ประวัติวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม กิจกรรมสำหรับลูกในวันพ่อ

วันพ่อแห่งชาติ ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันที่คนไทยร่วมกันแสดงความรักและกตัญญูต่อคุณพ่อ ผู้เป็นเสาหลักของครอบครัว การกำหนดให้วันที่ 5 ธันวาคมเป็นวันพ่อแห่งชาติ เกิดจากความประสงค์ที่จะเทิดทูนพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งทรงเป็นแบบอย่างที่ดีของพ่อหลวงชาวไทย นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมให้ทุกคนตระหนักถึงบทบาทสำคัญของพ่อที่มีต่อลูกและครอบครัว ดอกพุทธรักษา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของวันพ่อ ได้รับการเลือกให้เป็นดอกไม้ประจำวัน เนื่องจากมีความหมายถึงความรักที่มั่นคงและความเจริญรุ่งเรือง

  • กลอนวันพ่อ แบบซึ้งๆ กินใจ รวมกลอนวันพ่อ สุดไพเราะไว้บอกรักพ่อ
  • แคปชั่นพ่อกับลูกฮาๆ โพสคู่กับพ่อ เหมือนมีวันพ่อทุกวัน
  • แคปชั่นวันพ่อ แคปชั่นน่ารัก ความหมายดีๆ เอาไว้บอกรักพ่อ

ประวัติวันพ่อแห่งชาติ

วันพ่อแห่งชาติ จัดให้มีขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2523 โดย คุณหญิงเนื้อทิพย์ เสมรสุต นายกสมาคมผู้อาสาสมัครและช่วยการศึกษา เป็นผู้ริเริ่มจัดงานวันพ่อแห่งชาติขึ้น ด้วยความจงรักภักดี และมีวัตถุประสงค์ เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือในหลวงของประชาชนชาวไทย ในฐานะ "พ่อแห่งชาติ" และ "พ่อของแผ่นดิน" ในประเทศไทย ได้กำหนดให้ วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็น วันพ่อแห่งชาติ 

ซึ่งนอกจากพระองค์จะเป็นพระราชบิดาของพระราชโอรสและพระราชธิดา ทรงทะนุบำรุงพระราชโอรสธิดาด้วยความรัก และทรงอบรมอนุศาสน์ให้ทรงเจริญวัยสมบูรณ์ และทรงบำเพ็ญคุณานุประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน เจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทแล้ว พระองค์ยังทรงพระมหากรุณาทะนุบำรุงจัดทุกข์ผดุงสุขพสกนิกรถ้วนหน้า พระองค์ทรงเป็น “พ่อแห่งชาติ” ที่อาณาประชาราษฎร์เทิดทูนด้วยความจงรักภักดี สำนักในพระมหากรุณาธิคุณ และยึดมั่นในการเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทในการทะนุบำรุงชาติบ้านเมืองให้ วัฒนาถาวรสืบไป

ในวันที่ 5 ธันวาคม นอกจากจะเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และเป็นวันพ่อแห่งชาติแล้ว ยังถือว่าว่าวันนี้ เป็น “วันชาติของไทย” อีกด้วย

โดยทั่วไป “วันชาติ” มักจะหมายถึง วันเฉลิมฉลองที่ประเทศนั้นๆได้รับอิสรภาพ เป็นเอกราช หรือเป็นวันสถาปนาประเทศ รัฐ ราชวงศ์ วันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์ วันเกิดประมุขของรัฐ หรืออาจจะเป็นวันที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อื่นๆ แต่มักจะถือเป็นวันหยุดประจำของชาติ ซึ่ง “วันชาติ” ของแต่ละประเทศจะเป็นวันใด ก็ขึ้นอยู่กับการกำหนดของประเทศนั้นๆ เช่น ประเทศโมร็อกโก ตรงกับวันที่ ๒ มีนาคม สหรัฐอเมริกา ตรงกับวันที่ 4 กรกฎาคม ฝรั่งเศสตรงกับวันที่ 14 กรกฎาคม อินโดนีเซียตรงกับวันที่ 17 สิงหาคม บราซิลตรงกับวันที่ 7 กันยายน และเคนย่าตรงกับวันที่ 12 ธันวาคม เป็นต้น

