ยิ่งใหญ่! “หางโจวเกมส์ 2022” ขนเทคโนโลยีอวดชาวโลกอื้อ!
กีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 หรือหางโจวเกมส์ 2022 ที่เมืองหางโจว ประเทศจีน มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 23 ก.ย. 66 ที่ผ่านมา ในระหว่างนี้เป็นช่วงระหว่างทำการแข่งขันกีฬา
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการแข่งขันกีฬาสุดตื่นเต้นที่ให้ประชาชนจากทั้ง 46 ประเทศได้ร่วมเชียร์และส่งกำลังใจให้กับเหล่านักกีฬาแล้ว ยังมีความคาดหวังจากทั้งเจ้าภาพอย่างจีน ที่หวังจะประสบความสำเร็จในเรื่องของการจัดการคาร์บอนและนำเสนอเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย ให้สมกับที่นครหางโจวได้ชื่อว่าเป็นเมืองยุทธศาสตร์ทางด้านเทคโนโลยีและโลกดิจิทัลที่สำคัญที่สุดเมืองหนึ่งของจีนและสำหรับผู้ชมอย่างเรา ๆ ที่คาดหวังจะได้เห็นการนำเสนอเทคโนโลยีที่น่าตื่นตาตื่นใจในเอเชียนเกมส์ครั้งนี้
เอเชียนเกมส์ เป็นเกมการแข่งขันกีฬาของเหล่านักกีฬาของทวีปเอเชียเพื่อชิงความเป็นเจ้าเหรียญทอง ถึงอย่างนั้น ปัจจุบันโลกของเราขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ทำให้เรื่องของนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่โดดเด่นล้ำสมัยจึงเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สาธารณชนให้ความสนใจ บวกกับการที่เจ้าภาพอย่างจีนมีความพยายามอย่างมากที่จะให้การแข่งขันกีฬาในครั้งนี้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกสุดชาญฉลาดในรูปแบบของ Smart Asian games และนำเสนอศักยภาพในฐานะผู้พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ของโลก
ทำให้เอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 หรือหางโจวเกมส์ 2022 นับเป็นการจัดการแข่งขันกีฬาที่อัดแน่นไปด้วยเทคโนโลยีมากที่สุดงานหนึ่งของโลก ซึ่งจีนก็พยายามอย่างมากที่จะแสดงศักยภาพในฐานะหนึ่งในผู้พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ของโลก เรามาดูกันว่าในการจัดการแข่งขันกีฬาครั้งนี้ จีนขนเทคโนโลยีอะไรมานำเสนอแก่ชาวโลกบ้าง
พิธีเปิดสุดยิ่งใหญ่แบบดิจิทัล
เริ่มต้นกันที่พิธีเปิด มีเทคโนโลยีขั้นสูงที่ถูกใช้ในงานพิธีเปิดกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 19 ไม่ว่าจะเป็น พลุดอกไม้ไฟแบบดิจิทัล ภาพสามมิติแบบไม่ต้องสวมแว่น และความเป็นจริงเสริม (AR) ที่ช่วยให้ผู้ชมได้สัมผัสวัฒนธรรมจีนดั้งเดิมของหางโจวได้อย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น
ไฮไลต์ของพิธีเปิดซึ่งเป็นที่ตื่นตาตื่นใจเป็นอย่างมาก คือการใช้ “มนุษย์ดิจิทัล” เป็นผู้จุดไฟคบเพลิงการแข่งขันนับเป็นการจุดคบเพลิงด้วยมนุษย์ดิจิทัลเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์วงการกีฬาโลก โดยจีนได้ใช้เทคโนโลยีความเป็นจริงเสริม หรือ Augmented Reality (AR) เข้ามาใช้ ผ่านการสร้างนักวิ่งคบเพลิงที่เป็นมนุษย์ดิจิทัลขนาดยักษ์ วิ่งข้ามแม่น้ำเฉียนถัง ก่อนใช้คบเพลิงจุดไฟให้ลุกโชติช่วงสวยงาม ร่วมกับ “หวัง ชุน” นักกีฬาว่ายน้ำ เดี่ยวผสม 200 เมตรชาย เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก โตเกียว 2020
