19 คนเหล่านี้ "ห้ามนวด" ส่งผลกระทบรุนแรง อาจถึงชีวิต
การนวด เป็นศาสตร์การบำบัดที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย เนื่องจากมีประโยชน์ต่อสุขภาพทั้งทางกายและจิตใจ ช่วยคลายความเมื่อยล้า ปวดเมื่อย และส่งเสริมการผ่อนคลาย แต่หากไม่ได้รับการนวดจากผู้ที่มีความรู้ความสามารถและปฏิบัติอย่างไม่ถูกวิธี อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ ดังนั้น ก่อนตัดสินใจนวด ควรศึกษาข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการนวดอย่างถูกต้อง เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อร่างกาย
สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับข้อห้าม/ข้อควรระวังในการนวด โดยระบุว่ามีผู้ที่ไม่แนะนำให้นวดไทยดังต่อไปนี้
ข้อห้ามในการนวดไทย
๑. ผู้ที่มีไข้สูงเกินกว่า ๓๘.๕ องศาเซลเซียส
๒. ผู้ที่กำลังป่วยด้วยโรคที่มีภาวะการณ์ติดเชื้อเฉียบพลัน
๓. ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงกว่า ๑๖๐/๑๐๐ มิลลิเมตรปรอท ที่มีอาการหน้ามืด ใจสั่น ปวดศีรษะ หรือคลื่นไส้อาเจียน
๔. ผู้ที่มีบาดแผลเปิด แผลเรื้อรัง
๕. ผู้ที่มีรอยโรคผิวหนังที่สามารถติดต่อได้
๖. ผู้ที่ได้รับการบาดเจ็บภายใน ๔๘ ชั่วโมง หรือได้รับการผ่าตัดภายในระยะเวลา ๑ เดือน
๗. ผู้ที่มีอาการหลอดเลือดดำอักเสบ (Deep Vein Thrombosis)
๘. ผู้ที่มีภาวะกระดูกพรุนรุนแรง
๙. ผู้ที่มีกระดูกแตก กระดูกหัก กระดูกปริร้าว บริเวณที่ผ่าตัดใส่เหล็กหรือข้อเทียม
๑๐. บริเวณที่เป็นมะเร็ง
ข้อควรระวังในการนวดไทย
๑. เด็ก ผู้สูงอายุ และหญิงตั้งครรภ์ (กรณีของหญิงตั้งครรภ์จะต้องได้รับการนวดด้วยความระมัดระวัง)
๒. ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงกว่า ๑๖๐/๑๐๐ มิลลิเมตรปรอท ที่ไม่มีอาการหน้ามืด ใจสั่น ปวดศีรษะ หรือคลื่นไส้อาเจียน
๓. ผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับหลอดเลือด เช่น หลอดเลือดแดงโป่ง หลอดเลือดอักเสบ หลอดเลือดแข็ง
๔. ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน
๕. ผู้ที่มีภาวะกระดูกพรุน
๖. ผู้ที่มีประวัติเลือดออกผิดปกติ หรือรับประทานยาละลายลิ่มเลือด
๗. ผู้ที่มีภาวะข้อหลวม ข้อเคลื่อน ข้อหลุด
๘. ผู้ที่ยังไม่ได้รับประทานอาหาร หรือ หลังรับประทานอาหารอิ่มใหม่ ๆ ไม่เกิน ๓๐ นาที
๙. ผู้ที่บาดแผลที่ยังหายไม่สนิทดี ผิวหนังแตกง่าย หรือได้รับการปลูกถ่ายผิวหนัง
นอกเหนือจากข้อมูลที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้วนั้น บางตำแหน่งของร่างกายต้องใช้ความระมัดระวังในการลงน้ำหนักเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่มีเส้นประสาท หรือหลอดเลือดสำคัญที่เลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ตำแหน่งบริเวณขมับ ต้นคอ รักแร้ หากกดด้วยความรุนแรงหรือระยะเวลานานอาจทำให้เกิดอาการบาดเจ็บ หมดสติ หรือชาบริเวณแขนได้ ส่วนตำแหน่งท้อง หากพบว่าเป็นผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดแดงโป่งพองในช่องท้อง จะเว้นการนวดบริเวณช่องท้อง เพราะหลอดเลือดอาจปริแตกได้ ดังนั้น ก่อนได้รับการนวดควรแจ้งประวัติสุขภาพ หรือโรคประจำตัวให้แพทย์ทราบทุกครั้ง
สำหรับผู้ที่สนใจการนวดไทยแบบราชสำนักสามารถรับคำปรึกษาและสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่คลินิกอายุรเวทแพทย์แผนไทยประยุกต์ โรงพยาบาลศิริราช
เอกสารอ้างอิง
- กลุ่มงานส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข. แนวทางเวชปฏิบัติการแพทย์แผนไทยในสถานบริการสาธารณสุขของรัฐ. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก; ๒๕๕๒.
- มูลนิธิฟื้นฟูส่งเสริมการแพทย์ไทยเดิมฯ และโรงเรียนอายุรเวทธำรง สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. หัตถเวชกรรมแผนไทย (การนวดไทยแบบราชสำนัก) ตอนที่ ๑: การนวดพื้นฐาน. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: ศุภวนิชการพิมพ์; ๒๕๕๗.
- แพทย์ศิริราชเตือน 5 จุดนวดอันตราย หากนวดแรง นวดผิดชีวิตเปลี่ยน
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.