"น้ำยาปรับผ้านุ่ม" กับ 7 ผลกระทบที่ดูแล้วคิดหนัก ว่าควรใช้ต่อหรือพอก่อน
น้ำยาปรับผ้านุ่ม เป็นอีกผลิตภัณฑ์จำเป็นสำหรับหลายๆ ครอบครัว โดยการใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มนั้นส่วนใหญ่ก็มีเหตุผลเพราะทำให้รู้สึกดีเวลาสัมผัสเนื้อผ้า อีกทั้งยังมีกลิ่นหอมติดเนื้อผ้าทำให้รู้สึกดีเวลาสวมใส่ แต่ทราบหรือไม่ว่าน้ำยาปรับผ้านุ่มนั้นยังมีผลกระทบที่หลายๆ คนคาดไม่ถึงอีกมากมาย ทราบแล้วอาจต้องคิดใหม่ว่าจะใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มต่อหรือเปล่า โดยกรมวิทยาศาสตร์บริการได้มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับทั้งผลดี และผลเสียของน้ำยาปรับผ้านุ่ม แต่เราได้แยกส่วนของผลเสียมาให้ทราบดังนี้
ผลเสียของน้ำยาปรับผ้านุ่ม
1) ลดความสามารถในการดูดซับน้ำ/เหงื่อ (absorbency) ความสามารถในการดูดน้ำ (rewetting) เป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญของคุณลักษณะในการดูดซับน้ำ/เหงื่อของผ้า ผ้าขนหนูที่เคลือบด้วยส่วนที่ไม่ชอบน้ำของสารประกอบในน้ำยาปรับผ้านุ่มจะลดความสามารถในการดูดซับน้ำ/เหงื่อ ซึ่งเป็นปัญหาหลักของผ้าฝ้ายที่ใช้ทำกางเกงผ้าอ้อมเด็ก ถ้าไม่ใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มมากเกินไป ผ้าจะยังสามารถดูดน้ำได้ทั้งๆที่มีสายโซ่ของส่วนที่ไม่ชอบน้ำ(hydrophobic) ถ้าใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มมากเกินไป จะทำให้ผ้าเปลี่ยนคุณสมบัติเป็นผ้าที่ไม่ดูดซับน้ำ/เหงื่อ (waterproof fabric) เช่น ผ้าเช็ดตัวผ้าฝ้าย ผ้าอ้อมและผ้าพอลิเอสเตอร์ ทำให้รู้สึกไม่สบายตัวเวลาอากาศร้อน(thermal discomfort) ซึ่งเกิดจากความสามารถในการส่งผ่านไอน้ำ(water vapor transmission) และการซึมผ่านอากาศ (air permeability) ของผ้าฝ้ายและผ้าใยสังเคราะห์ลดลง โดยเฉพาะเมื่อจำนวนครั้งของการซักมากขึ้น(หลังซัก 15 ครั้งในผ้าใยสังเคราะห์) ทั้งนี้เนื่องจากน้ำยาปรับผ้านุ่มไม่ได้ถูกกำจัดให้หมดหลังการซักครั้งต่อไป ทำให้มีการสะสมของน้ำยาปรับผ้านุ่มบนผ้าเมื่อใช้เป็นประจำ
2) ลดความแข็งแรงของผ้า (fabric strength) การไม่ใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มหลังการซักผ้าจะช่วยรักษาความแข็งแรงของผ้าไว้ได้ดีกว่าการใช้น้ำยาปรับผ้านุ่ม โดยสังเกตจากค่าแรงดึงของผ้าทอ (tensile strength) และค่าแรงดึงของผ้าถัก (bursting strength) ที่ลดลง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าน้ำยาปรับผ้านุ่มทำให้ความแข็งแรงของผ้าลดลง
