"หมู่บ้านนักกีฬาหางโจวเกมส์" : เวทีโชว์ความล้ำหน้ารอบด้านของจีน (ภาพ)

การแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 ปี 2022 ณ เมืองหางโจว ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน จะเป็นมหกรรมกีฬาที่มีนักกีฬา เจ้าหน้าที่เทคนิค และบุคลากรด้านสื่อสารมวลชนจากประเทศต่างๆในทวีปเอเชีย เข้ามามีส่วนร่วมมากกว่า 20,000 คน นับเป็นมหกรรมกีฬาขนาดใหญ่ที่จะต้องมีการวางแผนด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆอย่างเป็นระบบ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือหมู่บ้านนักกีฬาที่ทางเจ้าภาพได้จัดเตรียมความสะดวกสบายต่างๆ เอาไว้ให้อย่างครบถ้วนบนพื้นที่กว่า 304,000 ตารางเมตร บริเวณฝั่งตะวันออกของจุดตัดระหว่างปักกิ่งกับหางโจว แกรนด์ คาแนล และแม่น้ำเฉียนถัง

เจ้าภาพนั้นพิถีพิถันและใส่ใจในรายละเอียดของหมู่บ้านนักกีฬาหางโจวเกมส์เป็นอย่างมากเพื่อต้องการยกระดับมหกรรมกีฬาเอเชียนเกมส์ให้มีความใกล้เคียงกับโอลิมปิกเกมส์ให้มากที่สุด และอีกทางหนึ่งเมืองหางโจวก็ต้องการอาศัยโอกาสในการเป็นเจ้าภาพกีฬาเอเชียนเกมส์ในครั้งนี้แสดงถึงความก้าวหน้าทางด้านสถาปัตยกรรมรวมทั้งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเมือง

บทความนี้ผมจะพาทุกท่านไปพบกับเรื่องราวของ "หมู่บ้านนักกีฬาหางโจวเกมส์" เราไปดูกันนะครับว่าทางเมืองหางโจวเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันเอเชียนเกมส์ครั้งนี้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อต้อนรับแขกผู้มาเยือนอย่างไรบ้าง
หมู่บ้านนักกีฬาสีเขียว

การสร้างหมู่บ้านนักกีฬาหางโจวเกมส์ในครั้งนี้เจ้าภาพให้ความสำคัญกับการออกแบบและก่อสร้างโดยมีโจทย์ใหญ่ว่าต้องกลมกลืนไปกับสิ่งแวดล้อม ไม่ก่อสิ่งรบกวนแก่ระบบนิเวศ และที่สำคัญคือต้องไม่สร้างมลพิษและความสิ้นเปลืองด้านพลังงานเพื่อให้สมกับการเป็นหมู่บ้านนักกีฬาสีเขียวอย่างที่ตั้งใจจะนำเสนอสู่สายตาชาวเอเชีย ด้วยเหตุนี้ผู้รับผิดชอบโครงการจึงได้อาศัยความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ที่พื้นที่ของหมู่บ้านนักกีฬานั้นอยู่ติดกับแม่น้ำเฉียนถังหนึ่งในแม่น้ำสายสำคัญของประเทศจีน โดยได้ทำการออกแบบพื้นที่บริเวณริมน้ำสาธารณะ (Public Waterfront) ที่มีความยาวกว่า 500 เมตร เพื่อเป็นจุดให้บรรดานักกีฬาและเจ้าหน้าที่ของการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งนี้ได้มาพักผ่อนหย่อนใจ

นอกจากนี้ในบริเวณหมู่บ้านพักนักกีฬาก็จะมีคลองที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้หมู่บ้านนักกีฬาหางโจวเกมส์นั้นมีความชิดใกล้กับธรรมชาติให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งแม้คลองนี้จะถูกสร้างขึ้นมาด้วยฝีมือของมนุษย์แต่ก็สามารถมีระบบไหลเวียนน้ำได้อย่างเป็นธรรมชาติเพราะนักออกแบบนั้นได้ออกแบบให้ตัวคลองมีการเชื่อมต่อกับแม่น้ำเฉียนถังเพื่อใช้ประโยชน์จากกระแสธรรมชาติสร้างระบบการไหลของน้ำในคลองนี้
คอมเพล็กซ์ทันสมัยสไตล์ราชวงศ์ซ่ง

อินเตอร์เนชั่นแนลโซน (International Zone) เป็นพื้นที่บริเวณกลางหมู่บ้านนักกีฬาหางโจวเกมส์ สำหรับใช้ในการจัดกิจกรรมสาธารณะต่างๆ ในช่วงของการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งนี้ โดยอินเตอร์เนชั่นแนลโซนเป็นคอมเพล็กซ์ที่มีพื้นที่ทั้งหมด 67,700 ตารางเมตรประกอบด้วยอาคารสี่หลังที่เชื่อมต่อกันด้วยทางเดินยาว 1.6 กิโลเมตร บนชั้นสองมีสนามบาสเกตบอล 3 สนามและสนามฟุตบอลขนาด 7x7 อีก 1 สนามเพื่อเอาไว้นักกีฬา เจ้าหน้าที่เทคนิค และบุคลากรด้านสื่อสารมวลชนได้ออกกำลังกาย

