สุรเชษฐ์ สับ พ.ร.บ.ราง ฉบับเพื่อไทย เอื้อประโยชน์ทุน ชวนจับตาการโหวต30ต.ค.

ที่อาคารอนาคตใหม่ นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) แถลงข่าว Policy Watch หัวข้อ “จับตาศึกชิงร่าง พ.ร.บ.ราง ร่างไหนได้ไปต่อ” เป็นความคืบหน้าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง ที่จะมีการลงมติรับหลักการในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันพุธที่ 30 ตุลาคม โดยพิจารณาจาก 3 ร่างที่มีอยู่ คือ ร่างของคณะรัฐมนตรี, พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชน

นายสุรเชษฐ์กล่าวว่า พ.ร.บ.การขนส่งทางราง เป็น พ.ร.บ. ใหม่ เพื่อนำมาจัดสรรอำนาจให้กับกรมการขนส่งทางรางที่ตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2562 แต่ยังไม่มีอำนาจรองรับทางกฎหมาย ดังนั้นโครงสร้างอำนาจจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับ พ.ร.บ. ใหม่ฉบับนี้ โดยทั้ง 3 ร่างที่เป็นตัวเลือกประกอบด้วย ร่างของคณะรัฐมนตรี เป็นร่างดั้งเดิมเสนอโดยคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ผ่านวาระแรกจนมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญมาพิจารณา นำความเห็นของภาคการเมือง ภาคประชาชน และฝ่ายราชการมาพิจารณาจนถูกแปลงร่างมาเป็น ร่างประนีประนอม

วิปรัฐบาลและฝ่ายค้านในเวลานั้นต่างเห็นตรงกันและเตรียมผ่านเป็น พ.ร.บ. แล้ว แต่ดันเกิดศึกกัญชาขึ้นทำให้เสียเวลาสภาจนร่างดังกล่าวพิจารณาไม่ทันและตกไป ตอนนี้คณะรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ได้ยื่นร่างที่มีเนื้อหาเดียวกันกับร่างของคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่มีการแก้ไขใดๆ เข้ามาเหมือนเดิม จะเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ไปทำไม
 

นายสุรเชษฐ์กล่าวว่า ยังมีร่างของพรรคเพื่อไทย ที่นำเสนอโดย นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม มีการนำร่างประนีประนอมไปยัดไส้นอกรอบ ร่างทรงของใครก็ไม่ทราบที่นำมาใส่มือให้นางมนพร เป็นคนยื่นเข้าสภาในฐานะร่างพรรคเพื่อไทย ร่างนี้มีความอันตรายเป็นอย่างยิ่งหากจะนำมาใช้เป็นร่างหลัก และ 3) ร่างของพรรคประชาชนที่มีที่มาจากร่างประนีประนอมจากสภาชุดที่แล้ว เพียงแต่มีการแก้ไขใน 3 ประเด็น ตามรายงานการสงวนความเห็นที่มีการนำเสนออย่างเปิดเผยบนโต๊ะกรรมาธิการมาผนวกกัน

สิ่งที่อยากให้จับตาดูคือ เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน วิปรัฐบาลได้พิจารณาเรื่องนี้และมีมติให้ใช้ร่างของพรรคเพื่อไทยเป็นร่างหลัก ทำให้เกิดคำถามว่า ร่างของพรรคเพื่อไทยไว้ใจได้หรือไม่ จึงไปศึกษาเทียบกับร่างของคณะรัฐมนตรีและพรรคประชาชน พบว่า มีความน่ากังวลหลายประการ ต่อมาในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ทั้ง 3 ร่างได้ถูกนำเสนอและมีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง 
 

ประเด็นคำถามสำคัญที่ได้ถามคือ ใครเป็นคนส่งร่างให้ นางมนพร มาแปะป้ายเป็นร่างของพรรคเพื่อไทย แต่ก็ไม่ได้ตอบคำถามและไม่ได้ใช้สิทธิในการอภิปรายสรุป สิ่งที่เกิดขึ้น คือประธานสภาฯชิงปิดสภาก่อนที่จะมีการลงมติ ซึ่งปิดสภาเร็วกว่าปกติอย่างชัดเจน ทั้งที่ตามมติวิปก็มีวาระการประชุมอื่นที่รออยู่ ก่อนปิดสภาฯมีสัญญาณ อาจจะมีการล้มร่างทรงของใครก็ไม่ทราบนี้ หลังจากที่ได้มีการอภิปรายถึงความเป็นร่างทรง นับว่า เป็นสัญญาณเชิงบวกว่า มติวิปฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เปลี่ยนจากร่างที่ไม่น่าไว้ใจของพรรคเพื่อไทย

