Hiroshi Fujiwara เจ้าพ่อแห่งวงการสตรีทแวร์ และบิดาผู้ให้กำเนิด Fragment Design
นักเขียน : คาลิล พิศสุวรรณ
ท่ามกลางแฟชั่นไอคอนและแฟชั่นดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่นมากมายที่มีอิทธิพลต่อวงการสตรีทแวร์ญี่ปุ่น ชื่อของ Hiroshi Fujiwara น่าจะจัดอยู่ในลำดับต้นๆ ของผู้คนเหล่านี้ ชายผมยาวประบ่าผู้มักสวมแว่นกันแดดจนกลายเป็นเอกลักษณ์ประจำตัวคนนี้ไม่เพียงแต่จะได้ชื่อว่าเป็น ‘เจ้าพ่อแห่งวงการสตรีทแวร์’ (godfather of streetwear) เท่านั้น แต่เขายังได้รับการยกย่องในฐานะบิดาผู้ปลุกปั้น NIGO แห่ง A Bathing Ape และ Jun Takahashi แห่ง UNDERCOVER สองแฟชั่นดีไซเนอร์จากสองแบรนด์สตรีทแวร์ญี่ปุ่นที่โด่งดังที่สุดในโลกอีกด้วย คอลัมน์ Multi Brand ในครั้งนี้จะพาไปทำความรู้จักกับฟูจิวาระทั้งในฐานะของดีไซเนอร์เจ้าของแบรนด์ Fragment Design และในฐานะของชายผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดในวงการสตรีทแวร์ญี่ปุ่น
เด็กหนุ่มผู้เชื่อมโลกตะวันตกกับโลกตะวันออก
Hiroshi Fujiwara เกิดและเติบโตในเมืองชายฝั่งทะเลอย่างเมืองอิเสะ จังหวัดมิเอะ ในปี 1964 กระทั่งอายุได้ 18 ปีเขาก็ตัดสินใจย้ายมาใช้ชีวิตอยู่ในเมืองหลวงอย่างโตเกียวที่สภาพแวดล้อมแตกต่างไปจากบ้านเกิดของเขาอย่างสิ้นเชิง และนั่นทำให้เขาตกหลุมรักดนตรีพังก์ร็อกแทบจะในทันที โดยที่ความลุ่มหลงในเสียงดนตรีก็ได้ชักพาฟูจิวาระให้เดินทางไปยังกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ต้นกำเนิดแห่งดนตรีประเภทนี้ จนเขาได้มีโอกาสพบกับ Malcolm McLaren ผู้จัดการวง Sex Pistols และผู้ร่วมก่อตั้งร้าน Seditionaries กับ Vivienne Westwood แมคลาเรนได้บอกกับเด็กหนุ่มว่า ลอนดอนน่ะมันโคตรจะน่าเบื่อ ควรจะไปเมืองใหญ่ๆ อย่างนิวยอร์กมากกว่า
เมื่อกูรูแนะนำเช่นนั้น ฟูจิวาระจึงตัดสินใจตีตั๋วเครื่องบินเพื่อเดินทางไปสัมผัสสีสันของชีวิตในอีกซีกโลกหนึ่งอย่างนิวยอร์ก เขาได้รู้จักกับดนตรีฮิปฮอปซึ่งกำลังโด่งดังสุดๆ ที่อเมริกาในช่วงเวลานั้น ความลุ่มหลงในดนตรีอเมริกันได้ส่งผลให้ฟูจิวาระเริ่มหันมาเอาดีด้านการเป็นดีเจ และพยายามแนะนำให้ชาวญี่ปุ่นได้รู้จักกับดนตรีฮิปฮอปของชาวอเมริกันมากขึ้น ไปจนถึงการก่อตั้ง Tiny Panx วงดนตรีฮิปฮอปที่เขาก่อตั้งร่วมกับเพื่อนๆ ชาวญี่ปุ่น
ควบคู่ไปกับความสนใจดนตรีฮิปฮอป แฟชั่นคืออีกสิ่งหนึ่งที่ฟูจิวาระชื่นชอบไม่แพ้กัน และแม้ว่าในช่วงเวลานั้นแฟชั่นดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่นอย่าง Rei Kawakubo และ Yohji Yamamoto จะเริ่มเป็นที่รู้จักในวงการแฟชั่นระดับโลกแล้ว ทว่าสไตล์แฟชั่นที่เขาสนใจก็ไม่ใช่สไตล์ avant-garde ดังเช่นผลงานของดีไซเนอร์ทั้งสองนี้ แต่เป็นสตรีทแวร์และเสื้อผ้าสไตล์วินเทจต่างหากที่เขาชื่นชอบเป็นพิเศษ ชื่อของฟูจิวาระเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นในวงการสตรีทแวร์ญี่ปุ่นจากการที่เขาได้มีโอกาสพบปะกับ Shawn Stüssy แห่งแบรนด์ Stüssy โดยที่ฟูจิวาระก็ได้กลายเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่ม International Stüssy Tribe ซึ่งทำให้เขาได้รับเสื้อผ้าจาก Stüssy อยู่เรื่อยๆ ทั้งสวมใส่เองบ้างและแจกจ่ายให้เพื่อนๆ อยู่เสมอ
ชื่อของฟูจิวาระยังโด่งดังในวงการสตรีทแวร์ญี่ปุ่นขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเขาเริ่มเขียนคอลัมน์ Last Orgy ให้กับนิตยสาร Takarajima ซึ่งมักจะหยิบยกเทรนด์ต่างๆ ในวงการสตรีทคัลเจอร์ที่เขาได้พบเจอระหว่างการเดินทางมาให้ผู้อ่านได้รู้จักผ่านคอลัมน์นี้ และส่งให้ชื่อของเขาเป็นที่รับรู้ในฐานะกูรูของสตรีทคัลเจอร์ไปโดยปริยาย
จาก GOODENOUGH สู่ Fragment Design
ภายใต้ความรู้เรื่องสตรีทคัลเจอร์ที่กว้างขวางจนแทบจะไม่มีใครทัดเทียม ฟูจิวาระกลายเป็นไอดอลของวัยรุ่นญี่ปุ่นที่เริ่มหันมาสนใจสตรีทแวร์มากขึ้นเรื่อยๆ หนึ่งในนั้นคือ Tomoaki Nagao ซึ่งใฝ่ฝันอยากจะโด่งดังให้ได้อย่างไอดอลของเขา ต่อมาโทโมอากิกลายเป็นที่รู้จักในชื่อของ NIGO โดยที่ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับฟูจิวาระแน่นแฟ้นขึ้นเมื่อเด็กหนุ่มได้เข้ามาทำงานเป็นผู้ช่วยของฟูจิวาระ
จุน ทาคาฮาชิ คือเด็กหนุ่มอีกคนหนึ่งที่สนิทสนมกับฟูจิวาระจากรสนิยมทางดนตรีที่ต่างก็ชื่นชอบดนตรีพังก์ด้วยกันทั้งคู่ โดยที่มิตรภาพของพวกเขาก็ได้นำไปสู่การก่อตั้งแบรนด์ Anarchy Forever Forever Anarchy (AFFA) ซึ่งจะผลิตเสื้อผ้าแบบหนึ่งๆ ขึ้นมาเพียงครั้งเดียวเท่านั้นและจะไม่มีการผลิตซ้ำอีก เอกลักษณ์อีกอย่างของ AFFA คือการผสานดนตรีพังก์กับแฟชั่นเข้าด้วยกันอย่างไม่ก้าวร้าวและดูรุนแรงจนเกินไป เหมาะกับรสนิยมของวงการสตรีทแวร์ญี่ปุ่น
กระทั่งในปี 1990 ฟูจิวาระก็ได้ก่อตั้ง GOODENOUGH แบรนด์แฟชั่นที่ได้รับอิทธิพลมาจาก Stüssy และ Anarchic Adjustment แบรนด์เสื้อผ้าจากเกาะอังกฤษ GOODENOUGH ได้รับความสนใจแทบจะในทันที เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของ GOODENOUGH คือการที่ฟูจิวาระเลือกวางจำหน่ายสินค้าแต่ละชิ้นของ GOODENOUGH อย่างจำกัดมากๆ ส่งผลให้เสื้อผ้าของ GOODENOUGH ขายหมดทันทีในวันที่วางจำหน่าย นี่คือหลายปีก่อนหน้าที่โลกจะได้รู้จักคำว่าไฮป์ ซึ่งเป็นโมเดลการวางจำหน่ายสินค้าอย่างจำกัดมากๆ ต่อมาแบรนด์อื่นๆ อย่าง WTAPS และ A Bathing Ape ก็ได้ปฏิบัติตาม ก่อนหน้าที่โลกจะได้รู้จักกับ Supreme ครั้งหนึ่งเคยมีแบรนด์อย่าง GOODENOUGH เกิดขึ้น น่าเสียดายว่าหลังจากปี 2004 เป็นต้นมาแบรนด์นี้ก็ได้ยุติการผลิตไป
