วยยังขาดความสามารถในการผลิต ขณะที่ด้านนโยบายของภาครัฐเอง ก็ยังไร้การสร้างแรงจูงใจต่อภาคการผลิต ดังที่ดร. บัญฑิตให้ความเห็นว่า แบงก์ชาติยังให้ข้อมูลเรื่องความเสี่ยงที่รออยู่ข้างหน้าน้อยเกินไปหน่อย  

ด้านดร.ศุภวุฒิ มองเรื่องวิกฤติเศรษฐกิจว่าต้องจำแนกให้ดีว่าเป็นประเด็นไหน แต่โดยส่วนตัวมองว่าครั้งนี้เป็นเรื่องการฟื้นตัวช้าอย่างมาก โดยเฉพาะหลังจากผ่านการแพร่ระบาดของโควิด-19 มาแล้ว แต่ประเทศไทยมีเศรษฐกิจขยายตัวเพียง 1.5% แม้ทั่วโลกเติบโตถึง 2.8%

ทั้งนี้ด้วยปัจจัยสำคัญน่าจะมากจาก เครื่องยนต์ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญลดต่ำลง เช่น การลงทุนในประเทศ การส่งออก ฯลฯ เช่นเดียวกับที่แม้ไทยมีตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล แต่เม็ดเงินที่มีอยู่กลับไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และมีภาระหนี้ภาครัฐสูงถึง 62% ของจีดีพีรวม ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วเมืองไทยควรจะมีการเติบโตของจีดีพีได้ถึง 5% 

ด้านดร.สมประวิณ ให้ความเห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีความไม่แน่นอนในหลายมิติและมีความเปราะบางสูง ดังนั้นถือว่าไม่ได้ป่วยแต่อ่อนแอ หรือกำลังมีความเสี่ยงมากขึ้นหากมีปัจจัยลบมากระทบอย่างรุนแรงก็จะทรุดได้นั่นเอง  

สำหรับนายทิมนั้นมองว่า ด้วยเศรษฐกิจไทยไม่ได้โตชัดเจนหรือถดถอยชัดเจน  แต่ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศหรือ FX มีความผันผวน อีกทั้งความไม่ชัดเจนของนโยบายเศรษฐกิจ อีกทั้งให้ความเห็นต่อว่าตัวเลขเศรษฐกิจไทยตีความยากและไม่สะท้อนความจริง เพราะแม้จะมีตัวเลขบางส่วนที่เติบโตแต่ก็มาจากฐานที่ต่ำ เช่น ตัวเลขการส่งออก ทั้งนี้มองว่าจีดีไทยควรโตมากกว่า 2.4% สำหรับปีนี้ และ 3.8% ในปีหน้า จึงถือว่าไม่ดีนักเพราะจริง ๆ ด้วยฐานที่ต่ำในอดีตควรเติบโตสูงกว่าประมาณการณ์ที่แบงก์ชาติระบุ 

สำหรับนายบุรินทร์ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ถ้าเศรษฐกิจไทยโตตามศักยภาพที่แท้จริงแล้วนั้น ตัวเลขจีดีพีควรโตเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3% ดังนั้นในมุมมองของเขาจึงถือว่าอยู่ในสภาวะอาการป่วยแต่แค่ยังไม่ตาย ซึ่งเปรียบเหมือนคนป่วยที่ไม่รักษาตัวตามแพทย์แนะนำ โดยสะท้อนจากตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่เติบโตไม่ดีจริงอย่างที่ควร เช่น การท่องเที่ยว การส่งออก เป็นต้น

ขณะที่นายไพบูลย์ระบุว่า แม้เศรษฐกิจไทยไม่ได้เติบโตทุกภาคส่วน หรือ K shape  เช่น ธุรกิจ SME กำลังแย่มาก ๆ ขณะที่บางภาคธุรกิจก็ดีขึ้น แต่โดยส่วนตัวมองว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่วิกฤติ ด้วยปัจจุบันสถาบันการเงินก็ยังแข็งแรงดีและทุนสำรองสูง แม้แต่อสังหาริมทรัพย์ก็ยังไม่ได้มีปัญหาอะไรรุนแรง ตลอดจนการชำระหนี้ก็ยังปกติดีอยู่ อย่างไรก็ตามมองว่าตลาดหุ้นไทยมีวิกฤติศรัทธาที่อาจจะนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจในอนาคตได้ แต่ยอมรับว่าภาพรวมถือว่าอ่อนแออย่างแน่นนอน และศักยภาพในการขยายตัวก็ลดลงไปเรื่อย ๆ 

"ยิ่งดูบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ถือว่าไม่วิกฤติเลย ยิ่งเมื่อเป็นการฟื้นตัวแบบ K shape ยิ่งเป็นโอกาสของบริษัทขนาดใหญ่ที่ไม่ได้ค้าขายแค่ในประเทศเท่านั้น" นายไพบูลย์กล่าว

