SCOOP : “อมรเทพ แววแสง” หนึ่งเดียวของไทยที่ได้เหรียญทองยิมนาสติกเอเชียนเกมส์

ช่วงบ่ายวันหนึ่งผมได้มีโอกาสมาเยี่ยมเยือนยังสำนักงานของ Stadium TH โดยการมาในครั้งนี้ผมมีนัดพูดคุยหรือสัมภาษณ์กับนักกีฬาระดับตำนานเอเชียนเกมส์คนหนึ่งในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 13 ปี 1998 ที่ประเทศไทยของเราเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเมื่อ 25 ปีที่ผ่านมา ผมเชื่อนะครับว่าหากผมถามย้อนความทรงจำทุกท่านไปถึงการแข่งขันเอเชียนเกมส์ในครั้งนั้น หลายคนที่ได้ดูหรืออยู่ในช่วงเวลานั้นต้องตอบว่า

“นั่นคือเอเชียนเกมส์ที่ดีสุดของประเทศไทยทั้งในด้านการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันและผลงานของนักกีฬาทีมชาติไทย”

ที่ผมเชื่อเช่นนั้นก็เพราะว่าการแข่งขันเอเชียนเกมส์ 1998 ทัพนักกีฬาไทยสามารถกวาดเหรียญทองมาได้ถึง 24 เหรียญทอง เป็นจำนวนเหรียญทองที่มากที่สุดที่ทีมชาติไทยทำได้ในการแข่งขันเอเชียนเกมส์หนึ่งครั้ง เป็นผลงานที่ฉีกทุกสถิติของตัวเองที่ยืนยงมาจนทุกวันนี้ และในการแข่งขันครั้งนั้นก็มีประวัติศาสตร์เกิดขึ้นมากมาย หนึ่งในนั้นก็คือเรื่องราวของ “หมู” อมรเทพ แววแสง นักยิมนาสติกทีมชาติไทย ที่สามารถคว้าเหรียญทองประวัติศาสตร์มาครองได้จากประเภทห่วง

ที่ผมต้องบอกว่าเป็นเหรียญทองประวัติศาสตร์นั้นเพราะอมรเทพคือนักกีฬายิมนาสติกคนแรกและคนเดียวที่คว้าเหรียญทองเอเชียนเกมส์มาครองได้ ซึ่งนับตั้งแต่วันนั้นมาจนบัดนี้ก็ยังไม่มีใครทำได้อีก ผมจึงหยิบเอาเรื่องราวของเจ้าตัวมาเล่าให้ทุกท่านได้รับทราบกันผ่านบทความชิ้นนี้

เส้นทางชีวิตที่เลือกเดินได้ของเด็กชายอมรเทพ

ทุกท่านเคยตั้งคำถามหรือไม่ครับว่าการที่มนุษย์คนหนึ่งจะประสบความสำเร็จ ไปสร้างประวัติศาสตร์หรือสร้างชื่อเสียงสร้างเรื่องราวระดับตำนานได้นั้นคนเหล่านี้ต้องผ่านเส้นทางชีวิตอะไรมาบ้าง แล้วความสำเร็จเหล่านั้นมันเกิดจากความบังเอิญหรือความตั้งใจ ความพยายามหรือฟ้าลิขิตเอาไว้แล้ว มันอาจไม่มีคำตอบที่ตายตัวเสมอไป แต่สำหรับ “หมู” อมรเทพ แววแสง แล้ว เส้นทางความสำเร็จทั้งหมดนั้นเจ้าตัวลิขิตได้เองครับ

ในวัยเด็ก “หมู” อมรเทพ แววแสง เติบโตในย่านแฟลตดินแดงโดยฐานะของครอบครัวนั้นก็ไม่ได้ดีมากนัก เจ้าตัวเรียนอยู่โรงเรียนขนาดเล็กในบริเวณนั้น เพื่อนฝูงก็มีมากมายหลากหลายรูปแบบครับ ดีร้ายปะปนกันไป จนกระทั่งในวัย 8 ขวบ อมรเทพจึงได้พบกับกีฬายิมนาสติกที่เปรียบเสมือนแสงนำทางให้กับตัวเองท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ไม่ได้ดีนัก

