รู้จักไอพีโอน้องใหม่ “NAM” เทียบธุรกิจเครื่องมือแพทย์ในตลาดหุ้นไทย
มีบริษัทจำนวนมากที่ต้องการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หากดูเฉพาะในปี 2566 จะเห็นได้ว่าในช่วง 10 เดือนแรก (ม.ค.-ต.ค.2566) มีบริษัทเข้าจดทะเบียนไปแล้ว จำนวน 32 บริษัท ในหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม และหลายหมวดธุรกิจ ซึ่งรวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค หมวดธุรกิจของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์
โดยบริษัทล่าสุด ได้แก่ บริษัท นำวิวัฒน์ เมดิคอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ NAM ซึ่งจะเป็นบริษัทสุดท้ายที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในเดือน ต.ค.นี้
ดังนั้น “โพสต์ทูเดย์” จะพามาทำความรู้จักกับไอพีโอน้องใหม่ “NAM” กันก่อน
บริษัท นำวิวัฒน์ เมดิคอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ NAM ประกอบธุรกิจผลิต นำเข้า และจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับการทำความสะอาดและฆ่าเชื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงผลิตภัณฑ์สิ้นเปลืองทางการแพทย์ และให้บริการอื่นที่เกี่ยวข้องแบบครบวงจร กำหนดนำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เป็นวันแรก ในวันที่ 31 ต.ค.2566
หลังจาก NAM ประสบความสำเร็จปิดการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) เต็มจำนวน 181 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 7.70 บาท ระหว่างวันที่ 19-20 และ 24 ต.ค.2566 ที่ผ่านมา โดยสามารถระดมทุนได้ทั้งสิ้น 1,393.70 ล้านบาท
“วิโรจน์ ชัยเทอดเกียรติ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นำวิวัฒน์ เมดิคอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ NAM ให้สัมภาษณ์กับ “โพสต์ทูเดย์” ว่า บริษัทดำเนินธุรกิจมากว่า 53 ปี โดยเริ่มก่อตั้งบริษัทในปี 2513 ในนามร้านในชื่อ “หนำซุย” ก่อตั้งและบริหารงานโดย คุณวิชัย ชัยเทอดเกียรติ และครอบครัว
จากนั้นในปี 2535 เริ่มจัดตั้งกิจการในนาม ห้างหุ้นส่วนจำกัด นำวิวัฒน์การช่าง (1992) ด้วยทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท ขณะที่ตนถือเป็นรุ่นที่ 3 ที่เข้ามาสานต่อธุรกิจในช่วงปี 2545 โดยเห็นโอกาสและมองเห็นการเติบโตของสาธารณสุขไทย เนื่องจากในช่วงนั้นมีนโยบายหลักประกันสุขภาพ และนโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค เป็นนโยบายที่ทำให้เห็นถึงโอกาสการเติบโต รวมทั้งมีความตั้งใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาให้สาธารณสุขไทยดีขึ้น
ต่อมาในปี 2554 แปรสภาพเป็น บริษัท นำวิวัฒน์การช่าง (1992) จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 3 ล้านบาท และในปี 2557 บริษัทเพิ่มทุนจดทะเบียนและเรียกชำระแล้ว จากเดิม 3 ล้านบาท เป็น 10 ล้านบาท จากนั้นในเดือน เม.ย.2565 บริษัทเพิ่มทุนจดทะเบียนและเรียกชำระแล้ว จากเดิม 10 ล้านบาท เป็น 245 ล้านบาท เพื่อปรับโครงสร้างเตรียมตัวก่อนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ถัดมาในเดือน พ.ค.2565 บริษัท อินโนบิก แอลแอล โฮลดิ้ง จำกัด หรือ “อินโนบิก” ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ได้เข้าลงทุนซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัท คิดเป็นสัดส่วน 17.65% ของทุนจดทะเบียนและเรียกชำระแล้ว ซึ่งทำให้บริษัทเพิ่มทุนจดทะเบียนและเรียกชำระแล้ว จาก 245 ล้านบาท เป็น 297.5 ล้านบาท
และเมื่อวันที่ 4 ต.ค.2565 แปรสภาพนิติบุคคล เป็นบริษัทมหาชน และเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท นำวิวัฒน์ เมดิคอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ต่อมาเมื่อวันที่ 15 ธ.ค.2565 ได้เปลี่ยนแปลงมูลค่าที่ตราไว้ จากมูลค่าหุ้นละ 100 บาท เป็นมูลค่าหุ้นละ 0.50 บาท และเพิ่มทุนจดทะเบียน จากเดิม 297.5 ล้านบาท เป็น 350 ล้านบาท เป็นทุนชำระแล้ว 297.5 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ 595 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท ภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO ทำให้บริษัทมีทุนชำระแล้วจำนวน 350 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ 700 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท
