ไทย - นิวซีแลนด์ จับมือ เป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” ในปี 2569

ถ้อยแถลงร่วมระหว่างนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทยกับนายกรัฐมนตรีแห่งนิวซีแลนด์

วันที่ 17 เมษายน 2567

1. เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย ได้ต้อนรับนายคริสโตเฟอร์ ลักซอน นายกรัฐมนตรีแห่งนิวซีแลนด์ ในการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก ระหว่างวันที่ 16– 18 เมษายน 2567 การเยือนครั้งนี้เกิดขึ้นในโอกาสครบรอบ 68 ปีของความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างนิวซีแลนด์กับประเทศไทย และใกล้จะครบรอบ 20 ปีของความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นไทย – นิวซีแลนด์ (ทีเอ็นซีเซบ)

2. นายกรัฐมนตรีทั้งสองชื่นชมความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์ที่ลึกซึ้ง ความร่วมมืออันอบอุ่นระหว่างไทยกับนิวซีแลนด์ และผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศในระดับภูมิภาคและระดับโลก รวมทั้งได้รับทราบเกี่ยวกับความร่วมมือทวิภาคีที่กว้างขวาง ทั้งในด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม การศึกษา ความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการพัฒนา

3. นายกรัฐมนตรีทั้งสองย้ำถึงการที่ทั้งสองประเทศต่างก็เคารพในค่านิยมประชาธิปไตย การปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ธรรมาภิบาล และหลักนิติธรรม ตลอดจนการสนับสนุนระบบพหุภาคีนิยมอย่างแน่วแน่

4. นายไซมอน วัตต์ รัฐมนตรีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสรรพากร ข้าราชการระดับสูง คณะนักธุรกิจระดับบริหาร และคณะสื่อมวลชน ได้ร่วมคณะนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ในการเยือนครั้งนี้ คณะการเยือนที่มีองค์ประกอบที่ครอบคลุมนี้ย้ำถึงความมุ่งมั่นของทั้งสองประเทศที่จะกระชับความสัมพันธ์ในทุกมิติ

ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ไทย - นิวซีแลนด์

5. ไทยและนิวซีแลนด์จะเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 70 ปีของความสัมพันธ์ทางการทูตในปี 2569 ดังนั้น ทั้งสองประเทศจึงได้เห็นพ้องที่จะยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคีสู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในปี 2569 ด้วยตระหนักถึงความสัมพันธ์อันยาวนานและความมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างสายสัมพันธ์ให้แนบแน่นและลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพื่อบรรลุศักยภาพของความร่วมมือระหว่างกันอย่างเต็มที่

6. ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์นี้จะประกอบด้วยการเพิ่มพูนความร่วมมือในสาขาที่เป็นความสนใจร่วมกัน เช่น ความมั่นคง การค้าและการลงทุน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วัฒนธรรม การศึกษา การท่องเที่ยวและการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน ซึ่งจะดำเนินการบนพื้นฐานของการยกระดับกลไกการหารือระดับทวิภาคีที่มีอยู่แล้ว เช่น การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสไทย–นิวซีแลนด์ และคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-นิวซีแลนด์ รวมถึงการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งสะท้อนถึงการให้ความสำคัญต่อการเสริมสร้างและยกระดับความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่าย เพื่อสนับสนุนการดำเนินการในข้างต้น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ได้ประกาศจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรของนายกรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคี โดยจะดำเนินโครงการในแต่ละปีเป็นระยะเวลาสองปีต่อจากนี้จนถึง 2569

7. นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทยและนายกรัฐมนตรีแห่งนิวซีแลนด์ได้สั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองประเทศประสานงานกับกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันจัดทำแผนงานและแผนปฏิบัติการของความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์นี้อย่างครอบคลุม

ความร่วมมือด้านกลาโหมและความมั่นคง

8. นายกรัฐมนตรีทั้งสองยินดีต่อความร่วมมือด้านกลาโหมระหว่างไทยและนิวซีแลนด์ โดยรับทราบถึงการจัดการประชุมทวิภาคีด้านการกลาโหม ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2566

