รวมสารพัดวิธีปิดกั้นมิจฉาชีพที่คอยก่อกวนชีวิต

ในยุคสมัยที่ “มิจฉาชีพ” ขยันติดต่อเราซะยิ่งกว่าเพื่อนฝูงญาติมิตร นอกจากจะสร้างความรำคาญให้กับเราที่ต้องมาคอยกดรับสายวางสายมือเป็นระวิงแล้ว สิ่งที่น่ากลัวยิ่งกว่าก็คือบทสนทนาจากทางปลายสายที่อาจทำให้เราสูญเสียทรัพย์สินมากมาย ซึ่งนับวันก็ยิ่งอัปเลเวลความเนียนของมุกหลอกลวงได้แสบทรวงมากขึ้น ทำให้เราต้องคอยระมัดระวังตัวเองเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อเข้าในสักวัน

แล้วมันจะมีวิธีไหนไหมที่จะช่วยให้เราได้ใช้ชีวิตเงียบ ๆ มีช่วงจังหวะปลอดมิจฉาชีพบ้าง บอกเลยว่ามี! แต่มันอาจไม่ใช่วิธีที่ยั่งยืนหรือได้ผลชะงัดอะไรขนาดนั้น มันเป็นเพียงการลดช่องว่างที่จะโดนก่อกวนลงเท่านั้นเอง มาลองดูกันว่าเราพอจะทำอะไรได้บ้างเพื่อให้ตัวเองไม่ถูกมิจฉาชีพรบกวนมากเกินไปนัก

เปิดใช้แอปฯ เช็กเบอร์มิจฉาชีพ

ก็คงจะเป็นวิธีที่เบสิกที่สุดสำหรับกรองและบล็อกเบอร์แปลก ๆ ที่โทรเข้ามาหาเรา เนื่องจากแอปฯ เหล่านี้จะมีฐานข้อมูลหมายเลขโทรศัพท์ขนาดใหญ่ที่รวบรวมได้จากเหล่าผู้ใช้งานอย่างเรา ๆ นี่แหละที่ช่วยกันแชร์เข้าไปว่าเบอร์นี้เป็นเบอร์ของมิจฉาชีพ หรือเบอร์ของใคร (ซึ่งส่วนใหญ่ทางแอปฯ ก็จะมีการตรวจสอบอีกทีว่ามิจฉาชีพจริงไหม หลีกเลี่ยงการกลั่นแกล้งกัน) เวลาที่เบอร์พวกนี้โทรเข้ามาก็จะมีการระบุตัวตนของเบอร์นั้น ๆ ให้ปลายสายรู้ว่าเบอร์ที่โทรมานั้นน่ารับสายไหม หลายเบอร์จะขึ้นชื่อหราเลยว่าเป็นมิจฉาชีพ หลอกลวง น่าสงสัย เสี่ยง อันตราย หรืออย่ารับ อะไรก็ว่าไป เพื่อที่เราจะได้หลีกเลี่ยงไม่กดรับให้เสียเวลาเสียอารมณ์ และเสี่ยงเจอมุกขั้นสูงที่อาจทำให้เราหลงเชื่อ

การทำงานของแอปฯ เหล่านี้ ที่ช่วยกรองเบอร์แปลกให้กับเรา แอปฯ จะแสดงให้เห็นว่าเป็นหมายเลขของมิจฉาชีพ (ยังโทรหาเราได้ จะรับหรือไม่รับก็แล้วแต่เรา) ซึ่งเราสามารถไปตั้งค่าบล็อกเบอร์นั้น ๆ ได้ เพื่อที่เบอร์ที่ว่าจะไม่สามารถโทรมาหาเราได้อีก อย่างไรก็ตาม หากเบอร์ที่โทรมาไม่ได้อยู่ในฐานข้อมูล แอปฯ จะแสดงผลว่า “ไม่ทราบชื่อ” ถ้ามิจฉาชีพโทรมาแต่เรามีสติตอนคุยก็ไม่มีปัญหา คุยจบก็เข้าไปเพิ่มรายละเอียดเบอร์นั้น ๆ ได้ว่าเป็นมิจฉาชีพ การที่เราสามารถเข้าไปช่วยแชร์ว่าเบอร์ต่าง ๆ เป็นเบอร์ของใคร ก็จะทำให้ฐานข้อมูลหมายเลขโทรศัพท์มีการอัปเดตให้ครอบคลุมตลอดเวลา ใครโทรมารู้หมดว่าจะรับหรือไม่รับ ทั้งเบอร์ขายประกัน เงินกู้ ส่งของ ธนาคาร ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม การใช้วิธีนี้เพียงวิธีเดียวก็อาจจะแก้ปัญหาแก๊งมิจฉาชีพก่อกวนชีวิตได้ไม่มากนัก เนื่องจากมิจฉาชีพมักจะใช้เบอร์ใหม่ ๆ โทรหาเราเสมอ บล็อกเบอร์นั้นไปแล้วก็มีเบอร์ใหม่โทรมาอีก เราจึงมักจะไม่ค่อยเจอเบอร์เดิมโทรมาซ้ำ ๆ แต่มันก็ช่วยกรองได้ในระดับหนึ่งว่าเป็นเบอร์มิจฉาชีพนะ จะรับหรือไม่รับ หลังจากกดบล็อก เบอร์มิจฉาชีพก็จะให้โทรหาเราได้น้อยลง ซึ่งแอปฯ ประเภทที่ว่าก็อย่างเช่น WhosCall, TrueCaller, Call Control, Mr. Number, CallApp: Caller ID & Block หรือ Hiya