“ตอนเด็กผมเรียนโรงเรียนเทศบาลแถวสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง และทางเข้าโรงยิมเนเซียมของกีฬายิมนาสติกมันก็อยู่ตรงกับที่อยู่ผมพอดี มันเลยทำให้ผมได้เห็นการซ้อมของนักกีฬา เห็นพวกเขาตีลังกากัน มันเลยเกิดเป็นแรงบันดาลใจทำให้ผมอยากเล่นยิมนาสติกบ้าง”

“ผมเริ่มเล่นยิมนาสติกจริงจังประมาณช่วงเรียน ป.3 อายุประมาณ 8-9 ขวบ โดยก็ฝึกอยู่ที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดงครับ และพอ ป.4 ก็เริ่มเข้าแข่งขันกีฬากรมพละศึกษาในนามโรงเรียนวิชากรและก็ได้รางชนะเลิศมา 3 ปีซ้อนจนได้มีโอกาสไปแข่งขันกีฬานักเรียนอาเซียนแล้วก็ไปคว้าเหรียญทองมาได้ครับ”

พี่หมู อมรเทพ แววแสง ย้อนเรื่องราวของตัวเองให้ผมฟังผ่านแววตาของคนที่ผ่านประสบการณ์ชีวิตมาอย่างยาวนานแต่ก็จดจำได้ทุกรายละเอียดเสมือนกับว่านี่คือเหตุการณ์สำคัญในชีวิตที่ไม่อาจลืมเลือน ซึ่งมันก็จริงนะครับเพราะว่าด้วยผลงานของพี่หมูในช่วงเวลาดังกล่าวมันร้อนแรงจนประตูทีมชาติไทยเปิดกว้างขึ้นสำหรับเจ้าตัว

ราชายิมนาสติกอาเซียน เจ้าพ่อเหรียญทองซีเกมส์

นักกีฬาทีมชาติไทยแทบทุกชนิดกีฬาเวทีแรกที่ต้องพิสูจน์ความสามารถของตัวเองเลยนั่นก็คือการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครับ เพราะนี่คือการแข่งขันที่เป็นจุดเริ่มในระดับนานาชาติแล้ว ซึ่งกีฬายิมนาสติกก็เช่นกัน พี่หมูนั้นเริ่มต้นติดทีมชาติไทยในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งแรกเมื่อปี 1989 ตรงกับการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 15 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งแม้ว่าพี่หมูจะเป็นดาวรุ่งแต่ก็สามารถทำผลงานเคียงคู่กับยอดนักยิมนาสติกของไทยอย่าง “ธีรัช โพธิ์พานิช” ได้อย่างยอดเยี่ยม เจ้าตัวคว้ามาได้ 2 เหรียญทองจากประเภททีมชายและประเภทบาร์คู่

 “การแข่งขันในครั้งนั้น พี่ธีรัชคว้าไปได้ 6 เหรียญทอง และมีอยู่เหรียญทองหนึ่งที่พี่เขาทำไม่ได้ นั่นก็คือประเภทบาร์คู่ซึ่งเหรียญทองนั้นมีเด็กหนุ่มคนหนึ่งตัดหน้าคว้าไปได้ซึ่งเด็กคนนั้นคือผมเองครับ”

ผลงานในครั้งนั้นของพี่หมูทำให้เจ้าตัวกลายเป็นนักกีฬาที่ได้รับการจับตามองขึ้นมาทันที ชื่อของ อมรเทพ แววแสง ถูกกล่าวถึงในฐานะดาวรุ่งที่ถูกคาดหวังว่าจะมาสานต่อความยิ่งใหญ่ของยิมนาสติกไทยในเวทีการแข่งขันระดับอาเซียนนี้ ซึ่งก็ดูเหมือนว่าความคาดหวังดังกล่าวจะไม่ได้เกินจริงแต่อย่างใด

การแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 16 ปี 1991 ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ “หมู” อมรเทพ แววแสง ก็สามารถก้าวขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญของทีมชาติไทย พี่หมูสามารถรักษาเหรียญทองประเภททีมชายเอาไว้ได้ ขณะที่ในประเภทบุคคลนั้นเจ้าตัวก็กวาดมาได้อีก 3 เหรียญทองจากประเภทห่วง, บาร์เดี่ยว และบาร์คู่ ทำให้ในกีฬาซีเกมส์ครั้งนั้นพี่หมูคว้าไปได้ทั้งสิ้น 4 เหรียญทอง

