วันนั้นถึงวันนี้ของ "ฉลามณุก" รัฐพงศ์ ศิริสานนท์ นักว่ายน้ำแห่งประวัติศาสตร์ไทย

ว่ายน้ำถือว่าเป็นกีฬายอดนิยมและได้รับความสนใจในทุกมหกรรมกีฬาตั้งแต่ซีเกมส์ เอเชียนเกมส์ และโอลิมปิกเกมส์ ขณะที่ทัพนักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติไทยก็สามารถสร้างผลงานในระดับซีเกมส์เอาไว้มากมาย แต่หากพูดขึ้นการแข่งขันในระดับเอเชียนเกมส์แล้วต้องยอมรับว่านักว่ายน้ำไทยนั้นยังเป็นรองชาติอื่นมาตั้งแต่ยุคเริ่มต้น โดยทีมชาติไทยเคยสร้างผลงานด้วยการคว้า 3 เหรียญทองแดงในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 5 ปี 1966 ณ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

 ทีมชาติไทยต้องรอจนถึงการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 8 ปี 1978 ที่เวียนมาจัดกันที่กรุงเทพมหานครอีกครั้งถึงจะมีโอกาสได้เหรียญรางวัลเอเชียนเกมส์อีกหน และในครั้งนั้นทีมชาติไทยสามารถคว้าเหรียญทองประวัติศาสตร์ได้จาก “รัชนีวรรณ บูลกุล” ในการแข่งขันประเภทฟรีสไตล์ 200 เมตรหญิง และพ่วงมาด้วย 3 เหรียญทองแดงจากเจ้าตัวในประเภทฟรีสไตล์ 100 เมตรหญิง, ฟรีสไตล์ 400 เมตรหญิง และทีมผลัดฟรีสไตล์ 4x100 เมตรหญิง

 จากนั้นทีมว่ายน้ำทีมชาติไทยต้องรอคอยอีกกว่า 16 ปีถึงจะมีนักว่ายน้ำที่สามารถคว้าเหรียญรางวัลเอเชียนเกมส์ได้อีกครั้งและคนนั้นก็คือ “ฉลามณุก” รัฐพงศ์ ศิริสานนท์ นักว่ายน้ำดาวรุ่งฟอร์มแรงในช่วงเวลานั้น บทความนี้เราจะพาทุกท่านไปย้อนดูเรื่องราวและผลงานของเจ้าตัวในการแข่งขันเอเชียนเกมส์กันครับ

จุดเริ่มต้นจากซีเกมส์

 “ฉลามณุก” รัฐพงศ์ ศิริสานนท์ เป็นนักว่ายน้ำดาวรุ่งของวงการว่ายน้ำไทยในช่วงยุคต้น 90 โดยในการแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 16 ปี 1991 ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เจ้าตัวได้มีโอกาสเริ่มต้นสร้างผลงานให้ทีมชาติไทยในเวทีระดับนานาชาติ โดยในการแข่งขันครั้งนั้น “ฉลามณุก” ทำผลงานคว้าเหรียญเงินได้ในการแข่งขันประเภทฟรีสไตล์ 400 เมตรและ 1,500 เมตร โดยในช่วงเวลานั้น “ฉลามณุก” ยังเป็นรอง “เจฟฟรี่ อ่อง” ของประเทศมาเลเซีย ขณะที่ในประเภทกบ 200 เมตรเจ้าตัวทำได้เพียงเหรียญทองแดงเท่านั้น และในประเภทเดี๋ยวผสม 400 เมตร “ฉลามณุก” ก็ได้เหรียญเงินโดยไม่อาจสู้ความเก๋าของ “เอริก บูเฮน” นักว่ายน้ำทีมชาติฟิลิปปินส์เจ้าถิ่นได้ ส่วนในประเภททีมเจ้าตัวก็ได้มาอีก 2 เหรียญเงินจากผลัดผสม 4x100 เมตรชาย และผลัดฟรีสไตล์ 4x200 เมตร ชาย ทำให้ในการรับใช้ทีมชาติไทยครั้งแรกของ “ฉลามณุก” เจ้าตัวคว้าไป 5 เหรียญเงิน 1 เหรียญทองแดง ไร้ซึ่งเหรียญทองแต่นี่คือผลงานของนักกีฬาวัยเพียง 15 ปีเท่านั้น

