เช็กสุขภาพทางไซเบอร์ โลกออนไลน์ของคุณปลอดภัยหรือยัง

การมีตัวตนบนโลกออนไลน์ทุกวันนี้ไม่ต่างจากการอยู่ในสนามรบ เพราะเหล่าอาชญากรไซเบอร์คอยโอบล้อมเราไว้อย่างห่าง ๆ ตลอดเวลา หาจังหวะเหมาะ ๆ หรืออาศัยช่องโหว่ต่าง ๆ ตอนที่เราไม่ได้ระวังตัวเท่าที่ควร จากนั้นก็ทำการโจมตีเมื่อมีโอกาส การคอยตรวจเช็กสุขภาพทางไซเบอร์ของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยลดโอกาสการถูกโจมตีจากมิจฉาชีพได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องหมั่นเตือนภัยกันอยู่บ่อย ๆ เพื่อไม่ให้ใครก็ตามตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพจนเกิดความเสียหายมากมาย ดังนั้น ลองมาเช็กสุขภาพทางไซเบอร์ของตัวเองกันหน่อยดีกว่าว่ายังปลอดภัยดีหรือเปล่า

1. รหัสผ่านไม่ได้ง่ายเกินไป

เพราะรหัสผ่านคือกุญแจด่านแรกที่ใช้ไขเข้าสู่ข้อมูลและเอกสารทุกอย่างทั้งในอุปกรณ์หรือบัญชีผู้ใช้งานต่าง ๆ ของเรา อาชญากรไซเบอร์จึงจำเป็นต้องงัดสารพัดวิธีมาใช้เพื่อที่จะเข้ารหัสของเราให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการสุ่มจากรหัสง่าย ๆ ไม่ปลอดภัยแต่ในความเป็นจริงก็มีคนใช้งานเป็นจำนวนมาก หรืออาจจะหลอกล่อด้วยกลวิธีอื่นเพื่อขโมยข้อมูลส่วนตัว เพื่อไม่ให้คนพวกนี้เข้าถึงอุปกรณ์หรือบัญชีเราได้ง่าย ๆ ก็ควรตั้งรหัสที่ยาก ยาว ซับซ้อน หมั่นเปลี่ยนรหัสผ่านบ่อย ๆ และไม่ควรบันทึกรหัสผ่านไว้ในอุปกรณ์ดิจิทัลใด ๆ ของเราเพื่อกันลืม

2. ตั้งค่าความเป็นส่วนตัวเรียบร้อยแล้ว

จริง ๆ แล้วข้อมูลส่วนตัวทุกอย่างของเราไม่ควรเปิดเผยให้คนอื่นรู้ แต่ในยุคโซเชียมีเดียแบบนี้ การแบ่งปันข้อมูลส่วนตัว การโพสต์ความคิด ความรู้สึก มันกลายเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้ว ถึงอย่างนั้น เราก็สามารถกำหนดได้ว่าข้อมูลที่แบ่งปันได้นั้นจะระบุตัวตนเราได้ลึกแค่ไหน ถ้ามันลึกเกินไปก็ไม่ควรเปิดเผย ซึ่งแอปพลิเคชันส่วนใหญ่ก็จะมีตัวเลือกในการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวให้แก่ผู้ใช้งาน ให้เราตัดสินใจเองว่าข้อมูลส่วนตัวของเราข้อมูลไหนเปิดเผยได้ และเปิดเผยหรือแบ่งปันให้ใครได้เท่าไร หรือจะอนุญาตให้แอปฯ เข้าถึงข้อมูลอะไรของเราได้บ้าง ทางที่ดีควรจะเลือกตั้งค่าให้มีความเป็นส่วนตัวให้มากที่สุด และระมัดระวังในการเปิดเผยชื่อและที่อยู่ของเราให้คนอื่นรู้ด้วย

3. ใส่ใจกับรอยเท้าบนโลกดิจิทัล

รอยเท้าดิจิทัล หรือ digital footprint คือ ร่องรอยกิจกรรม การกระทำ การมีส่วนร่วม และการสื่อสารดิจิทัลผ่านการใช้งานอินเทอร์เน็ตหรืออุปกรณ์ดิจิทัล พูดง่าย ๆ ก็คือแทบทุกอย่างที่เรากระทำผ่านอินเทอร์เน็ต มันจะหลงเหลือร่องรอยไว้เสมอ บางสิ่งเราเป็นคนตั้งใจทิ้งร่องรอยไว้เอง เช่น การโพสต์สเตตัสด่าใครลอย ๆ การอัปโหลดรูปภาพไปเที่ยวลงโซเชียลมีเดีย และมีอีกหลายสิ่งที่เราอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าระบบบันทึกข้อมูลนั้นไว้ ซึ่งการที่เรามีตัวตนบนโลกออนไลน์ มันจะเหลือร่องรอยอยู่ตลอดไป แม้ว่าต้นทางจะลบแล้ว ทว่าคนอื่นก็จะตามร่องรอยเราจนได้ ดังนั้น ก่อนจะโพสต์อะไรให้คิดให้รอบคอบว่ามันจะไม่กลับมาทำร้ายเราทีหลัง และระมัดระวังการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว

