สำรวจความเชื่อเรื่อง'ตาย' ผ่าน ‘สัปเหร่อ’ ‘ฮาโลวีน’ และ ‘มัสยิดอัลอักซอร์’
เราอยากจะขอเริ่มต้นด้วยประโยคที่ว่า
หลายคนไม่อยากอ่าน เพราะเรื่อง ‘ความตาย’ เป็นเรื่องชวนหดหู่
มนุษย์จึงมีเทศกาลฮาโลวีน และแทนที่จะชวนหดหู่ เทศกาลนี้กลับกลายเป็นงานรื่นเริงในคืนปล่อยผี เราทำให้ภาพยนตร์สัปเหร่อ เป็นภาพยนตร์ตลกที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่ายแม้จะพูดเรื่องการจากลาอยู่เนืองๆ เราทำให้มัสยิดอัลอักซอร์กลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ เป็นที่พึ่งของจิตใจในวันที่เราต้องเสียชีวิต
แม้จะดูไม่เกี่ยวข้องกันสักเท่าไหร่ แต่แท้ที่จริงแล้วทั้ง 3 เรื่องนี้ได้ซ่อน ..
แก่นแท้และความเชื่อเรื่อง ‘ความตาย’ เอาไว้ .. ที่โพสต์ทูเดย์จะพาทุกคนไปสำรวจกัน!
คนโบราณ ยอมรับความตายได้ง่ายกว่าคนในปัจจุบัน
ทุกวันนี้หลายคนไม่อยากตาย .. และมีผลวิจัยออกมานานัปการว่ามนุษย์มีชีวิตได้ยืนยาวขึ้นจากวิทยาการทางการแพทย์ ซึ่งยิ่งทำให้เรามีความหวังที่จะใช้ชีวิตอยู่อย่างยืนยาว ในขณะที่บทสนทนาภายในครอบครัวก็หลีกเลี่ยงการพูดถึงความตายอยู่ตลอด เพราะจะเป็นการ ‘แช่งกัน’ จะพูดอีกทีก็ตอนที่นอนอยู่บนเตียงในโรงพยาบาลก็มี! ซิกมันต์ ฟรอยด์ นักจิตวิทยาชื่อดังของโลกก็เคยกล่าวว่า ภายในจิตลึกๆ ของมนุษย์ มนุษย์เชื่อว่าเราจะอยู่ได้อย่างเป็นอมตะ ไม่มีใครจินตนาการถึงความตายของตัวเอง!
แต่ในสมัยโบราณ ตั้งแต่ช่วงยุคก่อนประวัติศาสตร์ อายุขัยของมนุษย์เฉลี่ยอยู่ที่ 30 ปีเท่านั้น ผู้คนในยุคนั้นคุ้นชินกับการตาย ด้วยโรคภัยไข้เจ็บ อุบัติเหตุ การล่าเผ่าพันธุ์และการฆ่าฟันกัน พวกเขาได้พัฒนาแนวความคิดเรื่องการตายและชีวิตหลังความตายไว้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการฝังข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ไปพร้อมกับผู้ตาย และเชื่อว่าวิญญาณของพวกเขาจะไปอยู่ในอีกที่หนึ่งหลังความตาย
ในอีกยุคหนึ่งที่มีการยอมรับความตายได้ง่ายคือในสมัยกรีก .. บรรดานักปราชญ์เชื่อว่าการตายเป็นการปลอดปล่อยวิญญาณออกจากร่างกายเท่านั้น โดยเชื่อว่าวิญญาณมีอยู่ก่อนร่างกาย จึงมองว่าความตายเป็นทางผ่านไปอีกสิ่งหนึ่งและเป็นเหตุการณ์ธรรมชาติมาก .. อย่างเช่น โสกราตีส ก็เป็นอีกหนึ่งบุคคลที่แสดงออกถึงการยอมรับการตาย เมื่อเขาถูกตัดสินประหารชีวิต โดยการดื่มยาพิษ เขาเพียงล้มตัวลงนอน แต่ก่อนที่จะเสียชีวิตเขาลุกขึ้นนั่งแล้วพูดกับเพื่อนว่า ‘ คริโต ฉันเป็นหนี้ไก่ตัวหนึ่งกับแอสเคลปิอุส คุณจะช่วยชำระหนี้นั้นได้หรือไม่’ แล้วก็ล้มตัวนอนลงตาย!
การกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะเขาเพียงแค่คิดว่าการตายเป็นทางผ่านไปสู่สิ่งอื่น ที่ยิ่งใหญ่กว่าชีวิตนี้นั่นเอง นอกจากนี้ชาวกรีกบางคนยังมีความเชื่อที่ว่าวิญญาณจะกลับชาติมาเกิดหลายครั้งจนกระทั่งวิญญาณบริสุทธิ์
ยุคกลาง ... ความกลัวตายบังเกิด
ในยุคกลาง ซึ่งเป็นยุคที่เกิดสงครามหลายครั้งในฝั่งตะวันตก ผู้คนต่างเริ่มมีความหวาดกลัวกับความตาย แต่อยู่ภายใต้ความเชื่อของศาสนามากยิ่งขึ้น โดยพวกเขาจะจัดการความกลัวต่อความตายนี้ด้วยการเข้าร่วมกับศาสนา เพราะศาสนาสามารถให้คำตอบได้ว่าเมื่อตายแล้วพวกเขาจะไปไหนกันแน่ .. และด้วยความที่การแพทย์ในยุคนี้ยังไม่ก้าวหน้า เป็นเรื่องน่าแปลกที่ว่า หากคนตายอย่างไม่ทรมาน กลับถูกมองว่าเป็นการตายที่แปลกประหลาด เพราะคนส่วนใหญ่จะทุกข์ทรมานมากก่อนที่จะเสียชีวิต ..
ความเชื่อเรื่องสถานที่หลังความตายซึ่งสวยงาม เต็มไปด้วยทุ่งดอกกุหลาบและดอกไม้ ก็เกิดขึ้นในช่วงนี้เช่นกัน เพราะในยุคกลางนี้ได้มีจิตรกร และศิลปินสร้างเรื่องของความตายที่เต็มไปด้วยความงาม ประสบการณ์ที่พบกับความเป็นสุข และได้กลับไปอยู่กับคนที่รักอีกครั้ง เกิดขึ้นในช่วงนี้
อันที่จริงภาพหลังความตาย เป็นเรื่องที่แตกต่างกันอยู่หากนำประเด็นของศาสนามาพิจารณา สำหรับศาสนาพุทธเชื่อว่าวิญญาณที่ออกจากร่างจะไปเวียนว่ายตายเกิด ความน่ากลัวของความตายก็แต่เพียงการจากลากับคนในปัจจุบัน ส่วนศสนาคริสต์มองว่าการตายคือสถานการณ์ชั่วคราว เมื่อเราตายเราจะถูกไปอยู่ในสถานที่ที่เรียกว่าไฟชำระ เพื่อรอวันพิพากษา และดูว่าเราจะได้ขึ้นสวรรค์หรือลงนรก ศาสนาอิสลามก็เช่นกัน การตายเป็นการสละจากโลกนี้ชั่วคราวเท่านั้น และรอวันพิพากษาเฉกเช่นเดียวกับศาสนาคริสต์
และนี่คือจุดที่มัสยิดอัล-อักซอร์ อย่างที่เปรยไว้เข้ามามีบทบาท
ความสำคัญของมัสยิดอัล- อักซอร์นั้น คือเป็นสถานที่ ๆ ศาสดามูฮัมหมัดขึ้นสู่สวรรค์ หลังจากที่เขาอยู่ที่มัสยิดอัลฮารัมแห่งนครเมกกะ แต่จู่ๆ ก็ถูกส่งตัวไปยังมัสยิดอัลอักซอร์ในกรุงเยรูซาเล็มได้อย่างมหัศจรรย์และเสด็จสู่สวรรค์ เพราะฉะนั้นบริเวณใกล้ๆ กับมัสยิดแห่งนี้จึงเต็มไปด้วยสุสานของชาวมุสลิมตั้งแต่ครั้งในอดีต เพราะพวกเขาเชื่อว่าสถานที่แห่งนี้ เมื่อถึงวันพิพากษาของโลก หากได้ฝังร่างตนในบริเวณนี้จะทำให้พวกเขาได้ไปสวรรค์เฉกเช่นเดียวกับศาสดา
งานฮาโลวีน เพราะโลกความตายมันน่ากลัว
แม้ฮาโลวีนจะมาจากรากความเชื่อทางตะวันตก แต่มันก็แหวกจากความเชื่อของคริสต์ศาสนา ที่เป็นฐานรากของชาวตะวันตกที่มองว่าชีวิตหลังความตาย คือการไปสวรรค์และอยู่กับพระเจ้าไม่ใช่น้อย โดยฮาโลวีนซึ่งจัดขึ้นในทุกวันที่ 31 ตุลาคมของทุกปีเชื่อว่าวันนี้ คือ วันที่โลกนี้ และ “โลกหน้า” โคจรมาอยู่ใกล้กันมากที่สุด ทำให้เหล่าวิญญาณของคนที่ล่วงลับไป สามารถกลับมายังโลกนี้และหาร่างสิงสู่ได้ จึงต้องแต่งตัวเลียนแบบผีกันไปเพื่อพรางไม่ให้ผีคิดว่านี่คือคนนะ แล้วจะมาสิงสู่ได้นั่นเอง …
โดยสรุปแล้ว มนุษย์จัดการ ‘ความกลัวในเรื่องการตาย’ ให้น้อยลง ด้วยใช้ความเชื่อของโลกหลังความตายเข้ามาเกี่ยวข้อง จะดีหรือน่ากลัวอย่างไรก็แล้วแต่แต่ละวัฒนธรรม .. แต่ส่วนใหญ่ก็จะมองว่าถ้าทำดีก็จะได้ไปอยู่ในโลกหลังความตายที่ดีกว่าเสมอ ทำให้คนเราทำใจยอมรับได้บ้างกับความตาย .. แม้มันจะเป็นวิธีการที่อ้อมๆ มาแต่ไหนแต่ไร .. แต่วิธีการนี้ก็ใช้ได้มานานเป็นพันๆ ปีเช่นกัน!
