กว่าจะเป็น “มัคคุเทศก์” ไม่ง่าย ใช่ว่าใครจะเป็นก็เป็นได้

จากประเด็นดราม่าร้อนแรงที่เป็นกระแสดังไปทั่วทุกหย่อมหญ้า กรณีของช่องยูทูบท่องเที่ยวชื่อดังและ 2 ยูทูบเบอร์ชาวเกาหลี “คัลแลน พี่จอง” ที่ถูกจุดประเด็นขึ้นมา เพราะในทริปเที่ยวคลิปชุมพร Day 3 ที่มีผู้หญิงคนหนึ่ง “อ้างว่า” ตนเองประกอบวิชาชีพมัคคุเทศก์ (ไกด์) แต่กลับประพฤติตนไม่เหมาะสมกับลูกทัวร์ ไม่เคารพความเป็นส่วนตัวของลูกทัวร์ และไม่ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับอาชีพที่ตนเองแอบอ้าง จนกลายเป็นเรื่องดราม่าใหญ่โตถึงขนาดที่ผู้ใหญ่ในหน่วยงานระดับกรมการท่องเที่ยว ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ต้องออกมาทำอะไรสักอย่างเพื่อให้ประเด็นดราม่ามันคลี่คลาย

การเคลื่อนไหวของผู้ใหญ่ระดับกรมการท่องเที่ยว ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ทำให้เห็นเลยว่าเรื่องที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ มันไม่ใช่แค่ประเด็นผิวเผินอย่างที่คนบางกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์กันแรก ๆ ว่าดราม่านี้เกิดขึ้นเพราะแฟนคลับผู้หญิงของหนุ่ม ๆ ไม่พอใจที่มัคคุเทศก์สาว (ที่ค่อนข้างหน้าตาดี) ทำตัวใกล้ชิดกับผู้ชายมีชื่อเสียงที่ตนเองติดตามอยู่ หรือสุมดราม่าเพราะอิจฉาที่ผู้หญิงคนในคลิปได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับคัลแลนพี่จอง และแสดงออกต่อกล้องที่ตามถ่ายอยู่จนเกินงาม ทว่าเรื่องมันใหญ่กว่านั้นหลายเท่า และถ้าได้ติดตามข่าวล่าสุด จะพบว่ามันบานปลายถึงขนาดที่กรมการท่องเที่ยว เตรียมเอาผิดกับบริษัททัวร์-ไกด์เถื่อน ที่เกี่ยวข้องกับดราม่าดังกล่าว

เพราะเมื่อหน่วยงานที่ทำหน้าที่ควบคุมธุรกิจทัวร์และมัคคุเทศก์อย่างกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้สืบสาวราวเรื่องจากกระแสดราม่าที่เกิดขึ้นแล้ว พบว่ามีความผิดเกิดขึ้นจริง คือ บริษัททัวร์ที่นำเที่ยวในรายการดังกล่าว ใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวหมดอายุตั้งแต่วันที่ 3 ต.ค. 2566 ซึ่งตามกฎหมาย เมื่อใบอนุญาตหมดอายุ ก็ต้องทำการต่อใบอนุญาตให้ถูกต้องก่อนถึงจะดำเนินธุรกิจต่อได้ มิเช่นนั้น สถานะก็มิได้ต่างอะไรกับบริษัททัวร์เถื่อน และที่สำคัญก็คือ ผู้หญิงที่อ้างตัวว่าทำหน้าที่มัคคุเทศก์ตามที่ปรากฏในข่าวนั้น ก็ไม่มีใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์ด้วย นี่จึงเป็นอีกประเด็นใหญ่ที่เอฟเฟกต์สะเทือนไปทั้งวงการไกด์นำเที่ยวที่จำนวนหนึ่งกำลัง “ทำผิดกฎหมาย”