4. ติดตั้งโปรแกรมรักษาความปลอดภัยให้กับอุปกรณ์ดิจิทัลทุกเครื่อง

แม้ว่าตัวเราจะระมัดระวังตัวมากแค่ไหนก็ตาม มันก็อาจจะมีเผลอ มีหลุดได้ อีกทั้งเทคโนโลยีที่มีแต่จะพัฒนาให้ดีขึ้นในทุกวัน มันย่อมเกิดช่องโหว่ใหม่ ๆ ที่เราอาจตามไม่ทัน ซึ่งก็อาจทำให้เราป้องกันตัวเองได้ไม่ดีพอ ทางที่ดีจึงควรติดตั้งโปรแกรมรักษาความปลอดภัยให้กับอุปกรณ์ดิจิทัลทุกเครื่องรวมถึงโทรศัพท์ด้วย เพื่อป้องกันอุปกรณ์เหล่านั้นจากภัยคุกคามในโลกไซเบอร์ เป็นการอุดช่องโหว่และลดโอกาสเสี่ยงที่จะโดนอาชญากรไซเบอร์โจมตี ส่วนการระมัดระวังที่ตัวเองก็ยังคงต้องระวังกันต่อไป อย่าคิดว่ามีโปรแกรมดี ๆ แล้วจะการ์ดตกได้ โปรแกรมรักษาความปลอดภัยเป็นเพียงการเพิ่มความปลอดภัยให้รัดกุมขึ้นเท่านั้น เป็นตัวช่วยดักอีกด่านก่อนเกิดความเสียหาย

5. มีการสำรองข้อมูลไว้เสมอ

ปกติเรื่องการสำรองข้อมูลมักถูกมองข้ามเสมอ จะสำรองไปทำไมในเมื่อข้อมูลเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกวันแล้วก็ใช้งานทุกวัน หรือคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยนึกถึงว่าตัวเองอาจจะมีหลุดมีพลาดแล้วเกิดกรณีร้ายแรงขึ้นวันใดวันหนึ่งก็ได้ คิดว่าตัวเองระวังตัวดีแล้ว แถมมีตัวช่วยอีกชั้น ยังไงก็ปลอดภัย วิธีคิดแบบนี้เป็นวิธีคิดที่ประมาทมาก หากโดนโจมตีขึ้นมาจะเสียหายร้ายแรงได้ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องทำทุกอย่างเพื่อปกป้องข้อมูลที่สำคัญของเราไว้เสมอ มีการสำรองข้อมูลที่อัปเดตแล้วอย่างสม่ำเสมอ หากพลาดโดนโปรแกรมเรียกค่าไถ่ที่ยึดข้อมูลของเราไว้เป็นตัวประกันขึ้นมา ก็ยังมีข้อมูลอัปเดตใหม่สุดที่สำรองไว้ล่าสุดได้ใช้งาน

6. ติดตั้งเครื่องมือติดตามอุปกรณ์หรือล็อกหน้าจอ

ในกรณีที่ทำอุปกรณ์หาย เรายังมีความหวังที่ว่าจะได้ของคืน เพราะเราสามารถพึ่งพาฟังก์ชันการติดตามจากเครื่องมือติดตามอุปกรณ์ว่าตอนนี้มันอยู่ที่ไหน ถ้าระบบดี ๆ ระบบอาจเพิ่มการปิดกั้นตัวเองไม่ให้ผู้ที่เอาอุปกรณ์ของเราไปเข้าถึงข้อมูลภายในได้ง่าย ๆ หรืออาจคอยแจ้งเตือนผู้ที่เป็นเจ้าของได้ด้วยว่าอุปกรณ์หายไปอยู่ที่ไหน อย่างน้อยที่สุดก็ยังสามารถถ่วงเวลาที่จะเกิดความเสียหายขึ้นได้ไม่มากก็น้อย

7. ระมัดระวังการใช้บลูทูธ

บลูทูธ ยังคงเป็นอีกช่องทางที่ทำให้เรามีความเสี่ยงที่จะถูกโจมตี แม้ว่าการใช้งานมันจะสะดวกสบาย แต่ก็เป็นอุปกรณ์ที่มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัย ถ้าไม่จำเป็นหรือไม่ได้ใช้งาน ควรปิดบริการไว้เสมอ และปิดการจับคู่ การเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่น ๆ แบบอัตโนมัติด้วย