วันชาติ” ของประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่จะมีเพียงวันเดียว แต่ก็มีบางประเทศเช่นกันที่มี “วันชาติ” มากกว่าหนึ่งวัน ทั้งนี้เพราะประเทศนั้นๆ อาจจะนับวันที่ได้รับเอกราชหรือวันที่ปลดแอกจากการเป็นอาณานิคม และวันที่มีการสถาปนาการปกครองขึ้นใหม่ ซึ่งอาจจะมิใช่วันเดียวกัน แต่เป็นวันสำคัญเสมือนวันชาติเท่าๆกัน เช่น ประเทศปากีสถาน จะมีวันชาติตรงกับวันที่ 23 มีนาคม ที่เขาเรียกว่า “Republic Day” และวันที่ 14 สิงหาคม เป็น “Independence Day” ส่วนฮังการี ก็มีถึง 3 วันคือ วันที่ 15 มีนาคม 20 สิงหาคม และ 23 ตุลาคม สำหรับจีน นอกจากจะมีวันชาติตรงกับวันที่ 1 ตุลาคม แล้ว ที่ฮ่องกง อันเป็นเขตปกครองพิเศษของจีน ที่มีขึ้นหลังจากอังกฤษคืนเกาะฮ่องกงให้จีนก็มีการเฉลิมฉลองวันที่ตรงกับวัน สถาปนาการปกครองพิเศษนี้ขึ้น ในวันที่ 1 กรกฎาคม อีกด้วย

สำหรับ ประเทศไทย เราเคยได้มีการกำหนดให้วันที่ 24 มิถุนายน เป็น “วันชาติของไทย” ด้วยถือว่าวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย โดยได้มี ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง “วันชาติ” ลงวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2481 โดย พ.อ.พหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยนั้น และได้มีการเฉลิมฉลองวันชาติ 24 มิถุนายน ครั้งแรกในปีพ.ศ. 2482 ในสมัยจอมพลป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี

วันที่ 24 มิถุนายน เป็น “วันชาติ” ของไทยอยู่นานถึง 21 ปี ครั้น วันที่ 21 พฤษภาคม 2503 สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้มี ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ขึ้นใหม่อีกฉบับหนึ่ง เรื่อง ให้ถือวันพระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย โดยให้เหตุผลว่า

ด้วยคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นว่า ตามที่ได้กำหนดให้มีการเฉลิมฉลองวันชาติไทยในวันที่ 24 มิถุนายน นั้น ได้ปรากฏในภายหลังว่า มีข้อที่ไม่เหมาะสมหลายประการ ในด้านประชาชนและหนังสือพิมพ์ก็ได้เสนอแนะให้พิจารณาในเรื่องนี้หลายครั้ง หลายคราว คณะรัฐมนตรีจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณา โดยมีพลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

คณะกรรมการนี้ได้พิจารณาแล้ว เสนอความเห็นว่า ประเทศต่างๆได้เลือกถือวันใดวันหนึ่งที่มีความสำคัญเกี่ยวเนื่องกับชนในชาติ ต่างๆกัน โดยถือเอาวันประกาศเอกราช วันอิสรภาพ วันตั้งถิ่นฐาน วันสาธารณรัฐ วันสถาปนาพระราชวงศ์บ้าง ซึ่งไม่เหมือนกัน แต่ประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของชาติ โดยทั่วไปนั้น ได้ถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติ เช่น ประเทศอังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน ญี่ปุ่น ฯลฯ เป็นต้น แม้ประเทศไทยเราเองก็ได้ถือเอาวันพระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทยมา แล้ว เพิ่งจะมากำหนดเอาวันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติ เพิ่มขึ้นอีกวันหนึ่งในระยะหลังนี้เอง

คณะกรรมการจึงมีความเห็นว่า เพื่อให้เป็นไปตามขนบประเพณีของประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเป็นหลักการสมัครสมานสามัคคีรวมจิตใจของบุคคลในชาติโดยทั่วกัน จึงสมควรจะถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย ต่อไป โดยยกเลิกวันชาติ ในวันที่ 24 มิถุนายนเสีย

ดังนั้น นับแต่ปี พ.ศ. 2503 ประเทศไทยจึงได้ถือเอาวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็น “วันชาติ” ของไทย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ตามปกติ การจัดงาน “วันชาติ” ของประเทศต่างๆก็จะมีกิจกรรมและรูปแบบแตกต่างกันออกไป ส่วนใหญ่ก็มักจะมีการกล่าวสุนทรพจน์ การจัดขบวนพาเหรดเฉลิมฉลอง การจุดพลุดอกไม้ไฟอย่างเอิกเกริก รวมไปถึงการแสดงมหรสพต่างๆ เป็นต้น แต่ในประเทศไทย เนื่องจากวันชาติ เป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา และวันพ่อแห่งชาติ ซึ่งมีกิจกรรมเฉลิมฉลองอยู่แล้ว กอปรกับประเทศไทยยังไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใครมาก่อน และคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ก็คุ้นชินกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างที่เห็น กันอยู่ปัจจุบัน