โดยนักวิ่งคบเพลิงดิจิทัลคนดังกล่าวมีชื่อว่า “เสี่ยว หั่วเหมียว” ถูกสร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยีความเป็นจริงเสริม หรือ AR เทคโนโลยีที่ผสานวัตถุ ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ หรือแอนิเมชันต่าง ๆ ที่ผลิตขึ้นผ่านกระบวนการดิจิทัลกับโลกจริง ๆ ของเราเข้าด้วยกัน
กระบวนการสร้างมนุษย์ดิจิทัล มีการเรียกคัดตัวผู้ที่จะมาเป็นต้นแบบของมนุษย์ดิจิทัลดังกล่าว โดยทีมงานได้ไปพบกับหนุ่มมัธยมต้นที่มีชื่อว่า “เกา หยู” ซึ่งมีอายุราว 14-15 ปี แต่มีส่วนสูงถึง 180 เซนติเมตร มีรูปร่างแข็งแรง ท่วงท่าดี และมีพื้นฐานการเล่นกีฬาที่ดี ส่วนแสงไฟที่ประกอบรูปร่างขึ้นมาเป็นมนุษย์ดิจิทัลนั้น มาจากการเปิดให้ประชาชนชาวจีนกว่า 105 ล้านคน ลงทะเบียนร่วมจุดคบเพลิงแบบดิจิทัล ผ่านแอปพลิเคชันทางการเงินชื่อดังของจีนอย่างแอปฯ อาลีเพย์ โดยจะเป็นการฉายผ่านเครื่องฉายขนาดยักษ์ และนอกจากมนุษย์ดิจิทัลแล้ว ยังใช้กราฟิก AR ที่ออกแบบอย่างสวยงาม กับการจุดพลุดอกไม้ไฟ และแสดงทิวทัศน์ธรรมชาติต่าง ๆ อย่างสวยงาม
ในเรื่องของการจุดพลุดอกไม้ไฟ ซึ่งปกติจะเป็นสัญลักษณ์ในการแสดงความยิ่งใหญ่ของชาติเจ้าภาพ แต่จีนเคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่าจะไม่จุดพลุจริงเพื่อลดการสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ในอากาศ ดังนั้น จีนจึงใช้พลุดอกไม้ไฟดิจิทัล ซึ่งใช้กราฟิกสร้างขึ้นมาในการเฉลิมฉลองแทน โดยพลุดิจิทัลนี้จะสามารถเห็นได้ผ่านการถ่ายทอดสดเท่านั้น ส่วนคนที่อยู่ในสถานที่จริงจะไม่เห็นอะไรเลย
Alibaba Cloud ตัวช่วยในการถ่ายทอดสด
จีนสร้างประวัติศาสตร์ในการใช้เทคโนโลยีประมวลผลคลาวด์ สำหรับการถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬารายการต่าง ๆ ในมหกรรมเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 เป็นครั้งแรก ซึ่งดำเนินการผ่านระบบคลาวด์อย่างสมบูรณ์ ที่ช่วยส่งเสริมความเป็นดิจิทัลของการจัดงานขนาดใหญ่ได้ดียิ่งขึ้น เทคโนโลยีคลาวด์ที่ใช้นี้ได้รับการสนับสนุนหลักจาก Alibaba Group ได้วาง Core System ทั้งหมดด้วย Cloud-Natives เพื่อเชื่อมต่อกิจกรรมหรือการแข่งขันรวมเข้ากับระบบสำคัญได้โดยไม่มีข้อติดขัด รวมถึงแอปพลิเคชันอัจฉริยะต่าง ๆ นี่จึงเป็นครั้งแรกที่มีการถ่ายทอดสดด้วยเทคโนโลยีคลาวด์ที่รองรับการถ่ายทอดสดคุณภาพสูง
โดยการออกอากาศผ่านคลาวด์ คือ การนำภาพต่าง ๆ ที่เคยส่งด้วยสัญญาณดาวเทียม มาออกอากาศผ่านอินเทอร์เน็ตโดยใช้เทคโนโลยีคลาวด์ หรือการเก็บข้อมูลในเซิร์ฟเวอร์ที่ตั้งอยู่ที่อื่นเป็นตัวกลางในการส่งและกระจายไปยังที่อื่น ๆ ทั่วโลก คล้ายกับการที่เรากดไลฟ์สดบน Youtube นั่นเอง เพียงแต่นี่เป็นระบบที่ใหญ่กว่านั้น และถูกออกแบบให้ทีวีหลายร้อยช่องทั่วโลกสามารถดึงสัญญาณสดได้พร้อม ๆ กันโดยคุณภาพไม่ลดลง
ระบบหลักของ Core System ประกอบด้วย Games Management Systems (GMS), Results Distribution Systems (RDS) และ Games Support Systems (GSS) ที่สนับสนุนการดำเนินงานตลอด 24 ชั่วโมงให้กับสถานที่แข่งขัน 56 แห่ง และสถานที่สำคัญอื่น ๆ อย่าง ศูนย์จัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ, ศูนย์หลักสำหรับสื่อมวลชน และหมู่บ้านเอเชียนเกมส์หางโจว รองรับผู้ใช้บริการที่ลงทะเบียนมากกว่า 100,000 ราย รวมถึงนักกีฬา ผู้แพร่ภาพกระจายเสียง ผู้สื่อข่าว เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครจาก 45 ประเทศและทุกภูมิภาคทั่วโลก เมื่อมีการออกอากาศผ่านระบบคลาวด์ ก็ทำให้เจ้าภาพสามารถส่งภาพไปยังทั่วโลกได้ผ่านศูนย์ข้อมูล Data Center ที่จัดตั้งอยู่ตามหัวเมืองทั่วโลกได้ ขอเพียงแค่มีอินเทอร์เน็ตเท่านั้น