จากนั้นในอีก 2 ปีถัดมาในการแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 17 ปี 1993 ที่ประเทศสิงคโปร์ ชื่อของ “ฉลามณุก” ก็กลายเป็นที่รู้จักของแฟนกีฬาชาวไทยเมื่อเจ้าตัวสร้างผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมโดยสามารถคว้าเหรียญทองซีเกมส์จากประเภทกบ 200 เมตรชาย โดยทำเวลาได้ 2:20.10 นาทีทำลายสถิติซีเกมส์ จากนั้นเจ้าตัวก็ได้เหรียญทองจากประเภทเดี่ยวผสม 200 เมตร และ 400 เมตร โดยในประเภทเดี่ยวผสม 400 เมตร ชาย นั้น “ฉลามณุก” ก็สามารถทำลายสถิติซีเกมส์ได้อีกหนึ่งรายการ โดยทำเวลาไปได้ 4:29.74 นาที เบ็ดเสร็จแล้วเจ้าตัวคว้าไปทั้งสิ้น 3 เหรียญทองในการแข่งขันซีเกมส์ครั้งนั้นพร้อมการทำลายสถิติซีเกมส์ไป 2 รายการ

นอกจากเหรียญทองแล้ว “ฉลามณุก” ก็ยังได้เหรียญเงินในประเภทฟรีสไตล์ 400 เมตรชาย โดยยังพ่าย “เจฟฟรี่ อ่อง” ของประเทศมาเลเซียไปอีกครั้งแต่ก็เป็นการพ่ายแพ้เพียง 0:00.29 เท่านั้น ส่วนประเภทฟรีสไตล์ 1,500 เมตรชาย “ฉลามณุก” ได้เหรียญทองแดงไปเช่นเดียวกับประเภทผลัดผสม 4x100 เมตรชาย ผลงานซีเกมส์ 1993 ของเจ้าตัวคือ 3 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน 2 เหรียญทองแดง

จากผลงานการแข่งขันซีเกมส์ทั้ง 2 ครั้งของ “ฉลามณุก” รัฐพงศ์ ศิริสานนท์ ทำให้เจ้าตัวถูกจับตามองและคาดหมายว่าจะสามารถทำผลงานได้ดีในระดับเอเชีย

จากความสำเร็จซีเกมส์สู่เหรียญทองเอเชียนเกมส์

การแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 12 ปี 1994 ณ เมืองฮิโรชิม่า ประเทศญี่ปุ่น ทีมว่ายน้ำทีมชาติไทยมี “ฉลามณุก” ที่ทำผลงานได้ดีในการแข่งขันซีเกมส์ 1993 ทุกครั้งที่เจ้าตัวลงแข่งขันกองเชียร์ชาวไทยต่างได้ลุ้นกับกีฬาว่ายน้ำกันอย่างสนุกผ่านการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ และ “ฉลามณุก” ก็ไม่ทำให้กองเชียร์ต้องผิดหวังเมื่อสามารถคว้าเหรียญทองแดงได้ในประเภทท่ากบ 200 เมตร โดยทำเวลาไป 2:16.52 นาที

จากนั้นในการแข่งขันประเภทเดี่ยวผสม 200 เมตรชาย ฉลามณุกก็แตะขอบสระเข้ามาเป็นอันดับที่ 2 ด้วยเวลา 2:04.16 นาที เช่นเดียวกับในการแข่งขันประเภทเดี่ยวผสม 400 เมตรชาย เจ้าตัวก็เข้ามาเป็นอันดับที่ 2 ด้วยเวลา 4:20.03 นาที โดยทั้ง 2 รายการนี้ ฉลามณุกต้องพ่ายแพ้ “ชาง กั่วหมิง” นักว่ายน้ำประเทศจีน จนเจ้าตัวต้องรับเหรียญเงินไปแบบน่าเจ็บใจ

