6 สาเหตุยอดฮิตที่นำไปสู่อุบัติเหตุบนท้องถนนในไทย
“อุบัติเหตุบนท้องถนน” ถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของคนไทย โดยเฉพาะ “รถจักรยานยนต์” ซึ่งองค์การอนามัยโลก หรือ WHO เคยจัดอันดับให้ไทยเป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากการจราจรเป็นอันดับที่ 9 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน เมื่อปี 2018 เนื่องจากมีผู้เสียชีวิตบนท้องถนนเฉลี่ยร้อยละ 32.7
สาเหตุสำคัญ 3 ประการที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ก็อาจเป็นได้ทั้งตัวเราเอง สภาพของยานพาหนะ และสภาพแวดล้อมของถนนหาทาง แต่รู้หรือไม่ว่า อุบัติเหตุที่เกิดจาก “ความประมาท” ของตัวเราเองนี่แหละที่เป็นสาเหตุหลักที่สุด คนไทยใช้รถใช้ถนนกันประมาทมาก ที่พบเห็นได้ทั่วไปคือ การละเมิดกฎจราจรจนกลายเป็นความเคยชิน ทำกันเป็นปกติ เคยทำมาทุกครั้งแล้วยังปลอดภัยก็จะยังคงทำไปเรื่อย ๆ จนในที่สุด มันก็มันนำไปสู่อุบัติเหตุชวนสลดอยู่บ่อยครั้ง ทว่ามูลเหตุของการเกิดอุบัติเหตุไม่ได้ทำให้รู้สึกประหลาดใจแต่อย่างใด เพราะข้อเท็จจริงข้อหนึ่งที่เราต้องยอมรับ ก็คือมีคนจำนวนมากที่ “สมัครใจ” จะใช้ชีวิตกันเสี่ยง ๆ แบบนั้นเอง ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่ามันเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ!
การฝ่าฝืนกฎจราจร
อย่างที่บอกไปเมื่อก่อนหน้านี้ ว่าสาเหตุหลัก ๆ ของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ถ้าไม่ใช่รถบกพร่อง ก็คนนี่เองที่บกพร่อง หรือที่เรียกว่า Human Error โดยมีสถิติที่น่าสนใจของต่างประเทศ โดยหน่วยงานความปลอดภัยบนทางหลวงแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ National Highway Traffic Safety Administration (NHTSA) ที่มีการเปิดเผยถึงตัวเลขเมื่อปี 2015 ว่า สาเหตุของอุบัติเหตุทางถนนร้อยละ 94 มาจาก Human Error โดยมีการเก็บข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนกว่า 2.189 ล้านเคส พบว่า 2.046 ล้านเคส มาจากความบกพร่องของผู้ขับขี่ คิดเป็นร้อยละ 94 ขณะที่ข้อบกพร่องจากรถ รวมถึงสิ่งแวดล้อม และอุบัติเหตุที่หาสาเหตุไม่ได้ มีอย่างละร้อยละ 2 เท่านั้น
เมื่อสาเหตุของอุบัติเหตุทางถนนกว่าร้อยละ 94 มาจากความผิดพลาดของมนุษย์ กฎจราจรจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์เพื่อเพิ่มความปลอดภัย เพราะกฎระเบียบเหล่านี้ถูกบัญญัติขึ้นเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนของทุกคน และเมื่อใดก็ตามที่มีใครสักคนฝ่าฝืนกฎจราจร มันจึงเป็นพฤติกรรมเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุตามมาได้ หลายต่อหลายครั้งเป็นการกระทำโดยประมาท รู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่าจะมีอุบัติเหตุร้ายแรงตามมา ฝ่าฝืนกฎจราจรด้วยความเคยชิน ก็ทำแบบนี้มาตลอดไม่เห็นจะเป็นอะไร แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะปลอดภัยแบบนี้ไปเสียทุกครั้ง อาจมีครั้งไหนที่โชคไม่เข้าข้าง เมื่อนั้นก็จะรู้ตัวว่าคิดได้เมื่อสายเกินไปแล้ว