นายสุรเชษฐ์ กล่าวว่า พรรคประชาชนขอความกระจ่างว่า ใครเป็นคนยัดไส้ให้นางมนพร เพราะร่างของพรรคเพื่อไทยลดเงื่อนไขการคุ้มครองผู้ใช้บริการ เพิ่มประโยชน์ให้ผู้ประกอบการ และลดอำนาจรัฐในการเข้าตรวจสอบ มีเงื่อนงำที่น่าสนใจหลายประการ นำไปสู่การตัด 25 มาตรา และยัดเพิ่ม 6 มาตรา แอบแก้ไขเนื้อความในหลายมาตราที่ส่อไปในทางที่เอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการมากขึ้นเมื่อเทียบกับร่างประนีประนอมจากสภาชุดที่แล้ว เช่น ลดเงื่อนไขการคุ้มครองผู้ใช้บริการ โดยแอบตัดมาตรา 121 ให้ผู้ประกอบการไม่ต้องรับผิดชอบค่าเสียหายให้ผู้โดยสารหากเดินรถล่าช้าหรือยกเลิกการเดินรถ 

เพิ่มประโยชน์ให้ผู้ประกอบการโดยแก้มาตรา 31 ส่งผลให้ผู้ประกอบการอาจสามารถเป็นเจ้าของรางได้ ทั้งที่กรรมสิทธิ์ในโครงสร้างพื้นฐานด้านรางควรต้องเป็นของรัฐ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 

เพิ่มประโยชน์ให้ผู้ประกอบการ โดยแก้ไขมาตรา 53 จากร่างประนีประนอม โดยแอบตัดข้อความใน (4) ที่เขียนไว้ว่า ผู้ประกอบการต้อง “จัดส่งรายงานการประกอบกิจการและงบกระแสเงินสดทุก 3 เดือนนับจากวันที่เริ่มประกอบกิจการ” ส่งผลให้ผู้ประกอบการไม่ต้องแสดงผลประกอบการ 

แอบยัดวรรค 2 ลงไปในมาตรา 53 ว่า “ทั้งนี้ ในกรณีที่มีการกำหนดข้อกำหนดตามวรรค 1 (6) และการกำหนดหน้าที่อื่นตามวรรค 1 (7) ก่อให้เกิดภาระและผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจของผู้ได้รับใบอนุญาต ให้กรมการขนส่งทางรางกำหนดการชดเชยและเยียวยาให้แก่ผู้ได้รับใบอนุญาตอย่างเป็นธรรมด้วย” ส่งผลให้รัฐขยับยากขึ้นในการพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงอะไร เพราะต้องระแวงกับเรื่องของการชดเชยนายทุนให้มากขึ้น 

แอบตัดมาตรา 58 ทิ้งจากร่างประนีประนอม ที่เขียนไว้ว่า “ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องส่งบัญชีแสดงฐานะทางการเงินและงบการเงินให้กับอธิบดีทราบ” เห็นได้ชัดว่า เป็นความอยากซ่อนตัวเลขผลประกอบการ และเห็นได้ชัดว่า ร่างทรงนี้ต้องมาจากผู้ประกอบการรายใหญ่อย่างแน่นอน ที่ต้องการซ่อนตัวเลขผลประกอบการ ซึ่งเป็นตัวเลขในรายละเอียดอย่างต้นทุนการเดินรถต่อผู้โดยสาร 1 คน ที่เป็นข้อมูลทางเทคนิคที่จำเป็นสำหรับรัฐในการพิจารณา โดยเฉพาะในการพิจารณาสัมปทาน

ลดอำนาจรัฐในการเข้าไปตรวจสอบ โดยตัดมาตรา 87 จากร่างประนีประนอม ทำให้รัฐไปตรวจสอบเชิงเทคนิค (Accident Investigation) ได้ยากขึ้น เช่น กรณีรถไฟชนกัน หากไม่มีมาตรานี้ เอกชนสามารถไปแอบปกปิดทำลายหลักฐานบางอย่างก่อนรัฐเข้าไปตรวจสอบได้ง่าย

