ลองขับ NETA V-II 2024 ใหม่ ปรับโฉมทันสมัย เพิ่มฟังก์ชัน ADAS ปลอดภัยยิ่งขึ้น
เดิมที NETA V ก็ถือเป็นรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นขายดีในบ้านเราอยู่แล้ว การปรับโฉมเปลี่ยนเป็น NETA V-II ครั้งนี้ ก็น่าจะกระตุ้นยอดขายเพิ่มขึ้นได้ไม่น้อย ด้วยออปชันที่เพิ่มขึ้นจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด แลกกับราคาจำหน่ายที่ยังคงเน้นเข้าถึงง่ายเช่นเคย
NETA V-II (อ่านว่า เนต้า วี-ทู) ถูกเปิดตัวอย่างเป็นทางการที่งานบางกอกอินเตอร์เนชันแนลมอเตอร์โชว์ เมื่อเดือนมีนาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยถือเป็นการต่อยอดมาจาก NETA V รุ่นแรก (ที่ยังคงวางจำหน่ายควบคู่กัน) เพิ่มเติมด้วยอุปกรณ์มาตรฐานเน้นความคุ้มค่าทันสมัยมากยิ่งขึ้น รวมถึงการติดตั้งระบบความปลอดภัย ADAS เป็นครั้งแรก กับราคาจำหน่ายที่ยังคงต่ำกว่า 6 แสนบาทเช่นเคย
ราคาจำหน่าย NETA V-II ทั้ง 2 รุ่นย่อย
- NETA V-II Lite ราคา 549,000 บาท
- NETA V-II Smart ราคา 569,000 บาท
รูปลักษณ์ภายนอกเปลี่ยนไปจากเดิมเล็กน้อย
ดีไซน์ภายนอกของ NETA V-II มีการตกแต่งเน้นลูกเล่นเพิ่มขึ้นจากเดิม ด้วยไฟหน้าที่ถูกเปลี่ยนเป็นแบบ Projector LED จากเดิมที่เป็นฮาโลเจน พร้อมระบบเปิด-ปิดไฟหน้าอัตโนมัติ และไฟเลี้ยวแบบ LED ส่วนกันชนหน้าถูกออกแบบด้วยลวดลายรังผึ้ง เสริมความหรูขึ้นอีกนิดด้วยแถบโครเมียมที่ปลายกันชน
จุดเปลี่ยนสำคัญอยู่ที่ด้านท้ายที่มีการออกแบบชุดไฟท้าย Through-type LED มีแถบพาดยาวเชื่อมไฟทั้งสองข้างเข้าไว้ด้วยกัน รวมถึงกันชนท้ายที่ถูกออกแบบใหม่ทั้งหมด ตกแต่งด้วยแถบโครเมียมเพื่อให้เข้ากับดีไซน์ด้านหน้า ส่วนล้อยังคงเป็นลายเดิมขนาด 16 นิ้ว พร้อมดิสก์เบรกทั้ง 4 ล้อ
ห้องโดยสารเหมือนเดิม เพิ่ม ADAS เพื่อความปลอดภัย
แม้ว่าตัวรถจะมีขนาดกะทัดรัด แต่ด้วยการออกแบบหลังคาให้สูงโปร่ง ทำให้ห้องโดยสารไม่รู้สึกอึดอัดจนเกินไปนัก โดดเด่นด้วยหน้าจอสัมผัสแนวตั้งขนาด 14.6 นิ้ว รองรับการเชื่อมต่อ Apple CarPlay ผ่านสาย USB ได้ ส่วนหน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่ขนาด 12 นิ้ว ถูกยกมาจาก NETA V เดิมเช่นกัน
สำหรับ Interface ของหน้าจอกลางขนาด 14.6 นิ้ว ก็ยังยืนยันคำเดิมว่าใช้งานง่าย ตอบสนองไวไม่แพ้ iPad และมีรูปแบบการแสดงผลที่สวยงาม พร้อมทั้งมีปุ่ม Shortcut เพื่อการเข้าถึงเมนูต่างๆ ได้สะดวกขึ้น แต่ถึงกระนั้นการปรับเพิ่ม-ลดระดับเสียงก็ยังจำเป็นต้องใช้การแตะบนหน้าจอ หรือไม่ก็กดปุ่มที่พวงมาลัยอยู่ดี เนื่องจากไม่มีปุ่มหมุนมาให้เหมือนรถรุ่นอื่นๆ ที่เริ่มนำปุ่ม Volume กลับมาบ้างแล้ว