บล็อกเบอร์จากต่างประเทศ

หลายครั้งทีเดียวที่เราจะเห็นว่าเบอร์ของมิจฉาชีพที่ใช้โทรหาเรานั้น เป็นเบอร์ที่โทรเข้ามาจากต่างประเทศ สังเกตง่าย ๆ คือเป็นเบอร์ที่ขึ้นต้นด้วยเครื่องหมายบวก (+) ตามด้วยเลขยาว ๆ หลายหลัก ซึ่งจริง ๆ เลขยาว ๆ พวกนั้นจะแยกเป็นรหัสประเทศต่าง ๆ แล้วค่อยตามด้วยเลขเบอร์โทรศัพท์ ถ้าเบอร์พวกนี้โทรเข้ามาไม่บ่อยก็ไม่เท่าไร แต่ถ้าโทรมาบ่อย ๆ มันก็น่ารำคาญถูกไหม การบล็อกเบอร์โทรต่างประเทศไปซะเลยก็จะช่วยได้เยอะ ซึ่งเราสามารถบล็อกเบอร์ต่างประเทศได้ง่าย ๆ และสามารถทำได้กับเบอร์มือถือทุกเครือข่าย ด้วยการกดหมายเลข *138*1# โทรออก (ฟรี) ก็เป็นอันบล็อกเบอร์ต่างประเทศได้เรียบร้อย

แต่วิธีนี้จะไม่เหมาะกับคนที่มีญาติหรือคนรู้จักอยู่ต่างประเทศ เพราะพวกเขาเหล่านั้นจะติดต่อเราไม่ได้เลย ส่วนใครที่ต้องการจะเปิดการรับสายจากเบอร์ต่างประเทศอีกครั้ง (เปิดให้เบอร์ต่างประเทศโทรหาเราได้) ก็แค่กดหมายเลข *138*2# โทรออก (ฟรี)

บล็อกข้อความ

มิจฉาชีพไม่ได้ขยันโทรมาก่อกวนเราอย่างเดียว แต่ยังขยันส่งข้อความมาด้วย การหลอกลวงในรูปแบบของการส่งข้อความ ก็คือจะเป็นข้อความหลอกลวง โดยแอบอ้างว่าส่งมาจากหน่วยงานต่าง ๆ บอกให้เราทำนั่นทำนี่ด้วยการกดลิงก์ที่แนบมา ซึ่งลิงก์เหล่านั้นเป็นลิงก์ประเภท phishing เมื่อเรากดเข้าไปก็เหมือนกับกดยอมรับให้มิจฉาชีพเข้าถึงอุปกรณ์ของเราได้ มิจฉาชีพจะสามารถควบคุมอุปกรณ์ของเราได้ในระยะไกล แอบขโมยข้อมูลในเครื่องของเราได้ หรือบางลิงก์อาจจะเนียน ๆ ขโมยข้อมูลจากเรา หลอกให้เรากรอกข้อมูลส่วนตัว จากนั้นก็จะนำข้อมูลเหล่านั้นของเราไปใช้ในทางมิชอบ

สำหรับการเปิดบล็อกข้อความ โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ ๆ จะมีฟีเจอร์ช่วยกรอง ช่วยบล็อกข้อความสแปมได้อยู่แล้ว หรืออาจใช้แอปฯ บล็อกเบอร์มิจฉาชีพ มาช่วยกรองช่วยบล็อกอีกทางก็ได้เช่นกัน

