ส่องผลงาน60วันของรัฐบาลเศรษฐา 1 ดูแลปากท้องประชาชนได้ดังหวังหรือไม่?

จากการแถลงผลงานรัฐบาลทำงานครบ 60 วันแรกในคืนวันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา พบว่าบรรดานโยบายด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการดูแลปากท้องของประชาชน ซึ่งคณะรัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสินเป็นผู้นำหรือรัฐบาลเศรษฐา 1 นั้น พบว่าในหลายนโยบายที่ได้ Kick-off ไปแล้ว พอเอาเข้าจริงก็ดูจะไม่เกิดประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วยเท่าที่คาดหวัง ดังนั้นจึงทำให้เกิดทั้งกระแสวิจารณ์และข้อเท็จจริงที่ว่าเหล่านโยบายที่ปล่อยออกมา ผลตอบรับดูจะแผ่วหรือสร้างผลกระทบเชิงลบด้วยในบางเรื่อง

โดยเฉพาะนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย สำหรับรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีม่วง ซึ่งอาจถูกใจคนบางส่วนที่อยู่อาศัยหรือทำงานในพื้นที่เส้นทางเดินรถ แต่ก็มีหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญอย่าง ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ ออกมากระทุ้งและตั้งข้อสังเกตมากมายในทำนองไม่เห็นด้วยตั้งแต่ยังไม่เริ่มจนเกิดขึ้นจริง เพราะเหตุที่รถไฟฟ้าทั้งสายสีม่วงและสายสีแดงเองก็มีผลขาดทุนสะสมไว้มากมายอยู่แล้ว ยิ่งไปลดราคาค่าโดยสารก็ยิ่งกดให้รายได้หดหายไปและตัวเลขขาดทุนเพิ่มขึ้นอีก แม้ต่อมาทางกรมการขนส่งทางรางจะมาเปิดตัวเลขว่าสายสีแดงมียอดผู้โดยสารทุบสถิติใหม่ก็ตาม 

สำหรับผลงานที่เข็นโดยรัฐบาลเศรษฐา 1 ซึ่งมีแรงบันดาลใจจากเสียงบ่นของข้าราชการว่าขาดสภาพคล่องหรือมีรายได้ชักหน้าไม่ถึงหลัง จนนำไปสู่มติคณะรัฐมนตรี (ครม.)  เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 ให้ปรับเงื่อนไขการจ่ายเงินเดือนของข้าราชการ โดยสามารถแบ่งจ่ายเป็น 2 รอบ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป ตามความสมัครใจของขรก.แต่ละคน ที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นข้าราชการและลูกจ้างประจำที่อยู่ในระบบจ่ายตรงเงินเดือนและค่าจ้างประจำของกรมบัญชีกลาง (e-Payroll) จำนวน 230 หน่วยงาน 

ทั้งนี้นโยบายดังกล่าวก็ร้อนแรงตั้งแต่เริ่มมีข่าว จนจุดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง ดันขึ้นเทรนด์ของเอ็กซ์ (Twitter) ในชั่วข้ามคืนด้วยแฮชแท็ก #เงินเดือนข้าราชการ อย่างไรก็ตามในเรื่องนี้ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย สำหรับข้อดีก็คือแม้รายได้เท่าเดิมแต่การใช้จ่ายก็คล่องตัวขึ้นจากมีรายรับบ่อยครั้งขึ้น อาจทำให้ต้องไปหยิบยืมน้อยลง ส่วนข้อเสีย ก็คือเรื่องข้อจำกัดในเรื่องของการชำระหนี้ การคิดอัตราดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ ซึ่งหากใครแบกหนี้ก้อนโตพอตัดเงินเดือน (ที่ออกมาครึ่งเดียว) ชำระหนี้ก็คงแทบจะไม่เหลือไว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวันแล้ว เปรียบเหมือนการแก้ปัญหาแบบเกาไม่ถูกที่คันเท่าใดนัก 