อย่างไรก็ตามหลังจากจบการแข่งขันเอเชียนเกมส์ได้ไม่นานก็มีข่าวดีสำหรับ “รัฐพงศ์ ศิริสานนท์” เมื่อผลการตรวจสารกระตุ้นของนักว่ายน้ำจีนนั้นไม่ผ่านตามมาตรฐานที่ฝ่ายจัดการแข่งขันกำหนดเอาไว้ จึงทำให้ฉลามณุกได้รับการปรับอันดับขึ้นไปเป็นเหรียญทองและเวลาที่เจ้าตัวทำได้ทั้ง 2 รายการก็ได้รับการรับรองเป็นสถิติเอเชียนเกมส์ และเหรียญทองดังกล่าวก็ทำให้ฉลามณุกเป็นนักว่ายน้ำชายไทยคนแรกที่ได้เหรียญทองเอเชียนเกมส์

ผลงาน 2 เหรียญทองกับ 1 เหรียญทองแดง จากการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 12 ปี 1994 นั้น ยังคงเป็นประวัติศาสตร์ของทัพนักกีฬาทีมชาติไทยในเวทีการแข่งขันระดับเอเชียมาจนทุกวันนี้

ผลงานดีต่อเนื่องสร้างชื่อเป็นราชาสระซีเกมส์

หลังจากที่ “ฉลามณุก” รัฐพงศ์ ศิริสานนท์ กลายเป็นฮีโร่คว้า 2 เหรียญทองเอเชียนเกมส์มาครองได้แล้ว เจ้าตัวก็ยังสามารถสร้างผลงานได้อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการแข่งขันในมหกรรมกีฬาซีเกมส์ โดยในการแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 18 ปี 1995 ที่จังหวัดเชียงใหม่ “ฉลามณุก” สามารถสร้างผลงานกวาดมาได้ 6 เหรียญทองจากประเภทกบ 100 เมตร, กบ 200 เมตร, เดี่ยวผสม 200 เมตร, เดี่ยวผสม 400 เมตร, ผลัดฟรีสไตล์ 4x200 เมตรชายและผลัดผสม 4x100 เมตรชาย นับเป็นผลงานที่สุดยอดและสร้างชื่อให้กับ “ฉลามณุก” เป็นอย่างมากจนสามารถสร้างกระแสฟีเวอร์ได้

จากนั้นในการแข่งขันซีเกมส์ในอีก 2 ปีถัดมา “ฉลามณุก” ก็ยังคงสร้างผลงานได้อย่างน่าพึงพอใจ เจ้าตัวสามารถคว้ามาได้ 2 เหรียญทองจากผลงานประเภทบุคคลในประเภทกบ 200 เมตรและเดี่ยวผสม 400 เมตร ส่วนในประเภทกบ 100 เมตรชายนั้น “ฉลามณุก” ไม่สามารถป้องกันแชมป์ได้ โดยพ่าย “เอลวิน เจีย ชุน เทา” นักว่ายน้ำทีมชาติมาเลเซียไปแบบน่าเสียดาย ได้เพียงเหรียญเงินมาคล้องคอเท่านั้น อย่างไรก็ตามผลงานทั้งหมดในกีฬาซีเกมส์ 1995 และ 1997 ก็นับเป็นผลงานที่ยอดเยี่ยมและยังคงทำให้ “ฉลามณุก” รัฐพงศ์ ศิริสานนท์ ยังคงเป็นความหวังของวงการว่ายน้ำไทยในทุกรายการแข่งขัน

