เส้นทางรถไฟตู้นอนจากกรุงเทพฯ นอนสบายตียาวลุยทั่วไทย

นอนรถไฟไปเที่ยวกัน! อ่านไม่ผิดหรอกเพราะวันนี้เราจะพาไปเที่ยวให้ทั่วไทยด้วยการ "นอน" หมายถึงนอนให้สบายๆ ตลอดคืนในการเดินทางด้วยรถไฟ พอถึงที่หมายตอนเช้าๆ สายๆ จะได้สดชื่นมีแรงเที่ยวจัดหนักยังไงล่ะ

ใครยังไม่เคยมีประสบการณ์นั่งรถไฟ ไม่สิ... นอนรถไฟไปเที่ยว เดี๋ยวจะพาไปทำความรู้จักกัน

รถไฟนอนเป็นอย่างไร?

รถไฟนอนหมายถึงตู้รถไฟซึ่งเป็นเตียงนอน ความจริงคือเป็นทั้งที่นั่งและที่นอน ตอนรถเพิ่งออกจากสถานีก็จัดเบาะเป็นลักษณะที่นั่้งธรรมดา นั่งหันหน้าหากันฝั่งละหนึ่งคน พอตกค่ำเจ้าหน้าที่จะมาปรับที่นั่งให้เป็นที่นอน ลักษณะสองชั้น มีเตียงบนกับเตียงล่าง ซึ่งค่าบริการเตียงล่างจะแพงกว่านิดหน่อย เพราะเตียงบนนั้นต้องปีนขั้นลง ไม่เหมาะกับคนสูงอายุ เด็ก

ตู้นอนมีอยู่ขบวนไหน?

ก่อนอื่นต้องทำความรู้จักกับตู้รถไฟและขบวนรถไฟกันก่อน เพราะหลายคนอาจเคยได้ยินคำว่าตู้รถไฟชั้น 2 ชั้น 3 แล้วเข้าใจผิดว่ารถไฟมันจะมีสองชั้นสามชั้นได้ยังไงนะ อันที่จริงคำว่า "ชั้น" หมายถึง Class ไม่ใช่ Floor ดังนั้นชั้น 2 ก็คือตู้ที่ดูดีและสบายกว่าชั้น 3 แค่นั้นเอง

ส่วนลักษณะ ขบวนรถเร็ว ด่วน ด่วนพิเศษ มีความหมายตรงตัวคือความเร็วในการเดินทาง รถด่วนจะจอดสถานนีน้อยกว่ารถเร็ว ทำให้ใช้เวลาเดินทางถึงปลายทางน้อยกว่า

ในขบวนทั้งรถเร็ว ด่วน ด่วนพิเศษ จะมีตู้รถไฟทั้งแบบชั้น 1 ชั้น 2 ชั้น 3 ปะปนกัน ไม่ได้หมายความว่าขบวนรถด่วนพิเศษจะเป็นตู้นอนทั้งหมด หรือขบวนรถเร็ว (ซึ่งช้าที่สุด) จะมีแต่ตู้นั่งแบบชั้น 3 ทั้งหมด

รถไฟนอนมีจุดหมายปลายทางที่ไหนบ้าง?

รถไฟขบวนซึ่งมีตู้นอนจะมีเฉพาะรถสายยาวเท่านั้น (แหงสิ! ไม่งั้นจะนอนทำไม)

สายเหนือ

กรุงเทพอภิวัฒน์ - เชียงใหม่ ผ่าน นครสวรรค์ พิษณุโลก เด่นชัย ลำปาง ขุนตาน ลำพูน)

สายอีสานเหนือ

กรุงเทพอภิวัฒน์ - หนองคาย ผ่าน ชุมทางบัวใหญ่ ขอนแก่น อุดรธานี

สายอีสานใต้

กรุงเทพอภิวัฒน์ - อุบลราชธานี ผ่าน นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ

สายใต้อ่าวไทย

กรุงเทพอภิวัฒน์ - นครศรีธรรมราช ผ่าน หัวหิน ชุมพร สุราษฎร์ธานี ชุมทางทุ่งสง

กรุงเทพอภิวัฒน์ - ชุมทางหาดใหญ่ ผ่าน หัวหิน ชุมพร สุราษฎร์ธานี ชุมทางทุ่งสง พัทลุง

