มองเคส "ดิ ไอคอนฯ" แบบจิตวิทยา สร้างภูมิคุ้มใจอย่างไรไม่ให้กลายเป็น "บอส" หรือ "เหยื่อ"

ประเด็นร้อนต่อเนื่องจากข่าวบริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป ทำให้มีกลุ่มผู้เสียหายเข้าร่วมร้องเรียนต่อหน่วยงานรัฐ และกลายเป็นกระแสร้อนต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นเดือนตุลาคมเรื่อยมา จากข่าวดิไอคอนฯ เราจะสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้าง Sanook Men ชวน "หมอตังค์-มรรคพร ขัติยะทองคำ" หมอนักเล่าเรื่องคดีฆาตรกรรมในช่อง "เวรชันสูตร" มาเผยมุมมองด้านจิตวิทยาต่อกรณีข่าวร้อนดังกล่าวเพื่อเชื่อมโยง และหาแนวทางสร้างเกราะคุ้มใจให้กับทุกคน เพื่อป้องกันไม่ให้วันหนึ่งเราอาจกลายผู้กระทำ หรือตกเป็นเหยื่อ

กรณีข่าวดิ ไอคอน กรุ๊ป สามารถสะท้อนมุมมองจิตวิทยาอะไรได้บ้าง

เนื่องจากเคสนี้ตังค์ไม่ได้ตามเรื่องโดยละเอียด แต่จะขอพูดถึงโมเดลธุรกิจแบบเชน จริงๆ มันมีประวัติศาสตร์มาตั้งแต่สมัยมนุษย์เราต้องการสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจอะไรบางอย่าง ส่วนใหญ่เรามักจะเห็นว่าธุรกิจลักษณะนี้จะเล่นกับ "ความหวัง อนาคต ความฝัน" ถ้าเมื่อก่อนจะเป็นอีกรูปแบบหนึ่งคือ "ลัทธิ" มันจะมีความเชื่อมโยงคือ มีผู้นำ 1 คน ต้องมีจิตวิทยาในการควบคุมใครบางคนมันคือลัทธิ แล้วส่วนใหญ่คนที่ต้องเข้าลัทธิมันเกิดจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ

อย่างที่ญี่ปุ่นที่เกิดลัทธิบ่อยๆ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ตอนนั้นคนเครียดมาก ตกต่ำ ดังนั้นเขาจะหาที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจถ้าเขาไปเจอใครบางคนที่รู้สึกว่าคนๆ นี้สามารถมอบความหวังให้กับเขาได้ก็พร้อมเอาใจเข้าไปเล่นด้วย และพร้อมจะคาดหวังตามสิ่งที่เขากล่าวไว้ ตังค์คิดว่ามันคือจิตวิทยาเดียวกัน เพียงแต่มันเปลี่ยนรูปแบบไม่ใช่ลัทธิ ซึ่งในอนาคตเดี๋ยวมันก็กลับมาอีกในรูปแบบใหม่ๆ แต่ส่วนใหญ่จะต้องเป็นการมอบความหวัง มอบความปลอดภัย และมอบความมั่งคั่งให้กับคนที่เข้ามา เพราะคนเราอยากจะเลือกฟังแต่สิ่งที่เราอยากเป็น อยากเลือกฟังแต่สิ่งที่เราอยากได้ และอาจจะมีข้อเสียตรงที่การทำธุรกิจแบบนี้หลายครั้งที่เรามักจะไม่เคยเห็นใครมาพูดถึงข้อเสียของธุรกิจ เขามักจะพูดด้านดีเสมอ

ดังนั้นสิ่งที่อยากจะฝากก็คือเราสามารถมีสิทธิเลือกทำอะไรก็ได้ แต่อย่างแรกสิ่งที่เราควรมีคือ "เกราะป้องกันจิตใจ" นั่นคือสติในการคัดกรองต่อสิ่งต่างๆ ที่เข้ามา เขาก็จะนำเสนอแต่ด้านที่ดีที่สุด ดังนั้นเราต้องคิดอะไรเป็นเหตุเป็นผลก่อนจะตัดสินใจเสมอ

ส่วนใหญ่คนที่เป็นเหยื่อมักมีความเปราะบางทางด้านจิตใจอยู่แล้ว เขาไม่เห็นหนทางในการใช้ชีวิต ไม่เห็นทางออก แล้วพอวันนึงมีคนมาชวน มอบความหวังให้เขาก็ทำตาม สิ่งที่ตังค์เสียใจที่สุดคือหลายๆ ครั้งที่เราเห็นคดีเหล่านี้เขาเอา "ความหวัง"  "ความรู้สึก" ของคนที่อยากเติบโต อยากมีความสุขในชีวิตมาเล่น นี่คือความน่าเศร้าของสังคม ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยประวัติศาสตร์แล้ว

วิธีสร้างภูมิคุ้มใจเพื่อไม่ให้เราต้องเป็น "ผู้กระทำ" และ "ผู้ถูกกระทำ"

