5 จุดวางไข่ของแมลงวันหัวเขียว ที่คุณอาจคาดไม่ถึง

5 จุดวางไข่ของแมลงวันหัวเขียว ที่คุณอาจคาดไม่ถึง

“แมลงวันหัวเขียว” แมลงพาหะที่นำเชื้อโรคสู่มนุษย์โดยเฉพาะ “โรคท้องร่วง” ที่มักมาจากขยะและสิ่งปฏิกูล นอกจากความสามารถในการวางไข่อย่างรวดเร็วและมีจำนวนมากแล้ว คุณอาจเพิ่งรู้ว่านี่คือ 5 จุดวางไข่ที่แมลงวันหัวเขียวโปรดปราน แถมใกล้ตัวซะด้วย! นั่นคือ

  1. อาหาร
  2. ช่องปาก
  3. แผลกดทับ
  4. มูลสัตว์ ซากสัตว์
  5. กล่องพัสดุไปรษณีย์ที่ใช้แล้ว

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยมหิดลระบุว่า  “แมลงวันหัวเขียว” ที่เป็นพาหะของ “โรคท้องร่วง” สามารถบินไกลได้เฉลี่ย 2-3 กิโลเมตรต่อวัน และยังสามารถ “เกาะพัก” เพื่อ “บินต่อ” ไปได้อีกเรื่อย ๆ ซึ่งอาจเดินทางต่อในรูปของ “ดักแด้” ที่ติดมากับสิ่งของที่มนุษย์เป็นผู้นำมันขึ้นตึกเองโดยไม่รู้ตัว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธันวดี คล่องแคล่ว อาจารย์ประจำภาควิชาปรสิตวิทยา และกีฏวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงพฤติกรรมของ “แมลงวันหัวเขียว” มักพบ ณ บริเวณที่ทิ้งอาหารเน่าเสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ หรือบริเวณทิ้งซากสัตว์

เนื่องจากตามธรรมชาติของ “แมลงวันหัวเขียวเพศเมีย” ที่กำลังอยู่ใน “ระยะวางไข่” ต้องการ “อาหารโปรตีน” เพื่อเลี้ยงตัวอ่อน ซึ่งนับเป็นคุณค่าของ “ความหลากหลายทางชีวภาพ” ในฐานะ “ผู้ย่อยสลาย”

โดยธรรมชาติแมลงวันหัวเขียวต้องการคาร์โบไฮเดรตจากการดูดน้ำหวานจากพืช ซึ่งนับเป็นคุณค่าของ “ความหลากหลายทางชีวภาพ” จากการ “ช่วยขยายพันธุ์พืช” เนื่องด้วยตามลักษณะทางชีวภาพของ “แมลงวันหัวเขียว” มี “ขา” ซึ่งคล้ายกาวเหนียวที่พร้อมจะยึดเกาะไปกับเกือบทุกพื้นผิว จึงนำเอาทั้งสิ่งปนเปื้อน และละอองเกสรพืชเกาะติดมาด้วย

ไม่เพียงในส่วน “ขา” ของ “แมลงวันหัวเขียว” ที่เกาะติดได้แทบทุกสิ่ง แต่เชื้อโรคที่ปนเปื้อนมากับส่วนต่าง ๆ ของแมลงดังกล่าวก็สามารถส่งต่อสู่มนุษย์ได้ทั้งสิ้น โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธันวดี คล่องแคล่ว ได้แสดงความเป็นห่วงอย่างยิ่งใน “ผู้ป่วยติดเตียง” ที่เสี่ยงต่อการ “วางไข่” ของ “แมลงวันหัวเขียว” ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้อย่างไม่รู้ตัว พบมากที่สุดในบริเวณ “ช่องปาก” รวมทั้งบริเวณ “แผลกดทับ” ที่มี “ภาวะขาดเลือด” จาก “เนื้อตาย” โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามบริเวณปลายแขนและขา ส่งกลิ่นดึงดูด “แมลงวันหัวเขียวเพศเมีย” ให้มาตอมบาดแผล และวางไข่ ส่งผลให้เกิด “โรคหนอนแมลงวัน (Myiasis)” รวมถึงการ “ติดเชื้อซ้ำซ้อน” จึงไม่ควรให้ “ผู้ป่วยติดเตียงที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ หรือมีแผลกดทับ” อยู่ในสถานที่โล่ง ซึ่งไม่มีมุ้งลวดป้องกันแมลง