จากนั้นในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งถัดมาที่ประเทศสิงคโปร์ในปี 1993 พี่หมูก็นำทัพยิมนาสติกทีมชาติไทยเขย่าเวทีอาเซียนได้อีกครั้งด้วยการคว้าเหรียญทองมาได้อย่างมากมาย โดยเจ้าตัวรวมพลังกับเพื่อนร่วมทีมสามารถป้องกันเหรียญทองในประเภททีมชายเอาไว้ได้อีกสมัย รวมทั้งพี่หมูยังสามารถคว้าเหรียญทองประเภทบุคคลรวมอุปกรณ์ชายได้เป็นครั้งแรกอีกด้วยซึ่งเป็นเหรียญที่เจ้าตัวภูมิใจมากเป็นพิเศษ จากนั้นพี่หมูก็สามารถคว้าเหรียญทองในประเภทฟลอร์เอ็กเซอร์ไซส์และประเภทบาร์คู่ มาครองได้อีกทำให้ในการแข่งขันซีเกมส์ครั้งนั้นชื่อของ “หมู” อมรเทพ แววแสง ก็ถูกจารึกไว้ในฐานะ 4 เหรียญทองซีเกมส์อีกครั้ง

การแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 18 ปี 1995 ณ จังหวัดเชียงใหม่ คือเวทีที่พี่หมูสร้างชื่ออีกครั้งและทีมยิมนาสติกทีมชาติไทยก็ร่วมกันสร้างผลงานได้อย่างน่าประทับใจ ผมเองจำได้อย่างแม่นเลยครับว่าในช่วงเวลานั้นประเทศไทยคึกคักมาก ทุกความสนใจมุ่งสู่จังหวัดเชียงใหม่ กีฬามากมายถูกถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์ ชื่อ อมรเทพ แววแสง คือหนึ่งในนักกีฬาที่อยู่บนพื้นที่สื่อทุกแขนง ด้วยผลงานการคว้าเหรียญทองทั้งหมด 4 เหรียญในประเภททีมชาย บุคคลรวมอุปกรณ์ บาร์คู่ และม้าหูที่ขึ้นโพเดียมอันดับหนึ่งคู่กับ “ศาสตรา สุวรรณษา”

จากนั้นในการแข่งขันซีเกมส์ครั้งถัดมาที่ประเทศอินโดนีเซียในปี 1997 แม้ผลงานของยิมนาสติกทีมชาติไทยเริ่มจะตกลงแต่ พี่หมูก็ยังคงสามารถรักษามาตรฐานคว้ามาได้อีก 3 เหรียญทองจากประเภททีมชาย บุคคลรวมอุปกรณ์ และบาร์คู่ ก่อนที่พี่หมูจะกลับมาคว้าเหรียญทองซีเกมส์สุดท้ายได้การแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 21 ปี 2001 ที่ประเทศมาเลเซียในประเภทห่วง ซึ่งเท่ากับว่าตลอดระยะเวลากว่า 12 ปีที่ อมรเทพ แววแสง มีชื่อลงทำการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ เจ้าตัวคว้าไปทั้ง 18 เหรียญทอง เป็นราชายิมนาสติกอาเซียนจวบจนทุกวันนี้

“การแข่งขันซีเกมส์ในยุคสมัยนั้นสำหรับผมนะ มันเหมือนกีฬาแห่งชาติไปแล้ว ผมไม่ได้ประมาทนะ เราแค่ซ้อมให้ดีที่สุด ปลอดภัยที่สุด พยายามไม่ให้มีอาการบาดเจ็บ แล้วเราก็ขึ้นไปโชว์ มันเหมือนไม่ได้ไปแข่งขันนะมันคือการไปแสดงโชว์ทั่วไป”

“สำหรับพี่เองนั้นมองข้ามซีเกมส์ไปแล้ว พี่ต้องการประสบความสำเร็จในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์มากกว่า”

เอเชียนเกมส์แห่งการเรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์

สำหรับเรื่องราวของพี่หมูในเวทีซีเกมส์ที่ผมเล่าไปนั้นก็เพื่อให้ทุกท่านเห็นว่า ในยุคนั้นเจ้าตัวนั้นประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในเวทีการแข่งขันระดับอาเซียน ก็อย่างที่พี่หมูบอกไปนั่นแหละครับว่าในเวทีซีเกมส์ก็เสมือนกับการแสดงโชว์มากกว่า เพราะด้วยมาตรฐานฝีมือที่เหนือกว่าชาติอื่นอย่างเห็นได้ชัดจึงทำให้ความท้าทายของเจ้าตัวนั้นอยู่ที่การแข่งขันในระดับทวีปเสียมากกว่า

