พรรคก้าวไกล ตั้งคำถาม สว.ชุดใหม่ ประชาชนไม่ได้เลือก

พรรคก้าวไกล - Move Forward Party เผยแพร่ ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ก หัวข้อ สว. (ชุดใหม่) วิธีเลือกอลวน ประชาชนไม่ได้เลือก โดยระบุว่า หลายคนทราบว่า สว.ชุดปัจจุบันตามบทเฉพาะกาล กำลังจะครบวาระ 5 ปีในวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 จากนั้นประเทศไทยจะมี สว. ชุดใหม่ตามบททั่วไปในรัฐธรรมนูญ แต่สิ่งที่หลายคนอาจไม่ทราบและยังสงสัย คือ สว. ชุดใหม่มาจากไหน ใครเลือก อำนาจหน้าที่เป็นอย่างไร จะมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย ซึ่งเป็นปัญหาใหญที่ สว.ชุดปัจจุบันถูกวิจารณ์มาตลอด หรือไม่

วันนี้ 23 มี.ค. SOL Bar Talk Special จึงจัดเสวนาหัวข้อ “สว.(ชุดใหม่) มาจากไหน?” โดย พริษฐ์ วัชรสินธุ - ไอติม - Parit Wacharasindhu สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่มีอีกบทบาทคือประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร และ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการบริหารโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ร่วมพูดคุย

ทั้งนี้ตามเจตนาของกฎหมาย ไม่ต้องการให้พรรคการเมืองเข้าไปมีส่วนในการสนับสนุนผู้สมัครคนใดหรือกลุ่มใด การพูดคุยที่เกิดขึ้นจึงเป็นการให้ข้อมูล อธิบายกระบวนการคัดเลือก สว. รวมถึงวิเคราะห์ผลกระทบของ สว. ชุดใหม่ต่อการเมืองไทย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ พรรคการเมืองและประชาชนทุกคน สามารถทำได้

พริษฐ์ กล่าวว่า สว. จะมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย ขึ้นอยู่กับ “อำนาจ” และ “ที่มา” ที่สอดคล้องกัน กล่าวคือถ้าอำนาจเยอะ ที่มาก็ต้องยึดโย.งประชาชน (เช่น ผ่านการเลือกตั้ง) แต่ถ้าไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง อำนาจก็ไม่ควรเยอะ นี่เป็นหลักในการออกแบบอำนาจของวุฒิสภาในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยทั่วโลก แต่ที่ผ่านมา 5 ปี เราจะเห็นว่าสมดุลระหว่าง “อำนาจ” และ “ที่มา” ไม่เกิดขึ้น เพราะ สว. 250 คน มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. ทั้งหมด แต่มีอำนาจเยอะมาก (เช่น ร่วมเลือกนายกฯ, ยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ) คำถามคือ สว.ชุดใหม่ จะดีกว่าชุดปัจจุบันหรือไม่? ต้องตอบว่าในแง่ทิศทาง ก็ดีขึ้นมาเล็กน้อย แต่ในแง่สมดุลระหว่างอำนาจและที่มา ยังไม่สอดคล้องกันอยู่ดี กล่าวคือแม้ สว.ชุดใหม่ จะไม่มีอำนาจเลือกนายกฯ และไม่มีอำนาจโหวตกฎหมายปฏิรูปประเทศร่วมกับ สส. แต่ยังสามารถ…

- ยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
- ร่วมโหวตกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.)
- ตรวจสอบฝ่ายบริหาร เช่น ตั้งกระทู้ถามนายกฯ และรัฐมนตรี, เปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 153
- รับรองคนที่จะดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและกรรมการในองค์กรอิสระ (เช่น ป.ป.ช.)

ที่สำคัญคือแม้ สว.ชุดใหม่ไม่ได้ถูกจิ้มโดย คสช. แต่ก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนอยู่ดี แต่มาจากการ “เลือกกันเอง” ระหว่างผู้สมัคร ที่แบ่งตามกลุ่มอาชีพหรือกลุ่มสังคม จำนวน 20 กลุ่ม

ด้านยิ่งชีพ กล่าวว่า การเมืองไทยกำลังจะเข้าสู่ยุคใหม่ หลังจากการเลือกตั้งเมื่อ 14 พฤษภาคม 2566 แม้นายกฯ และรัฐบาลมีการเปลี่ยนแปลง แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนคืออำนาจ สว. ที่มาจากการแต่งตั้งและสืบทอดอำนาจของ คสช. ดังนั้นถ้าถอดอำนาจของ คสช. ที่อยู่ใน สว. ออกได้ เชื่อว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญ เมื่อ สว. ชุดปัจจุบันหมดอายุ จะถูกห้ามโดยรัฐธรรมนูญไม่ให้กลับมาสมัครอะไรอีกเลย แต่คำถามคือคนที่มาแทนเขา จะมาสืบทอดความคิดแบบ คสช. หรือจะเป็นแบบอื่น