มีข้อมูลที่น่าสนใจ จากการพบว่า “แมลงวันหัวเขียวเพศเมีย” เพียงตัวเดียวสามารถวางไข่ได้มากถึงครั้งละ 200 ฟอง ตลอดจนด้วยลักษณะทางชีวภาพซึ่งมีถุงเก็บสเปิร์มอยู่ภายในตัวเอง จึงทำให้ “แมลงวันหัวเขียวตัวเมีย” สามารถวางไข่ได้หลายครั้ง โดย “การฟักตัว” เกิดขึ้นได้ภายใน 24 ชั่วโมง

สำหรับความเร็วของการเจริญเติบโตของตัวอ่อน “แมลงวันหัวเขียว” ขึ้นอยู่กับ “อุณหภูมิ” ที่อบอุ่นเพียงพอ โดยจะทำให้ไข่พัฒนาเป็น “ตัวเต็มวัย” ได้ภายใน 5-7 วัน

อย่างไรก็ดี ในทางการแพทย์ต่างประเทศได้มีการใช้ประโยชน์จากหนอนแมลงวัน (Maggot) ซึ่งไม่ใช่เป็นสายพันธุ์ของแมลงวันโดยทั่วไป แต่เป็นแมลงวันที่ได้รับการเพาะเลี้ยงในทางการค้า เพื่อใช้รักษา “เนื้อตายจากโรคเบาหวาน” โดยเฉพาะ

นอกจากนี้ ในทาง “นิติเวช” ยังได้มีการใช้ประโยชน์ในการ “ประเมินระยะเวลาของการเสียชีวิต” จากการประมาณอายุของ “หนอนแมลงวัน” โดยนำหนอนที่พบบนศพ มาทำให้ยืดตัวด้วยน้ำอุ่นจัด แล้ววัดความยาวของหนอน ก่อนเทียบกราฟมาตรฐานเพื่อคำนวณย้อนกลับหาช่วงเวลาของการเสียชีวิต

ไม่เพียงการ “วางไข่” ตามที่ทิ้งอาหาร มูลสัตว์ หรือซากสัตว์ตายที่ทำให้เกิดการแพร่พันธุ์ของ “แมลงวันหัวเขียว” แต่การสะสม “กล่องพัสดุไปรษณีย์ที่ใช้แล้ว” เป็นจำนวนมากไว้ในที่พักอาศัย อาจทำให้เสี่ยงต่อการพบ “แมลงวันหัวเขียว” ในระยะ “ดักแด้” ที่อาจติดมากับกล่องพัสดุไปรษณีย์ได้ รวมทั้งแมลงรบกวนชนิดอื่นด้วย

โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธันวดี คล่องแคล่ว ไม่แนะนำให้ใช้ “สารเคมี” ในการกำจัด “แมลงวันหัวเขียว” ซึ่งเสี่ยงต่อสุขภาพ แต่ควรปรับสภาพแวดล้อมให้ไม่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของ “แมลงวันหัวเขียว” ด้วยการใช้ “กาวดัก” ตลอดจน “เก็บ” และ “ทิ้ง” อาหารเน่าเสียในที่ปกปิด

เมื่อใดที่เกิด “อุทกภัย” ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจกับการแพร่ระบาดของเชื้อ “อหิวาตกโรค” (Cholera) ตลอดจนโรคติดเชื้อต่าง ๆ ซึ่งอาจปนเปื้อนมากับ “ขยะ” ที่น้ำพัดพา และรอการเก็บกวาด เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของ “แมลงวันหัวเขียว” ที่เป็น “พาหะนำโรค” ต่อไป

และหากเป็นการ “ถนอมอาหาร” ด้วยการตากปลา หรือเนื้อสัตว์ โดยให้สัมผัสกับแสงอาทิตย์ ควรทำภายใต้มุ้ง หรือตาข่ายที่มิดชิด ตลอดจนไม่ควรประมาทกับแมลงรบกวนชนิดอื่น ๆ ที่อาจมาจาก “ท่อน้ำทิ้ง” อาทิ “แมลงหวี่” และ “แมลงสาบ” ที่อาจก่อให้เกิด “ปัญหาสุขอนามัย” จากภายในที่พัก แม้จะอาศัยอยู่ในที่สูง หรือในแนวตั้งได้เช่นเดียวกัน

 

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.