9. นายกรัฐมนตรีทั้งสองได้ประกาศเกี่ยวกับความคืบหน้าของแผนความร่วมมือทางทหารนิวซีแลนด์-ไทย เพื่อเพิ่มสมรรถภาพและความสามารถในการปฏิบัติการร่วมของกองทัพทั้งสองประเทศ และมุ่งสู่การยกระดับความร่วมมือเพื่อผลประโยชน์ร่วมและการรับมือกับความท้าทายระดับภูมิภาคและระดับโลก แผนปฏิบัติการนี้จะช่วยเพิ่มความร่วมมือระหว่างกองทัพและกระทรวงกลาโหมของทั้งสองประเทศ

10. ทั้งสองฝ่ายได้พิเคราะห์ถึงการแพร่ขยายของอาชญากรรมข้ามชาติในรูปแบบองค์กรและอันตรายที่เกิดต่อประชาชนและชุมชนทั้งในประเทศ ในระดับภูมิภาค และระดับโลก นายกรัฐมนตรีทั้งสองได้รับทราบถึงความร่วมมือไทย-นิวซีแลนด์เพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่สำคัญ ซึ่งรวมถึงความร่วมมือเพื่อป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์และยาเสพติด โดยได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะแสวงหาโอกาสในการร่วมมือให้ครอบคลุมด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ การต่อต้านการก่อการร้ายและแนวคิดสุดโต่งหัวรุนแรง และการแลกเปลี่ยนข่าวกรองและแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองประเทศ ตลอดจนการจัดทำโครงการระยะหลายปีด้านการสนับสนุนและการฝึกอบรมด้านการบังคับใช้กฎหมายแก่ประเทศไทย

ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ

11. นายกรัฐมนตรีทั้งสองยินดีที่ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นไทย – นิวซีแลนด์ (ทีเอ็นซีเซบ) จะครบรอบ 20 ปี ในปี 2569 ทั้งสองเฝ้ารอการลดภาษีเป็นศูนย์สำหรับการนำเข้าสินค้าทั้งหมดระหว่างกัน ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2569 และรับทราบว่าการค้าระหว่างกันได้เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ในระยะเวลา 20 ปีที่ ทีเอ็นซีเซบ มีผลบังคับใช้

12. ในการนี้ นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ได้ประกาศยืนยันที่จะดำเนิน “โครงการพัฒนาโคนมในประเทศไทย” ในกรอบทีเอ็นซีเซบต่อไปอีก 2 ปี ซึ่งแสดงถึงการใช้ความเชี่ยวชาญของนิวซีแลนด์เพื่อส่งเสริมการเพิ่มผลผลิตและพัฒนาการผลิตของอุตสาหกรรมนมโคของไทย

13. ทั้งไทยและนิวซีแลนด์ต่างก็เป็นภาคีของความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (เอเอเอ็นซีเอฟทีเอ) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซบ) ซึ่งเป็นกลไกให้ผู้ส่งออกของทั้งสองประเทศขยายตลาด นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศยังได้ทำงานร่วมกันอย่างแข็งขันในกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) และกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกเพื่อความมั่งคั่ง (ไอเพฟ)

14. นายกรัฐมนตรีทั้งสองได้รับทราบถึงความมุ่งมั่นของทั้งสองประเทศต่อการดำเนินการตามข้อตกลงทางการค้าที่มีอยู่ และเห็นพ้องกันว่าทั้งสองประเทศควรใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากเครื่องมือและความตกลงทางการค้าที่มีอยู่อย่างครอบคลุมนี้เพื่อนำประเทศไปสู่ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความมั่งคั่ง

15. นายกรัฐมนตรีทั้งสองตกลงที่จะแสวงหาโอกาสในการขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและเพิ่มมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างกันในด้านที่มีความเชี่ยวชาญและความสนใจร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เช่น เทคโนโลยีการเกษตร การเกษตรอัจฉริยะ เทคโนโลยีอาหาร รวมทั้งในด้านนวัตกรรมอื่น ๆ เช่น ด้านดิจิทัล เกม การสร้างภาพยนตร์และแอนิเมชัน และการแพทย์แม่นยำ