พฤติกรรมการขับขี่ที่ฝ่าฝืนกฎจราจรก็อย่างเช่น ใช้ความเร็วเกินที่กฎหมายกำหนด การขับขี่ย้อนศร การซ้อนสาม (รถจักรยานยนต์) การแซงผิดฝั่ง การไม่คาดเข็มขัดนิรภัย การไม่สวมหมวกนิรภัย เมาแล้วขับ ฯลฯ กฎหมายเหล่านี้มีเพื่อห้ามไม่ให้ทำ เพื่อที่จะได้ลดความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุขึ้น แต่สิ่งที่เราพบเห็นทั่วไปก็คือ กฎหมายที่ว่ามาทั้งหมดไม่สามารถนำมาใช้ลดการเกิดอุบัติเหตุได้ตามที่คาดหวังเลย เพราะมีคนจำนวนหนึ่งที่พร้อมจะฝ่าฝืนกฎทั้งหมดนี้อยู่ตลอดเวลาเพราะความเคยชินของตัวเอง ยิ่งไม่มีการกวดขันการบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างจริงจัง ก็อาจถูกมองว่ามันไม่ได้บังคับใช้อยู่ ก็มีแนวโน้มที่คนจะไม่ปฏิบัติตาม กฎจราจรจึงมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของคนน้อยมาก
ความเร็วเกินที่กฎหมายกำหนด
การใช้ความเร็วเกินที่กฎหมายกำหนด เป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนมากที่สุด สถิติอุบัติเหตุรถยนต์ โดยกระทรวงคมนาคม ของปีพ.ศ 2564 ได้มีการทำหลักฐานอธิบายมูลเหตุของการเกิดอุบัติเหตุรถยนต์ พบว่าการขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนมากที่สุด โดยมีจำนวนอุบัติเหตุทั้งหมด 15,305 ครั้ง หรือคิดเป็นร้อยละ 74.81 ซึ่งความเร็วที่เพิ่มขึ้นมีความสัมพันธ์โดยตรงกับโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุ และความรุนแรงของอุบัติเหตุ
เรื่องความเร็ว จึงเป็นอีกเรื่องที่ต้องใส่ใจและให้ความสำคัญ เพราะความเร็วสูงสุดที่กฎหมายประกาศให้ใช้ได้ตามจุดต่าง ๆ นั้น เป็นตัวเลขที่มาจากการวิเคราะห์ความปลอดภัยในการขับขี่เป็นอย่างดีแล้วเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ ดังนั้น ผู้ขับขี่จึงควรต้องมีวินัยในการขับรถตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เส้นทางไหนอนุญาตให้ใช้ความเร็วสูงสุดได้เท่าไร ก็ต้องรักษาวินัยจราจรตามนั้น โดยถ้าหากไม่ปฏิบัติ จะมีโทษปรับสูงสุด 1,000 บาท
ไม่สวมหมวกนิรภัยและไม่คาดเข็มขัดนิรภัย
ทุกปีมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนทั่วโลกเกือบ 1.2 ล้านคน โดยร้อยละ 70-90 ของผู้เสียชีวิตในประเทศไทย เป็นผู้ขับขี่จักรยานและจักรยานยนต์ ซึ่งการบาดเจ็บที่ศีรษะเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตและพิการ สิ่งที่เราทราบกันดีอยู่แล้วก็คือ การสวมหมวกนิรภัยจะช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตเนื่องจากการบาดเจ็บที่ศีรษะ ได้ถึงร้อยละ 43 สำหรับผู้ขับขี่ และร้อยละ 58 สำหรับผู้นั่งซ้อนท้าย เพราะฉะนั้น ควรสวมหมวกนิรภัยทั้งคนขี่และคนซ้อน