"ก้าวหน้า-ปอนด์" เจอฉากสุดพีค ซีนอารมณ์บีบหัวใจ "รถรางเที่ยวสุดท้าย" EP.10
กำลังเดินเรื่องไปอย่างเข้มข้น และสนุกสนานทีเดียว สำหรับละคร รถรางเที่ยวสุดท้าย ผลิตโดย ไทยพีบีเอส ร่วมกับ สตาร์ฟีนิกซ์ ฝีมือการกำกับของ ฝุ่น-จีรภา ระวังการณ์ เรื่องราวของคนต่างวัยที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน ทั้งทัศนคติ และการดำเนินชีวิต ที่แฟน ๆ ละครต่างชื่นชมละครเรื่องนี้เอามาก ๆ
โดยเฉพาะ “ทักษะการแสดง” ของนักแสดงต่างวัย ทั้งรุ่นใหญ่ รุ่นกลาง และรุ่นใหม่ที่เชือดเฉือนอารมณ์กันได้ดี แน่นอนว่า “นักแสดงรุ่นใหญ่” ได้รับคำชื่นชมอย่างล้นหลาม ส่วน “นักแสดงรุ่นใหม่” ก็ได้รับการชื่นชมไม่แพ้กัน ซึ่งสองหนุ่มนักแสดงนำอย่าง ก้าวหน้า-กิตติภัทร แก้วเจริญ ที่รับบท “นที” และ ปอนด์-พลวิชญ์ เกตุประภากร ที่รับบท “ภราดร” ก็สามารถถ่ายทอดตัวละครออกมาได้เป็นอย่างดีทีเดียวเช่นกัน
สำหรับเรื่องราวของเรื่องได้ดำเนินมาถึงจุดพีคของสองหนุ่ม ซึ่งเปรียบเสมือน “ปมในชีวิต” ทั้ง นที และ ภราดร ต่างมีปัญหาที่แตกต่างกันออกไปในตอนล่าสุด ซึ่งผู้กำกับฯ ฝุ่น ให้นักแสดงถ่ายทอดอารมณ์สุดพีคของสองตัวละครนี้ ชนิดที่ว่าแฟน ๆ เตรียมกระดาษทิชชูซับน้ำตาไว้ได้เลย โดยในตอนนี้ หลังจาก “นที” และ “ภราดร” ตัดสินใจกลับบ้านต่างจังหวัด ภราดร ซึ่งมีพ่อป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย โดยตลอดเวลาพ่อเห็น ภราดร เป็นตัวซวยมาตั้งแต่เกิด ภราดร มักถูกพ่อตี และทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจ การกลับบ้านคราวนี้ ภราดร ได้มาทำหน้าที่ “ลูก” ครั้งสุดท้าย ส่วน “นที” ก็มาบอกความจริงกับพ่อแม่ เรื่องที่เขาเป็น “เกย์” แต่พ่อแม่ของ นที จะรับได้หรือเปล่า แฟน ๆ ละครต้องช่วยลุ้นกันล่ะ!!!
ก่อนไปชมในละครแบบเต็ม ๆ เรามีภาพเบื้องหลังของสองฉากนี้มาให้แฟน ๆ ละครได้ชมกันก่อน โดยในฉากบ้านของ นที ผู้กำกับฯ และทีมงานได้ใช้บ้านแถวพุทธมณฑลสาย1 เป็นสถานที่ถ่ายทำ โดยผู้กำกับฯ เซ็ตฉากบนโต๊ะอาหารที่มี พ่อ แม่ และ นที ร่วมโต๊ะด้วย ซึ่งเมื่อแม่พูดถึงลูกสาวน้า แล้วพ่อแซวว่าให้พูดกับลูกตรง ๆ ว่า ลูกมีแฟนหรือยัง ถ้าไม่มีแม่จะแนะนำให้ นที มีท่าทีอึดอัดก่อนโพล่งขึ้นมาว่า “ผมเป็นเกย์ครับ” แล้วก่อนถ่ายทำฉากนี้ก็ต้องมีการซักซ้อมบทกันก่อนจากนั้น ก้าวหน้า ก็ขอเวลาทำอารมณ์กับฉากนี้ เพราะฉากนี้ถือเป็น “จุดพีค” ในชีวิตของ นที ที่กลัวพ่อแม่ผิดหวังและเสียใจในตัวเขา ซึ่งเมื่อพูดออกไปแล้ว เขาก็รอฟังคำตอบจาก พ่อและแม่ อย่างใจจดใจจ่อ แต่พ่อแม่จะยอมรับได้หรือไม่ อยากให้แฟน ๆ ร่วมลุ้นไปรอชมกัน แต่ขอบอกเลยว่าการแสดงฉากนี้ ก้าวหน้าแสดงสีหน้าและอารมณ์ออกมาได้เฉียบมาก แม้จะมีเทคบ้าง 2-3 ครั้ง แต่การแสดงอารมณ์ก็ยังมาเต็มจนผ่านพ้นไปด้วยดี ทั้งนี้ ก้าวหน้า ได้เผยความรู้สึกในการแสดงฉากนี้ว่า
