เงินบาททยอยอ่อนค่าคู่ดัชนีหุ้นไทยหลุด1,400จุดต่างชาติเทขายไม่ยั้ง
สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
เงินบาททยอยอ่อนค่าลง หลังจากตัวเลขจีดีพีของไทยในไตรมาส 3/66 ชะลอลงและต่ำกว่าที่ตลาดคาด (จีดีพีไทยขยายตัวเพียง 1.5% YoY ในไตรมาส 3/66 ต่ำกว่า Bloomberg Poll ที่ 2.2% YoY และต่ำกว่า 1.8% YoY ในไตรมาส 2/66) นอกจากนี้เงินบาทและสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชียยังเผชิญแรงกดดันต่อเนื่องท่ามกลางแรงซื้อคืนเงินดอลลาร์ฯ หลังจากที่บันทึกการประชุมเฟดสะท้อนว่า เฟดยังคงไม่ปิดโอกาสที่จะกลับมาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หากอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ยังไม่กลับไปอยู่ที่ระดับเป้าหมาย
เงินบาทอ่อนค่าลงต่อเนื่องจนถึงช่วงปลายสัปดาห์ โดยมีปัจจัยลบเพิ่มเติมจากสัญญาณขายสุทธิในตลาดพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงอาจจะมีแรงซื้อเงินดอลลาร์ฯ ในช่วงใกล้สิ้นเดือนของกลุ่มผู้นำเข้า
ในวันศุกร์ที่ 24 พ.ย. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 35.45 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 35.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (17 พ.ย.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 20-24 พ.ย. 2566 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 6,289 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 2,608 ล้านบาท (ยอดซื้อสุทธิพันธบัตร 1,037 ล้านบาท แต่มีตราสารหนี้หมดอายุ 3,645 ล้านบาท)
สัปดาห์ถัดไป (27 พ.ย.-1 ธ.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 34.90-35.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมกนง. (29 พ.ย.) ตัวเลขการส่งออกและเครื่องชี้เศรษฐกิจเดือนต.ค. ของไทย รวมถึงสัญญาณเงินทุนต่างชาติ
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ อัตราเงินเฟ้อที่วัดจาก PCE/Core PCE Price Index ยอดขายบ้านที่รอปิดการขายเดือนต.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ข้อมูล ISM และ PMI ภาคการผลิตเดือนพ.ย. ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/66 (prelim.) รายงาน Beige Book ของเฟด และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามข้อมูล PMI ภาคการผลิตเดือนพ.ย. ของจีน อังกฤษและยูโรโซนด้วยเช่นกัน
สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย
ดัชนีหุ้นไทยหลุดแนว 1,400 จุดในช่วงปลายสัปดาห์ ทั้งนี้หุ้นไทยแกว่งตัวในกรอบแคบในช่วงแรก โดยแม้จะมีปัจจัยลบจากตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/66 ของไทยที่ออกมาต่ำกว่าคาด แต่ก็ยังมีปัจจัยบวกจากการที่ตลท. ส่งสัญญาณคุมเข้มการทำ Naked Short Selling
อย่างไรก็ดี ดัชนีหุ้นไทยทยอยปรับตัวลงตั้งแต่ช่วงกลางสัปดาห์ หลังบันทึกการประชุมเฟดส่งสัญญาณว่า เฟดอาจจะมีการพิจารณาขึ้นดอกเบี้ยอีก หากเงินเฟ้อไม่เป็นไปตามเป้า ประกอบกับเผชิญแรงขายของหุ้นผู้ประกอบธุรกิจท่าอากาศยานจากความกังวลเกี่ยวกับผลประกอบการที่ออกมาต่ำกว่าคาด รวมถึงหุ้นกลุ่มพลังงาน หลังราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลงจากประเด็นการเลื่อนประชุมของกลุ่มโอเปกพลัส
ในวันศุกร์ที่ 24 พ.ย. ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,397.43 จุด ลดลง 1.30% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 36,617.56 ล้านบาท ลดลง 25.62% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 0.56% มาปิดที่ระดับ 400.18 จุด
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (27 พ.ย.-1 ธ.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,390 และ 1,375 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,415 และ 1,430 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขส่งออกเดือนต.ค. ของไทย การประชุมกนง. (29 พ.ย.) ทิศทางเงินทุนต่างชาติและการประชุมโอเปกพลัส (30 พ.ย.)
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคล ดัชนี PCE/Core PCE Price Index เดือนต.ค. ดัชนี ISM/PMI ภาคการผลิตเดือนพ.ย. จีดีพีไตรมาส 3/66 (prelim.) และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ กำไรบริษัทภาคอุตสาหกรรมเดือนต.ค. ของจีน ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพ.ย. (เบื้องต้น) ของยูโรโซน และดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนพ.ย. ของจีน ญี่ปุ่นและยูโรโซน
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.