16. ในวันนี้ นายกรัฐมนตรีทั้งสองได้ประกาศเป้าหมายร่วมในการเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันเป็นสามเท่า ภายในปี 2588 โดยคำนึงถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่กว้างขวางและศักยภาพของทั้งสองประเทศ

17. นายกรัฐมนตรีทั้งสองได้รับทราบการลงความความตกลง 2 ฉบับระหว่างบริษัทของไทยและนิวซีแลนด์ ได้แก่ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) กับบริษัทดีเอสเอช ซิสเตม จำกัด และบริษัทซีนเซฟตี จำกัด ซึ่งจะมีบทบาทในการเสริมสร้างคุณภาพและความมั่นคงทางอาหาร

ความร่วมมือด้านพลังงานหมุนเวียน

18. นายกรัฐมนตรีทั้งสองตกลงที่จะทำงานร่วมกันเพื่อมุ่งสู่ความก้าวหน้าด้านแก้ปัญหาโดยการใช้พลังงานหมุนเวียน โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการพึ่งพาการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งรวมถึงความร่วมมือเพื่อยกระดับการบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ (เอ็นดีซี) ภายใต้ข้อตกลงปารีส ความร่วมมือดังกล่าวอาจรวมถึงข้อริเริ่มที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง เช่น โครงการร่วมเกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนและการใช้ตลาดคาร์บอน การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และการเสริมสร้างขีดความสามารถ ทั้งนี้ การใช้ประโยชน์จากที่ตั้งทางยุทธศาสตร์และความยึดมั่นต่อเป้าหมายด้านพลังงานหมุนเวียนของไทย ผนวกกับความเชี่ยวชาญของนิวซีแลนด์ในด้านแนวปฏิบัติเกี่ยวกับพลังงานที่ยั่งยืน ทั้งสองประเทศได้แสดงความมุ่งมั่นร่วมกันที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสร้างอนาคตที่ยั่งยืนยิ่งขึ้นให้แก่ทุกคน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของข้อตกลงปารีสด้วย

ความเชื่อมโยงระดับประชาชน

19. เพื่อเป็นการรับรองความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างประชาชนชาวไทยกับนิวซีแลนด์ นายกรัฐมนตรีทั้งสองได้เห็นพ้องที่จะเร่งรัดการหารือความตกลงด้านความร่วมมือด้านวัฒนธรรม โดยบันทึกความตกลงดังกล่าวจะกำหนดจุดมุ่งหมายร่วมที่จะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนในด้านศิลปะและวัฒนธรรมเพื่อเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยกิจกรรมภายใต้บันทึกความตกลงนี้จะรวมถึงการส่งเสริมการศึกษาด้านภาษา วรรณกรรม และศิลปะ การเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ เช่น นิทรรศการและเทศกาลภาพยนต์ และการแปลวรรณกรรมและผลงานวิชาการที่สำคัญ

20. ความร่วมมือด้านการศึกษาเป็นหัวใจสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างนิวซีแลนด์กับไทย โดยที่นิวซีแลนด์เป็นจุดหมายสำคัญสำหรับนักเรียนนักศึกษา และนักวิชาการชาวไทยทั้งในระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษามายาวนาน จึงได้ช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งระหว่างทั้งสองประเทศ และวางรากฐานที่เข้มแข็งสำหรับความสัมพันธ์ในระดับประชาชน

21. ในวันนี้ นายคริสโตเฟอร์ ลักซอน นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ได้ประกาศโครงการความร่วมมือเพื่อฝึกอบรมครู จำนวน 2 โครงการ โดยมหาวิทยาลัยแมสซีย์ของนิวซีแลนด์จะจัดโครงการฝึกอบรมให้แก่ครูจากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย (จำนวน 40 คน และโครงการฝึกอบรมให้แก่ครูจากโรงเรียนรัฐบาลในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขึ้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 100 คน) ทั้งนี้ หัวข้อการฝึกอบรมจะมุ่งเน้นการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของนักเรียนในการเรียนภาษาอังกฤษและการส่งเสริมการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ในห้องเรียน

