สคส.เตรียมเปิดแอปห้ามโทรขายของ ป้องสิทธิข้อมูลส่วนบุคคล
นายศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ สคส. ในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า สคส.กำลังอยู่ระหว่างการทำแอปพลิเคชัน ห้ามโทรหาฉัน ลักษณะคล้าย Whoscall เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนในการแจ้งไม่ยินยอมให้บริษัทต่างๆโทรหาประชาชนเพื่อขายสินค้าต่างๆ เนื่องจากกฎหมายระบุชัดว่าประชาชนสามารถแจ้งไปยังบริษัทนั้นได้ หากไม่ยิมยอมเปิดเผยข้อมูลเพื่อนำมาขายสินค้าและบริการต่างๆ โดยสคส.จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการอำนวยความสะดวกให้ประชาชน ไม่ว่าจะเป็น การแจ้งบริษัทที่ไม่ต้องการให้โทรหา การบล็อกเบอร์มิจฉาชีพ รวมถึงการทำไวท์ลิสต์ ระบุเบอร์หน่วยงานราชการให้ชัดเจน เพื่อป้องกันการหลอกลวงจากมิจฉาชีพ
แอปพลิเคชันดังกล่าวประชาชนมั่นใจได้ว่าข้อมูลที่อยู่ในระบบจะปลอดภัยและข้อมูลอยู่ในประเทศไทยเพราะคนไทยทำ ส่วนชื่อแอปพลิเคชันยังอยู่ระหว่างการคิดชื่อ คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้เดือนม.ค.2567 เพื่อเป็นของขวัญให้ประชาชน
นายศิวรักษ์ กล่าวว่า ล่าสุด สคส.ได้ลงนามความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในการบูรณาการความร่วมมือในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อประโยชน์ของประชาชน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลที่เกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ภายใต้กรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ด้านศาสตราจารย์คลินิก นพ. สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. กล่าวว่า ปัจจุบันบริการโทรคมนาคมเข้ามามีบทบาทกับชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการสื่อสารเท่านั้น แต่ยังมีส่วนช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาบริการร่วมกับกิจการอื่นด้วย เช่น บริการโทรเวชกรรม (Telemedicine) ที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการทางสาธารณสุข หรือบริการพิสูจน์ยืนยันตัวตน (Digital ID) ที่อำนวยความสะดวกแก่ประชาชน
และลดภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นในการทำธุรกรรมต่างๆ ทั้งกับภาครัฐและภาคเอกชน และในการให้บริการโทรคมนาคม ผู้รับใบอนุญาตจำเป็นต้องอาศัยการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการ ดังนั้น สำนักงาน กสทช. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล จึงได้ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สิทธิในความเป็นส่วนตัว และเสรีภาพในการสื่อสารถึงกันโดยทางโทรคมนาคม อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้
ทั้งนี้ ตามลักษณะการหลอมรวมการให้บริการดังกล่าว การประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการอาจไม่จำกัดอยู่เพียงเพื่อการให้บริการโทรคมนาคมเท่านั้น แต่ผู้ใช้บริการอาจให้ความยินยอมให้ใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของตนไปยังภาคอุตสาหกรรมอื่น (Cross-sector Data Sharing) ซึ่งเป็นการดำเนินการภายใต้หลักสมดุลการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลกับสิทธิขั้นพื้นฐาน (Data Protection in Balance with Other Fundamental Rights)
โดยกฎหมายรับรองสิทธิของผู้ใช้บริการซึ่งมีอยู่แล้วในข้อมูลส่วนบุคคลของตนเอง ให้ผู้ใช้บริการสามารถใช้สิทธิได้อย่างอิสระ ผ่านการอนุญาตหรือการให้ความยินยอมให้ใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของตนเอง โดยการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างภาคอุตสาหกรรมได้เริ่มดำเนินการแล้วในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นความท้ายทายของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่จะไม่จำกัดอยู่เพียงเฉพาะหน่วยงานกำกับดูแลหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งอีกต่อไป
ด้านนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ได้มีผลใช้บังคับทั้งฉบับมาตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 และด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย แสดงให้เห็นว่ากลไกในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ไม่สามารถดำเนินการภายใต้กฎหมาย ประกาศ ระเบียบ และแนวปฏิบัติของ กสทช. หรือสำนักงาน กสทช. เพียงอย่างเดียวได้
แต่จะต้องพิจารณา พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ และกฎหมายลำดับรองตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว รวมทั้งประกาศ ระเบียบ และแนวปฏิบัติของคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลควบคู่กันไป จึงเป็นที่มาของการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลระหว่างสำนักงาน กสทช. และ สคส. ในครั้งนี้
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.