ดราม่าดังกล่าวจะไม่เกิดเลย หากผู้หญิงคนที่แอบอ้างตัวว่าตนเองเป็นไกด์หรือมัคคุเทศก์ในทริปเที่ยวของช่องยูทูบตามดราม่านั้น มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ว่าไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะมาแอบอ้างตัวว่าเป็นไกด์ได้ง่าย ๆ แบบนี้ เพราะมัคคุเทศก์เป็นอาชีพที่ถูกระบุเรื่องข้อปฏิบัติและข้อห้ามในเวลาปฏิบัติงานเอาไว้อย่างชัดเจน ตามกฎหมายที่เรียกว่า พระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 ดังนั้น มัคคุเทศก์ทุกคนที่มีใบอนุญาตถูกต้อง จะต้องรู้เรื่องนี้ว่ามันเป็นความผิดร้ายแรงแค่ไหน และคงไม่มีใครจะกล้าเอาหน้าที่การงานของตนเองไปแลก ด้วยรู้ว่ามันผิดกฎหมาย เพียงเพื่อจะสนองความต้องการตนเองที่อยากใกล้ชิดลูกทัวร์คนดัง ที่ตนชื่นชอบเป็นการส่วนตัว

หากเป็นมัคคุเทศก์ตัวจริง ต่อให้ชื่นชอบลูกทัวร์คนดังเป็นการส่วนตัว แต่เรื่องส่วนตัวจะต้องถูกแยกออกอย่างเด็ดขาดกับเรื่องงาน ว่าในขณะนี้ตนเองกำลังปฏิบัตหน้าที่อยู่ และกำลังสวมหัวโขนในฐานะไกด์นำเที่ยว ที่ไม่สามารถแสดงถึง “ความไม่เป็นมืออาชีพ” ออกไปได้ แต่เมื่อพิจารณาจากพฤติกรรมของผู้หญิงคนดังกล่าวจากในคลิป จะพบว่าเธอทำเรื่องผิดจรรยาบรรณ ผิดมารยาท ผิดข้อปฏิบัติของคนที่ต้องผ่านการอบรมและการสอบ ถึงจะได้รับอนุญาตให้ประกอบอาชีพนี้ได้ “อย่างถูกกฎหมาย” โดยสิ้นเชิง เป็นตัวของตัวเองมากจนเหมือนไม่รู้มาก่อนเลยว่าอะไรที่ทำได้และอะไรที่ทำไม่ได้ ซึ่งผิดวิสัยคนเป็นมัคคุเทศก์ ที่ต้องรู้ว่าพฤติกรรมแบบนี้ไม่คุ้มที่จะแลกกับหน้าที่การงานของตัวเอง

ไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะเป็น “มัคคุเทศก์”

ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จักกันก่อน ว่าอาชีพไกด์หรือมัคคุเทศก์นี้ทำงานเกี่ยวกับอะไร มัคคุเทศก์ ไม่ใช่แค่คนที่เดินนำหน้ากลุ่มนักท่องเที่ยวเพื่อไม่ให้นักท่องเที่ยวหลงทางเวลาที่เดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ แต่คือผู้ที่ทำหน้าที่ให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวหรือสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องแก่นักท่องเที่ยว ซึ่งส่วนใหญ่ข้อมูลเหล่านั้นมักเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ ความเป็นมา ศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี ความเชื่อ วิถีชีวิต ฯลฯ

ดังนั้น ผู้ที่ประกอบอาชีพมัคคุเทศก์ จะต้องมีความรู้เกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ในระดับที่เชี่ยวชาญ มีความสามารถในการสื่อสารและถ่ายทอดข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งต้องระมัดระวังเรื่องความถูกต้องเป็นอย่างมาก เพราะการให้ข้อมูลดังกล่าวจะเปรียบเสมือนการเผยแพร่วัฒนธรรมอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ยังต้องมีความสามารถในการบริหารจัดการกลุ่มลูกทัวร์ การให้บริการด้วยใจรัก การเอื้อเฟื้อ ความกระตือรือร้น ความอดทน การเป็นผู้นำ การเป็นแบบอย่างที่ดี และที่สำคัญ คือการรักษามารยาทต่อลูกทัวร์ของตนเอง ซึ่งถือว่าเป็นการให้เกียรติทั้งลูกค้าและอาชีพของตนเอง

