ทักษิณ- เพื่อไทยไม่มีมูลปมล้มล้างฯกระเทือนเนื้อหาไต่สวนคดียุบพรรค

เมื่อวันที่ 24 พ.ย.2567 สืบเนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ ไม่รับวินิจฉัยข้อกล่าวอ้างในประเด็นที่ 1 และประเด็นที่ 3 ถึงประเด็นที่ 6 "ทักษิณ ชินวัตร" และพรรคเพื่อไทย ยังไม่มีน้ำหนักพยานหลักฐานเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองน่าจะทำให้เกิดผลเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง 

นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก (7 ต่อ 2) มีคำสั่งไม่รับคำร้องในประเด็นที่2 ไว้พิจารณาวินิจฉัย เห็นว่า ยังไม่มีน้ำหนักพยานหลักฐานเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่าการกระทำ  "ทักษิณ ชินวัตร" และพรรคเพื่อไทย น่าจะทำให้เกิดผลเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง 

ดร.ณัฏฐ์ วงศ์เนียม นักกฎหมายมหาชน ตอบคำถามที่ว่า คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่รับคำร้อง ทักษิณ - เพื่อไทย ล้มล้างการปกครอง กับ คำร้องที่ กกต.รับไต่สวนยุบพรรคเพื่อไทยกับ 6 พรรคร่วม คนละประเด็นกันหรือไม่ มีผลผูกพันต่อ กกต.หรือไม่ อย่างไรว่า โดยปกติ คำวินิจฉัยในเนื้อหาศาลรัฐธรรมนูญย่อมเด็ดขาด มีผลผูกพันทุกองค์กร ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 วรรคสี่ 

แต่คำวินิจฉัยที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง "ทักษิณ ชินวัตร" และพรรคเพื่อไทย ต้องแยกพิจารณา 2 ส่วนด้วยกัน 

ส่วนแรก กรณีข้อกล่าวอ้างในประเด็นที่ 1 และประเด็นที่ 3 ถึงประเด็นที่ 6 ยังไม่มีน้ำหนักพยานหลักฐานเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองน่าจะทำให้เกิดผลเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง 

ดังนั้น กรณีไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยในเนื้อหาแห่งคดีแล้ว ย่อมส่งผลให้ผู้ร้องมายื่นคำร้องในประเด็นเดิมซ้ำไม่ได้ เว้นแต่มีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานใหม่ ผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเสร็จเด็ดขาดและผูกพันทุกองค์กร ตามมาตรา 211 วรรคสี่ 

ส่วนที่สอง สำหรับประเด็นที่ 2 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก(7 ต่อ 2) มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย เห็นว่า ยังไม่มีน้ำหนักพยานหลักฐานเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองน่าจะทำให้เกิดผลเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง เป็นกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ได้วินิจฉัยในการกระทำของเนื้อหา 

คำวินิจฉัยนี้ ไม่ผูกพันทุกองค์กร ประเด็นล้มล้างการปกครองฯและกรณีครอบงำ พรรคเพื่อไทย แม้เป็นคนละประเด็นกันก็ตาม แต่คำร้องที่ กกต.ไต่สวนยุบพรรคเพื่อไทยกับ 6 พรรคร่วม ตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง พ.ศ.2566 โดยอยู่ระหว่างสืบสวนหรือไต่สวนของคณะกรรมการที่ กกต.แต่งตั้งขึ้น แม้ กกต.จะใช้ พรป.พรรคการเมือง มาตรา 28 มาตรา 29 และมาตรา 92 โดยอาศัยฐานข้อกล่าวหาครอบงำ สั่งการระหว่างนายทักษิณฯกับพรรคเพื่อไทย ตรงกับประเด็น ในประเด็นที่ 3 ถึงประเด็นที่ 6 ตามคำร้อง

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยในเนื้อหาถึงการกระทำล้มล้างฯ แม้ประเด็นกรณียุบพรรคจะเป็นคนละประเด็นก็ตาม แต่ข้อกล่าวหานายทักษิณฯสั่งการรัฐบาลก็ดี เป็นข้อกล่าวหา ข้อ 1 และข้อ 2 หรือกรณีนายทักษิณฯการสั่งการพรรคเพื่อไทยก็ดี เป็นข้อกล่าวหา ข้อ 3 ถึง ข้อ 6 แม้คนละประเด็นกับการยุบพรรค ที่ กกต.ใช้อำนาจในการไต่สวน แต่เป็นข้อเท็จจริงเดียวกัน ส่งผลต่อน้ำหนักรับฟังพยานหลักฐานในชั้น กกต. 

