"นายกฯอิ๊งค์" เตรียมดันไทยสู่ศูนย์กลางเกษตรกรรมอัจฉริยะ กระตุ้นเศรษฐกิจ
นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สรุปภาพรวมภารกิจการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 31 และการประชุมอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ณ กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู ดังนี้
การหารือกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC Dialogue with APEC Economic Leaders ) ถือว่าเป็นส่วนสำคัญ โดยได้คุยกับนักธุรกิจระดับผู้นำแต่ละเขตเศรษฐกิจ อาทิ พลังงาน รถยนต์ไฟฟ้า และ AI ซึ่งหลายบริษัทสนใจลงทุนในประเทศไทยมาก และได้เชิญชวนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยโดยเน้นไปที่เทคโนโลยี AI Semiconductor และ Data center และ ยังได้พูดคุยกับเอกชนยักษ์ใหญ่ 3 บริษัท ประกอบด้วย Tiktok Microsoft และ Google ที่แจ้งว่าสนใจที่จะมาลงทุนในประเทศไทยเพิ่ม
“การลงทุนอย่าง Data center จะทำให้คนไทยเกิดการจ้างงานแบบใหม่ๆ ซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือ จีดีพี ของไทยตอนนี้เติบโตไม่เต็มศักยภาพ การหาเม็ดเงินใหม่ๆเข้าประเทศจะให้คนไทยมีรายได้และมีอาชีพจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไทยจะต้องพัฒนาทุกด้านไปพร้อมๆกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินหมื่น การสร้างรายได้ใหม่ ซอฟต์พาวเวอร์ การลงทุน และการหาเม็ดเงิน เพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมทั้งประเทศ ซึ่งทุกกรอบการประชุมต่างๆ ได้ระบุไปว่า ไทยพร้อมแล้วที่จะมุ่งมั่นพัฒนาเศรษฐกิจ โดยจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านเกษตรกรรมอัจฉริยะ หรือ Smart farming อย่างแท้จริง”
ส่วนการหารือทวิภาคีกับ นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้พูดคุยถึงความร่วมมือกันในปีหน้า ที่ไทย-จีน จะเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ครบรอบ 50 ปี โดยจีนได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ หรือ พระเขี้ยวแก้ว มาประดิษฐานไว้ที่ประเทศไทยในวันที่ 4 ธันวาคมนี้และจีนยืนยันที่จะมอบหมีแพนด้ายักษ์มาประเทศไทยอีกครั้ง
นอกจากนี้ ประเทศไทยพร้อมที่จะเรียนรู้รูปแบบการพัฒนาประเทศของจีน ในการลดความยากจนในประเทศรวมทั้งเทคโนโลยีต่างๆ และได้เชิญชวนให้ภาคเอกชนจีนเข้ามาลงทุนที่ไทยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งประธานาธิบดีจีนกล่าวยินดีและยืนยันว่าจะส่งเสริมความร่วมมือต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ Online scam ระหว่างกัน และจะสนับสนุนไทยเข้าร่วม BRICS ด้วย
ส่วนการหารือทวิภาคีกับ นางดินา เอร์ซิเลีย โบลัวร์เต เซการ์รา ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเปรู นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอชี่นชมเปรูในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคปี 2024 นี้ ยืนยันว่า ไทยพร้อมที่จะทำงานร่วมกันโดยเฉพาะการเจรจาการค้าเสรี หรือ FTA ระหว่างไทย-เปรู ซึ่งเปรูเพิ่งเปิดท่าเรือชางใค ที่จะเป็นการเพิ่มโอกาสในการส่งสินค้าเกษตรของไทยได้เป็นอย่างมาก และสามารถเชื่อมโยงกับโครงการแลนด์บริดจ์ของไทยในอนาคตได้อีกด้วย
“จะให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ นำไปพิจารณาถึงผลิตภัณฑ์ ขนสัตว์อัลปากาของเปรูที่มาทำเป็นเสื้อผ้า มาผสมผสานกับผ้าไหมของไทย เพื่อให้เกิดเนื้อผ้าพิเศษขึ้นมาเพื่อนำเสนอเป็น “ซอฟต์พาวเวอร์” ของทั้งสองประเทศ มารวมกันเพื่อช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง”
นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงการเข้าร่วมงานกาล่าดินเนอร์ทั้ง 2 คืน ทั้งในงานเลี้ยงอาหารค่ำ APEC CEOs-Leaders Dinner และ งานเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคว่า
“ได้สร้างความมั่นใจให้กับประเทศไทยและเชิญชวนภาคเอกชนเขตเศรษฐกิจกับสมาชิกมาลงทุนที่ประเทศไทย ตลอด 3 วัน ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างมาก เพราะได้แลกเปลี่ยนมุมมองกับผู้นำแต่ละเขตเศรษฐกิจ ทั้งเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อกัน
ขณะเดียวกันย้ำถึงศักยภาพของประเทศไทยในเวทีโลกด้วยว่า ประเทศไทยพร้อมแล้ว สำหรับการลงทุนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและสมาชิกเอเปค โดยมั่นใจว่าการได้พูดคุยกันจะทำให้ประเทศไทยสามารถเดินหน้าความร่วมมือกับประเทศต่างๆ และหาโอกาสให้กับประเทศไทยได้ง่ายขึ้น
ทั้งนี้ การประชุมครั้งที่ 31 นี้มีหัวข้อหลักภายใต้แนวคิด BCG Economy หรือ Bio-circular -Green ecocomy เช่น การเสริมสร้างพลังการมีส่วนร่วม และการเติบโตที่ยั่งยืน (Empower Inclusive Growth) เพื่อให้สมาชิกเติบโตไปพร้อมๆกัน นอกจากนี้ ยังมีการขับเคลื่อนการลงทุน และผลักดันให้เกิดการค้าเสรี หรือ FTA ขณะเดียวกัน ก็ส่งเสริมเรื่องนวัตกรรม ดิจิทัลและการเติบโตที่ยั่งยืน ซึ่งตรงกับนโยบายที่ไทยกำลังผลักดันอยู่ในขณะนี้
นางสาวแพทองธาร มีกำหนดการเดินทางกลับไทยช่วง 18.00 น. ของวันเสาร์ที่ 16 พฤศจิกายน 67 (ตามเวลาเปรู) ซึ่งจะใช้เวลาเดินทางประมาณ 27 ชั่วโมง โดยจะถึงประเทศไทยในวันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน ประมาณ 11.00 น. (ตามเวลาประเทศไทย)
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.