ยุคใหม่ .. ความตายเป็นเรื่องต้องห้ามไปเสียนี่!
ความกลัวต่อชีวิตหลังการตาย นั้นพัฒนาขึ้นอย่างมาก ควบคู่ไปกับการพัฒนาทางการแพทย์ โดยเฉพาะกลางยุคศตวรรษที่ 19 ซึ่งถูกเรียกว่า ‘ความตายต้องห้าม’ เพราะความตายเป็นเรื่องน่าละอายและต้องห้าม รวมไปถึงไม่ควรที่จะพูดถึง .. ด้วยเหตุผลกลใดไม่แน่ใจนัก ผู้คนที่กำลังจะตายจะไม่ได้รับการถูกเปิดเผยว่าตนกำลังจะตาย เพื่อหลีกเลี่ยงความเจ็บปวดของบุคคลนั้น
เราพบว่าในยุคดังกล่าว ความโศกเศร้าของการเสียชีวิตมีมากขึ้นอย่างพุ่งพรวด!! และเกิดพิธีกรรมรำลึกถึงผู้ตายที่มีความซับซ้อนมากขึ้น และสำหรับชาวตะวันตก นี่คือต้นกำเนิดของผู้ดูแลงานศพ ที่เรียกว่า Undertaker นั่นเอง (หรือสัปเหร่อในบ้านเรา) ในงานจะมีการเรียกญาติมารวมตัวกันและบอกลาผู้เป็นที่รักเกิดขึ้น รวมไปถึงการเตรียมจิตใจสำหรับคนตาย
ต่อให้เป็นในประเทศไทย ก็ปรากฎหลักฐานว่า สัปเหร่อ เข้ามามีอิทธิพลในสังคมไทยก็ต่อเมื่ออิทธิพลและวัฒนธรรมของตะวันตกเข้ามาเช่นกัน ในสมัยรัชกาลที่ 5 พวกเขามีหน้าที่จัดการความเรียบร้อยของศพ เพราะแต่เดิมศพของบุคคลที่ไร้ญาติหรือเสียชีวิตบางคนถูกวางไว้ตามรายทางและในยุคนั้นประชาชนก็มองว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา โดยเฉพาะศพไร้ญาติ จึงต้องมีคนที่เข้ามาทำหน้าที่ดังกล่าว จนกระทั่งในปี 2460 นั่นแหละ รัฐสยามถึงได้มีการกำหนดให้มีป่าช้า และนายป่าช้า เข้ามาจัดการศพอย่างเป็นทางการ
และความตายก็กลายเป็นเรื่องต้องห้ามที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ในยุคปัจจุบัน
ด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้า ทรัพย์สินและตัวตนที่มนุษย์สร้างขึ้นไม่ว่าจะในโลกจริงหรือโลกโซเชียลมีเดีย ความตายทำให้มนุษย์กลัวที่จะไร้ตัวตน กลัวที่จะถูกตัดแยกออกจากสิ่งที่ตนเองเคยมี และกลัวความไม่รู้ว่าตายไปแล้วจะเป็นอย่างไร ซึ่งไม่เคยมีใครให้คำตอบได้เสียที
เราคิดค้นสิ่งต่างๆ เพื่อที่จะยืดอายุการใช้ชีวิตให้มากที่สุด
อย่างไรก็ตามในช่วงหลังของศตวรรษที่ 20 ทัศนคติต่อความตายของผู้คนได้เปลี่ยนแปลงไป เกิดหนังสือและบทความที่พูดถึงความตายมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการยอมรับความตายมีมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในวงการการแพทย์
กระบวนการเคลื่อนไหวดังกล่าว ทำให้หลายคนอยากที่จะกลับไปตายอย่างสงบที่บ้าน และต้องพูดว่าในสังคมตะวันตกเริ่มหันมาเข้าใจและยอมรับการตายง่ายขึ้นและไม่ทรมาน ในปี 2005 มีคำพูดหนึ่งของสตีฟ จ๊อบ ที่ฉายภาพความคิดของเขาต่อการตายโดยมองว่า สุดท้ายแล้วในความเป็นจริง การตายคือส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงของชีวิต ...
