ผู้หญิงบนบัลลังก์ตุลาการ
เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ถูกสืบต่อกันมา มีเฉพาะแต่ผู้ชายเท่านั้นที่จะเรียนวิชากฎหมายได้ แม้จะมีการเรียนการสอนวิชากฎหมายสมัยใหม่ ในปี พ.ศ. 2440 (ร.ศ. 116)ธรรมเนียมนี้ก็ยังถูกสงวนรักษาไว้ จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2471 โรงเรียนกฎหมายได้รับ นางสาวแร่ม พรหโมบล เข้ามาเป็นนักเรียน ‘หญิง’ คนแรก
บทความ ‘สิทธิสตรีไทย จากวันวาน…ถึงวันนี้’ ได้บันทึกถึงเหตุการณ์วันที่นางสาวแร่ม ได้รับอนุญาตให้เข้าเรียนกฎหมายไว้ว่า
“วันนั้น ดิฉันใส่เสื้อคอปิดมิดชิด นุ่งผ้าซิ่นยาว ยืนอยู่หน้าห้องด้วยความหวั่นเกรง แต่ก็สูดหายใจเข้าแรง เตรียมตัวให้กล้า ประตูสมัยก่อนเปิดกว้าง แต่มีม่านเป็นไม้เปิดปิดกั้นบังตา การเข้าออกก็เพียงแต่ผลัก เมื่อท่านเสนาบดีเอ่ยปากส่งเสียงให้เข้ามาได้ ดิฉันไม่ได้ผลักม่านไม้นั้นแล้วเดินเข้าไป แต่ดิฉันก้มลอดใต้ม่านแล้วก็คลานคุกเข่าเข้าไปนั่งพับเพียบกับพื้นที่อยู่หน้าโต๊ะท่าน พร้อมกับกราบลงกับพื้น เมื่อท่านถามความประสงค์ที่มาพบ ก็กราบเรียนว่า อยากจะขอเข้าเรียนกฎหมาย และได้เอ่ยชื่อบิดาและการเรียนจบชั้นมัธยมให้ท่านทราบ รอสักพักใหญ่ แต่รู้สึกเหมือนนานมาก ท่านก็พยักหน้าพร้อมกับบอกว่า อนุญาตให้เข้าเรียนได้ จำได้ว่าดีใจจนแทบร้องได้ ก้มลงกราบขอบพระคุณท่าน แล้วก็คลานลอดใต้ประตูม่านไม้นั้นออกมาเหมือนตอนเข้าไป”
มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า การที่นางสาวแร่มซึ่งเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับอนุญาตให้เข้าเรียนวิชากฎหมาย เป็นเพราะว่ากิริยามารยาทที่งดงาม สร้างความเอ็นดูแก่เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมในสมัยนั้น ขณะที่งานศึกษาบางชิ้นก็มองว่า นางสาวแร่มเข้าเรียนได้ด้วยบรรดาศักดิ์ของบิดา
นางสาวแร่ม พรหโมบล เนติบัณฑิตหญิงคนแรก
อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ. 2473 นางสาวแร่ม พรหโมบล สำเร็จการศึกษาเป็นเนติบัณฑิตหญิงคนแรก และในเวลาต่อมาก็มีเนติบัณฑิตหญิงอีก 2 คน ได้แก่ นางสาวศิริ จูตี๋รัตน์ (ศิริ ปทุมรศ) และ นางสาวสุนทร ประเสริฐพงษ์ ซึ่งนับเป็นนักเรียนกฎหมายหญิงเพียง 3 คนในสมัยการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
ทั้งนี้ เมื่อเข้าสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่บรรยากาศของความเท่าเทียม ความเสมอภาคเข้มข้นขึ้น โรงเรียนกฎหมายถูกโอนเข้ามาอยู่ในการจัดการของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง และมีการเปิดรับผู้เรียนทั้งหญิง-ชายอย่างเสมอภาค กระนั้นก็ตาม จำนวนของนักเรียนผู้หญิงก็ยังคงเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่า
ความเป็นคู่ตรงข้ามและข้อจำกัดของการเป็นผู้พิพากษาหญิง
