สุทินปัด2ตระกูลฮั้วหาประโยชน์พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลทำไทยส่อเสียเกาะกูด

นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) และศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ยื่นหนังสือถึงผู้บัญชาการทหารเรือ ขอให้ยึดมั่นในการปกป้องดินแดนประเทศไทยการลากเส้นเขตแดนทางทะเล (เส้นเขตไหล่ทวีป) ที่จัดทำโดยประเทศกัมพูชาแต่เพียงฝ่ายเดียวซึ่งได้ลากผ่านกึ่งกลางของเกาะกูด จ.ตราด และมีการเชื่อมโยงไปถึงการพบกันระหว่างนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีกับสมเด็จ อัครมหาเสนาบดี เดโช ฮุน เซน อดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา รวมถึงกรณี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่มีกำหนดการเดินทางไปกัมพูชาในเดือนมีนาคมนี้ว่า เรื่องนี้ก็คิดไปได้ แต่ว่าพื้นที่ทางทะเล กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้หาข้อสรุป ทหารจะเป็นคนรักษาข้อสรุปนั้น 

ส่วนข้อกังวลที่อาจจะต้องเสียเกาะกูดไป เพราะกัมพูชาขีดเส้นออกมา จะให้ความมั่นใจกับกลุ่มผู้เรียกร้องอย่างไร นายสุทิน ระบุว่า ต้องให้กระทรวงการต่างประเทศ กรมสนธิสัญญา เป็นผู้ตอบ 

ส่วนที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่า จะกลายเป็น 2 ตระกูลหาผลประโยชน์ ทำให้เราเสียดินแดน นายสุทิน ยืนยันว่า ไม่มีหรอก 

ก่อนหน้านี้ กลุ่มคปท.และศปปส.ระบุว่า การลากเส้นเขตแดนทางทะเลของกัมพูชาแต่เพียงฝ่ายเดียวไม่ควรจะเกิดขึ้นซึ่งมีผลต่อสิทธิ์ในทรัพยากรทางทะเล และดินแดนเกาะกูดแหล่งปิโตรเลียมที่สำคัญ รัฐบาลไทยภายใต้การบริหารงานของ นายทักษิณอดีตนายกฯในขณะนั้น ได้ไปจัดทำข้อตกลงร่วมใน MOU44 กำหนดให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นพื้นที่ทับซ้อนขึ้นมาทันที ทั้งที่รัฐบาลควรยืนยันเรื่องดินแดนของไทยอย่างหนักแน่น
 

การไปจัดทำ MOU44 ก็เท่ากับเป็นการรับรองเส้นเขตแดนทางทะเลที่กัมพูชาจัดทำขึ้นเพียงฝ่ายเดียว เพราะใน MOU44 ระบุว่า การเจรจาเรื่องเขตแดนและการแบ่งผลประโยชน์ด้านพลังงานจะกระทำไปพร้อมๆ กัน ประชาชนชาวไทยมีความห่วงใยต่อสถานการณ์การจะสูญเสียดินแดนรวมทั้งแหล่งพลังงานที่สำคัญ ทั้งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น

นอกจากนี้ยังเห็นว่าเมื่อสมเด็จฮุนเซน แห่งกัมพูชาได้เดินทางมาเยี่ยมนายทักษิณและได้เชิญ น.ส.แพทองธารไปร่วมประชุมที่ประเทศกัมพูชาในเดือนมีนาคม 67ทำให้มีความวิตกกังวลว่าจะมีการพูดคุยเรื่องการจัดการผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองครอบครัวโดยเอาผลประโยชน์ที่เป็นของประเทศไทยไปตกลงเจรจากันเป็นการส่วนตัว 

ขณะที่นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงกลไก MOU 44 เพื่อกำหนดพื้นที่ทับซ้อนกับประเทศกัมพูชา ที่ทำขึ้นสมัยรัฐบาลนายทักษิณว่า ค่อนข้างชัดเจนเรื่องการนำเอาทรัพยากรปิโตรเลียมขึ้นมาใช้ และการเร่งเจรจาในพื้นที่ทับซ้อน เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลชุดนี้ เมื่อปี 2544 รัฐบาลนายทักษิณเซ็น MOU ฉบับนี้กับรัฐบาลกัมพูชา ตอนนี้ก็ต้องยอมรับความจริง ว่ารัฐบาลชุดนี้จะมีความใกล้ชิดกับกัมพูชามากกว่ารัฐบาลใดๆแต่ไม่ใช่เรื่องที่ผิด และอาจจะเป็นเรื่องที่ดีด้วยซ้ำ
ประเด็นสำคัญการเจรจาระหว่างไทยและกัมพูชาในเรื่องผลประโยชน์ทรัพยากรปิโตรเลียมในทะเล ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2513 หรืออาจจะนับจาก MOU ปี 2544 รวม 20 ปีกว่า แต่ทำไม่สำเร็จเสียที เพราะเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ 2 ประเทศ ยอมรับเส้นเขตแดนทางทะเลหรือเส้นเขตไหล่ทวีปของอีกประเทศหนึ่ง โดยเฉพาะประเทศไทยที่ยากที่จะยอมรับเส้นเขตไหล่ทวีปของประเทศกัมพูชา ที่ประกาศออกมาเมื่อปี 2515 ได้ ซึ่งนี่คือจุดแห่งปัญหาทั้งมวล เส้นเขตไหล่ทวีปที่กัมพูชาลากผ่านกลางเกาะกูดไปกึ่งกลางอ่าวไทย แล้ววกลงใต้ ซึ่งเกาะกูดเป็นของไทย 2 ล้านเปอร์เซ็นต์ จากสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ปี ค.ศ.1907 ซึ่งเมื่อกัมพูชาลากเส้นไหล่ทวีปดังกล่าว จึงทำให้เป็นการรุกล้ำอธิปไตยของไทย

ในปี 2515 ไทยเคยมีการเจรจากับประเทศกัมพูชาแล้ว กัมพูชาแจ้งว่าการประกาศเส้นไหล่ทวีปนี้ เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ระดับล่างเสนอขึ้นมา โดยคำแนะนำของบริษัทน้ำมันต่างชาติ ความจริงแล้วทางกัมพูชาเองไม่มีความประสงค์คร่อมทางเกาะกูดของไทยแต่ประการใด แต่ถ้าจะให้กัมพูชาเปลี่ยนแปลงอะไรก็ต้องเข้าใจการเมืองของกัมพูชาที่มีความเปราะบาง ซึ่งสมัยนั้นไทยมีการตอบโต้โดยการประกาศเส้นเขตไหล่ทวีปของเราเองออกมาในปี 2516 คิดเส้นขึ้นมาตามหลักการกฎหมายระหว่างประเทศโดยลากจากแผ่นดินจุดเดียวกันคือหลักเขตที่ 73 ลากลงทะเลกึ่งกลางระหว่างเกาะกูดของไทย และเกาะกงของกัมพูชา ซึ่งพื้นที่ที่ทั้งสองประเทศแบ่งเขตไหล่ทวีปแตกต่างกัน ก็เลยกลายเป็นจุดที่เรียกว่าเป็นพื้นที่ทับซ้อนหรือเนื้อที่ทั้งหมด 26,000 ตารางกิโลเมตรกลางอ่าวไทย

 
 

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.