สัปเหร่อ หนังตลกที่กระชากให้คนไทยหันกลับมามองความตายแบบพุทธอีกครั้ง
ต่างจากสังคมตะวันตก สำหรับสังคมบ้านเราที่โตมากับความเชื่อทางพุทธศาสนานั้นสะท้อนออกมาได้ดีผ่านฉากทัศน์ภายในเรื่องสัปเหร่อ ต้องยอมรับว่านอกจากความตลกและวัฒนธรรมพื้นบ้านที่ถูกเสนออย่างมีเสน่ห์ออกมาแล้ว ส่วนหนึ่งที่แนบเนียนไปในเรื่องคือการมอง ‘ความตาย’ อย่างเป็นปกติธรรมดา
ในประเทศไทย สิ่งหนึ่งที่ได้เรียนรู้เสมออย่างเช่น เกิด แก่ ดับไป เป็นเรื่องธรรมดา หรือการมองการตายเป็นเรื่องธรรมชาตินั้น ผูกพันอยู่กับความเชื่อของคนไทยมานานมากแล้ว
การถูกสอนไม่ให้ยึดติดกับวัตถุ ทำให้กระบวนการตายของคนที่เข้าใจแก่นของพุทธศาสนาสละ ละ และปลงได้ง่ายขึ้น ในช่วงสุดท้ายของชีวิต แม้กระทั่งการไม่ยึดติดกับชีวิตและสังขารของตนเองก็เช่นเดียวกัน โดยสอนให้เกิด มรณานุสติ หรือ การระลึกถึงความตาย ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับพุทธศาสนาแต่อย่างใด การสอนให้เจริญมรณานุสตินั้น ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เศร้าโศก หรือคุยเรื่องอัปมงคล แต่ทำให้จิตเกิดปัญญา และลดการยึดมั่นถือมั่นลง
แนวความคิดเช่นนี้ ทำให้ผู้คนในยุคใหม่ มีวิธีการคิดแบบใหม่ เมื่อพวกเขายอมรับว่าวันหนึ่งจะต้องตายโดยไม่เกรงกลัวมากนัก พวกเขาจึงใช้ชีวิตให้วิเศษมากที่สุด และเติมเต็มชีวิตให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในหนังสัปเหร่อซึ่งมีบทพูดตอนหนึ่งว่า ‘ยื้อเอาไว้ซำได๋ บ่อาจหยุดเข็มของนาฬิกา’ นอกจากนี้ พระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ว่า ‘สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิดเพราะวันหนึ่งก็ต้องตายลง’ หรือแแม้แต่ในหนังดังอย่าง Dead Poet’s Society ที่บอกว่า อย่ารอเลย จงออกไปใช้ชีวิตให้พิเศษที่สุด
หลายคนไม่อยากอ่าน เพราะเรื่อง ‘ความตาย’ เป็นเรื่องชวนหดหู่
พอพูดถึงสิ่งใหม่ๆ ที่จรรโลงใจและสังคม ส่วนใหญ่ก็มักจะนึกถึงความสมาร์ทของนวัตกรรมต่างๆ หรือเรื่องอื่นใดที่จะมาอำนวยความสะดวกให้แก่เรามากที่สุด . .. แต่แท้ที่จริงแล้ว ‘การยอมรับเรื่องความตาย’ เรื่องธรรมชาติง่ายๆ เช่นนี้ อาจจะเป็นสิ่งใหม่ที่คนใน พ.ศ. นี้ควรจะเข้าใจ ก่อนจะออกไปใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่าที่สุดก่อนที่จะต้องตาย.
แฮปปี้ ฮาโลวีน.
ที่มา
A historical Perspective of death in the western world by David San Filippo
https://www.aa.com.tr/en/middle-east/israel-demolishes-muslim-graves-near-al-aqsa-mosque/2388235
https://www.silpa-mag.com/culture/article_119947
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.