ทั้งนี้ ปัจจุบันภาพรวมธุรกิจของบริษัท สามารถแบ่งผลิตภัณฑ์และบริการ ได้เป็น 3 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย
1.กลุ่มผลิตและจำหน่ายเครื่องมือทางการแพทย์ (SM) ปัจจุบันมีมากกว่า 320 SKUs แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1) ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเครื่องมือทางการแพทย์ 2) ผลิตภัณฑ์สำหรับการบำบัดขยะติดเชื้อทางการแพทย์ 3) ผลิตภัณฑ์สำหรับฆ่าเชื้อในอากาศและผิวสัมผัส และ 4) ผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ทางการแพทย์ เป็นต้น
2.กลุ่มผลิตและจำหน่ายวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ (CS) อาทิ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วทิ้ง ซึ่งใช้ควบคู่กับเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ฆ่าเชื้อ น้ำยาฆ่าเชื้อสำหรับงานล้างอุปกรณ์ต่างๆ ในกระบวนการแช่และล้างทำความสะอาด และน้ำยาที่ใช้ในกลุ่มเครื่องฆ่าเชื้อในอากาศ เป็นต้น
3.กลุ่มงานให้บริการ (SV) แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1) บริการหลังการขาย เช่น บริการบำรุงรักษาและซ่อมแซมอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับการทำความสะอาดและฆ่าเชื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ 2) การให้บริการทำให้อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ปราศจากเชื้อ พร้อมบุคลากรผู้เชี่ยวชาญแบบครบวงจร 3) การให้บริการบำบัดขยะติดเชื้อทางการแพทย์ด้วยระบบการบดสับและฆ่าเชื้อด้วยระบบไอน้ำแก่โรงพยาบาล และ 4) ให้บริการวางแผนและปรับปรุงพื้นที่ปฏิบัติงานของหน่วยงานจ่ายกลาง
โดยโครงสร้างรายได้ของบริษัทจะมาจากกลุ่มผลิตและจำหน่ายเครื่องมือทางการแพทย์ (SM) คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60% และกลุ่มผลิตและจำหน่ายวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ (CS) รวมกับกลุ่มงานให้บริการ (SV) คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ซึ่งในอนาคตมีแผนเพิ่มรายได้ในส่วนนี้เพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นรายได้ประจำ (Recurring income) ที่จะสร้างความมั่นคงให้กับรายได้ของบริษัท
สำหรับเป้าหมายของการเข้ามาระดมทุนในครั้งนี้ บริษัทมีวัตถุประสงค์ในการนำเงินไปใช้แบ่งเป็น 4 ส่วน ประกอบด้วย 1) โครงการขยายโรงงานแห่งใหม่ 2) โครงการลงทุนพัฒนาศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องมือทางการแพทย์ 3) โครงการลงทุนหรือร่วมลงทุนในบริษัทอื่นที่ประกอบธุรกิจเครื่องมือทางการแพทย์ หรือมีนวัตกรรมที่ส่งเสริมการประกอบธุรกิจของบริษัท ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และ 4) ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ
ขณะเดียวกัน กุญแจสำคัญที่ทำให้ธุรกิจเติบโต มาจากการที่บริษัทให้บริการต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตั้งแต่วิจัยและพัฒนา ผลิต จำหน่าย และบริการ ซึ่งสร้างความยั่งยืนในการผลิตนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาตอบโจทย์ปัญหาและโอกาสในทุกช่องทางที่เกิดขึ้น รวมไปถึงตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า
ประกอบกับเมื่อมีนวัตกรรมดังกล่าว ทำให้บริษัทเป็น Total Solution ตอบโจทย์ One Stop Provider และสุดท้ายบริษัทผลิตภัณฑ์และบริการครบทั้ง 3 ส่วน ได้แก่ กลุ่มผลิตและจำหน่ายเครื่องมือทางการแพทย์ กลุ่มผลิตและจำหน่ายวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ และกลุ่มงานให้บริการ ซึ่งแต่ละส่วนยังสามารถเติบโตได้อีก
ทางด้านแผนการดำเนินงานหลังเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ บริษัทวางกลยุทธ์ในการเติบโตธุรกิจในประเทศ ในกลุ่มที่บริษัทจะเข้าไปเติมเต็ม เพื่อสร้างฐานลูกค้าใหม่
รวมไปถึงการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศมากขึ้น จากในปัจจุบันที่บริษัทมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทั้งในส่วนของ SM และ CS ไปยังต่างประเทศ เช่น เวียดนาม สปป.ลาว เมียนมา มาเลเซีย ออสเตรเลีย และจีน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม รายได้จากต่างประเทศยังเป็นสัดส่วนไม่ถึง 5% ของรายได้รวมบริษัท เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพในประเทศที่ยังต้องทำอีกมาก
“ในแง่การเติบโตในต่างประเทศในอนาคตจะมากกว่าในประเทศ ด้วยขนาดของประเทศอย่าง ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินโดนีเซีย เป็นประเทศใหญ่ ซึ่งประเทศเหล่านี้ไม่มีผู้ผลิตแบบเรา เราเป็นผู้ผลิต Total Solution อันดับ 2 รองจากจีน ในภูมิภาคนี้ ดังนั้นในแง่ของการขยายการเติบโตในต่างประเทศ เราจะขยายประเทศมากขึ้น และขยายแบบ Aggressive มากขึ้นทั้งในแง่ของมาร์เก็ตติ้ง เทรนนิ่ง และบริการหลังการขายสำหรับประเทศที่ติดต่อเข้ามาเป็นตัวแทนจำหน่ายของเรา”
พร้อมทั้งการสร้างธุรกิจใหม่ๆ ที่จะมาเชื่อมโยงกับบริษัท ซึ่งเกิดจากพันธมิตรที่เข้าร่วมมือกัน ซึ่งที่ผ่านมาก็จะมี บริษัท อินโนบิก แอลแอล โฮลดิ้ง จำกัด บริษัทในเครืของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT
โดยก่อนการเสนอขาย IPO บริษัท อินโนบิก แอลแอล โฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้น NAM ในสัดส่วน 17.65% และหลังการเสนอขาย IPO จะเหลือสัดส่วนการถือหุ้น 15% ซึ่ง อินโนบิกฯ ได้เข้ามาช่วยเสริมความแข็งแกร่งทางด้านการเงิน และความร่วมมือในอุตสาหกรรมอื่นๆ ต่อไป เพื่อผลิต วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์กลุ่มงานเฮลแคร์
ขณะเดียวกัน บริษัทยังมีแผนขยายไปยังกลุ่ม B2C จากกลุ่ม B2B โดยก่อนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ บริษัทได้พิจารณาอนุมัติเข้าลงทุนในบริษัทอุปกรณ์การแพทย์ในประเทศไต้หวัน ที่มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมสำหรับการรักษาภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ หรือ Obstructive Sleep Apnea (OSA) โดยเล็งเห็นถึงศักยภาพในการเติบโตและสามารถนำองค์ความรู้มาต่อยอดได้
โดยบริษัทจะเข้าลงทุนในหุ้นบุริมสิทธิ มูลค่าไม่เกิน 40 ล้านบาท คาดว่าจะชำระเงินลงทุนดังกล่าวภายในสิ้นปี 2566 โดยใช้เงินส่วนหนึ่งที่ได้รับการจากเสนอขายหลักทรัพย์ครั้งนี้ และ/หรือใช้กระแสเงินสดของบริษัทในการลงทุนโครงการดังกล่าว
“เป้าหมายการเติบโตของรายได้ในปีนี้ คาดว่าจะเติบโตในอัตราเดิม ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้เติบโตอย่างน้อย 20% ต่อปี เป็นการเติบโตจากภายใน (Organic Growth) ด้วยกลยุทธ์ของบริษัท ไม่รวมการเติบโตจากภายนอก (Inorganic Growth) ที่จะมาจากการร่วมทุนจากพันธมิตรรายอื่นๆ นอกเหนือจาก บริษัท อินโนบิก แอลแอล โฮลดิ้ง จำกัด บริษัทในเครือ PTT”
สำหรับผลการดำเนินงานในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2563-2565) บริษัทมีรายได้รวม อยู่ที่ 678.84 ล้านบาท 997.98 ล้านบาท และ 1,110.69 ล้านบาท ตามลำดับ และมีกำไรสุทธิ อยู่ที่ 110.44 ล้านบาท 169.68 ล้านบาท และ 175.71 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนงวด 6 เดือนแรก ปี 2566 บริษัทมีรายได้รวม อยู่ที่ 595.88 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ อยู่ที่ 92.06 ล้านบาท
ด้านนโยบายการให้ผลตอบแทนกับผู้ถือหุ้นในแง่ของการจ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิตามงบการเงินรวมของบริษัท หลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นสำคัญ