เพื่อความปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม ความประมาทของคนไทยจำนวนหนึ่งก็คือ คิดว่าการเดินทางใกล้ ๆ เช่น ออกไปร้านสะดวกซื้อ ออกไปซื้อกับข้าว ไม่ต้องสวมหมวกนิรภัยก็ได้ (สูงถึงร้อยละ 64) แต่ในความเป็นจริง จากสถิติพบว่าระยะทาง 5 กิโลเมตร คือระยะทางอันตรายที่มีคนเจ็บและตายมากที่สุด มากกว่าครึ่งของการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ จะเกิดขึ้นในระยะทางเพียง 5 กิโลเมตรเท่านั้นจากที่พักอาศัย ดังนั้น ไม่ว่าจะไปใกล้แค่ไหน ก็อย่าประมาทไม่สวมหมวกนิรภัย ผู้ขับขี่และผู้โดยสารรถจักรยานยนต์ จำเป็นต้องสวมหมวกนิรภัยตามกฎหมายทุกครั้ง เพื่อลดความเสี่ยงการบาดเจ็บและการเสียชีวิต โดยอัตราโทษสำหรับการไม่สวมหมวกนิรภัย ปรับสูงสุดถึง 2,000 บาท
การคาดเข็มขัดนิรภัยก็เช่นกัน เมื่อขึ้นนั่งบนรถเรียบร้อยแล้ว สิ่งแรกที่ต้องทำ คือคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งก่อนออกรถเพื่อความปลอดภัยในการขับขี่ เพราะในกรณที่เกิดอุบัติเหตุหรือมีการเบรกรถอย่างกะทันหันในขณะขับขี่ เข็มขัดนิรภัยที่คาดไว้จะคอยรั้งตัวเราไม่ให้ตัวไปกระแทกกับอะไรจนได้รับบาดเจ็บ และในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุร้ายแรง ยังช่วยรั้งตัวเราไว้ไม่ให้กระเด็นออกจากตัวรถ ซึ่งจะทำให้มีโอกาสรอดชีวิตได้มากกว่า ที่สำคัญ ตามกฎหมายยังระบุไว้ว่า ผู้ขับรถรวมถึงผู้โดยสาร จะต้องรัดเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งในขณะขับรถตลอดเวลา หากฝ่าฝืนจะถือว่ามีความผิด ต้องระวางโทษปรับคนขับ 500 บาท และผู้โดยสารอีก 500 บาท
การพาเด็กโดยสารไปด้วย
อีกเรื่องน่ากังวลก็คือ การมีเด็กร่วมโดยสารไปด้วย ทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ สำหรับรถจักรยานยนต์ ถ้ามีเด็กซ้อนท้าย ต้องมีหมวกนิรภัยสำหรับเด็ก โดยเลือกที่มีขนาดพอดี น้ำหนักเหมาะสม รูปทรงของหมวกไม่เป็นอุปสรรคต่อการมองเห็นและการได้ยิน ที่สำคัญ ควรมีเครื่องหมาย มอก. เพราะการใช้หมวกนิรภัยอย่างถูกต้อง จะสามารถลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้มากถึง 6 เท่า และลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บที่สมองได้ถึงร้อยละ 74 ส่วนรถยนต์ ถ้าเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี หรือคนโดยสารที่มีความสูงไม่เกิน 135 ซม. ต้องจัดให้นั่งเบาะเสริมเพื่อความปลอดภัย หรือ Car Seat โดยการใช้เบาะเสริมเพื่อความปลอดภัย จะช่วยลดการเสียชีวิตในเด็กถึงร้อยละ 71 เลยทีเดียว