นายสุรเชษฐ์ กล่าวด้วยว่า แม้ร่างดั้งเดิมของคณะรัฐมนตรีแพทองธาร ที่เหมือนกับร่างดั้งเดิมของคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่ได้เลวร้ายแบบร่างของพรรคเพื่อไทย หากเริ่มจากร่างของพรรคประชาชน จะเป็นการเร็วกว่าและดีกว่า หากกลับไปใช้ร่างดั้งเดิมก็จะเท่ากับประเทศเสียเวลาไปฟรี 3 ปี เป็นการกลับไปเริ่มใหม่ที่จุดเดิม คำถาม คือ แล้วทำไมไม่ใช้ร่างประนีประนอมที่ผ่านการพิจารณาจากตัวแทนของทุกพรรคการเมืองมาแล้ว อีกทั้งการกลับไปเริ่มต้นใหม่จากจุดเดิมมีความเสี่ยงที่จะถูกแปลงร่างให้ไปคล้ายกับร่างของพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นร่างทรงของใครก็ไม่ทราบ

นอกจากนี้ร่างของพรรคประชาชนยังเหมาะสมกว่าที่จะเป็นร่างหลัก เพราะเป็นร่างที่มีพื้นฐานมาจากร่างที่ผ่านคณะกรรมาธิการวิสามัญจากสภาชุดที่แล้วมาแล้ว เป็นร่างประนีประนอมที่มีการพิจารณาอย่างรอบคอบว่า ควรให้อำนาจไปสู่กรมการขนส่งทางรางเท่าไหร่ รักษาสิทธิของประชาชน ไม่ได้เอาเปรียบผู้ประกอบการเกินไป รัฐมีอำนาจพอที่จะตรวจสอบ และยังมีการแสดงจุดยืนอย่างตรงไปตรงมาตามรายงานการสงวนความเห็นใน 3 ประเด็น คือ

1.แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอำนาจที่บิดเบี้ยวในมาตรา 5 โดยยืนยันว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมต้องเป็นประธาน ไม่ใช่นายกรัฐมนตรี เพราะไม่มีเหตุผลใดที่จะไปทำให้โครงสร้างอำนาจทางรางบิดเบี้ยวแตกต่างไปจากทางถนน ทางน้ำ ทางอากาศ ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน
2.การมีส่วนร่วมของท้องถิ่น ในมาตรา 14 วรรค 2 ที่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมีส่วนร่วมจัดทำแผนในเขตภูมิภาค
3.มาตรา 64 เพิ่มเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าโดยสาร ว่าต้องคำนึงถึงค่าแรงขึ้นต่ำและค่าครองชีพด้วย
สส.พรรคประชาชน กล่าวอีกว่า รัฐบาลเป็นผู้ถือเสียงข้างมากอยู่แล้ว จะไปปรับเปลี่ยนในกรรมาธิการรอบใหม่ก็ได้ แต่สิ่งที่พรรคประชาชนเสนอนี้จะเป็นประโยชน์กับประชาชนจริง ๆ พรรคประชาชนไม่ได้สุดโต่งแต่ใช้ร่างประนีประนอมและแสดงจุดยืนอย่างตรงไปตรงมาและเปิดเผย ขอแค่รัฐบาลอย่ากลัวเสียหน้าเพียงเพราะเป็นร่างจากฝ่ายค้านเลยจะไม่ใช้เป็นร่างหลัก

“สิ่งที่ต้องจับตา คือ วิปรัฐบาลน่าจะกลับลำ พลิกมติจากเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนที่จะใช้ร่างของพรรคเพื่อไทยเป็นหลักมาใช้ร่างคณะรัฐมนตรีแทน การไม่ใช้ร่างเพื่อไทยเป็นหลักนั้น เห็นด้วยว่า สมควรแล้ว เพราะมีการยัดไส้นอกรอบเพื่อเอื้อประโยชน์ให้นายทุนอย่างชัดเจน แต่คำถาม คือ ทำไมไม่ใช้ร่างพรรคประชาชน พ.ร.บ.รางฯ กับผลประโยชน์ที่ซ่อนอยู่มหาศาล เมกะดีลสัมปทาน เป็นแสนล้านแต่พรรครัฐบาลไม่น่าไว้ใจ ประชาชนต้องช่วยกันจับตาการลงมติวันที่ 30 ตุลาคมนี้”นายนายสุรเชษฐ์ กล่าว

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.