กรุงเทพอภิวัฒน์ - ยะลา หรือ สุไหงโก-ลก ผ่าน หัวหิน ชุมพร สุราษฎร์ธานี ชุมทางทุ่งสง พัทลุง ชุมทางหาดใหญ่ ปัตตานี

สายใต้อันดามัน

กรุงเทพอภิวัฒน์ - ตรัง หรือ กันตัง ผ่าน หัวหิน ชุมพร สุราษฎร์ธานี ชุมทางทุ่งสง

ทุกสายที่ว่ามาจะมีตู้นอนทั้งหมด ทั้งในขบวนรถเร็ว ด่วน และด่วนพิเศษ เพราะฉะนั้นบอกเลยไม่ว่าจะลุยโซนไหนของประเทศ เรานอนไปเที่ยวด้วยรถไฟกันได้หมดนะ

รถไฟแดงคืออะไร?

หลายคนคงเคยเห็นรีวิวรถไฟแดง หรือรถไฟที่ดูกิ๊บเก๋ใหม่สุดของบ้านเราตอนนี้ คือขบวนรถไฟด่วนพิเศษ CNR ปัจจุบันเปิดวิ่ง 4 เส้นทางออกจากกรุงเทพอภิวัฒน์คือ เชียงใหม่ หนองคาย อุบลราชธานี และ ชุมทางหาดใหญ่ มีชื่อเพราะๆ เป็นนามพระราชทานจากกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ว่า อุตราวิถี อีสานมรรคา อีสานวัตนา และ ทักษิณารัถย์ ตามลำดับ

รถไฟแดงหรือเจ้า CNR ที่ว่านี้ ดูดีมีระดับกว่าตู้แบบเก่าเยอะเชียวล่ะ จะนั่งจะนอนก็สบาย แอร์เย็นยะเยือกจนหนาวดึ๋ง ห้องน้ำดีสะอาดมาก แถมมีปลั๊กที่ชาร์จไฟทุกที่นอน และมีเฉพาะตู้นอนทั้งขบวน ที่สำคัญคือเป็นรถตรงเวลาที่สุดแล้ว เพราะขบวนไหนผิดเวลามาจ๊ะเอ๋ขบวนนี้ก็ต้องหลีกทางให้ก่อน

จองรถไฟยังไงล่ะ?

เดี๋ยวนี้การจองรถไฟง่ายมาก แค่ไปที่ https://www.dticket.railway.co.th เป็นเว็บไซต์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย สมัครสมาชิกล็อกอิน ค้นหาเที่ยวรถ เลือกขบวนรถ จ่ายเงินได้หลายช่องทางทั้งบัตรเครดิต บัตรเดบิต เคาน์เตอร์เซอร์วิส 7-11 หรือชำระเงินที่สถานีรถไฟทุกสถานีที่เราสะดวก โดยหากเดินทางมากกว่า 80% ของระยะทาง จองล่วงหน้าได้ 90 วัน เดินทางมากกว่า 60% ของระยะทาง จองล่วงหน้าได้ 60 วัน และเดินทางมากกว่า 25 % ของระยะทาง จองล่วงหน้าได้ 30 วัน

หรืออีกช่องทางสำหรับคนออฟไลน์คือโทรสายด่วน 1690 ติดต่อคอลเซ็นเตอร์ รฟท. ได้เลย

สำหรับนักเดินทางบอกเลยว่าการเที่ยวด้วยรถไฟนอนนั้นคือความคลาสสิกและเป็นประสบการณ์ที่ควรสัมผัสสักครั้ง เป็นความรู้สึกที่เหมือนเราได้ออกมาใช้ชีวิตเดินทางมากกว่าเพียงแค่ได้ไปเที่ยว จะไปแอ่ววัฒนธรรมล้านนาที่เชียงใหม่ ไปสุดสายอีสานที่ลำน้ำโขง หรือมุ่งลงใต้ไปเที่ยวทะเล กินอาหารปักษ์ใต้อร่อยๆ ยืนยันว่ารถไฟไทยพร้อมพาไปทุกขบวนนะ

บทความนี้เป็นเพียงบางส่วนของเนื้อหาที่เผยแพร่ใน Trip.com หากสนใจอ่านเพิ่มเติม กรุณาคลิกเพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ Trip.com

 

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.