อย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้ ว่าไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะเป็นมัคคุเทศก์ได้ อาชีพมัคคุเทศก์หรือไกด์นำเที่ยวนี้ ไม่ใช่นึกว่าอยากเป็นก็เดินมาเป็นได้เลย หรืออยากจะอ้างตัวว่าเป็นไกด์ก็เป็นได้เลยทันที แบบคุณได้สิทธิ์นั้นเดี๋ยวนี้เหมือนพนักงานบริษัททั่วไป เพราะมันไม่ใช่แค่ความเสี่ยงเรื่องไม่มืออาชีพ เรื่องความน่าเชื่อถือ แบบปัญหาดราม่าเรื่องพฤติกรรมและมารยาทที่พึงปฏิบัติต่อลูกทัวร์แบบที่เป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่เท่านั้น แต่ความผิดร้ายแรงที่สุดที่อาจเกิดขึ้นคือ เข้าข่าย “กระทำผิดกฎหมาย” ซึ่งอาจมีทั้งโทษทางปกครองและโทษทางอาญา เลวร้ายถึงขั้นถูกเพิกถอนใบอนุญาตนำเที่ยวและใบอนุญาตประกอบอาชีพมัคคุเทศก์ หรือรับโทษจำโทษปรับตามความผิดได้เลยทีเดียว

ตามพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 มีบทบัญญัติในการควบคุมมัคคุเทศก์ ในเรื่องของคุณสมบัติและเงื่อนไขในการประกอบอาชีพมัคคุเทศก์ ประเภทของมัคคุเทศก์ การขอใบอนุญาตประกอบอาชีพมัคคุเทศก์ หน้าที่ของมัคคุเทศก์โดยละเอียด รวมถึงมีการกำหนดบทลงโทษ ทั้งทางปกครองและทางอาญา เมื่อมัคคุเทศก์กระทำความผิด

เริ่มตั้งแต่การแบ่งประเภทของมัคคุเทศก์ออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ มัคคุเทศก์ทั่วไป (มี 2 ประเภทย่อย) และมัคคุเทศก์เฉพาะ (มี 8 ประเภทย่อย) ที่จะเป็นตัวกำหนดว่าสามารถนำเที่ยวให้นักท่องเที่ยวประเภทไหนได้บ้าง นำเที่ยวสถานที่ท่องเที่ยวประเภทไหนได้บ้าง และนำเที่ยวในพื้นที่ไหนได้บ้าง ซึ่งมัคคุเทศก์แต่ละประเภทก็จะต้อง “มีใบอนุญาตการเป็นมัคคุเทศก์” ที่แตกต่างกันออกไป โดยใบอนุญาตดังกล่าวได้มาจากการยื่นคำขอเข้ารับการอบรมและทดสอบความรู้ความสามารถ เมื่อใบอนุญาตใกล้หมดอายุ (5 ปี) ก็ต้องยื่นคำขอต่อใบอนุญาตภายใน 120 วันก่อนวันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุ ต้องอบรมใหม่สอบใหม่

ส่วนเรื่องหน้าที่ของมัคคุเทศก์ ตามพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 ได้ “กำหนด” หน้าที่ของมัคคุเทศก์เอาไว้หลายข้อทีเดียวว่า “ต้องทำ” อะไรบ้าง และ “ห้ามทำ” อะไรบ้าง ทุกอย่างจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานการปฏิบัติหน้าที่ของมัคคุเทศก์ที่กฎหมายกำหนดไว้ เรื่องของการทำหน้าที่ ความประพฤติ การแต่งกายที่สุภาพเรียบร้อยตามกาลเทศะ การห้อยบัตรประจำตัวมัคคุเทศก์ตลอดเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ ต้องมีใบสั่งงาน ฯลฯ หากไม่ปฏิบัติตามที่กำหนดก็จะมีบทลงโทษ โทษทางปกครอง เป็นไปได้ตั้งแต่การพักใช้ใบอนุญาต ร้ายแรงถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาต ส่วนโทษทางอาญา จะได้รับโทษตามความผิด ดังต่อไปนี้

  1. ผู้ใดทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์ หรือทำหน้าที่มัคคุเทศก์ในระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  2. มัคคุเทศก์ผู้ใดฝ่าฝืนประกอบอาชีพมัคคุเทศก์ในเขตพื้นที่ที่คณะกรรมการประกาศกำหนดเขตพื้นที่ในท้องถิ่นหรือชุมชน ตามมาตรา 12(4) ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
  3. มัคคุเทศก์ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด หรือไม่ติดใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์ตลอดเวลาที่ทำหน้าที่มัคคุเทศก์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
  4. มัคคุเทศก์ผู้ใดฝ่าฝืนจ่ายเงินหรือให้ประโยชน์อื่นใดแก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวหรือบุคคลอื่นใด หรือยอมตนเข้ารับผิดชอบในค่าใช้จ่ายทั้งหมดหรือบางส่วนเพื่อให้ตนได้มาซึ่งการนำนักท่องเที่ยวไปท่องเที่ยว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  5. มัคคุเทศก์ผู้ใดยินยอมให้บุคคลอื่นซึ่งไม่มีใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์ทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์แทนตน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เป็นการตอกย้ำว่าปัญหาดราม่าที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ ที่ว่าแฟนคลับอิจฉาผู้หญิงที่ (อ้างว่า) เป็นไกด์ แต่มันเป็นเรื่องของข้อปฏิบัติทางวิชาชีพ และมีกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง

คุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์

พระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 มาตรา 50 กำหนดหลักเกณฑ์คุณสมบัติและเงื่อนไขในการประกอบอาชีพมัคคุเทศก์ไว้ดังต่อไปนี้

  1. มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ ในวันที่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์
  2. มีสัญชาติไทย
  3. สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่าในสาขามัคคุเทศก์หรือสาขาการท่องเที่ยวที่มีวิชาเกี่ยวกับมัคคุเทศก์ หรือสำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญาหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงในสาขามัคุเทศก์หรือสาขาการท่องเที่ยวที่มีวิชาเกี่ยวกับมัคคุเทศก์ไม่น้อยกว่าที่คณะกรรมการกำหนด หรือได้รับวุฒิบัตรว่าได้ผ่านการฝึกอบรมวิชามัคคุเทศก์ตามหลักสูตรและสถานฝึกอบรมที่คณะกรรมการกำหนด
  4. ผ่านการทดสอบความรู้ความสามารถในการเป็นมัคคุเทศก์ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

และไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

  1. เป็นโรคพิษสุราเรื้อรังหรือติดยาเสพติดให้โทษ หรือเป็นโรคติดต่อที่คณะกรรมการกำหนด
  2. เป็นผู้อยู่ในระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์ หรือใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว
  3. เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามมาตรา 46(1) (3) หรือ (4) หรือใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์ตามมาตรา 63(1) (2) (3) หรือ (4) และยังไม่พ้นกำหนด 5 ปี นับถึงวันยื่นคำขอรับใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์
  4. เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามมาตรา 46(5) หรือใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์ตามมาตรา 63(5)
  5. เคยถูกเพิกถอนทะเบียนเป็นผู้นำเที่ยวมาแล้วยังไม่ถึง 5 ปี นับถึงวันยื่นคำขอรับใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์

นอกจากนี้ ยังมีคุณสมบัติโดยทั่วไปที่คนจะเป็นมัคคุเทศก์ควรมี คือ สามารถฟัง พูด อ่าน เขียน ภาษาไทยได้เป็นอย่างดี และรักในอาชีพบริการ เนื่องจากการเป็นมัคคุเทศก์มีลักษณะการทำงานที่จะต้องศึกษาข้อมูลเรื่องการท่องเที่ยวและข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวอย่างเชี่ยวชาญ การกำหนดเส้นทาง การบริหารจัดการเวลา การติดต่อประสานงานส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่ออำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวไปตามโปรแกรมเที่ยวที่กำหนดไว้

อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างต้องทำอย่างมีจรรยาบรรณ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รับประสบการณ์ที่ดีตลอดการเดินทาง นอกจากนี้ มัคคุเทศก์ยังมีบทบาทในการแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ให้แก่นักท่องเที่ยว ซึ่งเปรียบเสมือนทูตวัฒนธรรมที่จะเผยแพร่สิ่งที่น่าสนใจในประเทศให้ประจักษ์แก่สายตาของนักท่องเที่ยว จึงต้องทำออกมาได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และปลอดภัย เพราะมัคคุเทศก์จะต้องคอยดูแล ช่วยเหลือทุกปัญหาที่เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวระหว่างการเดินทาง หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ มัคคุเทศก์จะต้องใช้ความรู้และทักษะเฉพาะด้านที่ได้รับการฝึกอบรมมาทั้งหมดให้เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพมากที่สุด เป็นสิ่งที่ยืนยันว่าไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะมาทำอาชีพได้เพียงแค่กล่าวอ้าง