อมรเทพ แววแสง เข้าร่วมการแข่งขันเอเชียนเกมส์ครั้งแรกในปี 1990 ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน โดยเจ้าตัวไม่สามารถแทรกตัวไปคว้าเหรียญรางวัลใดๆ ได้เลย ก็แน่นอนครับเพราะแม้ว่าทีมชาติไทยจะสามารถทำผลงานได้ดีในการแข่งขันซีเกมส์แต่สำหรับเอเชียนเกมส์แล้วมันต่างกันมาก นักยิมนาสติกจากทีมชาติจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และเกาหลีเหนือ ต่างคือสุดยอดฝีมือที่ผลัดกันคว้าเหรียญรางวัลในรายการนี้

“เอเชียนเกมส์ครั้งแรกที่กรุงปักกิ่งผมทำผลงานได้ไม่ดีนัก แต่ผมก็ได้ไปเห็นครับว่าประเทศชั้นนำเขาซ้อมและเตรียมตัวกันแบบไหน ทีมชาติจีนซ้อมแบบไหน ญี่ปุ่นและเกาหลีเขาเล่นอะไร ทำอะไร เราเองจะมีโอกาสพัฒนาได้แบบเขาหรือไม่ เพราะนักกีฬาพวกนี้บางคนอยู่ในเวทีการแข่งขันระดับโลกไปแล้ว”

 พี่หมูเล่าให้ผมฟังถึงตอนไปทำการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 11 ปี 1990 ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ซึ่งเจ้าตัวยืนยันครับว่าแม้การแข่งขันในครั้งนั้นจะไม่ได้ประสบความสำเร็จในแง่ของผลการแข่งขัน แต่สำหรับการไปเปิดโลกศึกษานักกีฬาระดับท็อปของเอเชียนั้นมันมีประโยชน์จริง

 อีก 4 ปีถัดมา อมรเทพ แววแสง ก็มีโอกาสลงแข่งขันเอเชียนเกมส์อีกครั้งและดูเหมือนว่าในการแข่งขันครั้งนั้นจะฝังใจพี่หมูอยู่มาก เจ้าตัวบอกผมว่ามันอีกนิดเดียวเท่านั้นที่จะมีเหรียญรางวัลติดมือกลับมาฝากแฟนกีฬาชาวไทย แต่ความผิดพลาดเพียงเล็กน้อยก็ทำให้ฝันสลายลงไปในพริบตา

 “เอเชียนเกมส์ครั้งนั้นผมมีความพร้อมมากนะแต่ทำได้แค่อันดับที่ 4 ในประเภทห่วง น่าเสียดายที่รอบชิงชนะเลิศพลาดไปนิดเดียว ตอนรอบคัดเลือก 2 รอบแรกผมทำคะแนนมาเป็นอันดับที่ 1 เลยนะ ชนะจีน เกาหลี ญี่ปุ่นเลย แต่ในรอบสุดท้ายมันก็มาเกิดความผิดพลาดขึ้นตอนท่าจบ แขนพี่งอเล็กน้อยทำให้โดนตัดคะแนนและแพ้ไปแค่ 0.01 คะแนน ไม่เช่นนั้นก็ติด 1 ใน 3 แล้ว”

 การแข่งขันเอเชียนเกมส์ใน 2 ครั้งแรกของ “หมู” อมรเทพ แววแสง เปรียบเสมือนการสร้างประสบการณ์ให้กับตัวเองเท่านั้น ความรู้สึกเสียดาย ผิดหวัง เจ็บใจ ยังตามติดเจ้าตัวอยู่ตลอดเวลาก่อนถึงการแข่งขันเอเชียนเกมส์ครั้งถัดไป

"Third Time Lucky" สำนวนที่เป็นจริงสำหรับ “อมรเทพ แววแสง”

หลังจากที่พี่หมูต้องผิดหวังจากการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์มาแล้วถึงสองครั้งสองครา เจ้าตัวก็กลับมาเปลี่ยนแปลงระบบการฝึกซ้อมใหม่ มีการตระเวนแข่งขันในระดับนานาชาติมากขึ้น มีการนำเรื่องของวิทยาศาสตร์การกีฬาและจิตวิทยาเข้ามา ทั้งหมดนี้ก็เพื่อเป็นการพัฒนาและยกระดับตัวเองให้ทันกับการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ปี 1998 ที่ประเทศไทยของเราจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน เรียกได้ว่าแม้พี่หมูจะต้องพบกับความผิดหวังแต่ก็ไม่จมปลักอยู่กับมัน