แม้ว่าโรงเรียนกฎหมายจะเปิดรับ ‘นักเรียนหญิง’ อย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2477 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม เส้นทางการเป็น ‘ผู้พิพากษาหญิง’ นั้นก็เต็มไปด้วยข้อจำกัด ผู้หญิงที่จบจากโรงเรียนกฎหมายไม่สามารถจะเป็นผู้พิพากษาหรืออัยการได้ นางสาวแร่มจึงต้องไปสมัครเป็นทนายความ แม้จะอยากสอบเป็นผู้พิพากษาก็ตาม
พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ เป็นกฎหมายที่กำหนดถึงคุณสมบัติผู้มีสิทธิสอบเป็นผู้พิพากษา ได้วางกฎเกณฑ์ไว้ว่า ผู้มีสิทธิสอบจะต้องเป็นเพศชายเท่านั้น ซึ่งการกำหนดคุณสมบัติเรื่องเพศสำหรับตำแหน่งผู้พิพากษานี้ สะท้อนถึงการมองความแตกต่างในคุณลักษณะชายหญิง ดังที่ความรู้เรื่องเพศในยุคหนึ่ง (ที่อาจยังมีอิทธิพลจนทุกวันนี้) อธิบายว่า ชายและหญิงมีความแตกต่างกัน โดยชายนั้นเป็นเพศที่สัมพันธ์กับเหตุผล การเป็นผู้นำ ขณะที่หญิงเป็นเพศที่สัมพันธ์กับอารมณ์ความรู้สึก การเป็นผู้ตามหรือผู้ดูแล
ด้วยเหตุนี้ ระเบียบต่างๆ จึงไม่ได้คิดถึงการดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาของผู้หญิง เพราะระบบกฎหมายนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นเหตุเป็นผล และงานตุลาการเป็นงานที่ต้องใช้ความเด็ดขาด เด็ดเดี่ยวในการตัดสินคดี อีกทั้งยังต้องย้ายไปหัวเมืองต่างๆ ซึ่งก็อาจไม่เหมาะกับผู้หญิงซึ่งเป็นเพศที่สัมพันธ์กับการใช้อารมณ์ความรู้สึก และเป็นผู้ดูแลบุตรเป็นหลัก
ผู้พิพากษาหญิง ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่องเด็กและครอบครัว (?)
ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เมื่อมีการตราพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการตุลาการ พ.ศ. 2497 ที่คลายข้อกำหนดคุณสมบัติเรื่องเพศ ทำให้ในปี พ.ศ. 2502 กระทรวงยุติธรรมได้ออกกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2502) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ พ.ศ. 2497 ที่กำหนดให้ผู้หญิงสามารถเป็นผู้พิพากษาได้เฉพาะในศาลคดีเด็กและเยาวชน
และกว่าที่จะมีผู้พิพากษาหญิงจริงๆ ก็หลังจากที่กฎกระทรวงฉบับนี้ประกาศใช้ต่อมาอีก 6 ปี ในปี พ.ศ. 2508 นางชลอจิต จิตตรุทธะ สอบได้เป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา และถือเป็นผู้พิพากษาหญิงคนแรกของประเทศ
ภาพของชะลอจิตต์ จิตรุทธะ ในคู่มือแม่บ้านทางวิทยุและโทรทัศน์ ฉบับที่ 60 ปีที่ 5 เดือนกรกฎาคม พศ 2509 ใน ภาพิมล อิงควระ, ปริญญานิพนธ์เรื่อง “ความเปลี่ยนแปลงในอาชีพผู้พิพากษาสตรีในสังคมไทย พ.ศ. 2497-2563”
คำถามที่น่าสนใจคือว่า ทั้งที่งานตุลาการนั้น เป็นตำแหน่งที่โดยลักษณะ ปริมาณ และคุณภาพของงานไม่เหมาะกับผู้หญิง แต่เพราะเหตุใดผู้หญิงถึงสามารถไปเป็นผู้พิพากษาในศาลคดีเด็กและเยาวชนได้?