“ฉากนี้มันเหมือนเป็นการยกภูเขาออกจากอก แต่ว่าเขาไม่ยอมรับ มันก็เลยเหมือนกดดันลงมาอีก การแสดงมันเลยซับซ้อนนิดนึงครับ เราจะปล่อยหมดก็ไม่ได้ จะเก็บไว้มากน้อยขนาดไหน หรือว่าจะดีใจเสียใจดี มันมีความสับสนไปหมด เป็นซีนที่ทำการบ้านยากนิดนึง ก่อนที่จะเล่นทุกครั้ง แน่นอนว่าเราต้องท่องบท แต่ละบทที่เราพูดเรารู้สึกอย่างไร คิดอะไร มันจะมี subtext อยู่ข้างในนั้น พอไปถึงหน้าเซ็ต เราจะปล่อยให้บรรยากาศพาไป ข้าวทุกจานที่เรากินมันคืออะไร ทุกอย่างมันสามารถกระทบจิตใจเราได้หมด มันเลยทำให้เราเล่นออกมาได้อย่างรู้สึก ซึ่งฉากนี้ก็เล่นกันอยู่หลายเทคเลยครับ คืออาจจะด้วยเทคนิคด้วย และมีนักแสดงหลายคนด้วย กล้องต้องรับหลายมุมด้วย เราก็ต้อง keep inner ให้ได้ ซึ่งถ้าอย่างไหนที่มันน้อยไป พี่ฝุ่นก็จะขอให้ปล่อยมากกว่านั้น ยอมรับว่าเป็นฉากที่พอผ่าน ก็ดีใจมากเลยครับ”
ส่วนอีกฉากที่ถือว่าเป็นฉากสุดพีคของ ปอนด์ กันบ้าง โดยฉากนี้ใช้บ้านชุมชนแถววัดทองฉิมพลี ตลิ่งชัน เป็นสถานที่ถ่ายทำ เป็นการรวมซีนอารมณ์ล้วน ๆ ตั้งแต่ ภราดร ตัดสินใจกลับมาหาพ่อเพื่อจะดูแล แล้วมีคำพูดที่กระแทกใจถามพ่อว่า “จะให้ผมเรียกว่า พ่อ ได้ไหมครับ” แล้วมาฉากดูแลพ่อ จนไปถึงฉากสุดท้ายของชีวิตพ่อ แต่ก็ยังเจอคำพูดสุดท้ายของพ่อว่า “ตัว...ซวย” เชื่อว่าใครได้ดูฉากเหล่านี้ต้องมีจุกอกไปกับคำพูดและมีน้ำตาไหลไปกับตัวละครแน่ ซึ่งก่อนถ่ายฉากนี้ ปอนด์ ถึงกับเดินออกไปจากหน้าเซ็ตเพื่อขอไปทำอารมณ์หลังจากมีการซักซ้อมกันเลย เมื่อพร้อมจึงเดินกลับเข้ามาถ่ายทำ เมื่อเสียงผู้กำกับฯ สั่งเดินกล้อง ปอนด์ ที่ทำการบ้านมาอย่างดีก็ถ่ายทอดอารมณ์ตัวละครแบบสุดตัว น้ำตาเหมือนสั่งได้ จะให้คลอหรือจะให้ไหล แม้จะต้องเปลี่ยนมุมกล้อง ปอนด์ ที่เหมือนเครื่องติดก็แสดงได้กินใจมาก ๆ ซึ่ง ปอนด์ ได้พูดถึงการแสดงในฉากนี้ว่า
“ผมรู้สึกว่าซีนกับ พ่อ มันสำคัญหมด ตั้งแต่ไปเจอพ่อ ดูแลพ่อ แล้วสุดท้ายดูแลแล้ว พ่อก็เสียชีวิต เพราะว่าตอนไปเจอตัว ภราดร พูดชัดเจนเลยว่า เขามาด้วยความเห็นใจ แต่เขาก็ยังมีความสงสัยในสิ่งที่เขาทำอยู่ หรือมีความมั่นใจอยู่ร้อยเปอร์เซ็นต์กับการกลับมาหาพ่อในครั้งนี้ ซึ่งโมเมนต์ที่กลับมาครั้งแรก เราตั้งใจให้อภัยเขา แต่ความสัมพันธ์มันไม่ได้ขนาดนั้น แล้วในระหว่างทางที่ได้ดูแลพ่อ ความสัมพันธ์เริ่มลึกซึ้ง เราได้แตะตัวสัมผัสเขา ดูแลเทคแคร์เขาจริง ๆ ได้อยู่กับเขา ใช้ความเป็นพ่อลูกในชีวิตของภราดรจริง ๆ แล้วพอถึงจุดที่ว่าพ่อเสียชีวิต มันเป็นโมเมนต์ที่อธิบายยากมากนะ คือมันกำลังเริ่มมีความหวังในการปรับความเข้าใจกับพ่อ อีกนิดนึงก็น่าจะรู้ว่าพ่อก็ต้องให้อภัย แต่ ณ จังหวะสุดท้ายก่อนที่พ่อจะเสียชีวิต เขาก็ยังด่าเราว่าเป็นตัวซวยเหมือนเดิม ซึ่งความรู้สึกนี้สำหรับตัวผมนะ มองว่าเป็นความน่าเสียดายในความสัมพันธ์ของพ่อลูกคู่นี้ครับ ยอมรับว่าตอนที่แสดงมันตีความถ่ายทอดอารมณ์ออกมายากมาก อยากให้ทุกคนได้ดูฉากนี้เพราะผมจัดเต็มจริง ๆ”
เมื่อทุ่มเทกันขนาดนี้ แฟน ๆ ก็ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง เตรียมติดตามฉากนี้ได้ในละคร “รถรางเที่ยวสุดท้าย” ในวันที่ 2 มีนาคม 2567 เวลา 20.30 น. และทุกวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ เวลา 20.30 น. ทางไทยพีบีเอส ช่องหมายเลข 3
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.