"วัยทำงาน"เสี่ยงโรคลมพิษสูงสุด! เหตุเครียด-ไม่ดูแลสุขภาพ
หมอศิริราชเผยวัยทำงานป่วย"ลมพิษ"มากที่สุด เหตุจากความเครียด-ไม่ดูแลสุขภาพ เตือนอย่าชะล่าใจอันตรายถึงชีวิต หากเป็นต้องรักษาก่อนอาการจะรุนแรง
เมื่อวันที่ 22 กันยายน ศ.พญ.กนกวลัย กุลทนันทน์ หัวหน้าภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ลมพิษเป็นโรคที่ผิวหนังมีลักษณะเป็นผื่นหรือปื้นนูนแดง ขนาดตั้งแต่ 0.5-10 เซนติเมตร (ซม.) มีอาการคัน แต่ละผื่นมักจะคงอยู่ไม่เกิน 24 ชั่วโมง ผื่นก็จะราบไปโดยไม่มีร่องรอย แต่ก็อาจมีผื่นใหม่ขึ้นที่อื่นๆ ได้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีริมฝีปากบวม ตาบวม สาเหตุมีทั้งการติดเชื้อ แพ้ยา แพ้อาหาร แมลงกัดต่อย ระบบฮอร์โมนผิดปกติ ขณะที่บางรายก็ไม่ทราบสาเหตุหรือสิ่งกระตุ้น
ศ.พญ.กนกวลัยกล่าวว่า ลมพิษแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.ชนิดเฉียบพลัน เป็นไม่เกิน 6 สัปดาห์ หายภายใน 2-3 สัปดาห์ แต่พบว่าประมาณร้อยละ 10-20 ผื่นอาจขึ้นต่อเนื่องจนเป็นลมพิษเรื้อรัง ที่น่ากังวลคือ หากมีอาการรุนแรง จะมีแสดงอาการที่อวัยวะอื่น เช่น ปวดท้อง แน่นจมูก คอ หายใจไม่สะดวก แน่นหน้าอก หอบหืด หรืออาจเป็นลมจากความดันโลหิตต่ำ แต่จะพบได้น้อย ซึ่งหากเกิดขึ้นควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว เพราะอาจอันตรายถึงชีวิตได้
2.ชนิดเรื้อรัง มีอาการต่อเนื่องนานเกิน 6 สัปดาห์ ในต่างประเทศพบประมาณร้อยละ 0.5-1 ของประชากร ส่วนประเทศไทยยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน แต่จากสถิติผู้ป่วยนอก แผนกผิวหนัง รพ.ศิริราช พบผู้ป่วยร้อยละ 2-3 ของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาโรคผิวหนัง โดยพบได้ในทุกกลุ่มอายุ อุบัติการณ์สูงสุดคือ วัยทำงาน อายุ 20-40 ปี เชื่อว่ามีสาเหตุจากเครียดสะสมและอาจละเลยดูแลสุขภาพ
ศ.พญ.กนกวลัยกล่าวอีกว่า ลมพิษเรื้อรังมีผลกระทบอย่างมากต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การนอนหลับ และความเครียด เนื่องจากจะเป็นๆ หายๆ โดยเฉพาะรายที่ไม่ทราบสาเหตุ อาจมีภาวะความเครียดสูง เพราะไม่รู้ว่าจะมีอาการเกิดขึ้นเมื่อใด และไม่สามารถหลีกเลี่ยงจากปัจจัยกระตุ้นได้ การรักษาแพทย์จำเป็นต้องให้ยาตั้งแต่ 1 ชนิดขึ้นไป เพื่อควบคุมอาการผื่นลมพิษ และเมื่อควบคุมอาการได้แล้วจึงค่อยๆ ลดยาจนถึงพยายามหยุดยา เพื่อควบคุมโรคในระยะยาว
ทั้งนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเรื้อรังนานเป็นปี แต่ปัจจุบันมีทางเลือกในการรักษามากขึ้นทั้งยากินและยาฉีด อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยสามารถปฏิบัติตัวเพื่อบรรเทาอาการได้ คือ 1.งดสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดลมพิษ 2.นำยาต้านฮีสตามีนติดตัวไว้เสมอ 3.ทำจิตใจให้สบายไม่เครียด 4.ไม่แกะเกาผิวหนัง 5.กินยาตามแพทย์สั่ง หากยาทำให้เกิดอาการง่วงซึมจนรบกวนการทำงานหรือขับขี่ยานพาหนะ ควรแจ้งแพทย์เพื่อพิจารณาการรักษาให้เหมาะสม และ 6.อาจใช้คาลาไมน์โลชั่นทาบริเวณผื่นลมพิษเพื่อลดอาการคัน แต่ไม่ได้ทำให้ผื่นหาย
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.