วิกฤติสังคมไทย คนยุคใหม่ขาด "ทักษะทุนชีวิต"

วิกฤติสังคมไทย พบรายงานเยาวชนและประชากรวัยแรงงานยุคใหม่ขาด "ทักษะทุนชีวิต"

เมื่อก่อนนี้ เวลาเราพูดถึงความฉลาดใครสักคน กรอบคิดก็มีแค่ระดับเชาวน์ปัญญา หรือ ไอคิว (Intelligence Quotient - I.Q.) เป็นศักยภาพทางสมองที่ติดตัวมาแต่กำเนิด เปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขไม่ได้ และสามารถวัดออกมาเป็นค่าสัดส่วนตัวเลขที่แน่นอนได้ เราเคยเชื่อว่าไอคิว คือปัจจัยหลักที่ทำให้ประสบความสำเร็จ ทั้งในแง่การงานและการมีชีวิตที่มีความสุข

ต่อมา มีการเรียนรู้เพิ่มว่าการที่ชีวิตจะมีความสุขไม่ใช่เรื่องไอคิวซะแล้ว คนฉลาดที่ทำงานจนร่ำรวยมากมายเป็นลูกค้าของหมอจิตเวช

ในปี 1999 ปีเตอร์ ซาโลเวย์ และจอห์น ดี. เมเยอร์ สองนักจิตวิทยาอเมริกัน นำแนวคิดเรื่องนี้ขึ้นมาอีกครั้งหลังจากทำวิจัยมาพักใหญ่ เกิดคำศัพท์ใหม่ที่เรารู้จักกันดีว่า “อีคิว” (Emotional Quotient – E.Q.) หมายถึง ความฉลาดทางอารมณ์ ซึ่งเน้นการควบคุมอารมณ์ตนเองและการมีปฏิสัมพันธ์กับสังคม ในเวลาต่อมา แดเนียล โกลแมน นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ขยายแนวคิดนี้โดยเขียนหนังสือเรื่อง “ความฉลาดทางอารมณ์” (Emotional Intelligence) หลังจากนั้น ทั่วโลกยอมรับว่าอีคิวเป็นส่วนสำคัญที่มีผลต่อความสำเร็จและความสุขในชีวิต

แปลว่าถ้าอยากมีชีวิตที่เป็นความสุข ไม่จำเป็นต้องเกิดมาฉลาดล้ำ แต่ขอให้รู้จักควบคุมความคิดความอ่านเป็น ไม่เป็นคนหัวร้อน วู่วาม ลดการเห็นแก่ตัว เห็นอกเห็นใจคนอื่นเขาบ้าง สรุปคือ I.Q. เป็นเรื่องของยีน แต่ E.Q. นั้นสร้างได้

แต่พอมาถึงยุคโซเชียลมีเดีย การที่เด็กคนหนึ่งจะมีแค่ E.Q. ที่ดีก็ไม่พอเสียแล้ว การสร้างเด็กให้อยู่รอดในโลกยุคใหม่ต้องใส่สิ่งที่เรียกว่า “ทักษะทุนชีวิต” (Foundational Skills)

รายงานธนาคารโลก และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา บอกว่า เวลานี้ไทยเผชิญวิกฤติเยาวชนและประชากรวัยแรงงานขาดแคลนทักษะ หรือมีทักษะทุนชีวิตต่ำกว่าเกณฑ์ (Threshold Level) ในสัดส่วนที่สูง และจากวิกฤตินี้ คาดว่าจะสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงถึง 3.3 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 20.1 ของจีดีพี

องค์ประกอบของทักษะทุนชีวิต แบ่งออกเป็น 3 ด้าน คือการรู้หนังสือ (Reading Literacy) ทักษะดิจิทัล (Digital Skills) และทักษะทางอารมณ์และสังคม (Socio-Emotional Skills) อันหลังนี้แต่เดิมคือ E.Q. นั่นเอง

ในโลกอนาคต Foundational Skills จะเป็นทักษะที่เชื่อมโยงกับการทำงานในทุกสาขาอาชีพ และใช้ได้กับทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิต

เยาวชนและประชากรวัยแรงงานในประเทศไทยจำนวน 2 ใน 3 มีทักษะทุนชีวิตด้าน “การรู้หนังสือ” ต่ำกว่าเกณฑ์ (เรายังอ่านหนังสือวันละ 8 บรรทัดอยู่เลย) กลุ่มคนเหล่านี้ไม่สามารถอ่านและเข้าใจข้อความสั้น ๆ เพื่อแก้ปัญหาง่าย ๆ เช่น การทำตามฉลากยา

จำนวน 3 ใน 4 ของเยาวชนและประชากรวัยแรงงานมีทักษะ “ด้านดิจิทัล” ต่ำกว่าเกณฑ์ ประสบปัญหาในการใช้อุปกรณ์ชี้ตำแหน่ง เช่น เมาส์ แป้นพิมพ์ บนคอมพิวเตอร์พกพา และไม่สามารถทำงานง่าย ๆ เช่น การค้นหาราคาที่ถูกต้องของสินค้าจากเว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ได้

จำนวนร้อยละ 30.3 ของเยาวชนและประชากรวัยแรงงานมีทักษะทุนชีวิตทาง “อารมณ์และสังคม” ต่ำกว่าเกณฑ์ หมายความว่ากลุ่มคนเหล่านี้ไม่มีแนวโน้มริเริ่มเพื่อสังคม ไม่มีความกระตือรือร้น และขาดจินตนาการ

ทั้งหมดที่ว่ามานี้ เป็นทักษะที่เราหามาเติมให้เด็กๆ ได้ เพราะมันไม่ใช่เรื่องไอคิว เป็นเรื่องการของระบบการศึกษา เป็นการสร้างนวัตกรรมด้านการศึกษาซึ่งรวมถึงครูผู้สอนด้วย

บทความโดย
พรวิไล คารร์
นักกระบวนกรชุมชน นักเขียนอิสระ

 

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.