สมชาย เสนอตั้ง ศาลพักโทษ แทน กรมราชทัณฑ์ หวั่นสังคมมอง มีอำนาจเหนือคำพิพากษา

นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา(สว.) โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ค ระบุถึงข้อเสนอต่อสังคมเรื่องการพักโทษว่า การพักโทษ การลดโทษ การอภัยโทษ การปล่อยตัวเร็วกว่ากำหนดหรือการคุมประพฤติแบบมีเงื่อนไขฯ ยังคงมีความจำเป็นอยู่ตามโอกาสตามสมควร เพื่อจูงใจให้นักโทษมีความหวัง ไม่ก่อการจลาจล ลดความแออัดในเรือนจำ นำไปสู่การคืนคนดีกลับสู่สังคม เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องด้วย แต่ต้องพิจารณาโดยใช้หลักนิติรัฐนิติธรรมเป็นสำคัญ ตรงไปตรงมา ไม่มีวาระซ่อนเร้น เฉพาะราย โดยต้องให้ทุกองคาพยพในกระบวนยุติธรรมมีส่วนร่วมพิจารณา และตรวจสอบได้ มิใช่ปล่อยให้หน่วยใดมีอำนาจเพียงลำพัง เพราะอาจนำไปสู่การเสื่อมศรัทธาในกระบวนการยุติธรรมไทยทั้งระบบ ดังที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน 

จึงขอเสนอข้อมูลความเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อให้ภาคส่วนต่างๆในสังคม ช่วยกันพิจารณาดังนี้ 


1)วิธีแก้ปัญหาคนล้นคุกด้วยวิธีปล่อยตัวเร็วขึ้นกับนักโทษที่ได้รับผลกระทบจากการลงโทษ(Early release of sentenced prisoners) ในต่างประเทศนั้น มักจะใช้กับนักโทษที่เฉพาะกลุ่มคดีไม่ร้ายแรง เปิดโอกาสให้กลับตัว และมุ่งเน้นเฉพาะที่เป็นเด็กเยาวชน 
ผู้ติดยาเสพติดผิดเล็กน้อยไม่ใช่ตัวการสำคัญ ผู้บกพร่องทางจิตและผู้หญิง ฯลฯ ด้วยการให้ ลาพักโทษ ลดโทษ อภัยโทษ ปล่อยตัวก่อนกำหนด คุมประพฤติแบบมีเงื่อนไข ฯลฯ จะไม่ใช้กับนักโทษคดีอาญาร้ายแรง คดีอุกฉกรรจ์ หรือคดีทุจริตคอรัปชั่น

2)หลักยุติธรรมสากลในประเทศที่ได้รับความเชื่อมั่นศรัทธาสูง จะพิจารณาการลดโทษ พักโทษหรือปล่อยตัว ร่วมกันถึงกำหนดโทษที่ศาลพิพากษาคกับการมีระยะเวลาปลอดภัยของสังคม และต้องมีกระบวนการมีส่วนร่วมในการพิจารณาเช่น เจ้าทุกข์ ญาติ ตำรวจ ราชทัณฑ์ อัยการ แพทย์ ภาคประชาสังคม ฯลฯ โดยศาลเป็นผู้พิจารณาให้มีการลดโทษ พักโทษหรือปล่อยตัวที่เหมาะสม มิใช่ปล่อยให้เรือนจำอันเป็นหน่วยงานบังคับโทษมีอำนาจกระทำโดยลำพัง

3)ประเทศไทยใช้นโยบายแก้ไขคนล้นคุกมาตลอด โดยออกกฎหมายเพื่อช่วยเรื่องนี้มาแล้วหลายฉบับ อาทิ พรบ.ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท2562  พรบ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย 2565 พรบ.พืชกระท่อม2565 พรบ.ประมวลยาเสพติด2564ฯลฯ ที่ให้พืชกระท่อมและกัญชา เปลี่ยนเป็นยาเสพติดประเภทไม่ร้ายแรง (soft drugs) ทำให้กรมราชทัณฑ์ปล่อยนักโทษในคดีต่างๆออกจากเรือนจำไปแล้วนับหมื่นคน

