ชื่อ'กิตติรัตน์'นั่งปธ.บอร์ดแบงก์ชาติไม่เข้าครม.รอเคลียร์ปมคุณสมบัติ
กรณีคณะกรรมการสรรหาบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เมื่อ 11พ.ย.67 ซึ่งมีนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานคณะกรรมการสรรหา มีมติ 5 ต่อ2 เสียงเลือก นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง นั่งประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่ ซึ่งตามขั้นตอนต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อขอมติเห็นชอบและทูลเกล้าฯเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง
ต่อมา มีการท้วงติงประเด็นการขาดคุณสมบัติของนายกิตติรัตน์ โดยนายพิชิต ไชยมงคล แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ยื่นหนังสือถึง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านนายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เพื่อคัดค้านกรณีที่ประชุม ครม.จะมีการพิจารณาแต่งตั้งนายกิตติรัตน์ เนื่องจากนายกิตติรัตน์เคยดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งยังพ้นจากตำแหน่งทางการเมืองไม่เกิน 1 ปี หลังจากนายเศรษฐา ต้องหลุดออกจากตำแหน่ง โดยอ้างอิงระเบียบข้าราชการการเมืองเทียบเคียงกับระเบียบข้าราชการการเมือง
การประชุมคณะรัฐมนตรี วันนี้ (19พ.ย.67) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงคุณสมบัติของนายกิตติรัตน์ ว่า ขอให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการสรรหา เพราะกรรมการสรรหา เป็นผู้ทรงคุณวุฒิอยู่แล้ว จึงขอให้เป็นไปตามกระบวนการ
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปฎิเสธให้สัมภาษณ์ กรณีจะนำรายชื่อ นายกิตติรัตน์ เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ ระบุเพียงว่ายังไม่ได้รับหนังสือจากคณะกรรมการสรรหา
ประเด็นว่านายกิตติรัตน์ ขาดคุณสมบัติการดำรงตำแหน่งประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยหรือไม่ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีการวินิจฉัยคำร้องที่เทียบเคียงไว้ ปรากฏในหนังสือเรื่องเสร็จที่ 481/2552 ได้เคยวินิจฉัยไว้ในบันทึก เรื่อง "การดำรงตำแหน่งทางการเมืองของกรรมการและผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ" ว่า "ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง" หมายถึง ผู้ดำรงตำแหน่งที่มีหน้าที่อำนวยการบริหารประเทศหรือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน และบรรดาผู้ที่รับผิดชอบงานด้านการเมืองทั้งหมด โดยงานการเมืองนั้นจะเป็นงานที่เกี่ยวกับการกำหนดนโยบายเพื่อให้ฝ่ายปกครองที่มีหน้าที่ปฏิบัติงานประจำรับไปบริหารให้เป็นไปตามนโยบายที่กำหนด ซึ่งมีความหมายกว้างกว่าคำว่า "ข้าราชการการเมือง" ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2535
ดังนั้น คำว่า "ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง"จึงหมายถึง คณะรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา และผู้ดำรงตำแหน่งอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกันที่มีอำนาจหน้าที่ในการอำนวยการบริหารประเทศหรือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน และหากพิจารณาระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยผู้แทนการค้าไทย พ.ศ. 2552 ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของผู้แทนการค้าไทยไว้
เมื่อเทียบเคียงกับกรณีของนายกิตติรัตน์ที่เป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี จึงไม่เข้าข่ายของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและไม่ได้มีอำนาจในการอำนวยการ บริหารงานราชการแผ่นดิน ตามที่กฎหมายได้มีการแยกแยะออกมาให้เห็นชัดเจนว่าการดำรงตำแหน่งการเมือง กับผู้ที่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้นมีความแตกต่างกันอย่างไร
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.