JKN ขู่หากไม่ได้รับอนุมัติเข้าแผนฟื้นฟูฯ เสี่ยงปิดกิจการ-หุ้นไร้มูลค่า

คุณแอน-จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จํากัด (มหาชน) หรือ JKN เปิดเผยว่า บริษัทได้จัดประชุมเพื่อให้ข้อมูลแก่ผู้ลงทุนและผู้ที่เกี่ยวข้อง (Public Presentation) ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-Meeting) เมื่อวันที่ 28 พ.ย.2566 เนื่องจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ขึ้นเครื่องหมาย C บนหลักทรัพย์ของบริษัท เมื่อวันที่ 13 พ.ย.2566 กรณียื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง เมื่อวันที่ 8 พ.ย.2566 และศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัท เมื่อวันที่ 9 พ.ย.2566 นั้น 

ทั้งนี้ บริษัทขอรายงานสรุปสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ดังนี้

ที่มาของปัญหาในการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ

ณ วันที่ 31 ส.ค.2566 บริษัทได้ออกหุ้นกู้ ซึ่งยังไม่ครบกำหนดไถ่ถอนจำนวน 7 ชุด รวม 3,360.20 ล้านบาท ต่อมาบริษัทจัดการสภาพคล่องไม่เป็นไปตามแผน ทำให้บริษัทผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้รุ่น JKN239A การผ่อนผันการชำระหนี้ รวมถึงการเลื่อนหรือเปลี่ยนแปลงระยะเวลาการชำระหนี้หุ้นกู้ดังกล่าวตามมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ครั้งที่ 1/2566ในวันที่ 27 ก.ย.2566 ถือเป็นเหตุให้ผิดสัญญาหุ้นกู้รุ่นอื่นๆ ทั้ง 6 รุ่น นอกจากนี้ ยังถือเป็นเหตุให้เกิดการผิดสัญญาหุ้นกู้แปลงสภาพ และหนี้เงินกู้จากสถาบันการเงินด้วย

ในการนี้ บริษัทจึงมีความจำเป็นต้องพิจารณาจัดประเภทหนี้สินใหม่ โดยจัดประเภทหนี้สินประเภทหุ้นกู้หุ้นกู้แปลงสภาพและหนี้เงินกู้จากสถาบันการเงิน เป็นหนี้สินหมุนเวียนทั้งจำนวน ณ วันที่ 30 ก.ย.2566 ทำให้หนี้สินหมุนเวียนสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียนมาก ยิ่งทำให้บริษัทขาดสภาพคล่องจำนวนสูง

แนวทางแก้ไขปัญหา

- บริษัทได้ว่าจ้างที่ปรึกษาการเงินมาช่วยทำแผน : ด้วยคำแนะนำของกรรมการจาก Morgan Stanley ที่เห็นว่าบริษัทควรจ้างบริษัทที่ปรึกษาการเงินจากภายนอกที่มีประสบการณ์มาช่วยวางแนวทางการแก้ไขปัญหาต่างๆ ต่อมาเมื่อวันที่ 15 ก.ย.2566 บริษัทจึงได้แต่งตั้ง บริษัท เคพีเอ็มจี ภูมิไชย ที่ปรึกษาธุรกิจ จำกัด (KPMG) ให้เป็นที่ปรึกษาการเงินของบริษัท 

KPMG ได้นำเสนอตัวเลือกของการชำระคืนหุ้นกู้แก่ตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้ ซึ่งรวมไปถึงการนำเสนอตัวเลือกที่มีระยะเวลาการจ่ายชำระหนี้ที่อาจใช้เวลาถึง 8 ปี ขึ้นอยู่กับความสามารถในการหาแหล่งเงินทุนใหม่ โดยมีความตั้งใจที่จะนำข้อเสนอแนะของตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้ที่มีต่อแผนการชำระหนี้หุ้นกู้มาสรุปในการประชุมตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้วันที่ 8 พ.ย.2566 และในวันที่ 6 พ.ย.2566 KPMG ได้สรุปความเห็นของตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้และนำเสนอตัวเลือกในการชำระเงินคืนให้แก่บริษัท เพื่อให้คณะผู้บริหารตัดสินใจตามดุลยพินิจในลำดับต่อไป