22. นายกรัฐมนตรีทั้งสองได้ย้ำถึงความสำคัญของการอำนวยความสะดวกด้านการตรวจลงตราเพิ่มเติมระหว่างไทยกับนิวซีแลนด์ ตลอดจนการเพิ่มความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีทั้งสองยังเห็นพ้องที่จะให้ความสำคัญกับการกลับมาเปิดเที่ยวบินตรงระหว่างไทยกับนิวซีแลนด์ในอนาคต ซึ่งจะส่งผลดีต่อการค้าและความเชื่อมโยงในระดับประชาชน โดยได้ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวจากนิวซีแลนด์มาประเทศไทยเป็น 100,000 คน และนักท่องเที่ยวจากประเทศไทยไปยังนิวซีแลนด์เป็นจำนวน 40,000 คนภายในปี 2569

ความร่วมมือระดับภูมิภาค

23. นายกรัฐมนตรีทั้งสองย้ำถึงความมุ่งมั่นร่วมกันต่อภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เปิดกว้าง ครอบคลุม มีกฎระเบียบรองรับ และมีความยืดหยุ่น ซึ่งจะช่วยสนับสนุนและส่งเสริมการค้าเสรีและตลาดที่เปิดกว้าง

24. นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์รับทราบบทบาทนำของไทยในอาเซียนและในประเด็นที่มีผลประโยชน์ร่วมกันในภูมิภาค โดยนายกรัฐมนตรีทั้งสองยืนยันความสำคัญของความเป็นแกนกลางของอาเซียน และตกลงที่จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับอาเซียนและกลไกต่าง ๆ ที่นำโดยอาเซียนต่อไป เช่น การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (อีเอเอส) และการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เออาร์เอฟ) ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีทั้งสองได้หารือเกี่ยวกับความตั้งใจของนิวซีแลนด์ที่จะยกระดับความสัมพันธ์ไปสู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์แบบรอบด้านกับอาเซียนในโอกาสครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ระหว่างนิวซีแลนด์กับอาเซียนด้วย

25. เพื่อสนับสนุนเป้าหมายของอาเซียนในการส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ กล่าวถึงการเปิดตัวโครงการส่งเสริมการดำเนินการของสตรีในด้านสันติภาพและความมั่นคงในอาเซียน หรือโครงการเอ็มพลิฟาย ซึ่งนิวซีแลนด์สนับสนุนเงินทุนจำนวน 15 ล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ โครงการนี้มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดผลกระทบในเชิงลบด้านความขัดแย้งและภัยคุกคามความมั่นคงของมนุษย์ต่อสตรีในอาเซียน และเพื่อเสริมสร้างกระบวนการสันติภาพและการป้องกันความขัดแย้งทั่วทั้งอาเซียนผ่านการมีส่วนร่วมและการมีบทบาทนำของสตรี

26. นายกรัฐมนตรีทั้งสองสะท้อนถึงประวัติศาสตร์ร่วมเกือบ 30 ปีของความร่วมมือระหว่างนิวซีแลนด์กับไทยในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง รวมถึงการร่วมกันก่อตั้งสถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง เมื่อปี 2539

27. นายกรัฐมนตรีไทยได้แสดงความยินดีต่อการประกาศของนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ว่า นิวซีแลนด์ประสงค์จะเข้าเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (แอคแมคส์) ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์แจ้งว่า นิวซีแลนด์พร้อมที่จะทำงานร่วมกับไทย ประเทศสมาชิกแอคแมคส์ และหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนเป้าหมายของแอคแมคส์ ในการสร้างประชาคมลุ่มน้ำโขงที่มีบูรณาการและมีความเชื่อมโยงมากขึ้น

พัฒนาการต่าง ๆ ในโลก

28. นายกรัฐมนตรีไทยได้ขอบคุณที่นิวซีแลนด์สนับสนุนการสมัครเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ วาระปี ค.ศ. 2025 - 2027 ของไทย และนายกรัฐมนตรีทั้งสองยังได้หารือเกี่ยวกับการขอเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ของไทยด้วย

29. นายกรัฐมนตรีทั้งสองแลกเปลี่ยนมุมมองต่อพัฒนาการของโลกและของภูมิภาค ซึ่งรวมถึงสถานการณ์ในเมียนมา รัสเซีย-ยูเครน อิสราเอล-ปาเลสไตน์ และสถานการณ์ในทะเลจีนใต้