“วิโรจน์” กล่าวทิ้งท้ายว่า เสน่ห์ของ NAM คือ อยู่ในอุตสาหกรรมที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้มา 53 ปี ในฐานะผู้ผลิต ผู้สร้างนวัตกรรม และให้บริการ ที่ถือเป็นความแข็งแกร่งที่เรามี ทำให้ได้รับความเชื่อถือในผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพตามมาตรฐานเป็นที่ยอมรับระดับสากล อาทิ ASME, ISO13485, ISO9001, ISO14001, CE Mark และ PED ขณะที่ราคาถูกกว่าในต่างประเทศหลายเท่าตัว ส่งผลให้สถานพยาบาลที่มีขนาดไม่ใหญ่เข้าถึงได้ ยกระดับสุขภาพประชาชน อีกทั้งธุรกิจเอื้อกันทั้ง 3 ส่วน โดยไม่ได้พึ่งพาส่วนใดส่วนหนึ่ง ทำให้การขับเคลื่อนทั้งกลุ่มขยายไปได้มากยิ่งขึ้น
เทียบฟอร์ม บจ. ร่วมอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ จากการรวบรวมข้อมูล พบว่า มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ทำธุรกิจใกล้เคียงกับ NAM อีก 4 บริษัท อย่างไรก็ตาม NAM เป็นบริษัทเดียวที่เป็นผู้ผลิต นำเข้า และจัดจำหน่ายเครื่องมือทางการแพทย์กลุ่มงานปราศจากเชื้อ ขณะที่บริษัทอื่นๆ เป็นเพียงผู้นำเข้า และจำหน่ายเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์
บริษัท นำวิวัฒน์ เมดิคอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ NAM
- ลักษณะธุรกิจ : ผลิต นำเข้า และจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับการทำความสะอาดและฆ่าเชื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงผลิตภัณฑ์สิ้นเปลืองทางการแพทย์ และให้บริการอื่นที่เกี่ยวข้องแบบครบวงจร
- ตลาดรอง : SET
- Market Cap : 5,390 ล้านบาท
- P/E : 20.81 เท่า
- รายได้ปี 2565 : 1,110.69 ล้านบาท
- กำไรปี 2565 : 175.71 ล้านบาท
- รายได้ครึ่งแรกปี 2566 : 595.88 ล้านบาท
- กำไรครึ่งแรกปี 2566 : 92.06 ล้านบาท
บริษัท บิสซิเนสอะไลเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ BIZ
- ลักษณะธุรกิจ : เป็นผู้จำหน่ายและติดตั้งชุดเครื่องมือทางการแพทย์สำหรับรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งด้วยวิธีรังสีรักษา (Radiotherapy) และให้บริการซ่อมบำรุงรักษาชุดเครื่องมือทางการแพทย์ดังกล่าว (Maintenance Service)
- ตลาดรอง : SET
- Market Cap : 1,874.29 ล้านบาท
- P/E : 16.82 เท่า
- รายได้ปี 2565 : 1,235.20 ล้านบาท
- กำไรปี 2565 : 133.43 ล้านบาท
- รายได้ครึ่งแรกปี 2566 : 745.50 ล้านบาท
- กำไรครึ่งแรกปี 2566 : 81.96 ล้านบาท
บริษัท เซนต์เมด จำกัด (มหาชน) หรือ SMD
- ลักษณะธุรกิจ : ตัวแทนจำหน่ายเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยนำเข้าจากผู้ผลิตต่างประเทศ เพื่อจัดจำหน่ายให้แก่สถานพยาบาลในประเทศและบุคคลทั่วไป
- ตลาดรอง : mai
- Market Cap : 1,060.51 ล้านบาท
- P/E : 7.71 เท่า
- รายได้ปี 2565 : 2,013.79 ล้านบาท
- กำไรปี 2565 : 296.66 ล้านบาท
- รายได้ครึ่งแรกปี 2566 : 401.42 ล้านบาท
- กำไรครึ่งแรกปี 2566 : 36.63 ล้านบาท
บริษัท เทคโนเมดิคัล จำกัด (มหาชน) หรือ TM
- ลักษณะธุรกิจ : เป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ จากผู้ผลิตชั้นนำจากต่างประเทศทั้งหมด 49 ราย จากหลากหลายประเทศ โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ที่บริษัทจำหน่าย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ (1) กลุ่มอุปกรณ์และวัสดุสิ้นเปลือง (2) กลุ่มอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์
- ตลาดรอง : mai
- Market Cap : 616 ล้านบาท
- P/E : 65.79 เท่า
- รายได้ปี 2565 : 645.04 ล้านบาท
- กำไรปี 2565 : 12.99 ล้านบาท
- รายได้ครึ่งแรกปี 2566 : 337.13 ล้านบาท
- กำไรครึ่งแรกปี 2566 : 5.49 ล้านบาท
บริษัท วินเนอร์ยี่ เมดิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ WINMED
- ลักษณะธุรกิจ : เป็นผู้นำเข้า และจำหน่ายเครื่อง และชุดอุปกรณ์ สำหรับการเก็บ การตรวจวิเคราะห์ วินิจฉัย และการบำบัดรักษาทางการแพทย์
- ตลาดรอง : mai
- Market Cap : 1,184 ล้านบาท
- P/E : 29.39 เท่า
- รายได้ปี 2565 : 721.63 ล้านบาท
- กำไรปี 2565 : 60.67 ล้านบาท
- รายได้ครึ่งแรกปี 2566 : 301.79 ล้านบาท
- กำไรครึ่งแรกปี 2566 : 10.81 ล้านบาท
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.