ททท. ยกระดับอัตลักษณ์ท้องถิ่น บูรณาการสร้างสรรค์คุณค่าใหม่ Local Co-Creation
ททท. สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าทางการท่องเที่ยวด้วยโครงการ Local Co-Creation ต่อยอดพัฒนาภูมิปัญญา รังสรรค์เมนูท้องถิ่นชูอัตลักษณ์ สู่ Fine Dining ระดับสากล
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ดำเนินโครงการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าทางการท่องเที่ยว (Local Co-Creation) ซึ่งเป็นการพัฒนาต่อยอดสร้างคุณค่า และมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าทางการท่องเที่ยวให้มีอัตลักษณ์ สามารถส่งมอบประสบการณ์ที่มีคุณค่าให้แก่นักท่องเที่ยว โดยเฉพาะอาหารและวัตถุดิบท้องถิ่นที่รวบรวมได้ และนำมาเชื่อมโยงกับมรดกทางภูมิปัญญา ขนบธรรมเนียม ประเพณี วิถีชีวิต วัฒนธรรม อันเป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่ เพื่อใช้ในการออกแบบทั้งสินค้า และบริการการท่องเที่ยวอย่างเป็นรูปธรรม
ซึ่งภายใต้โครงการนี้ เป็นการทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย เพื่อยกระดับมาตรฐาน และร่วม รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันยังช่วยกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยว และการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวนับเป็นการกระจายรายลงไปสู่เศรษฐกิจฐานรากได้อย่างยั่งยืน
นายอภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว ททท.
นายอภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว ททท. กล่าวว่า กิจกรรมภายใต้โครงการ Local Co-Creation นับเป็นหนึ่งในโมเดลในการออกแบบสินค้าและบริการท่องเที่ยวที่ประสบผลสำเร็จอย่างอย่างยิ่ง เนื่องจาก ททท. ให้ความสำคัญกับกระบวนการทำงานร่วมกับชุมชน ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่อย่างใกล้ชิดเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ตรงตามความต้องการของนักท่องเที่ยว และพันธมิตรมากที่สุด
สำหรับขั้นตอนการทำงานนั้น รองผู้ว่า ททท. อธิบายว่า เริ่มตั้งแต่การฟังความเห็นของนักท่องเที่ยว (Voice of Customer) ควบคู่ไปกับการรับฟังความเห็นของพันธมิตรในพื้นที่ที่มีผลต่อการเติบโตของชุมชน (Voice of Supply) อีกทั้งทำการศึกษาเทรนด์ตลาดการท่องเที่ยวในภาพใหญ่ทั้งระดับโลก และระดับประเทศ ต่อด้วยการนำองค์ความรู้ในด้านการสร้างสรรค์สินค้าการท่องเที่ยวถ่ายทอดสู่ชุมชน สร้างความร่วมมือ และเครือข่ายพันธมิตรทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนในจังหวัด เพื่อเข้าร่วมแสดงความคิด และร่วมพัฒนาสินค้าการท่องเที่ยวไปพร้อมกัน ก่อนที่จะเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวเชิงอาหารอย่างยั่งยืน ช่วยขมวดภาพกิจกรรมให้เป็นไปตามความต้องการของตลาด ภายใต้ทรัพยากรที่ชุมชนมี “จึงนับได้ว่าโครงการนี้ได้ทั้งสินค้าและบริการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ และเกิดการบูรณาการเพื่อพัฒนาชุมชนอย่างแท้จริง”
ตัวอย่างความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมของโครงการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าทางการท่องเที่ยว (Local Co-Creation) คือการยกระดับรูปแบบอาหารพื้นบ้านภาคอีสานจนสามารถพัฒนาสู่ระดับ Fine Dining ด้วยรสชาติ การจัดเสิร์ฟบนโต๊ะอาหารกลางวันที่ใช้รับรองคณะของ ฯพณฯ เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงมอสโก พร้อมคณะ เยือนชุมชนสาวะถี อ. เมือง ขอนแก่น เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยชุดอาหารกลางวันประกอบด้วยคานาเป้ก้อยปลาดุก ที่นำข้าวเกรียบแบบอีสานโรยหน้าด้วยก้อยปลาดุก เป็นเมนูเรียกน้ำย่อย ส่วนอาหารจานหลักเสิร์ฟเป็นปลานึ่งสมุนไพร และขนมจีนน้ำยา
นอกจากนี้ เชฟไพศาล ชีวินศิริวัฒน์ และ เชฟจิ๊บ-กัญญารัตน์ ถนอมแสง แห่งร้านแก่น ซึ่งเป็นพันธมิตรของโครงการ Local Co-Creation ได้นำวัตถุดิบพร้อมเรื่องราวจากชุมชนสาวะถี ไปนำเสนอผ่าน Casual Fine Dining โดยเฉพาะ Tasting Menu ในนาม Taste of Kaen ซึ่งนักชิมจะได้สนุกกับรสชาติอาหารที่นำเสนอผ่านแนวคิดต่าง ๆ ที่มีรากที่มาจากชุมชนท้องถิ่นได้อย่างไม่รู้เบื่อ
ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อเร็ว ๆ นี้ ในงานแถลงข่าว Krabi Wellness Festival 2024 ชุมชนท่องเที่ยวบ้านไหนหนัง ซึ่งเป็นชุมชนประมงพื้นบ้านแห่งตำบลเขาคราม อ. เมืองกระบี่ ได้จัดชุดอาหารว่าง ด้วยเมนูกระทงทอง วุ้นหนึบน้ำผึ้งมะนาวและน้ำเสาวรส ซึ่งเป็น Signature Ingredients ของชุมชน เป็นวัตถุดิบหลักในการปรุง นับเป็นอีกหนึ่งอีกผลผลิตจากโครงการ Local Co-Creation ที่สามารถเพิ่มมูลค่าของผลผลิตจนได้รับความสนใจ ในงานพิธีทั้งในระดับจังหวัดและระดับชาติ
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.