30. สำหรับสถานการณ์ในเมียนมา นายกรัฐมนตรีทั้งสองย้ำความสำคัญของสันติภาพ เสถียรภาพ และความเป็นเอกภาพของเมียนมา และยืนยันการสนับสนุนอย่างแข็งขันต่อความพยายามที่นำโดยอาเซียนตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน พร้อมสนับสนุนให้ประชาคมระหว่างประเทศทำงานร่วมกันในรูปแบบที่ปฏิบัติได้จริงและสร้างสรรค์เพื่อสนับสนุนสันติภาพและเสถียรภาพในเมียนมา

31. นายกรัฐมนตรีทั้งสองย้ำการสนับสนุนสันติภาพที่ครอบคลุม ยุติธรรม และยั่งยืนในยูเครนตามกฎบัตรสหประชาชาติ โดยตระหนักถึงความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครนอย่างต่อเนื่องตามที่ระบุในข้อมติสมัชชาสหประชาชาติที่ ES-11/1 เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2569

32. ในทางทะเล นายกรัฐมนตรีทั้งสองย้ำถึงสิทธิเสรีภาพในการเดินเรือและการบินเหนือทะเล และการใช้พื้นที่ทางทะเลอื่น ๆ โดยชอบด้วยกฎหมายตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งรวมถึงอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 (UNCLOS) นายกรัฐมนตรีทั้งสองยืนยันความจำเป็นในการดำเนินการแก้ไขข้อพิพาทโดยสันติวิธีตามกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึง UNCLOS และได้ย้ำความจำเป็นในการเคารพความสามารถของรัฐในการอนุรักษ์ พัฒนาอย่างยั่งยืน และจัดการทรัพยากรทางทะเลของตนอย่างมีประสิทธิผลตามกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะ UNCLOS นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีทั้งสองยังได้ยืนยันการสนับสนุนการดำเนินการตามปฏิญญาว่าด้วยการปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ ค.ศ. 2002 อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ และการพัฒนาไปสู่ข้อสรุปในการจัดทำหลักปฏิบัติสำหรับทะเลจีนใต้ที่มีประสิทธิผลและมีนัยสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึง UNCLOS ในโอกาสแรก ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีทั้งสองยังยืนยันความสำคัญของการปฏิบัติตามกลไกและอนุสัญญาที่เกี่ยวข้องขององค์การการเดินเรือระหว่างประเทศ ตลอดจนมาตรฐานและแนวปฏิบัติที่แนะนำที่เกี่ยวข้องขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ

33. นายกรัฐมนตรีทั้งสองแสดงความห่วงกังวลอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมที่เลวร้ายและย่ำแย่ลงในฉนวนกาซา รวมถึงการสูญเสียชีวิตของพลเรือนอย่างน่าสลดภายหลังการโจมตีเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์แสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิตของแรงงานไทย และแสดงความห่วงใยต่อแรงงานที่ยังถูกคุมขัง ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีทั้งสองยืนยันข้อเรียกร้องให้มีการหยุดยิงอย่างมีมนุษยธรรมในทันที เพื่อให้ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือในฉนวนกาซาสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมได้อย่างเต็มที่ รวดเร็ว ปลอดภัย และปราศจากอุปสรรค นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีทั้งสองเรียกร้องให้มีการคุ้มครองพลเรือนและโครงสร้างพื้นฐานของพลเรือน และการปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ นายกรัฐมนตรีทั้งสองยังได้เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวประกันทั้งหมดโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข และได้ย้ำเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ต่อวิสัยทัศน์ การแก้ปัญหาสองรัฐ ซึ่งรัฐที่เป็นประชาธิปไตยทั้งสอง ได้แก่ อิสราเอลและปาเลสไตน์ ดำรงอยู่เคียงข้างกันอย่างสันติภายในเขตแดนที่ปลอดภัยและเป็นที่ยอมรับ และสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศและมติของสหประชาชาติที่เกี่ยวข้อง

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.