สว. ชุดต่อไปมีทั้งหมด 200 คน กระบวนการเลือกมีเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจเยอะมาก มีไทม์ไลน์กำหนดไว้แล้ว ปลายเดือนพฤษภาคมจะเปิดรับสมัคร กลางเดือนกรกฎาคมเราจะรู้ว่าใครเป็น สว.ที่สำคัญคือนี่ไม่ใช่การเลือกตั้งแบบทั่วไป เพราะคนที่เข้าคูหาได้ คือคนที่สมัครเข้าไปเท่านั้น จึงขอตั้งชื่อกระบวนการนี้ว่า “แบ่งกลุ่มอาชีพ และให้ผู้สมัครเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพที่สมัคร” 
ยิ่งชีพอธิบายขั้นตอนการเลือก สว. ระบุว่ากลุ่มอาชีพแบ่งเป็น 20 กลุ่ม ประกอบด้วย

1.กลุ่มบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง เช่น ข้าราชการ
2.กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เช่น นักกฎหมาย ทนายความ
3.กลุ่มการศึกษา เช่น ครู อาจารย์ นักวิจัย
4.กลุ่มสาธารณสุข เช่น หมอ พยาบาล เภสัชกร
5.กลุ่มทำนาทำไร่
6.กลุ่มทำสวน ประมง เลี้ยงสัตว์ (ดังนั้นถ้าปลูกทุกอย่าง ไม่ว่าพืชไร่พืชสวน และเลี้ยงสัตว์ด้วย ก็สมัครได้ทั้งกลุ่ม 4 และ 5)
7.กลุ่มลูกจ้างผู้ใช้แรงงาน เช่น คนที่อยู่ในระบบประกันสังคมกว่า 20 ล้านคน
8.กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs|
9.กลุ่มผู้ประกอบการอื่น
10.กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม

จะเห็นได้ว่ากลุ่มลูกจ้างซึ่งมีหลายสิบล้านคน ได้ตัวแทนเพียงหนึ่งกลุ่ม แต่นายจ้างผู้ประกอบการได้ 3 กลุ่ม
11.กลุ่มสิ่งแวดล้อม อสังหาริมทรัพย์ พลังงาน
12.กลุ่มท่องเที่ยวโรงแรม
13.กลุ่มวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี
14.กลุ่มศิลปะ ดนตรี บันเทิง กีฬา
15.กลุ่มประชาสังคม
16.กลุ่มสื่อสารมวลชน นักเขียน
17.กลุ่มอาชีพอิสระ
18.กลุ่มสตรี
19.กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการ ชาติพันธ์ุ
20.กลุ่มอื่นๆ ซึ่งหมายความว่าทุกคนสมัครได้

เมื่อดูทั้งหมด จะเห็นความลักลั่นในการแบ่งกลุ่ม เพราะแต่ละกลุ่มมีประชากรไม่เท่ากัน และหลายคนสามารถสมัครได้หลายกลุ่ม ส่วนกระบวนการเลือก ไม่มีที่ไหนในโลกทำมาก่อน ทำแล้วจะดีหรือไม่ ก็ต้องรอดู โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ คืออำเภอ จังหวัด ประเทศ ยกตัวอย่างระดับอำเภอ เมื่อสมัครไปแล้ว ในวันคัดเลือกผู้สมัครจะไปนั่งรวมอยู่ในกลุ่มอาชีพเดียวกัน แล้วจะโหวตกันเอง

- ทุกคนจะได้โหวตคนละอย่างน้อย 2 โหวต โดยเข้าไปเขียนหมายเลขคนที่เราอยากเลือก
- โหวตตัวเองได้ แต่โหวตคนใดคนหนึ่งซ้ำกัน 2 โหวตไม่ได้
ใครได้คะแนนมากที่สุด 5 คนแรก เรียกว่าได้รับเลือกขั้นต้น จะต้องไปจับสลากแบ่งสาย ในสายหนึ่งมีเพื่อนจากกลุ่มอื่นๆ รวมแล้ว 5 กลุ่ม และ 5 คนนี้จากแต่ละกลุ่ม ก็จะไปเลือกกลุ่มอื่นๆ คนละ 1 เสียง