อีกผลงานที่ถูกสกัดดาวรุ่งแบบไม่คาดคิด  คือนโยบายฟรีวีซ่าให้แก่หลายประเทศเพิ่มขึ้น ทั้งจีน คาซัคสถาน อินเดีย และไต้หวัน ด้วยหวังจุดพลังกระตุ้นการท่องเที่ยว ที่ตอนนี้แทบจะเป็นเครื่องยนต์ดันเศรษฐกิจตัวเดียวที่ยังพอมีแรงอยู่ ก็ถูกเหตุการณ์เยาวชนอายุ 14 ปี ที่กราดยิงในห้างพารากอนจนมีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 5 คนและมีผู้เสียชีวิต 3 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือนักท่องเที่ยวหญิงชาวจีน แต่อีกไม่นานก็ตามมาด้วยศึกฉนวนกาซาระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสที่ส่งแรงเหวี่ยงไปทั้งตลาดเงินและตลาดทุน จนลามไปถึงตลาดท่องเที่ยวด้วย

ทำให้ล่าสุดตัวเลขยอดนักท่องเที่ยวจีนในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้มีไม่ถึง 2.5 ล้านคน รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังปรับลดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติว่าฟื้นตัวต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้เล็กน้อย จากกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนชะลอลง เพราะระมัดระวังเรื่องการใช้จ่ายจากตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศจีน เช่นเดียวกับที่มีสื่อต่างชาติรายงานว่าตัวดึงยอดนักเที่ยวจีนมาจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัว กระแสข่าวลือที่ทำลายภาพลักษณ์เมืองไทยบนโซเชียลมีเดีย ภาพยนตร์สร้างความหวาดกลัว และเหตุกราดยิงในห้างสรรพสินค้าใจกลางกรุงเทพมหานคร

สำหรับนโยบายสุดฮ็อตที่หวังกระตุ้นการใช้จ่ายจากทั้งนักท่องราตรีและนักเที่ยวสายดื่ม โดยให้ขยายเวลาเปิดสถานบริการหรือสถานบันเทิง ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกระทรวงมหาดไทยและสถานบริการที่อยู่ในโรงแรม ภายในพื้นที่โซนนิ่ง 4 จังหวัดนำร่อง คือ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ภูเก็ต และชลบุรี ให้สามารถเปิดถึง 04.00 น. และสามารถขายสุราได้ตามใบอนุญาตที่มีอยู่ ซึ่งจะเริ่มจริงในวันที่ 15 ธันวาคม 2566 

ก็มีอดีตนักเที่ยวกลางคืนอย่าง นายวัน อยู่บำรุง อดีต สส.กทม. พรรคเพื่อไทย ออกมาให้ความเห็นและเตือนรัฐบาลว่าให้คิดให้ดีก่อน เพราะอาจได้ไม่คุ้มเสีย ยิ่งตอนนี้รสนิยมของกลุ่มนักเที่ยวสายดื่มเปลี่ยนไปแล้ว คือจะเริ่มประมาณ 2 ทุ่มแล้วเลิกที่ไม่เกินตี 2 เพราะจะไม่เริ่มดึกเหมือนก่อนนี้แล้วลากยาวถึงเช้า ดังนั้นจึงมองว่าปิดสถานบริการตอนตี 2 น่าจะเหมาะสมกับคนส่วนใหญ่อยู่แล้ว เพราะหากให้กินเวลาไปถึงตี 4 ก็มีโอกาสให้เกิดอุบัติเหตุตามท้องถนนเพิ่มได้ 

อีกกระแสที่มีคนตั้งคำถามคือ แนวทางปฏิบัติไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง ซึ่งจะทำให้นโยบายนี้ไม่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจจริงและอาจกลายเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่ทุจริตคอร์รัปชั่น นั่นคือแม้ให้เปิดสถานบริการหรือสถานบันเทิงถึงตี 4 แต่ให้จำหน่ายแอลกอฮอล์หรือนั่งดื่มได้แค่ตี 2 เท่านั้น จึงดูเหมือนผู้กำหนดนโยบายสับสนหรือไม่เข้าในพฤติกรรมนักเที่ยวกลางคืน ที่ส่วนใหญ่จะใช้เงินหรือสั่งมากขึ้นในช่วงใกล้ร้านปิด จึงทำให้เกิดเสียงค้านหรือมองว่าไม่ปรับเวลาปิดผับหรือร้านเหล้าก็ได้