สำหรับคุณสมบัติทั่ว ๆ ไปของคนที่จะมาเป็นมัคคุเทศก์ได้ ก็อย่างเช่น

  • มีความรู้และความเชี่ยวชาญทางด้านประวัติศาสตร์ของสถานที่ท่องเที่ยวนั้น ๆ และวัฒนธรรมในพื้นที่ที่ตนกำลังนำเที่ยว
  • ทักษะการสื่อสาร มัคคุเทศก์คืออีกอาชีพหนึ่งที่เป็นนักพูด นักสื่อสารข้อมูลการท่องเที่ยว รวมทั้งต้องใช้ในการประสานงานเรื่องต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องสามารถสื่อสารได้อย่างชัดเจนและเข้าใจ รวมถึงการสื่อสารในภาษาต่างประเทศ เพราะลูกทัวร์ไม่ได้มีเฉพาะคนไทยเท่านั้น
  • ทักษะด้านการบริหารจัดการอย่างรอบคอบ การทำทัวร์ต้องมีการวางแผนโปรแกรมเที่ยว ทัวร์ 1 วันต้องบริหารเวลาในการเข้าชมสถานที่ต่าง ๆ ให้เหมาะสม การบริหารทรัพยากรที่มี และที่สำคัญ ต้องบริหารจัดการคนเป็น เพราะมัคคุเทศก์ต้องเจอนักท่องเที่ยวหลากหลายรูปแบบ
  • ช่างสังเกต มีไหวพริบ มีความยืดหยุ่น และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพราะการจัดทัวร์มีผู้คนจำนวนมากเข้าร่วม รวมถึงต้องประสานงานหลายส่วน เมื่อมีเหตุการณ์ที่ไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ก็ต้องปรับเปลี่ยนโปรแกรมเที่ยวได้ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ตามปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึงให้คำแนะนำและช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้น
  • มีใจรักการเดินทาง ออกแบบโปรแกรมเที่ยวได้อย่างน่าสนใจ การนำทางที่ง่าย สะดวก ถูกต้อง ไม่ซับซ้อน และรักษาความปลอดภัยให้แก่ลูกทัวร์
  • มีความอดทนต่อแรงกดดันได้ดี การทำทัวร์อาจเกิดปัญหาที่ไม่คาดฝันได้เสมอ ต้องทำงานร่วมกับคนร้อยพ่อพันแม่ และสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันไป สิ่งเหล่านี้ต้องใช้ความอดทนเป็นอย่างมาก เพื่อตอบสนองกความต้องการให้กับทุกคนในทัวร์ได้อย่างไร้ปัญหา
  • ทักษะความเป็นผู้นำ สามารถเป็นตัวอย่างที่ดี สร้างความประทับใจให้กับลูกทัวร์ได้ ดูแลลูกทัวร์ดี
  • มีความเสียสละ มีใจรักงานบริการ
  • ซื่อตรง ซื่อสัตย์ ตรงต่อเวลา ยึดมั่นในจรรยาบรรณของวิชาชีพ
  • มีทัศนคติเชิงบวก บุคลิกภาพดี มีมนุษยสัมพันธ์ดี มีความมั่นใจในตนเอง
  • ใฝ่รู้ ขวนขวายหาความรู้อยู่เสมอ เพราะการนำเที่ยวมักมีข้อมูลใหม่ที่ต้องอัปเดตอยู่เสมอ

ทำไมจะเป็นมัคคุเทศก์ ต้องสอบใบอนุญาต!

เพื่อให้การประกอบอาชีพไกด์หรือมัคคุเทศก์เป็นไปอย่างมีมาตรฐาน ผู้ที่ต้องการประกอบอาชีพนี้จึงต้องเข้ารับการสอบมัคคุเทศก์หรือสอบใบอนุญาตมัคคุเทศก์ เพื่อให้ได้รับใบอนุญาตมัคคุเทศก์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย จึงต้องย้ำอีกครั้งว่าการจะเป็นไกด์นั้นไม่ใช่ใครจะเป็นได้

ดังนั้น มัคคุเทศก์เป็นอาชีพหนึ่งที่ต้อง “มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ” ซึ่งการจะได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพมาก็ต้องผ่านการสอบด้วย เพราะมัคคุเทศก์เป็นมากกว่าแค่ผู้นำเที่ยว แต่ยังเป็นทูตวัฒนธรรมที่ถ่ายทอดเรื่องราว แนะนำ บอกเล่า นำพานักท่องเที่ยวให้คล้อยตามไปกับชีวิตและจิตวิญญาณแห่งสถานที่นั้น ๆ รวมถึงดูแลองค์ประกอบทุกอย่างตลอดการเดินทางให้ราบรื่น ทั้งความรู้ ความเป็นระเบียบเรียบร้อย และความบันเทิง