8. หมั่นอัปเดตระบบปฏิบัติการอยู่เสมอ

ทั้งระบบปฏิบัติการของอุปกรณ์ ดิจิทัล โปรแกรม และแอปพลิเคชันที่มีติดตั้งอยู่ในอุปกรณ์นั้น เพื่อที่จะรับบริการด้านความปลอดภัยใหม่ ๆ ที่ทางผู้ให้บริการเพิ่มเข้ามาเพื่อปิดช่องโหว และซ่อมแซมปรับปรุงข้อบกพร่องของรุ่นเก่า ๆ ที่เสี่ยงใช้งานไม่ได้ประสิทธิภาพมากพอ จนสร้างความเสียหายแก่เราได้

9. ระมัดระวังการใช้ Wi-Fi

นอกจากบลูทูธ Wi-Fi คืออีกช่องโหว่ที่เราอาจถูกโจมตีได้ เราจึงควรพิถีพิถันในการเลือกเชื่อมต่อกับ Wi-Fi ที่ปลอดภัย มีการตั้งรหัสผ่านไว้ตลอดเวลา และไม่ควรใช้ Wi-Fi สาธารณะอย่างเด็ดขาด เมื่อต้องเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวหรือทำธุรกรรมทางออนไลน์

10. ลบข้อมูลหรือโปรแกรมที่ไม่ได้ใช้งานแล้วอย่างสม่ำเสมอ

ถ้าหากว่ามีโปรแกรมหรือแอปพลิเคชันที่ไม่ได้ใช้งานนานแล้ว และไม่น่าจะได้ใช้งานอีกในเร็ววันนี้ ควรออกจากระบบแล้วลบเอาออกจากอุปกรณ์เสีย นอกจากจะช่วยให้ประหยัดพื้นที่ความจำในการเก็บข้อมูลแล้ว ยังเป็นการตัดการเชื่อมต่อกับโปรแกรมหรือแอปฯ นั้น ๆ ในอุปกรณ์ดังกล่าว เพราะแอปฯ ที่เราไม่ได้ใช้ เราอาจจะไม่ได้หมั่นอัปเดตเป็นเวอร์ชันใหม่ ก็จะทำให้มีช่องโหว่ในการโจมตี เช่นเดียวกับข้อมูลที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว ก็ควรจะลบออกจากอุปกรณ์ หรือย้ายไปเก็บไว้แบบออฟไลน์แทน เพื่อปกป้องข้อมูลส่วนตัวที่อาจถูกขโมย กรณีที่อุปกรณ์นั้น ๆ โดนโจมตี และเราลืมไปแล้วว่ามีข้อมูลนั้นอยู่ในอุปกรณ์

11. ไม่เคยกดลิงก์ซี้ซั้ว และระมัดระวังตัวเวลาที่จะกรอกข้อมูลเสมอ

มิจฉาชีพมักจะปลอมตัวเป็นองค์กรที่เป็นที่รู้จัก และหลอกล่อให้ผู้ใช้งานเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว ทุกวันนี้จะกดลิงก์อะไรจึงต้องดูให้ดี ๆ เพราะอาจเป็นลิงก์ปลอมที่ส่งมาล่อลวงให้เรากดเพื่อที่จะเปิดติดตั้งมัลแวร์ของมิจฉาชีพหรือเพื่อเข้ารหัสผ่าน เพราะฉะนั้น ควรสังเกต URL ของเว็บไซต์ให้ชัดเจน และอย่ากดลิงก์หรือเปิดไฟล์ที่แนบมา และเวลาที่จะกรอกข้อมูลส่วนตัวลงในฟอร์มใด ๆ ก็ตาม ควรเช็กอีกรอบว่าเป็นฟอร์มจากองค์กรจริง ๆ ถ้าฟอร์มที่ให้มาดูแปลก ๆ มีคำที่พิมพ์ผิดเยอะจนดูไม่มืออาชีพ ให้สงสัยว่าอาจเป็นฟอร์มจากมิจฉาชีพที่ส่งมาหลอกให้เรากรอกข้อมูลส่วนตัว เพื่อจะนำเอาข้อมูลนั้นไปใช้ในทางที่มิชอบ

12. ใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างระมัดระวัง

ทุกวันนี้ ใคร ๆ ก็มีสื่อสังคมออนไลน์ใช้งาน บางคนมีมากกว่า 1 บัญชี และคนส่วนใหญ่ก็จะใช้งานมากกว่า 1 แพลตฟอร์มด้วย ซึ่งการจะใช้งานสื่อออนไลน์ที่สามารถเชื่อมต่อกับคนได้มากหน้าหลายตาทั่วโลก ก็ต้องใช้อย่างระมัดระวัง ทั้งเรื่องการรับคนที่ไม่รู้จักเป็นเพื่อน คนที่โพรไฟล์ดูแปลก ๆ หลีกเลี่ยงการคุยแชต การบอกเรื่องส่วนตัวกับคนแปลกหน้า การแบ่งปันข้อมูลส่วนตัวของตัวเองในโหมดสาธารณะ และควรลบบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ที่ไม่ได้ใช้แล้วทิ้งด้วย

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.