 “ในยุคนั้นท่าน ชัยรัตน์ คำนวณ เป็นนายกสมาคมกีฬายิมนาสติก ท่านก็วางแผนว่าเราต้องตระเวนแข่งขันเก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้มากขึ้น ท่านจัดโปรแกรมการฝึกซ้อมใหม่มีการเอาวิทยาศาสตร์การกีฬาและจิตวิทยาเข้ามา ซึ่งสมัยนั้นยังไม่ค่อยมีใครทำนะครับ”

 “การเปลี่ยนแปลงในครั้งนั้นมีผลมากนะ ผมมีระบบการฝึกซ้อมที่ดีขึ้น มีอาการบาดเจ็บลดลง และมีสมาธิที่ดีขึ้นมาก มันเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้ผมประสบความสำเร็จเลยก็ว่าได้”

 อมรเทพ แววแสง เริ่มพัฒนาฝีมือขึ้นไปอีกระดับจนนักกีฬาด้วยกันต่างเรียกเจ้าตัวว่า “มิสเตอร์ริง” อันแสดงถึงความเก่งกาจในการเล่นอุปกรณ์ห่วงในยุคนั้น พี่หมูสามารถคว้าเหรียญทองแดงในการแข่งขันยิมนาสติกชิงแชมป์เอเชียหรือเอเชียน อาร์ทิสติค ยิมนาสติก แชมเปียนชิพส์ (Asian Artistic Gymnastics Championships) ในปี 1996 โดยพ่ายแพ้ 2 นักกีฬาจีนเจ้าภาพและหนึ่งในนั้นคือ “หวง ซู” คู่ปรับคนสำคัญ จากนั้นในปีถัดมาพี่หมูก็ได้มีโอกาสไปแข่งขันในรายการใหญ่อย่างยิมนาสติกชิงแชมป์โลกหรือเวิลด์ อาร์ทิสติค ยิมนาสติก แชมเปียนชิพส์ (World Artistic Gymnastics Championships) ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพื่อเป็นการสร้างประสบการณ์

“เพื่อนนักกีฬาด้วยกันจะรู้ดีว่าผมนั้นถนัดในประเภทห่วงนะ ผมได้เหรียญรางวัลในการแข่งขันชิงแชมป์เอเชียก็มาจากประเภทนี้ ช่วงนั้นผมเตรียมความพร้อมสำหรับเอเชียนเกมส์เป็นอย่างดี มีโอกาสไปแข่งขันยิมนาสติกชิงแชมป์โลกที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ และถ้าจำไม่ผิดผมได้อันดับที่ 9 ของโลกเลยนะ”

 “เอเชียนเกมส์ 98 ผมเตรียมตัวฝึกซ้อมมาอย่างดี ลงแข่งขันเก็บประสบการณ์มาตลอดทุกระดับทั้งชิงแชมป์โลกและชิงแชมป์เอเชีย หรือรายการระดับนานาชาติทั้งแพนแปซิฟิคเกมส์ ไชน่า คัพ พบเจอนักกีฬาหลากหลาย แพ้ชนะกันมาหมดแล้ว ผมไม่มีอะไรต้องกลัวหรือกังวลมีแต่เป้าหมายที่จะคว้าเหรียญรางวัลเอเชียนเกมส์ให้ได้เท่านั้น”

 ก็อย่างที่พี่หมูกล่าวมานั่นแหละครับสำหรับเจ้าตัวแล้วทุกอย่างมันพร้อมมาหมดแล้ว เจ้าตัวยกระดับตัวเองจนสามารถคว้าเหรียญทองแดงในการแข่งขันยิมนาสติกชิงแชมป์เอเชียมาได้ การแข่งขันยิมนาสติกชิงแชมป์โลกก็ได้ไปสัมผัสเก็บเกี่ยวประสบการณ์มาแล้ว ทุกอย่างมันถูกปูทางมาเพื่อสร้างประวัติศาสตร์คว้าเหรียญรางวัลเอเชียนเกมส์ในบ้านของตัวเอง ซึ่งคู่แข่งขันสำคัญในตอนนั้นก็คงหนีไม่พ้น “หวง ซู” จากประเทศจีนเจ้าของเหรียญเงินชิงแชมป์เอเชีย และ “โยชิฮิโร่ ไซโตะ” จากประเทศญี่ปุ่นเจ้าของอันดับ 8 ในประเภทห่วงของยิมนาสติกชิงแชมป์โลก 2 นักยิมนาสติกที่ขับเคี่ยวกันมาตลอดในรายการระดับนานาชาติ

