เรื่องน่ารู้สำหรับสาวก ‘ก๋วยเตี๋ยว’ กินบ่อยเกินไปเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพ

อาหารที่มักถูกเสนอชื่อมาตอนคิดไม่ออกนอกจากกะเพราก็น่าจะเป็นก๋วยเตี๋ยวนี่แหละ ด้วยความที่หากินได้ง่ายและเป็นอาหารโปรดของหลาย ๆ คน โดยเฉพาะสาวกก๋วยเตี๋ยวที่เรียกได้ว่ากินทุกมื้อ! ร่างกายขาดก๋วยเตี๋ยวไม่ได้ บอกไว้ก่อนว่ากินบ่อย ๆ ก็มีข้อเสียเหมือนกันนะ

สารในก๋วยเตี๋ยวที่พึงระวัง

ก๋วยเตี๋ยวอาหารแสนอร่อยของพวกเรา เบื้องหลังความอร่อยก็มีส่วนผสมของสารที่เรามองไม่เห็นและไม่ได้ระมัดระวังอย่าง สารกันบูด

สารกันบูด คือ วัตถุเจือปนอาหารที่ใช้ถนอมอาหารและยืดอายุในการเก็บรักษา ซึ่งหากรับประทานอาหารที่เจือปนสารกันบูดในปริมาณมาก อาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ อาเจียน ท้องเสีย หรือหมดสติได้

ด้วยความที่เส้นก๋วยเตี๋ยวส่วนใหญ่นั้นทำขึ้นมาจากแป้งข้าวเจ้า มีความชื้นสูง เก็บไว้ได้เพียง 2 – 3 วัน ดังนั้นจึงต้องใส่สารกันบูดไว้ กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดปริมาณที่สามารถใช้ได้ในเส้นก๋วยเตี๋ยวต่าง ๆ อยู่ที่ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และหากใส่เกินปริมาณที่กำหนดไว้จะต้องมีผลตามกฎหมาย แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังคงพบว่าปริมาณสารกันบูดอย่างกรดเบนโซอิกในเส้นก๋วยเตี๋ยวมีปริมาณตั้งแต่ 1,000 – 18,000 มิลลิกรัม

โดยสามารถเรียงปริมาณสารกันบูดในเส้นก๋วยเตี๋ยวจากมากไปน้อยได้ ดังนี้

เส้นเล็ก > เส้นหมี่ > เส้นใหญ่ > เส้นบะหมี่ > วุ้นเส้น

โดยพบว่าในเส้นบะหมี่และวุ้นเส้นนั้นไม่พบปริมาณสารกันบูด หรือพบในปริมาณที่ไม่เป็นอันตรายหากทานติดต่อกัน แต่ทั้งนี้ในเส้นบะหมี่เอง ก็ยังคงมีสีสังเคราะห์ที่ทำให้การคงอยู่ไว้ของสีเส้น วิธีสังเกตคือหากเส้นก๋วยเตี๋ยวที่เหนียวผิดปกติ กัดขาดจากกันยาก นำลงลวกแล้วน้ำขุ่น สีสดเกินจริง ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ฟันธงได้เลยว่าใส่สารสังเคราะห์แน่นอน

*ไม่เป็นอันตรายในทันที แต่หากสะสมในปริมาณมากเกินไปอาจส่งผลต่อร่างกายในอนาคต*

ถั่วลิสงและพริกป่นเองก็มีโอกาสพบเจอสารอะฟลาท็อกซิน ซึ่งเป็นสารพิษที่เกิดจากเชื้อรา หรือแม้แต่ ลูกชิ้นเด้ง ที่อยู่ในก๋วยเตี๋ยวก็อาจซ่อนสารบอแร็กซ์ไว้เช่นกัน หากรับในปริมาณมาก ๆ อาจส่งผลต่อร่างกาย เช่น ผมร่วง มีอาการคลื่นไส้ ท้องเสีย เป็นต้น หรือแม้แต่หม้อต้มก๋วยเตี๋ยวเอง ก็มีอันตรายของสารตะกั่ว ทางที่ดีควรสังเกตร้านที่ใช้หม้อที่มีรอยต่อเป็นแนวตะเข็บเรียบร้อยไม่ขรุขระ และมีตรามาตรฐานมอก.การันตี หรืออย่างหมึกกรอบในเย็นตาโฟก็มีการปนเปื้อนของสารฟอร์มาลีนนะ เลือกร้านดีมีชัยไปกว่าครึ่ง

อันตรายหากรับปริมาณสารต่าง ๆ มากเกินไป

อย่าพึ่งตกใจหรือกลัวก๋วยเตี๋ยวกันไปก่อน เพราะการทานต่อครั้งไม่ได้ส่งผลทันที อีกทั้งร่างกายยังคงขับสารบางอย่างออกมาได้ แต่หาก*รับในปริมาณที่มากเกินไปสะสมเป็นเวลานาน*ถึงจะส่งผล ซึ่งอาการส่วนใหญ่จะเป็นดังนี้

  • วิงเวียนหรือปวดศีรษะ
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร
  • ท้องเสีย
  • เป็นโรคที่เกิดจากอาหาร เช่น อาหารเป็นพิษ เป็นต้น
  • มีปัญหาเกี่ยวกับตับและไต เช่น มะเร็งตับ
  • เป็นภาวะเมทฮีโมโกลบินนีเมีย (Methemoglobinemia) ที่อาจทำให้มีอาการคลื่นไส้ หายใจไม่ออก ตัวเขียว เป็นลม และหมดสติ ซึ่งอันตรายมากหากเกิดในเด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีภาวะซีด หรือผู้ที่เป็นโรคเลือด
  • หากร่างกายได้รับสารบอแรกซ์ในปริมาณ 5-15 กรัม ก็อาจทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้

อาการเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้หากรับในปริมาณที่มากเกินความจำเป็น ดังนั้นควรเลือกร้านที่ปลอดภัยต่อการรับประทาน หรือหลีกเลี่ยงการทานที่บ่อยเกินไปเพื่อลดความเสี่ยงในการสะสมสารเคมีต่าง ๆ ในอาหารได้

แต่ใช่ว่าทุกร้านจะอันตรายไปซะหมด อย่าพึ่งงดรับประทานก๋วยเตี๋ยวกันไปเพราะรสชาติความอร่อยก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิตของเหล่าสาวกกันต่อ แต่สุดท้ายควรเลือกรับประทานอาหารให้หลากหลายในปริมาณที่พอเหมาะ เพื่อลดความเสี่ยงในการรับสารเคมีต่าง ๆ และส่งผลดีต่อสุขภาพในระยะยาวอีกด้วย

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.