- บริษัทได้พยายามหาเงินมาชําระหุ้นกู้ : ตั้งแต่ปลายเดือน ก.ย.2566 บริษัทได้เข้าเจรจากับนักลงทุนจำนวน 3 กลุ่ม เพื่อเพิ่มทุน รวมถึงการขายสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน และหาแนวทางการทำธุรกิจต่างๆ โดยในเดือน ต.ค.2566 ที่ผ่านมา ได้มีการเจรจากับนักลงทุนต่างๆ กัน ตลอดทั้งเดือน แต่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปที่จะหาเงินทุนมาชำระหุ้นกู้ได้ บริษัทจึงมีความจำเป็นต้องยุติการเจรจาในวันที่ 30 ต.ค.2566

- บริษัทขาดสภาพคล่องที่จะชำระหนี้สิน จึงยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ : แม้ในงบการเงิน บริษัทจะมีทรัพย์สินพอควร แต่ทรัพย์สิน 67% ของทรัพย์สินทั้งหมดเป็นทรัพย์สินไม่มีตัวตน ซึ่งไม่สามารถแปลงมาเป็นเงินสด เพื่อชำระหนี้ได้ทันเวลาและในการเจรจากับผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้และผู้จัดจำหน่ายหุ้นกู้ในวันที่ 8 พ.ย.2566 ทาง KPMG ได้ร่วมกับบริษัทในการจัดการประชุมเพื่อหาข้อสรุปในการชำระคืนหุ้นกู้ 

โดยที่ประชุมเห็นว่า ผู้ถือหุ้นกู้มีแนวโน้มที่จะไม่ยินยอมการชำระคืนหนี้ยาวนานถึง 8 ปี แต่หากต้องการรับเงินคืนภายใน 3 ปี บริษัทมีความเห็นว่าจะไม่สามารถดำเนินการตามแผนดังกล่าวได้ เมื่อผลการประชุมเข้าเงื่อนไข บริษัทจึงตัดสินใจยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางตามแผนที่ได้รับจากที่ปรึกษาการเงิน (โดยไม่ได้แจ้งที่ปรึกษาการเงินก่อนที่จะยื่นคำร้องฯ) ในวันที่ 8 พ.ย.2566 ตามที่ได้รับมติจากคณะกรรมการในคืนวันที่ 7 พ.ย.2566 โดยศาลล้มละลายกลางรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทในวันที่ 9 พ.ย.2566 และบริษัทเข้าสู่สภาวะการพักชำระหนี้ทั้งหมดของบริษัท (Automatic Stay) ไปจนกว่าศาลล้มละลายกลางจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ทั้งนี้ การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการเป็นทางออกที่เหมาะสมที่สุดและเป็นวิธีการแก้ปัญหาเพียงช่องทางเดียวที่บริษัทมีในเวลานั้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อบริษัท และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

ขั้นตอนและกรอบระยะเวลาโดยประมาณ

สำหรับกรอบระยะเวลาดำเนินการเป็นการประมาณการเบื้องต้น ภายใต้สมมติฐานที่ดีที่สุดและภายใต้กรณีที่กระบวนการฟื้นฟูกิจการเป็นไปอย่างราบรื่น ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงในภายหลังขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ปัญหาและอุปสรรคที่อาจทำให้ไม่สามารถดำเนินการตามแผนได้ 

1. ความร่วมมือจากเจ้าหนี้เพื่อหาทางออกเกี่ยวกับการชำระหนี้ร่วมกัน
2. ความสามารถในการปรับเปลี่ยนสัดส่วนธุรกิจ จากธุรกิจ Content ไปเป็นธุรกิจใหม่ที่บริษัทได้เตรียมไว้
3. การหาพันธมิตร นักลงทุน ตลอดจนการจัดหาแหล่งเงินทุน
4. สภาพเศรษฐกิจโดยเฉพาะภายในประเทศ