 แต่การแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ปี 1998 นั้น มันคือวันของ “หมู” อมรเทพ แววแสง อย่างแท้จริงเมื่อเจ้าตัวเล่นได้อย่างยอดเยี่ยมและทำคะแนนไปได้ 9.80 คะแนน เอาชนะทั้ง “หวง ซู” และ “โยชิฮิโร่ ไซโตะ” ก้าวขึ้นไปคว้าเหรียญทองประวัติศาสตร์ได้สำเร็จ เป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ และยังไม่มีใครทำได้มาจนทุกวันนี้  

 “ผมจำบรรยากาศวันนั้นได้ดีเลยครับ ช่วงนั้นเวลาซ้อมก็มีคนเข้ามาให้กำลังใจมากมาย มันทำให้ผมรู้สึกภูมิใจมาก ในวันแข่งผมสามารถคว้าเหรียญทองได้แบบไม่มีใครคาดคิด เขาคาดการณ์กันว่าที่อิมแพคอารีน่า ในวันนั้นทีมชาติไทยน่าจะได้เหรียญทองจากมวยสากลสมัครเล่นเพราะแข่งขันวันเดียวกัน แต่ผมดันมาตัดหน้าไปซะก่อน”

ชีวิตหลังคว้าเหรียญทองเอเชียนเกมส์

 หลังจากที่พี่หมูสามารถคว้าเหรียญทองประวัติศาสตร์จากยิมนาสติกประเภทห่วงในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ปี 1998 มาครองได้แล้วนั้น เจ้าตัวก็หยุดเล่นให้ทีมชาติไทยไปหลายปี จนกลับมาอีกครั้งในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 21 ปี 2001 ที่ประเทศมาเลเซียด้วยความจำเป็น และแม้เจ้าตัวจะสามารถทำผลงานด้วยการคว้าเหรียญทองประเภทห่วงเป็นการส่งท้ายมหกรรมกีฬาของชาวอาเซียนได้สำเร็จ แต่พี่หมูก็มีสิ่งที่ต้องแลก

 “หลังจากคว้าเหรียญทองเอเชียนเกมส์ 98 ได้แล้ว ผมรู้สึกหมดพลังเลยนะ เพราะเราได้ทุ่มเททุกอย่างไปหมดแล้ว มีเท่าไหร่ใส่หมด แล้วมีอาการบาดเจ็บติดตัวมาด้วย อีกทั้งสมาคมยิมนาสติกแห่งประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงทั้งผู้บริหารและโค้ช ผมก็เลยตัดสินใจเลิกเล่นก่อนการคัดเลือกโอลิมปิกเกมส์”

 “จริงๆ ผมเสียดายนะถ้านึกย้อนกลับไป แต่สมัยนั้นผมดันไปยึดติดกับความรู้สึกที่ว่าพอมีการเปลี่ยนแปลงแล้วต่อไปใครจะดูแลเรา ใครจะสนับสนุนเรา เขายังต้องการเราอยู่หรือ คำถามเหล่านี้มันรบกวนจิตใจตลอดครับเลยตัดสินใจพักการเล่นทีมชาติไว้ก่อน จนการแข่งขันซีเกมส์ 2001 ที่ประเทศมาเลเซียผมก็ได้กลับเข้ามาอีกครั้งด้วยความจำเป็น ตอนนั้นผมอยู่ในกลุ่มสตาฟฟ์โค้ชมาแล้วเป็นปี แต่ด้วยความที่ศักยภาพของนักกีฬาในตอนนั้นยังไม่อาจพัฒนาขึ้นมาได้ทัน ผมจึงถูกผลักดันให้กลับมาลงสนามอีกครั้ง”

“ตอนนั้นเวลาผมจำกัดมากนะครับ การเข้ามาแทนที่ในช่วงก่อนถึงการแข่งขันไม่นานมันมีความเสี่ยงสูงแต่ก็ต้องทำเพื่อจะรักษาเหรียญทองเอาไว้ แม้ผมจะได้เหรียญทองจากประเภทห่วงมาครองได้เป็นเหรียญส่งท้าย แต่ผมก็มีอาการบาดเจ็บที่หัวไหล่ติดตัวมาด้วย”