เมื่อพิจารณาถึงเจตนารมณ์ของศาลคดีเด็กและเยาวชน จะพบว่า ศาลนี้ถูกตั้งขึ้นเพื่อให้มีวิธีพิจารณาคดีสำหรับเด็กหรือเยาวชนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดเฉพาะ โดยที่จะไม่มุ่งเน้นการลงโทษแบบผู้ใหญ่ที่ทำความผิดอาญา ดังนั้นแล้ว หรือเพราะว่าผู้หญิงมีคุณลักษณะที่เหมาะสมในการเข้าใจธรรมชาติของเด็ก? เหมาะสมกับกับวิธีพิจารณาคดีอาญาที่ไม่ได้เคร่งครัด? ผู้หญิงจึงได้รับอนุญาตให้เป็นผู้พิพากษาในศาลคดีเด็กและเยาวชนได้
หากเป็นเช่นที่กล่าวมานี้ กฎกระทรวงฉบับที่ 4 ฯ จึงไม่ได้ตราขึ้นบนฐานคิดแห่งการยอมรับความสามารถในการใช้เหตุผลของผู้หญิง แต่กลับตั้งอยู่บนฐานคิดแบบเดิม ซึ่งเชื่อว่าผู้หญิงนั้นสัมพันธ์กับอารมณ์ความรู้สึก และมีสัญชาตญาณความเป็นแม่ที่จะเข้าใจเด็กได้มากกว่า
กว่าชายหญิงจะเท่าเทียมกันบนบัลลังก์ตุลาการ
ในเวลาต่อมา กฎกระทรวงฉบับที่ 4 นี้ได้ถูกยกเลิกในปี พ.ศ. 2518 เป็นผลให้ผู้หญิงสามารถที่จะเป็นผู้พิพากษาในศาลอื่นๆ ได้ การยกเลิกกฎกระทรวงฉบับนี้เกิดขึ้นเพื่อให้สอดรับกับการบัญญัติเรื่องความเสมอภาคทางเพศไว้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517 ซึ่งถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่บัญญัติว่าชาย-หญิงเท่าเทียมกัน จะเลือกปฏิบัติโดยเหตุแห่งเพศไม่ได้
อย่างไรก็ตาม งานศึกษาของภาพิมล อิงควระ ชี้ให้เห็นว่าแม้จะมีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว แต่กว่าที่ผู้พิพากษาหญิงจะเข้าสู่ตำแหน่งบริหารในงานตุลาการ โดยเฉพาะตำแหน่งในศาลฎีกานั้นเกิดขึ้นหลังจากช่วงปี 2535 เป็นต้นมา และในปัจจุบันก็มีผู้หญิงแค่ 3 คนเท่านั้นที่สามารถไปไปถึงตำแหน่งสูงสุดอย่างประธานศาลฎีกาได้
หลากหลายตัวชี้วัดของความเท่าเทียมทางเพศ
สำหรับผู้ที่มองความเท่าเทียมผ่านการได้รับโอกาสที่เท่ากันนั้น การขึ้นดำรงตำแหน่งของประธานศาลฎีกาหญิงคนใหม่นี้อาจถือเป็นเครื่องสะท้อนความเท่าเทียมทางเพศที่สำคัญ
อย่างไรก็ตาม ข้อกำหนดที่อนุญาตให้หญิงหรือชายสอบเป็นผู้พิพากษาได้ การมีจำนวนผู้พิพากษาหญิงเท่ากับผู้พิพากษาชาย หรือแม้แต่การมีประธานศาลฎีกาหญิงคนที่ 3 นี้ จะช่วยให้สถานการณ์ของผู้หญิงในระบบกฎหมายดีได้จริงขึ้นหรือไม่นั้น ยังเป็นข้อกังวลสำหรับกลุ่มสตรีนิยมแนวครอบงำ (Dominance Feminist) ที่มองว่าวิธีคิดทางกฎหมายโดยพื้นฐานแล้ว ขัดต่อผลประโยชน์โดยรวมของผู้หญิง และเอื้อให้กับผู้ชายมากกว่า และหากมาตรฐานทางกฎหมายยังคงถูกครอบงำด้วยวิธีคิดและบรรทัดฐานแบบผู้ชาย การมีผู้พิพากษาหญิงเพิ่มขึ้น ก็เป็นเพียงแค่มีนักกฎหมายหญิงที่คิดแบบผู้ชายเพิ่มขึ้นเท่านั้น
นอกจากนี้ นักกฎหมายที่ศึกษาด้านเพศภาวะศึกษา (เช่น Gay-Lesbian Legal study, Transgender Jurisprudence) มีข้อกังวลว่า สถาบันตุลาการ (รวมถึงองคาพยพอื่นๆ ในระบบกฎหมาย) นั้นยังคงติดกับระบบเพศแบบทวิลักษณ์ (Gender Binary) ซึ่งทำให้คนเพศอื่นๆ อัตลักษณ์หรือรสนิยมทางเพศแบบอื่นๆ ไม่ได้ถูกยอมรับอย่างแท้จริงภายใต้ระบบกฎหมาย
ดังนั้นแล้ว การมีประธานศาลฎีกาหญิงคนที่ 3 ไม่ควรเป็นช่วงเวลาที่ผู้สมาทานความเท่าเทียมทางเพศเฉลิมฉลองต่อความสำเร็จเพียงเท่านั้น หากแต่ควรเป็นช่วงเวลาที่ต้องกลับมาทบทวนและตั้งคำถามถึงมาตรฐานในกฎหมายว่า ในตอนนี้ประสบการณ์ของคนทุกคนนั้นไม่ถูกกีดกันและได้รับการยอมรับจริงๆ แล้วหรือไม่
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.