บล็อกอีเมลสแปม-อีเมลขยะ

การก่อกวนจากมิจฉาชีพไม่ได้มีแค่ทางโทรศัพท์และข้อความ SMS แต่อีกทางคืออีเมล ซึ่งลักษณะก็จะคล้าย ๆ กับข้อความ SMS คือเป็นข้อความหลอกลวงเพื่อให้เรากดลิงก์ phishing โดยแอบอ้างว่าส่งมาจากหน่วยงานต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะอ้างชื่อหน่วยงานราชการหรือหน่วยงานเอกชนที่เป็นที่รู้จัก เล่นใหญ่ด้วยการแจ้งข้อมูลนั่นนี่ อย่างการให้เราอัปเดตข้อมูลส่วนตัวในระบบพร้อมกับแนบลิงก์มา ให้เราเข้าไปตั้งค่านั่นนี่ตามลิงก์ก่อนที่จะใช้งานระบบของหน่วยงานไม่ได้ หรือให้กรอกข้อมูลส่วนตัวต่าง ๆ เป้าหมายก็คือหลอกล่อให้เรากดลิงก์เข้าไปให้ได้นั่นเอง และเมื่อเรากดลิงก์เข้าไปแล้วก็เท่ากับว่าเรายอมรับให้มิจฉาชีพเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ของเราได้ หรือเต็มใจกรอกข้อมูลเอง

การบล็อกอีเมล ส่วนใหญ่เราไม่จำเป็นต้องทำเอง เพราะระบบของผู้ให้บริการจะมีการกรองอีเมลแปลก ๆ ไปไว้ที่โฟลเดอร์จดหมายขยะอยู่แล้ว แต่จะมีบางอีเมลที่ถูกทำให้เนียนมาก ๆ จนอาจเล็ดลอดเข้ามาที่กล่องจดหมายปกติได้ เพราะฉะนั้น ให้อ่านอีเมลอย่างมีวิจารณญาณ มีสติให้มาก อย่าเพิ่งหลงเชื่อกดลิงก์ใด ๆ เด็ดขาด หากไม่แน่ใจ ควรติดต่อสอบถามไปที่หน่วยงานนั้น ๆ โดยตรง

อย่าลืมทำลายชื่อ-ที่อยู่-เบอร์โทรศัพท์ ที่จ่าหน้าจดหมาย-พัสดุ

แหล่งข้อมูลรายชื่อเหยื่อที่ดีที่สุด จริง ๆ อาจจะเป็นสิ่งที่เราคาดไม่ถึง นั่นก็คือชื่อ-ที่อยู่-เบอร์โทรศัพท์ ที่ถูกจ่าหน้าไว้บนซองจดหมายหรือที่กล่องพัสดุนั่นเอง หลายคนแกะซองแกะกล่องเสร็จก็จับยัดลงถังขยะเลยทันที ซึ่งนั่นค่อนข้างอันตรายทีเดียวที่จะมีผู้ไม่หวังดีมานำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้ ไม่ว่าจะเป็นการแอบอ้างเป็นหน่วยงานต่าง ๆ ส่งจดหมาย/ไปรษณีย์ปลอม มาหลอกลวงให้เราทำนั่นทำนี่ โดยใช้ชื่อ-ที่อยู่ที่ได้จากถังขยะนั่นแหละ ส่วนเบอร์โทรศัพท์ก็อาจมีแก๊งมิจฉาชีพนำมาใช้โทรหลอกลวงเราได้ ถึงแม้ว่าโอกาสจะมีไม่มาก แต่ก็เป็นไปได้ที่จะมีมิจฉาชีพใช้วิธีนี้เพื่อให้มีข้อมูลของเรา เพราะฉะนั้น ให้ทำลายชื่อ-ที่อยู่-เบอร์โทรศัพท์บนซองจดหมายและกล่องพัสดุทุกครั้ง

(แถม) มีสติเสมอ

สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยให้เราปลอดภัยจากมิจฉาชีพ คือ “สติ” ไม่ว่าจะมีโทรศัพท์จากมิจฉาชีพกี่ร้อยกี่พันสายโทรมาหาเรา มีข้อความสแปมส่งหาเราทุกวัน มีอีเมลสแปมเต็มถังขยะ ก็ได้แต่ทำให้เรารำคาญหู รำคาญตา รำคาญใจเท่านั้น เพราะถ้าเรามีสติที่จะไม่ทำตามในสิ่งที่มิจฉาชีพต้องการเราก็จะปลอดภัย ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องอาศัยการติดตามอัปเดตข่าวสารเป็นประจำ รวมถึงการมีวิจารณญาณในการพิจารณาข้อมูลต่าง ๆ ว่าเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องหลอกลวงด้วย ส่วนตัวช่วยต่าง ๆ ข้างต้นเป็นเพียงวิธีที่ช่วยลดความเสี่ยงที่มิจฉาชีพจะเข้าถึงตัวเรา และลดความน่ารำคาญลงเท่านั้นเอง

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.