เปิดข้อเสนอต่อรัฐบาล

ด้านนายบัณฑิตมองว่าโจทย์ที่เคยคิดเมื่อ 7-8 เดือนก่อนไม่สอดคล้องกับเศรษกิจในปัจจุบัน แต่ต้องผลักดันให้ไทยมีความสามารถในการหารายได้มากขึ้น และให้มองภาพระยะยาว ให้ฟื้นจากความเจ็บป่วยและอ่อนแอ ต้องยกระดับการลงทุนของประเทศให้สูงขึ้น ลดข้อจำกัดและอุปสรรคในการลงทุนในไทยสำหรับนักลงทุนต่างประเทศ เพราะหากยังมีข้อจำกัดต่าง ๆ ก็ไม่จูงใจให้เอกชนมาลงทุน ซึ่งจะเห็นว่าตัวเลขการลงทุนภาคเอกชนไม่เติบโตติดกันมาหลายปีแล้ว ทำให้ไม่เกิดการขยายตัวทางเศรฐกิจที่ยั่งยืน 

เช่นเดียวกับที่ดร.ศุภวุฒิ ก็แนะนำว่าหากรัฐจะพึ่งพาอุปสงค์ในประเทศ ก็จำเป็นต้องกระตุ้นให้นายทุนมองว่าเศรษฐกิจในประเทศจะเติบโตอย่างยั่งยืน 

สำหรับความเห็นของนายไพบูลย์กล่าวว่า ก่อนจะดึงเม็ดเงินลงทุนเอกชนมาได้ ต้องให้เกิดตลาดหรือสร้างกำลังซื้อเพียงพอก่อนด้วยการเพิ่มรายได้ให้กับภาคประชาชน แล้วค่อยสร้างแรงจูงใจหรือ intensive โดยเฉพาะการออกมาตรการแก้หนี้นอกระบบถือว่าเดินมาถูกทางแล้วต้องทำให้สำเร็จก่อนจึงจะสร้างกำลังซื้อในประเทศได้

นอกจากนี้ยังต้องการให้รัฐบาลแก้ไขให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นภาคบังคับ เพื่อให้เกิดการออมมากกว่าปัจจุบันที่มีสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพียง 1.8 ล้านคนทั้งที่มีคนในระบบการจ้างงานสูงกว่า 44 ล้านคน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ประเทศในระยาวที่คนเกษียณ.มีเงินเลี้ยงดูตัวเองได้

ส่วนเรื่องโครงการแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต เป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น อยากให้ใส่เงินไปในเรื่องที่สร้างศักยภาพและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้มากกว่านี้ 

"ฝากให้รัฐบาลกระตุ้นการลงทุนระยะยาวของรายย่อยและนักลงทุนสถาบันในตลาดหุ้นไทยมากกว่านี้ เช่นการสนับสนุนให้เกิด TESG LTF และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ"

นายบุรินทร์เน้นย้ำว่ารัฐบาลควรแก้ไขปัญหาด้านการศึกษาให้ถูกทาง เช่น การพัฒนาครูที่มีคุณภาพมากกว่าเน้นที่ปริมาณ รวมถึงการแก้ไขเรื่องการดำเนินธุรกิจที่ง่ายและชัดเจนขึ้น แต่การสร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนเข้ามาต้องสร้างให้ไทยเป็นที่หนึ่งในภูมิภาคให้ได้ก่อน 

"อยากเห็นรัฐบาลดึงแรงงานที่มีทักษะสูงเข้ามา แต่ตอนนี้ด้วยกฎเกณฑ์ต่าง ๆดูแลเหมือนเป็นนักโทษ และน่าจะใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีมาช่วยสร้างแรงจูงใจด้วย"

ทั้งนี้ดร.บัณฑิตได้ฝากการบ้านถึงรัฐบาลว่า ผู้ทำนโยบายว่าต้องพูดคุยร่วมกันเพื่อแก้ปัญหา อย่าต่างคนต่างทำ จะได้รู้ว่าต้องแก้ปัญหาอย่างไรให้ถูกจุดและตรงเป้าหมาย โดยน่าจะเริ่มสำรวจสำมะโนประชากรีครั้งใหม่ เร่งการสร้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้คนมีงานทำทั่วประเทศ ท้ายสุดคือสร้างแรงจูงใจเพื่อดึงเงินลงทุนโดยตรง ด้วยการแก้ไขและลดพวกต้นทุนแฝงต่าง ๆ ให้แก่ภาคเอกชน 

ท้ายสุดด้านนายทิมให้มุมมองเรื่องโครงการแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต 1 หมื่นบาทอีกว่า ต้องมีทิศทางชัดเจนและดำเนินนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนต้องวางแนวทางใช้คืนเงินกู้ 5 แสนล้านให้ถูกต้องด้วย

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.