เช่นเดียวกับมาตรการลดราคาน้ำมันที่กำหนดราคาขายปลีกน้ำมันกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ จะปรับลดลง 1 บาทต่อลิตร ยกเว้นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 จะปรับลง 2.50 บาทต่อลิตร ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 ที่ใช้แนวทางปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันกลุ่มเบนซินทุกชนิดลง 1 บาทต่อลิตร จากปัจจุบันเก็บอยู่ 6.50 บาทต่อลิตร ล่าสุดเริ่มมีประชาชนออกมาร้องเรียนว่าไม่สามารถเติมน้ำมันได้เพราะมีสถานีบริการน้ำมันแปะป้าย "น้ำมันหมด" 

จนนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานต้องออกมากำราบสั่งการให้กรมธุรกิจพลังงานเร่งประสานผู้ค้าน้ำมันทุกราย เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบการใช้น้ำมัน โดยล่าสุดได้ลงนามคำสั่งกระทรวงพลังงานที่ 47/2565 แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน ติดตามและ ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการไม่จำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงของสถานีน้ำมันเชื้อเพลิงทั่วประเทศขึ้นทันที

ส่วนนโยบายปรับลดราคาค่าไฟฟ้างวดเดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคม 2566 จาก 4.45 บาทต่อหน่วยให้เหลือ 3.99 บาทต่อหน่วยตามมติครม.เมื่อ เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566  ก็ต้องเข็นกันหลายจังหวะและมีความล่าช้าในการปฎิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม กระทั่งได้ข้อสรุปว่า บมจ. ปตท.  จะปรับลดค่าก๊าซธรรมชาติที่เรียกเก็บจากกิจการผลิตไฟฟ้าซึ่งแต่เดิมกำหนดไว้ 323.37 บาทต่อล้านบีทียู เป็น ไม่เกิน 304.79 บาทต่อล้านบีทียู 

ด้านการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ซึ่งแบกภาระค่าไฟฟ้าคงค้าง (Accumulated Factor: AF) ก่อนหน้านี้รวมประมาณ 1.35 แสนล้านบาทและอยู่ระหว่างการเรียกเก็บคืนเงินคงค้างซึ่งอยู่ในค่าไฟฟ้างวดเดือน กันยายน – ธันวาคม 2566 หน่วยละ 38.31 สตางค์ หรือคิดเป็นวงเงินประมาณ​ 23,428 ล้านบาท​ ดังนั้นการดำเนินการตามมติ ครม. จึงต้องยกเว้นการเรียกเก็บคืนเงินคงค้างดังกล่าวไว้ก่อน 

ขณะที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ต้องนำมาตรา 64 ประกอบกับมาตรา 69 แห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 และข้อ 11 ตามประกาศ กกพ. มาใช้เป็นครั้งแรก ซึ่งสาระสำคัญของมาตราดังกล่าว คือเป็นการกำหนดค่าไฟฟ้าตามมติ ครม. แม้ว่าจะเป็นอัตราที่ไม่สะท้อนต้นทุนที่เป็นจริงก็ตาม โดยต้นทุนส่วนต่างที่ปรับลดจำนวน 46 สตางค์ต่อหน่วยนั้น กกพ.ให้ กฟผ.และปตท.ช่วยแบกรับไปก่อน

แต่สิ่งที่ต้องยอมรับคือ  ต้นทุนส่วนต่างที่เกิดขึ้นจริงที่กฟผ.รับภาระเอาไว้ให้ก่อนนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งสะสมอยู่ 1.38 แสนล้านบาทนั้น เป็นภาระที่ผู้ใช้ไฟฟ้าจะต้องทยอยจ่ายคืนบวกด้วยดอกเบี้ยเงินกู้จนครบตามจำนวน และยิ่งปล่อยให้ กฟผ.แบกรับภาระมากเกินไปจนมีปัญหาการขาดสภาพคล่อง หรือถูกปรับลดเครดิตเรตติ้งจะทำให้มีต้นทุนการเงินที่สูงขึ้น และภาระต่อผู้ใช้ไฟฟ้าก็ยิ่งหนักขึ้น

จากนี้หลังรัฐบาลเศรษฐา 1 เปิดผลงานในรอบ 60 วันไปแล้ว ประชาชนตาดำ ๆ อาจต้องชั่งใจด้วยว่า นโยบายต่าง ๆ ที่หนักไปทางเพื่อประชานิยมเหล่านี้ คุ้มกับผลที่ตามมาจริงหรือไม่

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.