วันอาสาฬหบูชา 2567 ประวัติ กิจกรรม และความสำคัญ

วันอาสาฬหบูชา เป็นวันที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันแรกที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนาแก่ชาวโลก และเป็นวันที่พระสงฆ์เกิดขึ้นครั้งแรกในโลก โดยพระโกณฑัญญะเป็นผู้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันองค์แรก และทำให้พระรัตนตรัยครบองค์ 3 คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ 

Sanook Campus ได้รวบรวมข้อมูลประวัติของวันอาสาฬหบูชา มีที่มาอย่างไร มีความหมายอย่างไร และกิจกรรมที่นิยมทำในวันอาสาฬหบูชามีอะไรบ้าง

วันอาสาฬหบูชา 2567 ตรงกับวันที่เท่าไร

วันอาสาฬหบูชาในปี พ.ศ.2567 ตรงกับวันเสาร์ที่ 20 กรกฎาคม 2567

ประวัติวันอาสาฬหบูชา

วันอาสาฬหบูชา เป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาแก่พระปัญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี ประเทศอินเดีย หลังจากตรัสรู้ได้ 2 เดือน โดยแสดงพระธรรมที่ทรงตรัสรู้เป็นครั้งแรก ชื่อว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ซึ่งหลักธรรมของพระพุทธศาสนาทั้งหมด 84,000 พระธรรมขันธ์ ล้วนมีอยู่ในพระสูตรนี้

ปฐมเทศนา ของพระพุทธเจ้า ประกอบด้วยเนื้อหา หลักธรรม 4 ประการ ที่เรียกว่า อริยสัจจ์ 4 ประการ ได้แก่

  1. ทุกข์ คือ สภาพที่ทนได้ยาก สภาพที่ไม่เป็นสุข
  2. สมุทัย คือ เหตุแห่งทุกข์
  3. นิโรธ คือ การดับทุกข์
  4. มรรค คือ ทางไปสู่การดับทุกข์

หลักธรรมของอริยสัจจ์ 4 ประการนี้ เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ชี้ให้เห็นถึงความจริงของชีวิตและหนทางแห่งการหลุดพ้นจากทุกข์ ซึ่งเป็นหลักธรรมแสดงถึง "ทางสายกลาง" ที่เป็นหนทางดับทุกข์ได้อย่างสิ้นเชิง

ความหมายของ "วันอาสาฬหบูชา"

คำว่า "อาสาฬหบูชา" มาจากภาษาบาลี ประกอบด้วยคำว่า "อาสาฬห" แปลว่า เดือน 8 และคำว่า "บูชา" แปลว่า การบูชา ดังนั้น วันอาสาฬหบูชา จึงหมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือน 8

โดยสรุป วันอาสาฬหบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญ เดือน 8 หรือ การบูชาเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในวันเพ็ญ เดือน 8 ที่สำคัญคือ

  • เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา
  • เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเริ่มประกาศพระศาสนา
  • เป็นวันที่เกิดอริยสงฆ์ครั้งแรกคือการที่ท่านโกณฑัญญะรู้แจ้งเห็นธรรม เป็นพระโสดาบัน จัดเป็นอริยบุคคลท่านแรกในอริยสงฆ์
  • เป็นวันที่เกิดพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา คือ การที่ท่านโกณฑัญญะขอบรรพชาและ ได้บวชเป็นพระภิกษุ หลังจากฟังปฐมเทศนาและบรรลุธรรมแล้ว
  • เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงได้ปฐมสาวกคือ การที่ท่านโกณฑัญญะนั้น ได้บรรลุธรรม และบวชเป็นพระภิกษุ จึงเป็นสาวกรูปแรกของพระพุทธเจ้า

เมื่อเปรียบกับวันสำคัญอื่น ๆ ในพระพุทธศาสนา บางทีเรียก วันอาสาฬหบูชา นี้ว่า วันพระสงฆ์ (คือวันที่เริ่มเกิดมีพระสงฆ์)

ความสำคัญของวันอาสาฬหบูชา

วันอาสาฬหบูชาเป็นวันที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันแรกที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนาแก่ชาวโลก เป็นวันที่พระสงฆ์เกิดขึ้นครั้งแรกในโลก และเป็นวันที่พระรัตนตรัยครบองค์ 3 ทำให้ชาวพุทธทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับวันอาสาฬหบูชา และถือปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาต่าง ๆ ในวันอาสาฬหบูชา

กิจกรรมที่ทำในวันอาสาฬหบูชา

ชาวพุทธในประเทศไทย และทั่วโลก นิยมทำบุญในวันอาสาฬหบูชา ดังนี้

  • ตักบาตรในตอนเช้า
  • เวียนเทียนในตอนเย็น
  • ฟังพระธรรมเทศนา
  • ถวายสังฆทาน
  • ปฏิบัติธรรม

กิจกรรมที่ทำในวันอาสาฬหบูชา โดยทั่วไป คือ ทำบุญ ตักบาตร รักษาศีล เวียนเทียน ฟังพระธรรมเทศนา (ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร) และสวดมนต์ ดังนั้นในวันนี้จึงถือว่า พุทธศาสนิกชนควรได้รับประโยชน์ ที่เป็นสาระสำคัญจากอาสาฬหบูชา กล่าวคือ ควรทบทวนระลึกเตือนใจสำรวจตนว่า ชีวิตเราได้เจริญงอกงามขึ้นด้วยความเป็นอยู่อย่างผู้รู้เท่าทันโลกและชีวิตนี้บ้างแล้วเพียงใด เรายังดำเนินชีวิตอยู่อย่างลุ่มหลงมัวเมา หรือมีจิตใจอิสระปลอดโปร่งผ่องใสบ้างแล้วเพียงใด

ประโยชน์ของการเวียนเทียนในวันอาสาฬหบูชา

การเวียนเทียนในวันอาสาฬหบูชา มีประโยชน์มากมาย เช่น

  • เป็นการระลึกถึงวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา
  • เป็นการชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์
  • เป็นการเสริมสร้างศีลธรรมและจริยธรรม
  • เป็นการส่งเสริมความสามัคคีในหมู่คณะ

วันอาสาฬหบูชา เป็นวันที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในพระพุทธศาสนา เป็นวันที่ชาวพุทธควรระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า และพระธรรมที่ทรงตรัสรู้ ละเว้นการทำบาป ทำความดี และทำจิตใจให้ผ่องใส เพื่อบรรลุถึงความสุขที่แท้จริง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

  • ร่วมกิจกรรมเวียนเทียนออนไลน์ คลิกที่นี่
  • วันเข้าพรรษา 2567 ประวัติและความสำคัญ อานิสงส์แห่งการจำพรรษา
  • วันวิสาขบูชา

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.