แต่สิ่งที่เรามักจะพบเห็นเป็นประจำ คือ การพาลูกเด็กเล็กแดงนั่งไปด้วยบนรถจักรยานยนต์ บางทีอาจให้นั่งข้างหน้าคนขี่ หรือบางทีก็ให้เด็กเล็ก ๆ ยืนบนเบาะระหว่างคนขี่และคนซ้อนท้ายอีกคน หรือเด็กอาจจะนั่งซ้อนท้ายปกติโดยไม่สวมหมวกนิรภัย จนไม่อยากจะนึกสภาพเลยว่าถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา เด็กเหล่านั้นจะเอาปาฏิหาริย์ที่ไหนมารอด เพราะพร้อม ๆ กันนั้น ยังมีการขับขี่ที่ไม่ปลอดภัยเอามาก ๆ บ่อยครั้งที่เราจะเห็นว่ารถเล็กชอบเข้าไปขี่ใกล้ ๆ เบียดกับรถคันใหญ่บริเวณจุดอับที่คนขับรถใหญ่มองไม่เห็น เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาก็กลายเป็นเหตุการณ์สุดสลด มีตัวอย่างให้เห็นตามข่าวมากมาย พอโดนรถใหญ่เฉี่ยวชนจนล้มลงแล้ว ก็อาจจะโดนเหยียบซ้ำจากรถใหญ่คันเดิม
ส่วนการพาเด็กขึ้นรถยนต์โดยปล่อยให้นั่งที่เบาะนั่งธรรมดา นอกจากจะไม่มีสายรัดร่างกายเด็กด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งหรือ Car Seat แล้ว เด็กเล็กยังอาจปีนป่ายหรือรื้อค้นสิ่งของภายในรถ ทำให้คนขับรถต้องละสายตาจากเส้นทาง และมัวแต่พะวงกับการดูแลและสังเกตพฤติกรรมเด็ก ส่งผลต่อสมาธิในการขับรถ ซึ่งการนำเด็กเล็กโดยสารรถตามลำพัง ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น 4 เท่า บ้างก็อุ้มเด็กนั่งตักขณะขับรถ ทำให้ผู้ขับขี่บังคับพวงมาลัยไม่ถนัด หรือเด็กอาจบังทัศนวิสัยในการมองเห็นเส้นทาง แล้วหากเด็กแย่งพวงมาลัยหรือเลื่อนเกียร์ จะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการขับรถด้วย ซึ่งการนำเด็กทารกโดยสารรถ ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น 8 เท่า
ให้เด็กที่อายุไม่ถึง 15 ปี ขี่รถจักรยานยนต์ออกถนนใหญ่ หรือให้เด็กอายุไม่ถึง 18 ปี ขับรถยนต์ออกถนนใหญ่
คุณสมบัติของผู้ที่จะขอมีใบอนุญาตขับขี่ สำหรับรถจักรยานยนต์ที่มีขนาดความจุกระบอกสูบรวมกันไม่เกิน 110 ลูกบาศก์เซนติเมตร จะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และสำหรับรถยนต์ส่วนบุคคล จะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ ดังนั้น การที่ผู้ปกครองอนุญาตให้เยาวชนที่ไม่มีใบอนุญาตขับขี่ นำรถทั้งรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ออกถนนสาธารณะทั้งที่ไม่มีใบอนุญาตขับขี่ จะถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย ซึ่งบ่อยครั้งเลยทีเดียวที่ความไม่พร้อมของผู้ขับขี่ ที่อาจจะอ่อนประสบการณ์บนท้องถนน รวมถึงอายุยังไม่ถึงตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ขับขี่ยานพาหนะบนถนนสาธารณะแล้วเกิดอุบัติเหตุชวนสลดขึ้น นี่จึงเป็นเรื่องที่ผู้ปกครองต้องตระหนักให้มากขึ้นกว่าเดิม
อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้เรามักจะเห็นคอนเทนต์แนวโพสต์อวดบุตรหลานที่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์และไม่มีใบอนุญาตขับขี่ ใช้ยานพาหนะต่าง ๆ บนท้องถนนร่วมกับผู้คนอื่น ๆ ในทำนองที่ว่าเด็กตัวแค่นี้ก็เก่งพอที่จะขับขี่ยานพาหนะออกถนนใหญ่ได้ (โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ ไม่สวมหมวกนิรภัยอีกต่างหาก) ทำเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วเป็นเรื่องอันตรายมาก แถมยังเป็นภาระให้กับผู้ที่ใช้รถใช้ถนนคนอื่น ๆ ต้องเดือดร้อนคอยระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุอีก รวมถึงการที่เราอาจได้เคยเสพข่าวเก่า ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่บ่อย ๆ ว่ามีเยาวชนที่ไม่มีใบอนุญาตขับขี่ ซิ่งรถหรูจนเกิดอุบัติเหตุ และเป็นเหตุให้ผู้อื่นที่ใช้รถใช้ถนนร่วมกันถึงแก่ความตายมาก็หลายครั้งหลายหนเช่นกัน
