ถอดรหัสความสำเร็จ พัฒนา ‘ทุเรียนบาตามัส’ ของดีแดนใต้ ส่งออกทะลุ 70 ล้านบาท

ย้อนไปในปี 2561 เกษตรกรชาวสวนสามจังหวัดชายแดนใต้ ต้องเผชิญกับปัญหาการถูกกดราคาทุเรียนอย่างหนัก ไม่น่าเชื่อว่าพวกเขาเคยขายได้ในราคาเพียงกิโลกรัมละ 10 บาท จนเมื่อสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานพระราชดำริ เข้ามาพัฒนาพื้นที่ โดยอาศัยหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร นั่นคือ ‘เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา’ มาปรับใช้ เป็นระยะเวลาแค่เพียง 1 ปีหลังจากเริ่มการพัฒนาเท่านั้นก็ประสบความสำเร็จ เพราะสามารถเพิ่มผลผลิตได้กว่า 2 เท่า และสร้างรายได้เฉลี่ยมากขึ้นกว่าเดิมรายละ 4 เท่าต่อปี คือ จากที่มีรายได้เพียง 60,000 บาทต่อปี เป็น 262,731 บาทต่อปีเลยทีเดียว

 

พวกเขาทำได้อย่างไร?

 

 

1

พัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์

 

ปัญหาสำคัญของทุเรียนสามจังหวัดชายแดนใต้ คือทุเรียนในช่วงก่อนนั้นขาดคุณภาพ เนื่องจากเกษตรกรไม่ได้ดูแลอย่างเหมาะสม หลังจากที่ได้มีการเรียนรู้จากอาสาสมัคร ที่เข้าไปให้ความรู้ และมีการติดตามความก้าวหน้าและให้คำปรึกษาทุกขั้นตอน จนถึงการเก็บเกี่ยวเพื่อให้ได้ทุเรียนที่มีคุณภาพ

 

ปัจจุบันทุเรียนของเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนทุเรียนคุณภาพชายแดนใต้ภายใต้ชื่อ ‘ทุเรียนบาตามัส’  ขึ้นชื่อว่า เป็นทุเรียนที่ หนามเขียว ไม่มีหนอน ซึ่งแสดงถึงการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี  และเป็นทุเรียนที่ไม่อ่อน เพราะมีการวัดเปอร์เซนต์แป้งก่อนเก็บเกี่ยวให้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 32 ซึ่งจะทำให้ทุเรียนแก่และรสชาติดี  อีกทั้งทุเรียนบาตามัสเองยังมีเอกลักษณ์อันโดดเด่นนั่นคือ ‘กลิ่นหอม เนื้อหนานุ่ม หวานมัน’ จนได้ชื่อว่าเป็นราชาทุเรียนสามจังหวัดชายแดนใต้

 

 

 

2

การรวมกลุ่มของเกษตรกรในระดับวิสาหกิจชุมชน และเครือข่าย

 

เมื่อคุณภาพของทุเรียนดีแล้ว (ปัจจุบันมีแปลงทุเรียนได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP รวม 770 คน) สถาบันปิดทองหลังพระฯ ได้สนับสนุนให้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนสามจังหวัดชายแดนใต้ จากที่เคยต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างปลูก ได้รวมกลุ่มจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกทุเรียนคุณภาพ กระจายไปใน 3 จังหวัดชายแดนใต้รวม 20 วิสาหกิจชุมชน แบ่งแยกออกไปตามพื้นที่

สาเหตุของการรวมกลุ่มเพื่อช่วยให้ต้นทุนในการผลิตต่ำลง โดยจัดตั้งร้านขายปัจจัยการผลิตของกลุ่ม ซึ่งสมาชิกสามารถมาซื้อปุ๋ย และปัจจัยอื่นๆ ได้ในราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาดทั่วไป  เนื่องจากเมื่อเกิดการรวมกลุ่ม และกลุ่มตัดสินใจที่จะซื้อปัจจัยจากร้านที่จัดตั้งขึ้น บริษัทก็ยินดีที่จะส่งปุ๋ยให้กับร้าน เพราะมียอดการสั่งซื้อสูง เนื่องจากเกษตรกรที่มาซื้อมาจาก 3 จังหวัด 20 วิสาหกิจชุมชน

นอกจากนี้เวลาที่เกษตรกรมีปัญหา และต้องการความรู้ด้านการเกษตรเพิ่มเติม  แต่ละกลุ่มก็สามารถปรึกษาหารือกันในกลุ่มได้  อีกทั้งยังมีการเยี่ยมเยียนแปลงทุเรียนของสมาชิกแต่ละคน เพื่อเป็นการเรียนรู้วิธีการดูแล หรือเรียนรู้ปัญหาจากเพื่อนสมาชิก รวมไปถึงกระตุ้นให้สมาชิกตั้งใจดูแลสวนมากขึ้น

 

ต่อมาในปี 2565 วิสาหกิจชุมชนทั้งหมด จึงได้รวมตัวกลุ่มเป็น ‘เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนทุเรียนคุณภาพชายแดนใต้’ ซึ่งนับว่าเป็นกลุ่มเกษตรกรชาวสวนทุเรียนที่ใหญ่ที่สุดในสามจังหวัดชายแดนใต้

 

