นานาชาติเร่งสำรวจดวงจันทร์ หวังไขแหล่งน้ำ-ตั้งถิ่นฐานถาวรในอนาคต
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เหล่าประเทศมหาอำนาจ ทั้ง สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ต่างพยายามเดินหน้าโครงการสำรวจดวงจันทร์ของตน แต่ทุกประเทศก็ต้องเผชิญความล้มเหลว อย่างเช่น ญี่ปุ่นที่ไม่สามารถลงจอดบนดวงจันทร์ได้เมื่อปีที่แล้ว และอิสราเอลที่ไม่สามารถบรรลุภารกิจของตนได้ในปี 2019 ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์
ในฐานะผู้เคยมีบทบาทสำคัญในความพยายามสำรวจดวงจันทร์มาเมื่อหลายสิบปีก่อน รัสเซียเดินหน้าพยายามสร้างชื่อให้ตนอีกครั้งด้วยการส่งยานอวกาศลูนา-25 (Luna-25) ไปสำรวจดวงจันทร์เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นภารกิจครั้งแรกในรอบเกือบ 50 ปีที่มาพร้อมกับความหวังว่า ตนจะเป็นประเทศแรกในการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ โดยเฉพาะเรื่องแหล่งน้ำที่ยังไม่เคยมีใครค้นพบมาก่อน
ปัจจุบัน การสำรวจดวงจันทร์นั้นมุ่งเน้นไปยังบริเวณขั้วใต้ของดาวบริวารดวงนี้ ซึ่งเป็นจุดที่ยังไม่เคยมีประเทศใดเข้าถึงมาก่อน
ความจริงที่ว่า การนำยานลงจอดในบริเวณเป็นเรื่องที่ยากมากไม่ได้ทำให้ความฝันที่จะเป็นผู้คว้ารางวัลใหญ่ระดับประวัติศาสตร์ของประเทศต่าง ๆ ดูยากเย็นเกินไปเลย เพราะเหล่านักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า น้ำแข็งที่ปกคลุมพื้นที่ตรงนี้อยู่อาจนำไปสกัดเป็นเชื้อเพลิง ออกซิเจน และน้ำดื่มได้
ในส่วนของรัสเซียนั้น อาซีฟ ซิดดีกิ อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฟอร์ดแฮม (Fordham University) ในรัฐนิวยอร์ก บอกกับ วีโอเอ ว่า ความใฝ่ฝันของรัฐบาลเครมลินที่จะพิชิตดวงจันทร์นั้นมีที่มาจากหลายเหตุผล
ศาสตราจารย์ซิดดีกิ กล่าวว่า มีการคาดการณ์มาโดยตลอดว่า บนดวงจันทร์นั้นมีแหล่งน้ำอยู่และสิ่งนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญหากมนุษย์ต้องการตั้งถิ่นฐานถาวรที่นั่น และว่า การที่รัสเซียพยายามมุ่งสำรวจขั้วใต้ของดวงจันทร์ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะประเทศนี้ต้องการเป็นผู้นำในการศึกษาประเด็นนี้
นักดาราศาสตร์ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับแหล่งน้ำบนดวงจันทร์มานานหลายศตวรรษ เพราะการสำรวจศึกษาก่อนหน้านี้ชี้ว่า ดาวดวงนี้มีภาวะแห้งแล้งยิ่งกว่าทะเลทรายซาฮาราถึง 100 เท่า
แต่ในปี 2020 องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ นาซ่า ออกมายืนยันว่า มีแหล่งน้ำอยู่บนดวงจันทร์
นอกจากรัสเซียแล้ว อินเดียคืออีกประเทศที่เดินหน้าภารกิจสำรวจพื้นที่ขั้วใต้ของดวงจันทร์
และแม้ว่าอินเดียจะประสบความล้มเหลวกับภารกิจส่งยานจันทรายาน-2 ในปี 2019 รัฐบาลนิวเดลีก็ไม่ย่อท้อและส่งยาน จันทรายาน-3 ขึ้นไปอีกครั้งเมื่อเดือนกรกฎาคมของปีนี้
ขณะที่ ภารกิจการสำรวจของทั้งรัสเซียและอินเดียจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน อีกทั้งยังศึกษาพื้นที่ขั้วใต้ของดวงจันทร์ ไม่ต่างกัน แต่เชื่อว่ายานสำรวจของทั้งสองประเทศจะลงจอดในพื้นที่ห่างกัน และจะไม่ปฏิบัติภารกิจที่ทับซ้อนกัน
ศาสตราจารย์ซิดดีกิ ให้ความเห็นว่า “ก่อนอื่นผมคิดว่ามันคือการแสดงศักยภาพของประเทศในเวทีระดับโลก” และว่า เหตุผลหนึ่งที่รัสเซียต้องการไปดวงจันทร์ ก็คือเพื่อแสดงความเป็นประเทศมหาอำนาจ หลังเห็นว่า จีนได้ประกาศแผนที่จะส่งมนุษย์กลับไปยังดวงจันทร์ ส่วนสหรัฐฯ อยู่ระหว่างดำเนินการโครงการสำรวจดวงจันทร์ Artemis
ดังนั้น แม้รัสเซียจะอยู่ในช่วงที่เผชิญมาตรการลงโทษด้านเศรษฐกิจจากชาติตะวันตกที่นำโดยสหรัฐฯ เนื่องมาจากสงครามรัสเซียรุกรานยูเครน ซึ่งทำให้รัสเซียไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีจากโลกตะวันตกได้อย่างที่เคย มอสโกได้หันไปกระชับความแน่นแฟ้นกับพันธมิตรอย่างจีน ซึ่งทำให้มีการคาดการณ์กันว่า รัสเซียอาจกำลังพยายามเกาะจีนเพื่อไต่กลับไปให้ถึงจุดสุดยอดของความฝันนี้ให้ได้ภายใน 10-15 ปีจากนี้
อย่างไรก็ดี ความมุ่งมั่นครั้งล่าสุดของรัสเซียก็ต้องจบด้วยความล้มเหลวอีกครั้ง หลังยานลูนา-25 ประสบเหตุทางเทคนิคและสูญเสียการควบคุมขณะบินเข้าวงโคจรดวงจันทร์ ก่อนจะตกลงบนพื้นดาวโดยยังไปไม่ถึงจุดหมายที่ขั้วใต้
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.