3) ทำให้เกิดเม็ดขน (pilling) การใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มไม่ว่าจะใช้มากหรือน้อยก็ตามจะเพิ่มปุยขน(nap) ขึ้นบนผิวหน้าของผ้าขนหนูผ้าฝ้าย เส้นด้ายของผ้าฝ้าย ปกติจะชอบน้ำ (hydrophilic) และเกาะกันแน่นกับหยดน้ำ เมื่อหยดน้ำแห้งก็จะหดตัวและดึงเส้นด้ายเนื้อฝ้ายเข้าหา ส่วนผ้าขนหนูที่ไม่ได้ใช้น้ำยาปรับผ้านุ่ม เมื่อผ้าแห้ง เส้นด้ายจะถูกกดเข้าด้วยกันและเกิดปุยขนเล็กๆ ดังนั้นการใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มจะทำให้เกิดเม็ดขนที่ใหญ่และนุ่มกว่าการไม่ใช้น้ำยาปรับผ้านุ่ม โดยเสื้อไหมพรมสามารถเกิดเม็ดขนที่ใหญ่ขึ้นได้ (formation of bigger pills)
4) ลดความขาว (reduce fabric whiteness) การใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มหลังการซักผ้าจะทำให้ความขาวของผ้า (whiteness) ลดลง ถ้าใช้เป็นประจำและมีการสะสมของน้ำยาปรับผ้านุ่มก็อาจทำให้ผ้าเหลือง โดยเฉพาะกับผ้าขนหนูผ้าฝ้าย 100% ผลที่เกิดขึ้นนี้สามารถเห็นได้ภายหลังจากการใช้เพียง 4 ครั้งเท่านั้น
5) เพิ่มความสามารถในการติดไฟ (flammability) การใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มเป็นประจำจะเพิ่มความสามารถในการติดไฟและทำให้ผ้าติดไฟเร็วขึ้นทั้งผ้าฝ้ายและผ้าใยสังเคราะห์ แต่ผ้าส่วนใหญ่ที่ใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มในปริมาณที่กำหนดยังมีค่าไม่เกินระดับที่กฎหมายในต่างประเทศกำหนดไว้ ซึ่งมียกเว้นในผ้าฝ้ายบางชนิด ความสามารถในการติดไฟเป็นประเด็นสำคัญของเสื้อผ้าและอุตสาหกรรมสิ่งทอมากเนื่องจากเป็นอันตรายกับร่างกายและทำให้ผ้าเสียคุณสมบัติ ความสามารถในการติดไฟของผลิตภัณฑ์สิ่งทอและของเสื้อผ้าถูกกำหนดโดยการแสดงลักษณะพิเศษในขณะเผาไหม้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความง่ายในการเผาไหม้และความทนทานต่อการเผาไหม้หลังจากการจุดไฟ มีองค์ประกอบหลายอย่าง เช่น ปริมาณเส้นใยผ้า (fiber content) น้ำหนักผ้า โครงสร้างของผ้า สารที่ใช้ตกแต่งผ้าและการออกแบบผ้าล้วนแต่มีผลต่อความสามารถในการติดไฟของเสื้อผ้าทั้งสิ้น
น้ำยาปรับผ้านุ่มลดความสามารถในการขัดขวางไฟ (flame retardancy) ของเสื้อนอนเด็ก จึงไม่แนะนำให้ใช้น้ำยาปรับผ้านุ่ม ยกเว้นกรณีพิเศษที่ได้รับการทดสอบแล้วว่าไม่มีปัญหาเรื่องการต่อต้านไฟ (flame resistant) ผ้าฝ้ายถ้ายิ่งซักก็จะยิ่งเพิ่มความสามารถในการติดไฟ สำหรับผ้าใยสังเคราะห์ ความสามารถในการติดไฟจะเพิ่มขึ้นหลังการใช้ครั้งแรก แต่หลังจากใช้ไป 15 ครั้ง การเพิ่มความสามารถในการติดไฟจะไม่ชัดเจน