เอเชียนเกมส์ ที่เมืองหางโจว จะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การจัดการแข่งขันที่ผู้ออกอากาศที่มีสิทธิ์ (Right-Holding Broadcasters: RHBs) จะได้รับฟุตเทจสดผ่านโครงสร้างพื้นฐาน Public Cloud โดย Alibaba Cloud คาดว่าจะมีฟุตเทจสดมากกว่า 5,000 ชั่วโมงส่งผ่านฟีดที่มีความคมชัดสูง (HD) และความคมชัดสูงพิเศษ (UHD) มากถึง 68 รายการระหว่างงาน และนอกจากการถ่ายทอดสดแล้ว ไฮไลต์ของเกมต่าง ๆ และข่าวด่วน ก็จะถูกส่งให้ RHBs ผ่านคอนเทนต์แพลตฟอร์มบนคลาวด์ เพื่อเผยแพร่ไปยังอุปกรณ์ของผู้ชมได้ทันที
หมู่บ้านนักกีฬาอัจฉริยะ
นอกจากจะใช้ระบบคลาวด์เป็นตัวช่วยในการออกอากาศแล้ว Alibaba Cloud ยังถูกนำมาใช้ในการจัดการภายในหมู่บ้านนักกีฬาและที่พักของพนักงานที่เกี่ยวข้อง ในเรื่องของการบริหารจัดการพลังงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เนื่องจากการแข่งขันกีฬาในระดับนานาชาติเช่นนี้ย่อมมาพร้อมการใช้พลังงานมหาศาล การใช้ระบบคลาวด์เข้ามาช่วยจัดจัดเก็บข้อมูลพฤติกรรมของผู้คนจำนวนมากแล้วนำไปให้ปัญญาประดิษฐ์ประมวลผลเพื่อลดการใช้พลังงาน
โดย Intelligent Operation Platform เป็นเทคโนโลยีที่ใช้บริหารจัดการการดำเนินงานของหมู่บ้านนักกีฬาเอเชียนเกมส์ 3 แห่ง ซึ่งรองรับนักกีฬา ผู้สื่อข่าว และเจ้าหน้าที่มากกว่า 20,000 คน แพลตฟอร์มนี้ใช้ประโยชน์จากเครื่องมือ Virtualization ที่ล้ำสมัยของ Alibaba Cloud เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลอัจฉริยะแบบเรียลไทม์ และนำไปปรับปรุงระบบบริหารจัดการต่อไป
Alibaba Cloud จะใช้ข้อมูลแบบเรียลไทม์ไปวิเคราะห์การบริหารจัดการการจราจรและความหนาแน่นของกลุ่มคน หากพื้นที่สาธารณะมีผู้คนหนาแน่นเกินไป ระบบจะแจ้งเตือนบนแดชบอร์ดเพื่อให้เกิดความปลอดภัยสาธารณะ นอกจากนี้ยังมีการแจ้งเตือนสภาพอากาศที่รุนแรง ไฟดับ และไฟไหม้ เพื่อให้ผู้จัดงานตัดสินใจได้อย่างเหมาะสม
นอกจากนี้ Alibaba Cloud ยังใช้เทคโนโลยีการประมวลผลภาษาธรรมชาติ (NLP) ผ่านหุ่นยนต์บริการอัจฉริยะ ที่ให้บริการคำปรึกษาออนไลน์แก่ผู้พักอาศัยในหมู่บ้านนักกีฬาเอเชียนเกมส์ตลอดทั้งวันด้วยภาษาอังกฤษและภาษาจีน ผ่านบริการเว็บแอปพลิเคชัน ซึ่งแชตบอตนี้ตอบโต้และให้ข้อมูลได้ทุกเรื่องที่เกี่ยวกับหมู่บ้านนักกีฬา
ไม่หมดเพียงเท่านั้น ภายในหมู่บ้านนักกีฬาเอเชียนเกมส์ยังเต็มไปด้วย “หุ่นยนต์อัจฉริยะ” ที่ถูกนำมาให้บริการและสร้างความสะดวกสบายให้กับเหล่านักกีฬา หุ่นยนต์เหล่านี้ถูกตั้งค่าให้ใช้ในสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น การต้อนรับแขก การลาดตระเวน การดับเพลิง และการจัดจำหน่ายสินค้า รวมถึงการให้บริการฟังก์ชันในการปฏิบัติงานประจำวัน การแสดงในที่สาธารณะ การฝึกกีฬา และอื่น ๆ อีกมากมาย หรือนวัตกรรมที่น่าสนใจภายในหมู่บ้านนักกีฬาเอเชียนเกมส์ คือ รถบัสอัจฉริยะที่มีการติดตั้งเทคโนโลยี AR เข้าไปที่ตัวกระจกรถ ทำให้ผู้โดยสารสามารถสัมผัสประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ AR นำเสนอผ่านกระจกอัจฉริยะระหว่างเดินทาง