แม้ นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต.จะอ้างว่า คนละประเด็นและใช้กฎหมายคนละฉบับกันก็ตาม แต่หากพิจารณาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 211 วรรคสี่ กรณีที่ศาลยกคำร้องและไม่รับคำร้อง ย่อมมีผลกระทบต่อเนื้อหาโดยตรง ที่ กกต.ไต่สวนยุบพรรคเพื่อไทยกับ 6 พรรคร่วม เพราะมีรายละเอียดประเด็นเดียวกัน การกระทำเดียวกัน และข้อเท็จจริงลักษณะเดียวกันที่ฝ่ายผู้ร้องกล่าวอ้าง 

ศาลได้วินิจฉัยในเนื้อหากรณีล้มล้างฯแล้วว่า ไม่มีน้ำหนักพยานหลักฐานเพียงพอ โดยฝ่ายผู้ร้องอ้างข้อเท็จจริงเดียวกันที่ กกต.รับไต่สวนยุบพรรค แม้ กกต.ลุยไต่สวนต่อ เป็นสิทธิและอำนาจของ กกต.ย่อมที่กระทำได้เพราะเป็นองค์กรอิสระ แต่การที่ กกต.วินิจฉัยชี้ขาดให้ยุบพรรค จะต้องมีพยานหลักฐานมีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า เป็นการครอบงำ สั่งการพรรค ตามความมุ่งหมายของ พรป.พรรคการเมือง ที่เพิ่งจะบัญญัตินำมาใช้ในปี 2560 

เอกสารที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความ ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญและที่ใช้ในชั้น กกต.เป็นชุดเดียวกัน ทำให้การรับฟังพยานหลักฐานยุบพรรคในชั้น กกต.มีน้ำหนักน้อยเช่นกัน ทำให้เปิดช่องให้ฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทยกับ 6 พรรคร่วมที่ถูกกล่าวหา หยิบเอา คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มาหักล้างในชั้น กกต.แม้คนละประเด็นกันก็ตาม แต่พยานหลักฐานชุดเดียวกัน เนื้อหาแห่งคดีเดียวกันและพฤติการณ์การกระทำเดียวกัน ทำให้พยานหลักฐานมีน้ำหนักไม่เพียงพอ 

ส่วนกรณี นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เตรียมฟ้องร้อง ผู้ยื่นคําร้องกล่าวหาพรรคเพื่อไทยล้มล้างการปกครองเป็นสิทธิตามกฎหมายของพรรคเพื่อไทย หากได้รับความเสียหาย การพิทักษ์รัฐธรรมนูญเป็นหน้าที่ของประชาชน นายธีรยุทธฯ แม้เป็นทนายความอิสระ ทำหน้าที่ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง เมื่อพบเห็นทราบการกระทำพฤติการณ์ล้มล้าง ย่อมใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ที่ให้อำนาจไว้ 

ก่อนหน้านี้ ข้อเท็จจริงเหมือนกัน ศาลอาญาในคดีหมายเลขดำ อ.308/2564 ที่พรรคก้าวไกล ขณะนั้น เป็นโจทก์ฟ้องยื่นฟ้องนายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นจำเลย ในความผิดฐานแจ้งความเท็จ,หมิ่นประมาทฯและเรียกค่าเสียหาย กรณีกล่าวหาว่า พรรคอนาคตใหม่ล้มล้างฯ ในคดี“อิลูมินาติ”

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ที่ 1/2563 ยกคำร้องไม่มีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครองฯ แล้วนำคดีมาฟ้องกลับแบบนี้เช่นกัน แต่ล่าสุดในคดีอาญา ศาลได้วินิจฉัยตอนหนึ่งว่า “..การกระทำของจำเลยจึงมีเจตนาเพื่อให้มีการพิจารณาคำร้องไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย ไม่ได้มีเจตนาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน และหมิ่นประมาทการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิด..”  

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.