6) การเกิดอาการแพ้ที่ผิว (allergy on the skin) เป็นผลที่เกิดโดยตรงกับผู้ใช้แต่ละคน ซึ่งความเป็นจริงพบว่า ไม่ใช่สารเคมีทุกตัวที่ใช้ในกระบวนการซักผ้าจะถูกกำจัดออกไปได้หมดจากเสื้อผ้าหลังจากการล้างน้ำจนหมดฟองแล้ว สารเคมีบางตัวในน้ำยาปรับผ้านุ่มยังคงติดอยู่บนผ้าและสามารถรู้สึกได้โดยการสัมผัส เช่น เกิดอาการแพ้ (allergy) และเกิดการระคายเคือง (irritating) หรือทำให้น้ำยาปรับผ้านุ่มเพิ่มโอกาสที่จะเป็นภูมิแพ้แบบไฮโปแอลเลอจีนิค (hypoallergenic)
อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาเกี่ยวกับน้ำยาปรับผ้านุ่มที่มีต่อผิวหนังของผู้ใช้ในอเมริกา ผลการศึกษาที่ทำกับน้ำยาปรับผ้านุ่มยี่ห้อดังยี่ห้อหนึ่ง (ซึ่งมีส่วนผสมไม่เหมือนกับน้ำยาปรับผ้านุ่มที่ขายในประเทศไทย) ปรากฏว่าไม่พบว่าเกิดอาการแพ้ ไม่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการแพ้ (sensitizers) หรือไม่เกิดการระคายเคืองกับผิวหนังเมื่อใช้ติดต่อกันเป็นประจำ (ในปริมาตรที่กำหนดไว้บนฉลาก) หรือกับเสื้อผ้าที่สวมใส่ก็ไม่มีผลเสียกับผิวหนังโดยผ้าที่นุ่มจะมีผลดีกับผิวที่แตก (damaged skin) ผิวของเด็กอ่อน (infant) และผิวแพ้ง่าย (sensitive skin) ดังนั้นจึงควรทดสอบให้แน่ใจว่าน้ำยาปรับผ้านุ่มที่ใช้จะไม่ทำให้เกิดอาการแพ้ ไม่ว่าจะเป็นอาการแพ้ที่เกิดจากสารประกอบหลักของน้ำยาปรับผ้านุ่มเองหรือเกิดจากน้ำหอมที่ใช้ใส่ในน้ำยาปรับผ้านุ่มก็ตาม
7) เกิดการจับตัวเป็นก้อน (clump) เหนียวๆ ผ้าอาจสะอาดน้อยลง ประจุบวกของสารประกอบควอเทอนารีแอมโมเนียมของน้ำยาปรับผ้านุ่มเข้ากันไม่ได้กับประจุลบของของสารซักฟอก ดังนั้นเมื่ออยู่รวมกันในน้ำ ประจุของสารทั้งสองนี้จะดูดซึ่งกันและกันและจับตัวเป็นก้อน (clump) เหนียวๆ บนผ้าหรือจับตามส่วนต่างๆ ของเครื่องซักผ้าโดยข้อต่อของท่อระบายน้ำจะเกิดการอุดตันจากก้อนเหนียวๆ นี้ ถ้าผสมกับสิ่งสกปรกจากผ้าที่ซักด้วยแล้วก็จะเห็นเป็นสีเทาดำหรือน้ำตาลดำ ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการเกิดก้อนเหล่านี้โดยแยกสารทั้งสองชนิดนี้ออกจากกันให้ชัดเจน นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมต้องใส่น้ำยาปรับผ้านุ่มภายหลังจากที่ล้างผงซัก ฟอกออกจนหมดแล้ว ผ้าที่ซักถ้ายังรู้สึกว่าซักไม่สะอาดหมดจดอาจเป็นเพราะน้ำยาปรับผ้านุ่มที่ใส่ลงไปนั้น ไปเคลือบสิ่งสกปรกที่ยังติดอยู่บนเนื้อผ้า ทำให้สิ่งสกปรกเหล่านั้นเกาะติดเสื้อผ้าแน่นขึ้นและทำให้การซักทำได้ยากมากขึ้นในการซักครั้งต่อไป
- ฉีดน้ำยาปรับผ้านุ่มบนเสื้อผ้าตอนตาก ช่วยให้ผ้าหอมขึ้นจริงหรือ ?
- ประโยชน์ "น้ำยาปรับผ้านุ่ม" เรื่องงานบ้าน ที่มีมากกว่าทำให้ผ้าหอม
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.