ไม่เพียงแต่การใช้เทคโนโลยีคลาวด์ในการจัดการภายในหมู่บ้านนักกีฬาและหมู่บ้านสื่อมวลชนเท่านั้น แต่ยังสนับสนุนเรื่องการลดใช้พลังงานงานเชื้อเพลิงและการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ มีการติดตั้งสถานีชาร์จไร้สายแบบ Vehicle-to-grid (V2G) กำลังแรงสูงแห่งแรกของประเทศ โดยติดตั้งอุปกรณ์ชาร์จไฟขนาด 500 กิโลวัตต์จำนวน 8 เครื่อง ที่จอดรถสำหรับชาร์จไร้สายจำนวน 8 คัน และเสาชาร์จ V2G จำนวน 8 เสา เพื่อช่วยบริการการชาร์จไฟรถบัสขนส่ง EV ที่มีประสิทธิภาพและสะดวกสบายเพื่อรักษาระบบขนส่งแบบไร้คาร์บอนในพื้นที่
แอปฯ แชต DingTalk เวอร์ชันใช้เฉพาะเอเชียนเกมส์
การใช้ประโยชน์จาก Alibaba Cloud ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพื่อให้การบริหารจัดการการแข่งขันมีประสิทธิภาพสูงสุด Alibaba Cloud ได้พัฒนาแอปฯ DingTalk ขึ้นมาในเวอร์ชันที่ใช้เฉพาะเอเชียนเกมส์โดยเฉพาะ เพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสารภายในระหว่างผู้เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นคณะผู้จัด ทีมงาน นักกีฬา และผู้ที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ นับแสนคน รองรับการติดต่อหากันไม่ว่าจะทั้งการโทรหาและประชุมผ่านวิดีโอคอล
DingTalk for Asian Games เป็นดิจิทัลโซลูชันคลาวด์ ที่ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการทำงานร่วมกันแบบที่เดียวจบ มีการเชื่อมโยงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดในทุกขั้นตอนของการจัดการแข่งขันกีฬาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้จัดงานและซัพพลายเออร์ ไปจนถึงอาสาสมัครและผู้ดำเนินงานที่ประจำอยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ DingTalk จึงเป็นแพลตฟอร์มอัจฉริยะที่นำเสนอวิธีการใหม่ ๆ ในการทำงาน การแชร์ข้อมูล และการทำงานร่วมกัน
รถยนต์ไร้คนขับ วิ่งรับส่งภายในพื้นที่จัดการแข่งขัน
มีการนำรถมินิบัสไร้คนขับจำนวน 5 คัน ที่ได้รับการตกแต่งในธีมของเอเชียนเกมส์ และมีการติดตั้งกล้อง HD เรดาร์เลเซอร์ เรดาร์คลื่นมิลลิเมตร เรดาร์อัลตราโซนิก และระบบกำหนดตำแหน่งเพื่อความปลอดภัย มาใช้บริการวิ่งรับส่งผู้มาเยือนภายในพื้นที่จัดการแข่งขันเอเชียนเกมส์ในครั้งนี้ โดยจะให้บริการการสัญจรในเส้นทางรวมระยะทางทั้งสิ้น 5.7 กิโลเมตร และมีจุดขึ้นลงทั้งหมด 8 จุดทั่วเมืองหางโจว
จุดแวะพักของเส้นทาง Hangzhou Asian Games Smart Driving Experience จะรวมเอาสถานที่สำคัญต่าง ๆ อย่าง หมู่บ้านเอเชียนเกมส์ ศูนย์สื่อหลัก และกลุ่มสถานที่จัดงานของศูนย์กีฬาโอลิมปิกหางโจว ซึ่งจะครอบคลุมพื้นที่หลักที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมเยือนบ่อยที่สุดในระหว่างการแข่งขัน รถยนต์ไร้คนขับ 5 คันในเส้นทางนี้จะให้บริการขนส่งอัจฉริยะสำหรับกลุ่มต่าง ๆ คือนักข่าว นักกีฬา และประชาชนทั่วไป
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.