ขณะที่ลานบนชั้นดาดฟ้าของอินเตอร์เนชั่นแนลโซนจะเป็นไฮไลต์สำคัญ เพราะมีการตกแต่งด้วยสถาปัตยกรรมสไตล์ราชวงศ์ซ่งอันโดดเด่น พร้อมด้วยสระน้ำทรงสี่เหลี่ยม เรือหินอ่อน โรงน้ำชา และเนินเขาเทียม เป็นบรรยากาศย้อนยุคสมัยที่น่าตื่นตาตื่นใจ และพื้นที่บริเวณนี้จะใช้ในการต้อนรับคณะกรรมการโอลิมปิกสากลและสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย เป็นบริเวณที่ทางเจ้าภาพภูมิใจนำเสนอและเชื่อมั่นว่าบุคคลสำคัญของวงการกีฬาโลกและทวีปเอเชียจะประทับใจไม่รู้ลืม
เทคโนโลยีเพื่อความสะดวกและปลอดภัย

สำหรับอีกประเด็นหนึ่งที่อยู่คู่กับการแข่งขันมหกรรมกีฬาขนาดใหญ่มาโดยตลอดนั่นก็คือเรื่องของการรักษาความปลอดภัยให้กับผู้อยู่อาศัยภายในหมู่บ้านนักกีฬา งานนี้ทางเมืองหางโจวเจ้าภาพจัดการแข่งขันได้มีการนำเทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์หรือ AI, IoT และ Big Data เข้ามาช่วยในการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อนำไปช่วยในการบริหารจัดการความปลอดภัยด้านต่างๆอย่างเต็มที่ เช่น การสั่งการอัจฉริยะ การรักษาความปลอดภัยอัจฉริยะ การจัดการจราจรอัจฉริยะ เป็นต้น เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและความสะดวกสบายอย่างสูงสุดแก่นักกีฬา เจ้าหน้าที่เทคนิค และบุคลากรด้านสื่อสารมวลชนทุกคนที่มาอยู่ร่วมกันในหมู่บ้านนักกีฬาแห่งนี้

เทคโนโลยีดังกล่าวจะมีส่วนสำคัญในการผลักดันสนับสนุนให้เจ้าภาพจัดการแข่งขันเอเชียนเกมส์ในครั้งนี้สามารถใช้โอกาสดังกล่าวในการประชาสัมพันธ์ถึงศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเมืองตนเองอย่างเต็มที่ เรียกได้ว่านี่อาจเป็นหมู่บ้านนักกีฬาอัจฉริยะต้นแบบของมหกรรมกีฬาขนาดใหญ่ต่อไปเลยก็ว่าได้ ซึ่งจากการสำรวจความพร้อมล่าสุดของคณะกรรมการจัดการแข่งขันนั้นคงต้องบอกว่าเมืองหางโจวได้แสดงความก้าวหน้าทางสถาปัตยกรรมและวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีผ่านการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งนี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ

หมู่บ้านนักกีฬาหางโจวเกมส์ จะเป็นเมืองจำลองอัจฉริยะที่มีความกลมกลืนกับธรรมชาติและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สถานที่แห่งนี้จะเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของชาวเมืองหางโจว และจะเป็นอีกสถานที่สุดประทับใจของชาวเอเชียอย่างไม่มีข้อโต้แย้ง
พื้นที่เศรษฐกิจใหม่หลังจบเอเชียนเกมส์

อีกปัญหาหนึ่งของการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันมหกรรมกีฬาขนาดใหญ่นั้นก็คือการใช้สอยสิ่งก่อสร้าง หรือสถานที่ต่างๆที่ถูกเนรมิตขึ้นมาในช่วงเวลาดังกล่าวหลายครั้งที่เราพบว่าเมื่อมหกรรมกีฬาจบลงไปแล้ว สนามกีฬาหรือหมู่บ้านนักกีฬาได้แปลเปลี่ยนไปไม่เกิดประโยชน์ใช้สอยที่คุ้มค่ากับการลงทุนจนกลายเป็นภาระกับประเทศหรือเมืองที่เป็นเจ้าภาพในภายหลัง แต่สิ่งที่กล่าวมานี้จะไม่เกิดกับหมู่บ้านนักกีฬาหางโจวเกมส์

โดยหลังจากการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ 2022 จบลงพื้นที่หมู่บ้านนักกีฬาหางโจวเกมส์จะถูกแปรเปลี่ยนไปเป็นคอมเพล็กซ์เชิงพาณิชย์และอาคารสำนักงานสำหรับบริษัทห้างร้านต่างๆ ส่วนบริเวณริมน้ำสาธารณะจะกลายเป็นพื้นที่สีเขียวสำหรับการพักผ่อนของประชาชนทั่วไปและเป็นพื้นที่สำหรับการค้าขายริมน้ำอันจะเป็นเอกลักษณ์ใหม่ของเมือง ซึ่งทางเมืองหางโจวเชื่อมั่นว่าหลังจากการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์จบลงแล้ว หมู่บ้านนักกีฬาหางโจวเกมส์แห่งนี้จะกลายเป็นย่านธุรกิจใหม่ที่ช่วยสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจให้กับเมืองได้อย่างแน่นอน

ครับเมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ผมเองมีความเชื่อว่าท่านผู้อ่านน่าจะมีความคิดเห็นเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่าทางเมืองหางโจวนั้นมีการวางแผนในการใช้งานหมู่บ้านนักกีฬาทั้งระหว่างการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์และหลังจากการแข่งขันจบลงไปแล้วได้อย่างลงตัว และนี่คือบทความ "หมู่บ้านนักกีฬาหางโจวเกมส์" ที่จะช่วยให้ทุกท่านเห็นถึงความตั้งใจในการเตรียมความพร้อมของเจ้าภาพ และการแสดงถึงความเจริญก้าวหน้าของการเป็นเจ้าภาพในมหกรรมกีฬาสมัยใหม่ ที่จะกลายเป็นมาตรฐานที่สูงขึ้นต่อไปในอนาคต

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.