จริงๆ เรื่องนี้มันต้องมองทั้งสองส่วน ดังนั้นเอาสิ่งที่ง่ายก่อน อย่างตัวเราเวลาจะเลือกทำอะไรบางอย่างเราควรสร้างเกราะป้องกันใจ แต่จะสร้างได้อย่างไร สิ่งแรกคือเรื่องของสุขภาพจิต เราไม่เคยสำรวจตัวเอง บางคนมีความเครียดเรื่องงาน เรื่องครอบครัว ฯลฯ แต่เราเก็บไว้ เราไม่รู้วิธีการกำจัดความเครียด พอความเครียดไปถึงจุดหนึ่ง และพอมีจุดพลิกผันบางอย่างที่ทำให้เราหนีความเครียดเหล่านี้ได้ คนเหล่านี้จะขอทำเลยโดยไม่ได้คิดอะไรมากนัก เพราะฉันไม่อยากเครียดอีกต่อไปแล้ว ดังนั้นให้หมั่นสำรวจสภาพจิตใจของเราเสมอ ไม่อยากให้เราสะสมก้อนตะกอนความเครียด ความกังวล หรือความเศร้าให้มันใหญ่เกินไป เพราะเมื่อมันใหญ่เกินไปเวลามีอะไรเพียงนิดเดียวมาสะกิดจิตใจเรา มาเปิดทางจิตใจให้เราเดินทางไป เราจะเดินทางไปแบบไม่มีเหตุผลเลย

อย่างไรก็ตามถ้าเราสำรวจจิตใจตัวเองไม่ได้ เราต้องบอกคนรอบข้างเสมอว่าเราต้องการความช่วยเหลือ ปัจจุบันมีสายด่วน จิตแพทย์ แอปพลิเคชั่นให้คำปรึกษาทางด้านจิตวิทยา เพื่อเอาหลักการเหล่านั้นมาปรับใช้ทั้งการคิด การวางแผน หรือบางทีแค่เอาเรื่องที่เราเครียดไปปรึกษาได้ทั้งหมด ดังนั้นการขอความคิดเห็นที่สองมันอาจเหมือนเป็นเบรกที่คอยเบรกเราไว้ก่อนตัดสินใจทำบางอย่าง

อย่างผู้กระทำแน่นอนเขาต้องเป็นเหยื่อมาก่อน จากนั้นเขาก็ต้องเข้าไปเรียนรู้ แล้วเขาจะรู้วิธีที่จะทำให้เขามั่งคั่งมันคืออะไร จริงๆ ตังค์มองว่ามันน่าสงสารทั้ง 2 ฝั่งเพราะคนที่กระทำคนอื่นก็เคยถูกกระทำมาก่อน ดังนั้นเขาก็ไม่อยากอยู่ในชีวิตแบบนั้น ตังค์เชื่อว่าไม่มีใครเกิดมาเป็นปีศาจตั้งแต่แรกเกิด ทุกคนต่างถูกหล่อหลอมโดยใครบางคน

วิธีสังเกตเพื่อไม่ให้ถูกโน้มน้าวได้ง่าย

หากถ้าสังเกตเขามักจะพูดแต่ในเรื่องของอนาคต เขาจะไม่วิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบันอะไรให้ แต่เขาจะวางแผนให้เรา คิดแทนเรา บอกแทนเราว่าต้องแก้ปัญหาแบบนี้ๆ เขาจะไม่ค่อยเปิดช่องว่างให้เราออกแบบอนาคตของเราเท่าไร เนื่องจากสิ่งเหล่านี้เป็นการเทรนกันมาแล้ว และเขาจะเว้นช่องว่างให้น้อยที่สุด พวกเขาจะพูดเยอะจนทำให้เกิดการคล้อยตาม ไม่เปิดโอกาสให้เราได้ถาม แล้วก็พูดถึงความสำเร็จของเขา แต่สิ่งเหล่านี้มันตรวจสอบไม่ได้

คำแนะนำสำหรับผู้ถูกกระทำ

ก่อนอื่นก็ต้องไปดำเนินการทางกระบวนการทางกฎหมายด้วยการไปแจ้งความเพื่อรักษาสิทธิพื้นฐาน หลังจากนั้นให้หันมาเยียวยาทางจิตใจ เชื่อว่าใครที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับอะไรแบบนี้คงเคยคุยกับญาติ เพื่อน แล้วทำให้คนรอบข้างรู้สึกอึดอัดใจหรือเสียเพื่อนไปเพราะว่าทำสิ่งๆ นี้ ตังค์ว่าทุกคนล้วนพร้อมให้อภัย อยากให้เขากลับมาเยียวยาจิตใจ ตอนนี้เหมือนกับว่ามันเหมือนถูกวาดฝันไว้แต่มันไม่เป็นจริง เป็นความผิดหวัง เขาเศร้าอยู่แล้ว จิตใจบอบช้ำ ดังนั้นคนรอบข้างต้องซัพพอร์ต ไม่ซ้ำเติมกันแต่อย่างใด หรือผู้ได้รับความเสียหายหนักอาจกลายเป็นโรคเครียดเรื้อรัง วิตกกังวล ต้องไปปรึกษาแพทย์ด้วย

สำหรับคนรอบข้างอยากให้มองผู้ถูกกระทำว่าเขาก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่อาจจะมีการตัดสินใจผิดพลาด เดินทางผิด แต่ถ้าเราหรือสังคมเพิกเฉย ถือเป็นการซ้ำเติมครั้งที่สอง และอันนี้แหละมันจะทำให้เราสร้าง "หมาจนตรอก" ชีวิตไม่เหลืออะไรแล้ว ขอโอกาสครั้งที่สองก็ไม่ได้รับ มันก็จะทำให้เขาดำเนินนิสัยเดิมๆ ดังนั้นถ้าเราสามารถซัพพอร์ตเขาได้ เราก็ควรทำเท่าที่เราทำไหว อย่านิ่งเฉย

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.