พวงมาลัยเป็นแบบ 2 ก้าน ตัดเรียบทั้งส่วนบนและส่วนล่าง ชวนให้นึกถึงพวงมาลัยของเปอโยต์รุ่นใหม่ๆ รอบวงมีขนาดเล็ก จับกระชับมือ สามารถควบคุมทิศทางได้ง่ายและฉับไว เพิ่มเติมด้วยปุ่มควบคุมการทำงานของระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ หรือ ICA - Integrated Cruise Assist ที่บริเวณด้านซ้ายของพวงมาลัย
ก้านควบคุมตำแหน่งเกียร์ถูกติดตั้งไว้ทางด้านขวามือของพวงมาลัย โดยหากต้องการเปิดระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ (ICA) ก็ใช้วิธีกดก้านลงแบบเดียวกับ Tesla เปี๊ยบ
ส่วนอุปกรณ์มาตรฐานอื่นๆ ของทั้งรุ่น Lite และ Smart ประกอบด้วย ระบบกุญแจ Smart Key, ระบบปรับอากาศพร้อมกรองฝุ่น N95, ช่อง USB หน้าและหลังรวม 3 ตำแหน่ง, ที่ชาร์จมือถือไร้สาย, เบาะนั่งคู่หน้าปรับมือ 6 ทิศทาง, เบาะนั่งด้านหลังพับพนักพิงได้ พร้อมเข็มขัดนิรภัย 3 ตำแหน่ง และลำโพง 6 ตำแหน่ง
ระบบความปลอดภัยขั้นสูง ADAS (เฉพาะรุ่น Smart) ประกอบด้วย
ระบบช่วยเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติ (AEB)
ระบบช่วยเตือนเมื่อเสี่ยงต่อการชนรถคันหน้าขณะขับขี่ (FCW)
ระบบช่วยเตือนเมื่อรถคันหน้าเคลื่อน (FSA)
ระบบช่วยควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน (ACC)
ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติเมื่อความเร็วต่ำ (TJA)
ระบบเปิด-ปิดไฟสูงอัตโนมัติ (HBA)
ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติอัจฉริยะ (ICA)
ระบบช่วยเตือนเมื่อรถออกนอกเลน (ELKS)
ขณะที่ระบบความปลอดภัยมาตรฐานของ NETA V-II ทั้ง 2 รุ่นย่อย ได้แก่ ระบบเบรกมือไฟฟ้า EPB พร้อม Auto Vehicle Hold, ระบบเบรก ABS/EBD, ระบบควบคุมการทรงตัว ESC, ระบบป้องกันล้อหมุนฟรีและควบคุมการลื่นไถล TCS, ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HAC, ระบบควบคุมความเร็วขณะลงทางลาดชัน HDC, ระบบตรวจสอบความผิดปกติของลมยาง TPMS และระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ Cruise Control
NETA V-II ติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้า Permanent Magnet Synchronous Motor กำลังสูงสุด 95 แรงม้า (PS) แรงบิดสูงสุด 150 นิวตัน-เมตร และแบตเตอรี่แบบ Lithium-ion ความจุ 36.1 kWh ให้ระยะทางขับขี่ 382 กม. (ตามมาตรฐาน NEDC) รองรับการชาร์จด่วนจาก 30-80% ในเวลาประมาณ 30 นาที