คว้าเหรียญรางวัลเอเชียนเกมส์ในบ้าน อีกความภูมิใจของคนไทย

การแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ปี 1998 ที่กรุงเทพมหานครเป็นเจ้าภาพ “ฉลามณุก” รัฐพงศ์ ศิริสานนท์ ยังคงลงสนามให้กับทีมว่ายน้ำทีมชาติไทยเพื่อเป็นความหวังในการไล่ล่าเหรียญรางวัลเหมือนเดิม และในการแข่งขันครั้งนั้น เจ้าตัวก็ไม่ทำให้แฟนกีฬาชาวไทยต้องผิดหวังเมื่อคว้ามาได้ 1 เหรียญเงินกับ 1 เหรียญทองแดง โดยเหรียญเงินได้ในการแข่งขันประเภทท่ากบ 200 เมตร ชาย ที่ทำเวลาไป 2:16.47 นาที ซึ่งเป็นเวลาที่ดีกว่าเมื่อ 4 ปีที่แล้ว 0.05 วินาที และเป็นการได้เหรียญรางวัลที่ดีขึ้นกว่าเดิมเพราะตอนเอเชียนเกมส์ 1994 นั้น เจ้าตัวได้เหรียญทองแดงในรายการนี้

ด้านการแข่งขันประเภทเดี่ยวผสม 400 เมตรชาย ที่ฉลามณุกเป็นเจ้าของเหรียญทองในกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่แล้วมา ในครั้งนี้คู่ปรับเก่าอย่าง “ชาง กั่วหมิง” ก็พ้นโทษแบนกลับมาลงสนามแข่งขันได้ ขณะที่ทีมชาติญี่ปุ่นก็มีนักว่ายน้ำฟอร์มแรงอย่าง “ทาคาฮิโร่ โมริ” ที่สถิติและเวลาในการแข่งขันที่ผ่านนั้นน่าจับตามอง ซึ่งเมื่อถึงเวลาลงสนามแข่งขันจริง ก็เป็นนักว่ายน้ำทีมชาติญี่ปุ่นที่มาแรงแตะขอบสระเป็นคนแรก ตามมาด้วย “ชาง กั่วหมิง” ส่วนฉลามณุกของเรานั้นก็ยังไว้ลายว่ายเข้ามาเป็นอันดับที่ 3 ด้วยเวลา 4:24.15 นาที คว้าเหรียญทองแดงไปครองได้สำเร็จ

แม้ว่าในการแข่งขันบางกอกเกมส์ 1998 นั้น “ฉลามณุก” รัฐพงศ์ ศิริสานนท์ จะไม่สามารถคว้าเหรียญทองมาครองได้แต่การได้เหรียญเงินและเหรียญทองแดง ก็ถือได้ว่าเป็นผลงานที่สุดยอดแล้วในการแข่งขันระดับนี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายนะครับที่นักกีฬาไทยจะสามารถคว้าเหรียญรางวัลในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ได้ โดยเฉพาะกีฬาว่ายน้ำที่มีชาติยักษ์ใหญ่อย่างจีน, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ขวางทางอยู่

เหรียญทองแดงสุดท้ายสร้างตำนานไม่รู้ลืม

หลังจากจบการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ปี 1998 ที่ประเทศไทยเราเป็นเจ้าภาพแล้วนั้น “ฉลามณุก” รัฐพงศ์ ศิริสานนท์ ก็ยังคงรับใช้ทีมชาติไทยอย่างตัวเนื่อง และก็สามารถสร้างผลงานได้ในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์อีกครั้ง โดยในการแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 20 ปี 1999 ณ กรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน ประเทศบรูไน เจ้าตัวก็ยังคงคว้าเหรียญทองให้ทีมชาติไทยได้ 3 เหรียญทองจากประเภทถนัดอย่างเดี่ยวผสม 200 เมตรและเดี่ยวผสม 400 เมตร ขณะที่อีก 1 เหรียญทองได้จากทีมผลัดฟรีสไตล์ 4x200 เมตร ขณะที่ในประเภทท่ากบ 200 เมตร และประเภทผลัดผสม 4x100 เมตรชาย “ฉลามณุก” ได้เหรียญเงินมาครอง