ดังนั้น “วันชาติ” ของเราจึงดูเหมือนไม่ค่อยมีความสำคัญเท่าใดนัก เพราะชาวไทยทุกหมู่เหล่าล้วนตัองการจัดกิจกรรมเพื่อถวายความจงรักภักดีต่อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “พ่อหลวงของแผ่นดิน” มากกว่าประเด็นอื่น อย่างไรก็ดี หากเราจะระลึกว่าวันนี้ ก็เป็น “วันชาติ”ของไทยด้วย แล้วจัดกิจกรรมต่างๆที่จะแสดงให้เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อ “ประเทศชาติ” ด้วยพระวิริยะอุตสาหะ และความเสียสละมาอย่างยาวนานเช่นไร ก็อาจจะทำให้ วันนี้ มีความหมายครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

วัตถุประสงค์ของการจัดงานวันพ่อแห่งชาติ ที่คณะผู้ริเริ่มกำหนดคือ

  • เพื่อเทิดทูนพระเกียรติคุณของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
  • เพื่อเทิดทูนพระคุณของพ่อ และยกย่องบทบาทของพ่อที่มีต่อครอบครัวและสังคม
  • เพื่อให้ลูกได้แสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อ
  • เพื่อให้ผู้เป็นพ่อ สำนึกในหน้าที่และความรับผิดชอบของตน

กิจกรรมในวันพ่อแห่งชาติ

  • จัดกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ต่อสาธารณะ หรือบำเพ็ญกุศลเพื่อส่วนรวม
  • ทำบุญใส่บาตร เพื่ออุทิศส่วนกุศล และระลึกถึงพระคุณของพ่อ ซึ่งยังดำเนินการสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
  • ทำอาหารร่วมกัน หรือ จัดปาร์ตี้เล็กๆ ชวนพ่อเข้าครัวทำอาหารจานโปรด หรือลองทำเมนูใหม่ๆ ร่วมกัน
  • ไปเที่ยวพักผ่อน ออกไปเที่ยวพักผ่อนนอกบ้าน เช่น ไปเที่ยวทะเล เดินป่า หรือไปทำกิจกรรมกลางแจ้งร่วมกัน

ดอกไม้สัญลักษณ์ประจำวันพ่อแห่งชาติ

ดอกไม้สัญลักษณ์ประจำวันพ่อแห่งชาติ คือ ดอกพุทธรักษา มีสีเหลืองเด่น เป็นสีของวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีความหมายคือ ความสงบสุขร่วมเย็น การปกป้องคุ้มครอง แสดงถึงความรักและเคารพบูชาพ่อ ที่คอยปกป้องครอบครัว โดยมีความเชื่อว่า หากบ้านใดปลูกต้นนนพุทธรักษาไว้ จะช่วยปกป้องคุ้มครองอันตรายแก่บ้าน และที่อยู่อาศัยได้ 

ดอกพุทธรักษา สัญลักษณ์วันพ่อแห่งชาติ

บทอาศิรวาท เฉลิมพระชนมพรรษา มหาราชา "ภูมิพล ฯ"

"เฉลิมพระชนม์ เฉลิมชัย ชโยฤกษ์
บายศรีเบิก ฟ้าสีทอง ผ่องเวหน
พระบุญญา พระบารมี พระฯภูมิพล
เกริกสกล ภูมิแผ่นดิน ภิญโญไทย

ธ ทรงมี ทศพิธ ราชธรรม
โครงการล้ำ เชิดชูชาติ ศาสน์ไสว
อิสริยยศ คิงออฟคิง เพริศพริ้งไกล
งามวิไล ราชกิจ พิศอัศจรรย์

อัญเชิญชัย พระไตรรัตน์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์
เทพนิมิต ราชประสงค์ ทรงเสกสรรค์
จตุรพิธ พรประเสริฐ เลิศอนันต์
นิจนิรันดร์ ขอพระองค์ ทรงพระเจริญ" 

 
อมรรัตน์ เทพกำปนาท
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

และขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนและภาพประกอบจาก : tlcthai.com 

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.