เพราะการเป็นมัคคุเทศก์หรือไกด์นำเที่ยวนั้นจะต้องมีคุณสมบัติต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้น เพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถทำหน้าที่ “ทูตวัฒนธรรม” แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว แนะนำสิ่งที่น่าสนใจ และสามารถดูแลลูกทัวร์ให้เกิดความประทับใจได้ ซึ่งเป็นอาชีพที่ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ ต้องมีความรู้และมีทักษะเฉพาะด้านในการทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ จึงจำเป็นต้องผ่านการทดสอบความรู้ความสามารถในการเป็นมัคคุเทศก์ แล้วจึงจะได้รับ “ใบอนุญาตการเป็นมัคคุเทศก์” ที่แสดงให้เห็นว่าเป็นผู้ที่สามารถปฏิบัติหน้าที่มัคคุเทศก์ได้จริง

การสอบใบอนุญาตมัคคุเทศก์ จะประกอบไปด้วย 2 หมวดหลัก ๆ ได้แก่

  • หมวดความรู้ทั่วไปสำหรับอาชีพมัคคุเทศก์ สัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 70 ของข้อสอบทั้งหมด โดยจะมีทั้งส่วนที่เป็นความรู้เชิงวิชาการและความรู้ด้านทักษะอาชีพ
  • หมวดวัดความรู้ด้านภาษาต่างประเทศ สัดส่วนประมาณร้อยละ 30 ของข้อสอบทั้งหมด โดยผู้สอบจะต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 จึงจะถือว่าผ่านการทดสอบ

ทัวร์เถื่อน ไกด์เถื่อน คืออะไร

ด้วยความที่ “มัคคุเทศก์” เป็นอาชีพหนึ่งที่มีกฎหมายบังคับเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจน การกระทำที่ขัดต่อตัวบทกฎหมายจะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เข้าข่าย “ทัวร์เถื่อน” หรือ “ไกด์เถื่อน”

ตามพระราชบัญญัติธุรกิจนําเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 กำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะเป็นมัคคุเทศก์ ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์จากนายทะเบียน ทั้งนี้ ผู้ใดทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์โดยไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นมัคคุเทศก์ (ไกด์เถื่อน) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผู้ใดประกอบธุรกิจนำเที่ยวโดยไม่ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามมาตรา 15 หรือประกอบธุรกิจนำเที่ยวในระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาต อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 45 วรรคสอง (ทัวร์เถื่อน) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อย่างไรก็ตาม คุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์ที่สำคัญประการหนึ่งคือ ผู้นั้นต้องมีสัญชาติไทย โดยตามกฎหมายเกี่ยวกับการทำงานของคนต่างด้าวในประเทศไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มัคคุเทศก์ถือเป็นอาชีพหนึ่งที่ “ห้าม” คนต่างด้าวทำโดยเด็ดขาด เหตุผลก็คือ อาชีพมัคคุเทศก์มีหน้าที่สำคัญในการนำเสนอสิ่งที่ดีงามทางประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ โบราณคดี ศาสนา ตลอดจนศิลปะ และวัฒนธรรมแห่งชาติของคนไทย จึงถูกสงวนไว้ให้เป็นอาชีพของคนไทยเท่านั้น

รวมถึงการที่คนต่างด้าวไม่ได้จบการศึกษาในสาขามัคคุเทศก์หรือสาขาการท่องเที่ยว รวมถึงไม่ได้ผ่านการทดสอบความรู้ความสามารถในการเป็นมัคคุเทศก์ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการประกาศกำหนด จึงอาจเกิดปัญหาให้ข้อมูลของสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ผิดพลาดหรือไม่ถูกต้อง และอีกเหตุผลก็คือ ความเสี่ยงที่จะก่ออาชญากรรมต่อนักท่องเที่ยว เพราะมัคคุเทศก์ต่างด้าวไม่มีใบอนุญาต ไม่มีข้อมูลหลักฐานต่าง ๆ เมื่อเกิดปัญหาอาชญากรรม ก็จะไม่สามารถหาตัวผู้กระทำผิดได้ หากฝ่าฝืน ก็จะเข้าข่ายเป็นไกด์เถื่อนด้วยเช่นกัน

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.