ขับง่าย คล่องตัว ระบบ ADAS ทำงานดี
จากการขับขี่เป็นระยะทางสั้นๆ ณ ศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ หรือ ATTRIC พบว่า NETA V-II มีการตอบสนองเหมือนกับรุ่น NETA V เปี๊ยบ ไม่ว่าจะเป็นด้านอัตราเร่ง และการทรงตัวของช่วงล่าง แม้ว่าจะมีแรงม้าเพียง 95 ตัว แต่ด้วยแรงบิดสูงสุดที่มาแบบทันทีทันใด ทำให้รถมีความคล่องตัวตามฉบับรถยนต์ไฟฟ้า
ความเร็วสูงสุดยังคงจำกัดไว้ที่ 110 กม./ชม. ในโหมดปกติ และเพิ่มเป็น 120 กม./ชม. ในโหมด Sport เพียงพอต่อการใช้งานแบบไม่รีบร้อน แต่จุดสำคัญอยู่ที่การเพิ่มระบบช่วยเหลือการขับขี่ต่างๆ โดยเฉพาะระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติอัจฉริยะ (ICA) ที่สามารถปรับความเร็วตามรถคันหน้าได้โดยอัตโนมัติ ซึ่งการทดสอบพบว่าหากมีรถแทรกเข้ามาด้านหน้าในระยะค่อนข้างกระชั้นชิด ตัวรถจะลดความเร็วลงอย่างนุ่มนวล ไม่เบรกจนหัวทิ่มเหมือนกับระบบ ACC ยุคแรกๆ แต่การทำงานบนถนนจริงคงต้องรอการทดสอบกันอีกครั้ง
อีกหนึ่งระบบที่เรามีโอกาสทดลองใช้งานนั่นก็คือ ระบบช่วยเตือนเมื่อรถออกนอกเลน ELKS - Emergency Lane Keeping Assist โดยระบบนี้จะไม่ได้เป็นการช่วยประคองรถให้อยู่กลางเลนเหมือนกับระบบ LKAS ของฮอนด้า แต่จะเป็นการดึงพวงมาลัยกลับหากพบว่าหากล้อรถข้างใดข้างหนึ่งแตะเส้นแบ่งเลนจนเกือบจะทะลุไปอีกเลน ซึ่งระบบที่ว่านี้ทำงานทั้งบนเส้นทึบและเส้นประ และถือว่าค่อนข้างไว้ใจได้พอสมควร
อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดของการแสดงผลบนหน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่ขนาด 12 นิ้ว ทำให้การแสดงข้อมูลเกี่ยวกับระบบ ADAS ถูกย้ายไปแสดงบริเวณส่วนล่างของหน้าจอกลางขนาด 14.2 นิ้วแทน ซึ่งไม่ใช่ตำแหน่งที่ดีนักในการเหลือบมองขณะขับรถ
สรุป NETA V-II ก็คือ NETA V ที่เพิ่มความน่าใช้ขึ้นอีกขั้น
นอกจากรูปลักษณ์ที่มีการปรับเปลี่ยนจากรุ่น NETA V เดิม (ซึ่งความสวยงามก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลเลย) การเพิ่มอุปกรณ์มาตรฐานอีกหลายอย่าง รวมถึงระบบความปลอดภัย ADAS ก็ทำให้รถคันนี้มีความน่าใช้มากยิ่งขึ้น ยิ่งเมื่อพิจารณาคู่กับราคาจำหน่ายตัวท็อปเพียง 569,000 บาท ก็น่าจะเพียงพอที่จะรักษาตำแหน่งรถยนต์ไฟฟ้าขายดีเอาไว้ได้ เรียกว่าถ้าจะเน้นความคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่เสียไปแล้วล่ะก็ นาทีนี้คงไม่มีใครสู้ NETA V-II ได้แล้วล่ะครับ
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.