การรวมกลุ่มดังกล่าวทำให้เกษตรกรจากที่ไม่มีอำนาจการต่อรองใดๆ มีความเข้มแข็งขึ้นจากการเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ปลูกกว่า 2,432 ไร่  ยกตัวอย่างเช่น เมื่อขายผลผลิต เครือข่ายก็ไม่ได้ใช้วิธีต่างคนต่างขาย แต่ใช้วิธีขายภายใต้ความตกลงร่วมกันภายใต้ชื่อของเครือข่าย ทำให้ผลผลิตของเครือข่ายมีปริมาณสูง และสามารถต่อรองราคากับตลาดหรือพ่อค้าได้ เพื่อให้ได้ราคาที่เป็นธรรม จากการสำรวจพบว่าเกษตรกรที่ขายผลผลิตร่วมกับเครือข่ายได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าขายเองทั่วไป  อีกทั้งยังได้มีการต่อรองกับล้งผู้รับซื้อ ให้สนับสนุนเงินเพื่อสมทบเข้ากองทุนพัฒนาทุเรียนของโครงการ จากเดิมที่ล้งต้องจ่ายให้นายหน้าออกไปหาทุเรียนตามสวน แต่ล้งนำค่าใช้จ่ายนั้นจ่ายตรงให้กับเครือข่ายในราคาที่ต่ำกว่า ซึ่งเครือข่ายก็สามารถนำเงินที่ได้กิโลกรัมละ 2 บาทนี้ไปหมุนเวียนจัดตั้งเป็นกองทุนปัจจัยการผลิต รวมไปถึง การพัฒนาการปลูกโดยนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วย เช่น การพัฒนาแอปพลิเคชัน ‘หมอนทอง’ (Monthong Application) สำหรับติดตามผลผลิตทุเรียนคุณภาพทุกระยะ เพื่อวางแผนแก้ไขปัญหาการผลิตให้ทันท่วงที รวมไปถึงการประชาสัมพันธ์และการตลาดแบบออนไลน์ต่อไป

 

 

ทั้งนี้การรวมตัวกันเป็นเครือข่ายดังกล่าวยังเป็นการพัฒนาเกษตรกรจากที่เคยเป็นแค่เพียง ‘เกษตรกร’ ให้กลายเป็นผู้ประกอบการ ที่รู้จักกลไกลตลาด และสามารถบริหารจัดการเครือข่ายอย่างเป็นระบบได้เป็นอย่างดี

 

3

หาพันธมิตรร่วมกับภายนอก

 

การหาพันธมิตรร่วมกับภายนอกเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนา เมื่อได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ เกิดปริมาณผลผลิตที่เพียงพอ ในขั้นตอนของปลายน้ำก็จะต้องมีการเชื่อมโยงกับตลาดพันธมิตรที่ให้การสนับสนุน เพื่อสร้างมาตรฐานการรับซื้อ คัดคุณภาพ และรวบรวมผลผลิตเพื่อส่งออก รวมไปถึงการหาพันธมิตรจากภาครัฐและเอกชนในด้านองค์ความรู้ต่างๆ ทั้งในส่วนราชการสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของทั้งสามจังหวัดชายแดนใต้เช่นกัน

 

ปัจจุบัน กลุ่มของผู้ปลูก ‘ทุเรียนบาตามัส’  สามารถส่งออกทุเรียนของเครือข่ายไปยังประเทศจีน ไต้หวัน อินเดียและอินโดนิเซีย  โดยผ่าน ‘ล้งพันธมิตร’ ผู้รับซื้อทุเรียน โดยล้งที่จะเข้ามารับซื้อทุเรียนของทางกลุ่ม จะเป็นการร่วมมือกันในรูปแบบพันธมิตรทางการค้า โดยมีการติดต่อเจรจา ทั้งในด้านราคาที่สูงกว่าตลาดทั่วไปแต่รับรองว่าได้ทุเรียนคุณภาพ ‘หนามเขียว ไม่มีหนอน และไม่อ่อน’ รวมไปถึงเรื่องเงินสมทบดังที่กล่าวมา

นอกจากนี้ ทางเครือข่ายยังเปิดให้มีการขายช่องทางออนไลน์ในประเทศ ในแบบสั่งจองล่วงหน้า โดยปัจจุบันขายอยู่ที่กล่องละ 1,800 บาทต่อน้ำหนัก 8.5 กิโลกรัม เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ ‘ทุเรียนบาตามัส’ ให้คนไทยได้รู้จัก อีกทั้งยังเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะตอกย้ำให้เกษตรกรในเครือข่ายรับผิดชอบต่อผลผลิตที่มีคุณภาพของตนเอง เพราะการขายออนไลน์สามารถเคลมสินค้าได้ หากสินค้าไม่มีคุณภาพ

ในปีนี้ทางเครือข่ายฯ ยังได้เปิดการค้าในรูปแบบใหม่นั่นคือ ‘การประมูลสวน’  โดยใช้วิธีการคัดเลือกสวนทุเรียนจากสมาชิกในเครือข่ายที่มีคุณภาพสูง และเชิญล้งพันธมิตรลงไปดูที่สวนจำนวน 6 ล้งเพื่อประมูลราคาแข่งกัน  ซึ่งสามารถทำให้เกษตรกได้ราคาที่สูงกว่าท้องตลาดกิโลกรัมละ 5-10 บาทเลยทีเดียว

 

สำหรับในปีนี้ คาดการณ์ว่าทุเรียนของเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนทุเรียนคุณภาพชายแดนใต้ในชื่อ ‘ทุเรียนบาตามัส’ จะมีผลผลิตอยู่ที่ 700 ตัน และสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในเครือข่ายฯ รวมแล้วกว่า 70 ล้านบาท (เมื่อคิดที่กิโลกรัมละ 100 บาท ** ราคาทุเรียนในวันที่ 21 สิงหาคม)

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.