ผลที่อาจเกิดขึ้นหากบริษัทไม่ได้รับการอนุมัติให้เข้าแผนฟื้นฟูกิจการ

1. ด้วยปริมาณหุ้นกู้ทั้งหมด หากเจ้าหนี้ทุกรายเรียกร้องบริษัทให้ชำระหนี้คืน บริษัทจะไม่มีเงินสดเพียงพอในการดำเนินธุรกิจอย่างแน่นอน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคู่ค้า และบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
2. บริษัทอาจจะต้องปิดกิจการหรือถูกฟ้องร้องจนไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ต่อไป และล้มละลาย อันจะทำให้ทุกฝ่ายเสียหายอย่างมาก
3. หุ้นของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะไม่มีมูลค่า ทำให้นักลงทุนและผู้ถือหุ้นได้รับผลกระทบ รวมถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
4. หากบริษัทต้องปิดดำเนินกิจการหรือไม่สามารถดำเนินการต่อได้ จะส่งผลกระทบต่อพนักงานของบริษัททุกคน

ผลจากการยื่นคำร้องเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ

1. บริษัทยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง ในวันที่ 8 พ.ย.2566 และศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัท ในวันที่ 9 พ.ย.2566 ทั้งนี้ ศาลได้นัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ในวันที่ 29 ม.ค.2567
2. บริษัทได้รับการคุ้มครองจากการเรียกร้องและฟ้องร้อง (Automatic Stay) จนถึงวันที่ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ทำให้บริษัทสามารถเตรียมแนวทางต่างๆ เพื่อวางแผนชำระหนี้ได้
3. บริษัทจะมีเวลาเพิ่มขึ้นในการเจรจากับผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้และผู้จัดจำหน่ายหุ้นกู้
4. เจ้าหนี้ทุกรายได้รับชำระหนี้อย่างเป็นธรรมทุกฝ่าย และบริษัทยังสามารถดำเนินธุรกิจได้ ซึ่งทำให้บริษัทยังรักษาคนและธุรกิจ อีกทั้งยังมีเวลาในการปรับตัวและพูดคุยกับคู่ค้าและเจ้าหนี้การค้าเพื่อทําธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง

ผู้ทำแผนตามที่เสนอในคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ

บริษัทได้เสนอให้ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จํากัด (มหาชน) เป็นผู้ทำแผน โดยอำนาจหน้าที่และสิทธิของผู้ทำแผนตามกฎหมายฟื้นฟูกิจการ ซึ่งจะตกแก่ผู้ทำแผนนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งผู้ทำแผน มีดังนี้

1. อำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของบริษัท
2. บรรดาสิทธิตามกฎหมายของผู้ถือหุ้นของบริษัท (ยกเว้นสิทธิที่จะได้รับเงินปันผล)
3. อำนาจในการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท

การทำธุรกิจคอนเทนต์ (Content) มีความเฉพาะเจาะจงและต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งบริษัทได้ดำเนินธุรกิจนี้มีผลกำไรมาโดยตลอด โดยเฉพาะการบริหารทรัพย์สินไม่มีตัวตน ทั้งการขายในประเทศและต่างประเทศ บริษัทจึงมีความพร้อมทั้งความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการทำธุรกิจ

บริษัทขอยืนยันว่า บริษัทมีเจตนาที่ดีในการชำระหนี้สินให้แก่เจ้าหนี้ทุกฝ่าย โดยการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการของบริษัทจะช่วยให้บริษัทแก้ไขปัญหาสภาพคล่องของบริษัทได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีกฎหมายรองรับและให้ความคุ้มครองแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างเป็นธรรม อีกทั้งบริษัทยังสามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้ในระหว่างที่อยู่ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ เพื่อการแก้ไขปัญหาของบริษัท และเพื่อสร้างผลกำไรจากการดำเนินกิจการต่อไปในอนาคตได้อย่างมั่นคง

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.