จากนั้น “ฉลามณุก” รัฐพงศ์ ศิริสานนท์ ก็สร้างสถิติด้วยการเป็นนักกีฬาว่ายน้ำที่เข้าร่วมโอลิมปิกเกมส์เป็นสมัยที่ 3 ในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 27 ปี 2000 ณ กรุงซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย โดยก่อนหน้านี้ “ฉลามณุก” เข้าร่วมโอลิมปิกเกมส์ 1992 และ 1996 มาแล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่าผลงานในโอลิมปิกเกมส์สมัยที่ 3 ของเจ้าตัวนั้นไม่ได้น่าจดจำมากนัก แต่แม้จะไม่ประสบความสำเร็จในระดับโลกอย่างที่ตัวเองคาดหวัง “ฉลามณุก” ก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะกลับมาทำผลงานให้ดีขึ้นในการแข่งขันรายการต่อๆ ไป

 การแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 14 ปี 2002 ณ เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ “ฉลามณุก” รัฐพงศ์ ศิริสานนท์ ที่กลับมาอีกครั้งหลังจากจบโอลิมปิกเกมส์ 2000 เจ้าตัวก็ยังคงสร้างประวัติศาสตร์คว้าเหรียญรางวัลว่ายน้ำในกีฬาเอเชียนเกมส์ได้อีกครั้ง โดยเจ้าตัวสามารถคว้าเหรียญทองแดงในการแข่งขันประเภทท่ากบ 200 เมตรได้สำเร็จ โดยทำเวลาได้ 2:15.81 นาที และเหรียญรางวัลนี้ก็เป็นเหรียญรางวัลเดียวของทัพว่ายน้ำทีมชาติไทยในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ครั้งนั้น และที่สำคัญเหรียญทองแดงดังกล่าวคือเหรียญรางวัลเอเชียนเกมส์สำดับสุดท้ายของทีมว่ายน้ำทีมชาติไทยมาจนทุกวันนี้

หลังจากจบเอเชียนเกมส์ 2002 ปีต่อมา “ฉลามณุก” ก็เข้าร่วมการแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 22 ปี 2003 ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม และเจ้าตัวก็กลับมาสร้างผลงานสะท้านสระอาเซียนได้อีกครั้งโดยสามารถคว้าเหรียญทองมาได้ทั้งสิ้น 5 เหรียญทองจากประเภทท่ากบ 100 เมตรและ 200 เมตร จากนั้นในการแข่งขันประเภทเดี่ยวผสม “ฉลามณุก” ก็สามารถคว้าเหรียญทองได้ทั้ง 200 เมตร และ 400 เมตร โดยในรายการเดี่ยวผสม 400 เมตรนั้นเจ้าตัวทำเวลาได้ 4:23.20 นาที ทำลายสถิติซีเกมส์ที่ตนเองเคยทำเอาไว้ได้ในซีเกมส์ 1999 ที่ประเทศบรูไน และเหรียญทองซีเกมส์สุดท้ายก็มาจากประเภทผลัดผสม 4x100 เมตรชาย

และในปี 2004 “ฉลามณุก” รัฐพงศ์ ศิริสานนท์ ก็สร้างสถิติเป็นนักว่ายน้ำไทยที่สามารถเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์เป็นสมัยที่ 4 และก็สามารถคว้าอันดับที่ 19 ในประเภทท่ากบ 200 เมตร ด้วยเวลา 2:15.39 นาที เป็นการปิดฉากนักกีฬาทีมชาติไทยอย่างสมบูรณ์

นี่คือเรื่องราวผลงานของ “ฉลามณุก” รัฐพงศ์ ศิริสานนท์ นักว่ายน้ำทีมชาติไทยที่สามารถคว้าเหรียญทองการแข่งขันเอเชียนเกมส์ได้สำเร็จ และตลอดการแข่งขันเอเชียนเกมส์ของเจ้าตัวกว่าสิบปีนั้นก็สามารถทำผลงานได้ทั้งสิ้น 2 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน และ 3 เหรียญทองแดง เป็นผลงานที่ยังคงเป็นตำนานนักกีฬาทีมชาติไทยมาจนทุกวันนี้

ส่วนปัจจุบัน รัฐพงศ์ ศิริสานนท์ ในวัย 47 ปี ได้เป็นครูสอนว่ายน้ำ และยังคงทำในสิ่งที่ตัวเองรักและอยู่กับสระว่ายน้ำที่เขารักและหลงไหลอย่างสุดหัวใจ

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.