“เช่นผมเป็นนักกฎหมาย เป็น 5 คนแรกของกลุ่มกฎหมาย ได้รับคัดเลือกไปอยู่สาย ก. ในสายนี้มีชาวนา คุณครู นักวิทยาศาสตร์ สตรี ผมต้องเอา 1 โหวตให้ชาวนา ให้คุณครู ให้นักวิทยาศาสตร์ ให้สตรี จนสุดท้ายเหลือ 3 คนต่อหนึ่งกลุ่มที่จะผ่านการคัดเลือกระดับอำเภอ ถ้าอำเภอไหนกลุ่มนั้นๆ มีคนสมัครน้อย เช่นสมัครแค่ 3 คน ก็ไม่ต้องเลือก ผ่านเลย”

ในระดับจังหวัดก็ใช้วิธีการแบบเดียวกัน ทุกกลุ่มอาชีพจะผ่านระดับจังหวัด 2 คน เมื่อมาถึงระดับประเทศ ก็มานั่งรวมกันในกลุ่มอาชีพ นับได้เลยว่าในหนึ่งกลุ่มอาชีพจะมี 154 คน (77 คูณ 2) ก็ทำเหมือนกัน คือโหวตในกลุ่มตัวเอง แต่คราวนี้จะโหวตได้ถึง 10 โหวต

- จนได้ 40 อันดับแรกที่ได้คะแนนสูงสุด จะได้ไปจับสลากและเลือกไขว้กับกลุ่มอื่นอีก 4 กลุ่ม
- ตอนโหวตไขว้สามารถโหวตกลุ่มอื่นได้กลุ่มละ 5 โหวต เมื่อเลือกไขว้เสร็จจะดูว่าใครได้คะแนนสูงสุดของกลุ่มนั้น
- 10 อันดับแรกจะได้เป็น สว. ส่วนอันดับ 11-15 จะเป็นรายชื่อสำรอง

ดังนั้นกระบวนการเลือก สว. นี้ ใครจะมีส่วนร่วมได้ ต้องสมัครและไปนั่งอยู่ตรงนั้น จะได้ดูว่ากระบวนการถูกต้องหรือไม่ และสามารถไปโหวตว่าใครจะได้เป็น สว

ยิ่งชีพ ตั้งคำถามต่อว่า สว. ที่ผ่านการเลือกตั้งระบบนี้ จะเป็นตัวแทนของใคร 1.เป็นตัวแทนของกลุ่มอาชีพ? คิดว่าไม่ใช่ เพราะคนที่สมัคร แม้อาจเป็นคนที่ประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับมากในอาชีพหนึ่ง เมื่อเข้าไปในกลุ่มอาชีพของตัวเอง ทุกคนอาจโหวตให้หมดเลย แต่สุดท้ายเขาจะได้เป็น สว. หรือไม่ ถูกตัดสินโดยคนกลุ่มอาชีพอื่นที่เป็นใครก็ไม่รู้

2.เป็นตัวแทนของพื้นที่? คิดว่าไม่เช่นกัน เพราะแม้จะมาจากระดับอำเภอและจังหวัด แต่สุดท้ายใครจะได้เป็น สว. ก็ตัดสินในระดับประเทศ โดยสรุปจึงเป็นระบบงงๆ ว่าเป็นตัวแทนของใคร

ต่อกระบวนการเลือก สว. ชุดใหม่ พริษฐ์มี 4 ข้อสังเกต

1. วุฒิสภาชุดใหม่ยังคงมีโครงสร้างอำนาจ-ที่มา ที่ขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย แม้ สว. ชุดใหม่ จะมีโครงสร้างอำนาจ-ที่มา ที่มีความชอบธรรมมากขึ้นกว่า สว. 250 คนชุดปัจจุบัน แต่ยังนับว่าเป็นวุฒิสภาที่มีอำนาจสูงเมื่อเทียบกับที่มา ที่ยังไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน แต่มาจากการคัดเลือกกันเองในบรรดาผู้สมัคร

2. กระบวนการคัดเลือก สว. ไม่สอดรับกับเป้าหมายในการได้มาซึ่ง สว. ที่มีความเชี่ยวชาญหรือเป็นที่ยอมรับในแต่ละสาขาอาชีพ แม้ผู้คิดค้นกติกาคัดเลือก สว. มักอ้างถึง “เป้าหมาย” ในการได้มาซึ่ง สว. ที่เป็นที่ยอมรับในแต่ละสาขาอาชีพ แต่ “กระบวนการ” ที่ถูกออกแบบมา มีหลายส่วนที่ไม่น่าจะนำไปสู่ “เป้าหมาย” ดังกล่าวได้ เช่น

- ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาอาชีพ มีแนวโน้มเป็นคนที่เป็นที่ยอมรับจากคนในสาขาดังกล่าวทั่วประเทศ แต่กระบวนการคัดเลือก สว. ปัจจุบัน ออกแบบให้ผู้สมัครทุกคนต้องเริ่มจากการแข่งขันกันในระดับอำเภอ ซึ่งอาจทำให้คนที่ได้เปรียบในการคัดเลือกระดับอำเภอ กลับไม่ใช่คนที่เป็นที่ยอมรับในวงกว้างจากคนในแวดวงดังกล่าว แต่เป็นคนที่มีเครือข่ายหรืออิทธิพลเฉพาะพื้นที่

- ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาอาชีพ อาจเป็นคนที่เป็นที่รับรู้และยอมรับกันโดยคนในสาขาอาชีพของตนเองเป็นหลัก แต่กระบวนการคัดเลือก สว. ปัจจุบัน มีขั้นตอนของการ “เลือกไขว้” ซึ่งทำให้ผู้สมัครที่จะได้รับคัดเลือก ต้องพึ่งคะแนนหรือความไว้วางใจจากผู้สมัครในสาขาชีพอื่น ที่อาจไม่รู้ข้อมูลดังกล่าว

3 บล็อกโหวตจัดตั้ง (Inorganic Block Vote) แทนที่จะเกิดการแข่งขันกันโดยธรรมชาติระหว่างผู้สมัครแต่ละคน กติกาปัจจุบันเอื้อต่อการทำให้ผู้สมัคร สว. บางคน มีความพยายามจัดตั้งเครือข่ายของตนเองสมัครเข้ามาเป็นผู้สมัครเป็นจำนวนมากและกระจายไปในทุกกลุ่มอาชีพและทุกอำเภอ-จังหวัดเพื่อให้มาร่วมกันเลือกตนเองไปเป็น สว.

นอกจากจะป้องกันได้ยากในเชิงปฏิบัติ แต่ผู้ออกแบบกติกา ต้องรับรู้ตั้งแต่แรกอยู่แล้วว่าปรากฎการณ์ดังกล่าว (ที่มีคนมาสมัครเป็น สว. โดยไม่ได้หวังเป็น สว. เอง แต่เพื่อมาเลือกผู้สมัครคนอื่นเป็น สว.) จะเกิดขึ้น เพราะหากทุกคนที่สมัครเป็น สว. สมัครเพราะอยากเป็น สว. เองจริงๆ ผู้สมัครทุกคนภายใต้กติกาปัจจุบันก็จะมีแรงจูงใจในการใช้ยุทธศาสตร์ “เลือกแค่ตัวเอง” (โดยไม่เลือกผู้สมัครคนอื่น และลดโอกาสที่ตนเองจะแพ้) ซึ่งจะทำให้ผู้สมัครทุกคนได้คะแนนเท่ากันที่ 1 คะแนน

4 กระบวนการคัดเลือก สว. ยังมีความซับซ้อนและความไม่ชัดเจนในเชิงปฏิบัติหลายด้าน ระเบียบ กกต. เกี่ยวกับการเลือก สว. ล่าสุดที่ออกมา ยังไม่สามารถไขข้อสงสัยหรือให้ความชัดเจนเกี่ยวกับกระบวนการที่จะเกิดขึ้น (ซึ่งมีความซับซ้อนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว) ได้ทั้งหมด เช่น

- กกต. จะตรวจสอบคุณสมบัติ (ว่าผู้สมัครมีประสบการณ์ 10 ปีในด้านที่ตนเองสมัคร) โดยใช้เกณฑ์อะไร และจะพิจารณาใบสมัครและข้อโต้แย้งทั้งหมดเรื่องคุณสมบัติทันตามกรอบเวลาหรือไม่ ในเมื่อผู้สมัครอาจมีเป็นหลักแสน และมีระยะเวลาพิจารณาไม่กี่สัปดาห์

- กกต. จะออกระเบียบหรือประกาศที่เกี่ยวข้องกับการแนะนำตัวหรือรณรงค์หาเสียงของผู้สมัครเมื่อไร และระเบียบหรือประกาศดังกล่าว จะเอื้อต่อการให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับผู้สมัครได้มากแค่ไหน

- กกต. จะอนุญาตให้มีผู้สังเกตการณ์อิสระจากภาคประชาชน ไปร่วมสังเกตการณ์และตรวจสอบกระบวนการคัดเลือก ณ สถานที่ หรือไม่ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส

- กกต. จะวางกรอบเวลาในการประกาศผลอย่างไร (ยิ่งหากมีข้อร้องเรียนเข้ามาจำนวนมาก) เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่การประกาศผลถูกยืดเวลาออกไปยาวนานจนเปิดช่องให้ สว. 250 คน ชุดปัจจุบัน รักษาการหรือปฏิบัติหน้าที่แทนต่อไปเรื่อยๆ จนไม่มีกำหนด

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.