แม้ว่า GOODENOUGH จะหยุดนิ่งไป แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่าฟูจิวาระจะห่างหายจากวงการสตรีทแวร์ไปเลย เพราะในเวลาต่อมาเจ้าพ่อแห่งวงการสตรีทแวร์ผู้นี้ก็ได้ก่อตั้ง Fragment Design ความน่าสนใจของแบรนด์นี้คือ ในขณะที่ GOODENOUGH คือแบรนด์ที่ผลิตสินค้าต่างๆ ด้วยตัวเอง หัวใจของ Fragment Design คือการคอลแล็บ พูดให้ชัดขึ้นคือ Fragment Design ไม่เคยผลิตสินค้าของตัวเอง แต่อาศัยการไปร่วมงานกับแบรนด์ต่างๆ ที่ทำให้ชื่อของแบรนด์เป็นที่รู้จักมากขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นการคอลแล็บกับ Nike จนออกมาหนึ่งใน Air Jordan 1 ที่ราคาแพงที่สุดในโลก ไปจนถึงการร่วมงานกับแบรนด์หูฟังอย่าง Beats by Dre และแบรนด์รถหรูอย่าง Maserati ทำให้ Fragment Design กลายเป็นแบรนด์ที่คอลแล็บกับแบรนด์ต่างๆ ได้อย่างหลากหลายมากที่สุดในโลก โดยที่เมื่อโลโก้สายฟ้าคู่ของ Fragment Design ไปปรากฏอยู่บนสินค้าของแบรนด์นั้นๆ จะช่วยให้มูลค่าของมันพุ่งสูงขึ้นอีกด้วย
เป็นเรื่องที่ชวนให้ประหลาดใจอยู่ไม่น้อยว่าทำไมแบรนด์ที่ไม่เคยผลิตโปรดักต์เองเลยอย่าง Fragment Design ถึงกลายเป็นที่คลั่งไคล้ขึ้นมาได้ แต่หากย้อนกลับมามองที่ตัวตนของฟูจิวาระจริงๆ จะเห็นว่า Fragment Design นี่แหละที่สะท้อนให้เห็นตัวตนที่แท้จริงของเขา นับตั้งแต่วันแรกๆ ที่เขาเดินทางไปลอนดอนในวันที่ยังเป็นวัยรุ่นโนเนม สู่ฐานะเจ้าพ่อวงการสตรีทแวร์ที่ผู้คนทั่วโลกให้ความเคารพ ชีวิตของฟูจิวาระเกี่ยวข้องกับการพบปะผู้คนและการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ต่างๆ ระหว่างตัวเขากับบุคคลอื่นอยู่เสมอ หากพิจารณารูปแบบการทำงานของ Fragment Design ก็ย่อมจะเห็นถึงเอกลักษณ์นี้ นั่นคือการที่เขาและแบรนด์ของเขาทำงานอยู่กับการสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ และแบรนด์อื่นๆ อยู่ตลอดเวลา
นับจากวันที่เขาเริ่มเขียนคอลัมน์แนะนำเทรนด์ต่างๆ ในสตรีทคัลเจอร์มาถึงยุคปัจจุบัน รสนิยมของเขาส่งอิทธิพลในวงการสตรีทแวร์เสมอมา เมื่อไหร่ก็ตามที่ Fragment Design เลือกจะไปคอลแล็บกับใคร นั่นเท่ากับว่าเขาได้รับรองแบรนด์นั้นๆ จากรสนิยมของเขาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น Moncler, Louis Vuitton, Bearbrick หรือกระทั้ง Travis Scott ที่แม้ว่าแบรนด์เหล่านี้จะโด่งดังอยู่แล้ว แต่เมื่อมีโลโก้สายฟ้าคู่ของ Fragment Design ไปปรากฏอยู่บนสินค้าชิ้นหนึ่งๆ ก็เท่ากับมีชื่อของฟูจิวาระไปรับรอง จึงไม่แปลกเลยว่าทำไมโลโก้เล็กๆ ของ Fragment Design จะส่งผลให้สินค้าชิ้นหนึ่งๆ ไฮป์ขึ้นมาได้อย่างไม่ยากเย็น
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.