4)ปัญหาการใช้อำนาจ ลดโทษ พักโทษ ปล่อยตัว ของราชทัณฑ์ ยังเป็นข้อครหาถกเถียงถึงความเหมาะสมในดุลยพินิจอำนาจราชทัณฑ์กับอำนาจพิพากษาในคดีของศาลยุติธรรม มาโดยตลอด เห็นได้จากปรากฏการณ์เลื่อนชั้นนักโทษคดีทุจริตจำนำข้าว อย่างรวดเร็วต่อเนื่องผิดปกติ 3ครั้งใน1ปี ทำให้นักโทษบางรายได้รับประโยชน์รับอภัยลดโทษไปมากกว่า10-37 ปี ทั้งๆที่คดีนี้ศาลฎีกาพิพากษาตัดสินจำคุกสูงสุด48 ปี เพราะถือเป็นคดีอุกฉกรรจ์ทุจริตโกงชาติถือเป็นภัยสังคม 

5)ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ (12เม.ย.65)เคยรับทราบรายงานของกระทรวงยุติธรรม เกี่ยวกับการอภัยโทษ ซึ่งเป็นการปรับปรุงแนวทางการจัดชั้น เลื่อนชั้นนักโทษ ให้มีแนวทางชัดเจนขึ้น โดยเป็นการรับข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการอภัยโทษ  มีเรื่องสำคัญบางประการได้แก่ 

5.1กำหนดให้นักโทษที่จะได้รับอภัยโทษ (ไม่ว่าลดโทษหรือปล่อยตัว) 
ต้องผ่านระยะปลอดภัย คือ ต้องรับโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 
หรือรับโทษจำคุกมาแล้ว 8 ปี (แล้วแต่ระยะเวลาใดถึงก่อน) และไม่ว่าจะเป็นนักโทษชั้นใด 
หลังจากนั้น จึงจะดูอายุ สุขภาพ การจัดชั้น เพื่อลดโทษ ยกเว้นแต่เป็นการถวายฎีกาเฉพาะราย 
5.2วางหลักเกณฑ์ใหม่ที่เข้มขึ้นเกี่ยวกับการลดโทษคดีร้ายแรงในความรู้สึกของสังคม เช่น คดียาเสพติด คดีทุจริต คดีที่ศาลให้ประหารชีวิตโดยให้การลดโทษและปล่อยตัว 
5.3 การจัดชั้นนักโทษ (ดี ดีมาก เยี่ยม) จะเข้มขึ้นและมีกฎเกณฑ์มากขึ้นเป็นต้น

ข้อเสนอแนะเร่งด่วน
1)สมควรให้มีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ พรบ.ราชทัณฑ์และพรบ.ให้ใช้ธรรมนูญศาลยุติธรรม กำหนดให้มีศาลแผนกบังคับโทษ มีอำนาจหน้าที่ในการติดตามผลบังคับโทษ และมีอำนาจในการพิจารณาการพักโทษนักโทษเด็ดขาด 
2)หน่วยที่เกี่ยวข้องจะต้องพิจารณาในเรื่องดังกล่าวตามหลักยุติธรรมสากลโดยยึดหลักนิติรัฐ นิติธรรมอย่างเคร่งครัด 

ในเวลาต่อมา นายสมชาย ยังโพสต์ข้อความอีกครั้งว่า ปฏิรูประบบบังคับโทษหลังคำพิพากษาแบบนี้ดีกว่ามั้ย 

#เห็นด้วยมั้ย ประเทศไทยควรจัดตั้งศาลแผนกบังคับโทษ มีอำนาจหน้าที่ติดตามผลบังคับโทษและพิจารณาพักโทษ นักโทษเด็ดขาดแทนกรมคุก
#อำนาจราชทัณฑ์เหนือคำพิพากษา?

 

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.