ปิดตำนานหนังสือพิมพ์สยามกีฬารายวัน ขาดทุนอ่วม เตรียมลุยออนไลน์เต็มตัว

สำหรับสื่อสิงพิมพ์ทุกคนทราบกันดีอยู่แล้วว่าปัจจุบันเป็นสื่อที่รอวันปิดตัว หลายสื่อที่ยืนหยัดอยู่คือการประคองตัวและรอวันปิดเท่านั้น สยามกีฬาก็เช่นกัน ก่อนหน้านี้ก็พยายามประคองตัวลดต้นทุน รวมหัวจากสยามกีฬาสตาร์ ซอคเกอร์ ไปรวมกับสยามกีฬารายวัน

แต่สุดท้ายก็ต้านทานการขาดทุนสะสมต่อเนื่องไม่ไหว บมจ.สยามสปอร์ต ซินดิเคท เจ้าของหนังสือพิมพ์กีฬาชื่อดัง สยามกีฬา, สปอร์ตพูล, ตลาดลูกหนัง  แจ้งหยุดพิมพ์หนังสือพิมพ์รายวันในเครือทั้ง 3 ฉบับ และตีพิมพ์ฉบับที่ออกในวันที่ 31 สิงหาคม 2566เป็นวันสุดท้าย

ถือเป็นการปิดตำนาน 38 ปี “สยามกีฬารายวัน” หนังสือพิมพ์กีฬายักษ์ใหญ่ของเมืองไทย ที่วางแผงครั้งแรกวันที่ 8 มีนาคม 2528

คำแถลงของนายใหญ่อาณาจักรสยามกีฬา

นายระวิ โหลทอง ประธานผู้ก่อตั้ง เปิดเผยเกี่ยวกับธุรกิจหนังสือพิมพ์รายวัน ในเครือสยามสปอร์ต ออกมาพูดถึงการปิดตัวสื่อหนังสือพิมพ์ แต่ สยามสปอร์ตยังคงดำเนินธุรกิจสื่อกีฬาต่อไปอย่างแน่นอน

"ทางสยามสปอร์ตยังคงดำเนินธุรกิจสื่อกีฬาต่อไปอย่างแน่นอน เพียงแต่แค่ยุติการผลิตหนังสือพิมพ์กีฬารายวัน ทั้งสยามกีฬา-สตาร์ซอคเก้อร์ รายวัน, สปอร์ตพูล รายวัน และตลาดลูกหนัง รายวัน จะวางแผงฉบับหัวหนังสือวันที่ 31 สิงหาคม 2566 เป็นวันสุดท้าย"

"ในช่วงประมาณสิบปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงของการเสพสื่อของคนทั่วไปได้หันไปเสพสื่อทางออนไลน์มากกว่าสื่อสิ่งพิมพ์ ทำให้หนังสือพิมพ์รายวัน ที่มีต้นทุนการผลิตสูง ทั่วโลกสื่อสิ่งพิมพ์รายวันค่อยๆ ปิดตัวไปเรื่อยๆ แต่ทางสยามสปอร์ตก็พยายามประคับประคองหนังสือพิมพ์รายวันของเราเอาไว้ให้ถึงที่สุด แม้จะต้องขาดทุนกับการแบกภาระต้นทุน ทั้งค่ากอง บก. ที่เรามีส่งผู้สื่อข่าวไปประจำสำนักงานต่างประเทศที่อังกฤษ ตระเวนทำข่าวการแข่งขัน แมตช์สำคัญของโลกมายาวนานหลายสิบปี ส่งผู้สื่อข่าวไปทุกสนามแข่งขันกีฬาทั่วประเทศ ค่าพนักงานคอมพิวต์ ปรู๊ฟ บัญชี การเงิน ฝ่ายบุคคล ค่ากระดาษ ค่าแท่นพิมพ์ ค่าสายส่งจัดจำหน่าย จิปาถะ"

"ทางเราเองรายได้ส่วนใหญ่มาจากการขายหนังสือ ได้แฟนหนังสือจำนวนไม่น้อยคอยอุดหนุนซื้อหนังสือ แต่เนื่องจากสื่อกีฬารายวัน หาสปอนเซอร์สนับสนุนไม่ได้ง่ายเหมือนหนังสือพิมพ์รายวันอื่นๆ ทั่วไป ที่ยังพอมีกลุ่มการเมือง หรือกลุ่มธุรกิจบ้างมาช่วยสนับสนุน พอเกิดเหตุการณ์ร้านขายหนังสือทยอยกันปิดตัวจำนวนมาก จนเหลือแผงขายหนังสือทั่วประเทศไม่กี่เจ้า ทั้งนี้ก็ต้องขอบคุณ คุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ผู้บริหารใหญ่ 7-11 ที่ช่วยอนุเคราะห์ช่องทางการวางขายหนังสือใน 7-11 ด้วย แต่อย่างไรก็ตามในเมื่อช่องทางการขายหนังสือลดลง ผู้อ่านหาซื้อหนังสือพิมพ์ลำบาก ทำให้ทางเราไม่อาจทนแบกภาระการขาดทุนหนังสือพิมพ์ที่ตกราวเดือนละ 3.5 ล้านบาทไหว จึงจำเป็นต้องยุติหนังสือพิมพ์รายวันไว้แค่นี้"

ส่วนผลประกอบการ บมจ.สยามสปอร์ต ซินดิเคท ที่แจ้งกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า “ขาดทุน” ต่อเนื่อง

– ปี 2561 รายได้ 696 ล้านบาท ขาดทุน 146,233,035 ล้านบาท

– ปี 2562 รายได้ 516 ล้านบาท ขาดทุน 217,781,877 ล้านบาท

– ปี 2563 รายได้ 413 ล้านบาท ขาดทุน 187,878,244 ล้านบาท

– ปี 2564 รายได้ 427 ล้านบาท ขาดทุน 307,062,260 ล้านบาท

– ปี 2565 รายได้ 326 ล้านบาท ขาดทุน 354,792,538 ล้านบาท

เฉพาะ 5 ปีหลัง พวกเขาขาดทุนยับเยินกว่า 1.2 พันล้านบาท

ที่ผ่านมาหนังสือพิมพ์สยามกีฬา สตาร์ซอคเกอร์คือแรงบันดาลใจของเด็กชายหลายคนที่ชื่นชอบกีฬา และบ้าฟุตบอลต่างประเทศ หลายคนได้ความรู้เรื่องกีฬาและรู้จักการออกดเสียงนักฟุตบอลและทีมฟุตบอลต่างๆก็มาจากสยามกีฬาที่ทุกคนลงยอมรับว่าเป็น "ตักศิลา" แห่งวงการกีฬา ด้วยความเปลี่ยนแปลง เข้ามาทำให้โลกสื่อสิ่งพิมพ์ต้องล้มหายไป และสยามกีฬาคืออีกหนึ่งสื่อสิ่งพิมพ์ที่ทานไม่ไหวและ ปิดตำนาน 38 ปี หนังสือพิมพ์อย่างเลี่ยงไม่ได้

ส่วนอนาคตของสยามกีฬาจากนี้ไปจะมุ่งเน้นเนื้อหาต่างๆไปลงในสื่อออนไลน์เต็มตัว รวมถึงจัดอีเวนต์กีฬา และอีเวนต์อื่นๆ ทั่วไป รวมถึงการจัดทัวร์ดูกีฬาต่างประเทศ และทัวร์ท่องเที่ยวทั่วไป

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.