ครับก็อย่างที่พี่หมูกล่าวไปชีวิตหลังจากคว้าเหรียญทองเอเชียนเกมส์ 1998 ได้แล้วเจ้าตัวก็ผันตัวไปเป็นโค้ชก่อนจะถูกผลักดันให้กลับมาลงสนามอีกครั้ง ซึ่งแม้จะทำผลงานได้เป็นที่น่าพอใจแต่พี่หมูก็มีอาการบาดเจ็บติดตัวมาด้วย และอาการบาดเจ็บนี้จะส่งผลอย่างไรต่อไปกันนะ

การจากลาทีมชาติไทยด้วยความเดียวดายและเจ็บปวด

การแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 14 ปี 2002 ณ เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ ชื่อของ อมรเทพ แววแสง ก็กลับเข้ามาสู่ทีมชาติไทยอีกครั้ง เพราะเจ้าตัวมีผลงานเป็นถึงแชมป์เก่านั่นจึงทำให้ทางสมาคมยิมนาสติกแห่งประเทศไทยตัดสินใจส่งพี่หมูลงทำการแข่งขันอีกครั้ง

“การจะเข้าร่วมเอเชียนเกมส์มีเกณฑ์อยู่ครับ เช่น คุณต้องเคยได้เหรียญรางวัลในการแข่งขันครั้งก่อนหน้านี้ หรือเคยได้เหรียญรางวัลในรายการสำคัญ หรือมีผลงานที่ส่งไปแข่งขันแล้วสามารถหวังเหรียญรางวัลได้ ซึ่งแน่นอนว่าผมก็เข้ากฎเกณฑ์แทบทุกข้อทางสมาคมจึงส่งชื่อผมไปอีกครั้ง”

 “ผมมีอาการบาดเจ็บที่หัวไหล่รบกวนมาตั้งแต่การแข่งซีเกมส์ปีก่อนหน้านั้น แต่ก็รักษาจนอาการตีขึ้นมาก สามารถฝึกซ้อมได้ตามปกติ ผมเองก็มีความมั่นใจนะว่าจะคว้าเหรียญรางวัลได้ แต่ก่อนการแข่งขันแค่ 2 วันอาการบาดเจ็บก็กลับมาอีก อาจจะเกิดจากความเครียด หรือที่นอนที่บ้านพักนักกีฬา ผมทำทุกทางนะฉีดยาก็แล้วแต่มันก็ไม่หาย”

“อีกทั้งการไปแข่งเอเชียนเกมส์ครั้งนั้นด้วยงบประมาณที่จำกัดทำให้ผมไม่มีผู้จัดการทีมหรือทีมงานคอยดูแล ต้องทำทุกอย่างเองแม้แต่ประชุมการแข่งขัน ซึ่งในตอนนั้นเกิดมีการเปลี่ยนแปลงเวลาแข่งขันแบบกะทันหัน ทำให้ผมไม่สามารถวอร์มร่างกายได้ทัน พอขึ้นไปเล่นมันก็มีอาการบาดเจ็บอีกจนไปต่อไม่ไหวเล่นไปได้แค่ 3 ท่าเท่านั้น”

 “นั่นคือจุดจบของอมรเทพครับ ผมสร้างความผิดหวังให้กับคนไทย พี่ๆ สื่อมวลชน สมาคมยิมนาสติกแห่งประเทศไทย แต่ไม่มีใครเคยรับรู้เบื้องหลังความล้มเหลวในครั้งนั้น ผมได้แต่แบกรับเอาไว้และเดินออกจากทีมชาติไทยไปอย่างเงียบๆ”

ครับและนี่คือเรื่องราวของ “หมู” อมรเทพ แววแสง นักยิมนาสติกทีมชาติไทย ที่สามารถคว้าเหรียญทองเอเชียนเกมส์ประวัติศาสตร์มาครองได้จากประเภทห่วง นักกีฬาที่เป็นฮีโร่ของใครหลายคน เส้นทางชีวิตที่เลือกเดินได้โดยใช้กีฬานำพาชีวิตไปสู่จุดสูงสุด แม้ในตอนจบอาจเป็นการจากลาด้วยความผิดหวัง แต่ผมก็ไม่อยากให้ทุกคนลืมเลือนเขาครับ

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.