หากบุตรหลานที่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดและยังไม่มีใบอนุญาตขับขี่ ใช้ยานพาหนะแล้วเกิดอุบัติเหตุขึ้น ผู้ปกครอง ซึ่งเป็นผู้พิทักษ์ของผู้เยาว์ตามกฎหมายจะต้องเป็นผู้รับผิด ส่วนเจ้าของรถตัวจริง ในกรณีที่ไม่ใช่ผู้ปกครองของผู้เยาว์ก็ต้องมารับผิดชอบเรื่องความเสียหายด้วย แต่หากบริษัทประกันภัยตรวจสอบได้ว่าคนขับรถเป็นผู้เยาว์ ไม่มีใบขับขี่ ก็อาจจะมีผลต่อสัญญาเคลมประกัน เพราะถือว่าทำผิดต่อกฎหมาย และที่สำคัญที่สุดก็คือ “ชีวิต” ทั้งชีวิตของคนอื่นที่ต้องมาเดือดร้อนเพราะความประมาทของบุตรหลานของท่าน หรืออาจจะเป็นตัวบุตรหลานของท่านเอง ที่อาจจะไม่ได้โชคดีเป็นผู้รอดชีวิตจากอุบัติเหตุเสมอไป เพราะฉะนั้น อย่าเพิ่มความเสี่ยงจะดีที่สุด
เมาแล้วขับ
เมาแล้วขับ เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้ง เพราะคนไทยเมาได้ทุกที่ มีปาร์ตี้สังสรรค์กันได้ทุกคืน นั่นทำให้เราเห็นข่าวคนเมาแล้วขับจนเกิดอุบัติเหตุที่น่าหดหู่แทบทุกวัน บางครั้งอาจเกิดแค่ความเสียหายเล็กน้อยและไม่มีความสูญเสีย แต่บ่อยครั้งก็รุนแรงจนมีความสูญเสียเกิดขึ้น โดยอาจเป็นตัวคนที่เมาแล้วขับเอง หรืออาจเป็นคนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไรด้วยเลย แค่อยู่เฉย ๆ ข้างทาง หรือใช้รถใช้ถนนร่วมกันกับคนเมาแล้วขับเท่านั้น ซึ่งกรณีนี้ก็ต้องยอมรับว่ามันเป็นเรื่องที่คนจำนวนมากขาดจิตสำนึกที่จะปฏิบัติตามกฎหมาย “เมาไม่ขับ” การรณรงค์ที่ล้มเหลว รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่ขาดความรับผิดชอบและมาตรฐานการกวดขันที่ต่ำเอามาก ๆ ประเทศไทยจึงก้าวข้ามไม่พ้นเรื่องนี้เสียที
อย่างที่เราน่าจะทราบกันดีอยู่แล้ว ว่าการขับรถขณะมึนเมาจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุได้ ซึ่งอาจส่งผลให้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บสาหัส อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่คนที่เมาแล้วขับเท่านั้นที่มีความเสี่ยง แต่หมายรวมถึงเสี่ยงจะไปทำให้เพื่อนร่วมทางคนอื่น ๆ ที่เขาไม่ได้เมาหรือประมาทต้องมาเดือดร้อนไปด้วย เพราะการกระทำที่ไม่รับผิดชอบต่อสังคมของคนเพียงคนเดียว
มันเป็นเรื่องที่แย่มากจริง ๆ นะที่เราจะต้องเสี่ยงชีวิต ใช้รถใช้ถนนร่วมกับผู้ขับขี่ที่อยู่ในสภาพเมามายไม่พร้อมที่จะขับรถ แต่ชอบโอ้อวดว่าตัวเองเก่งออกมาโลดแล่นท้าความตายบนถนนอยู่เสมอ มีคนจำนวนไม่น้อยที่ดื่มเป็นประจำ แล้วคิดว่าปริมาณที่ตัวเองดื่มมันเล็กน้อยมากไม่ทำให้ถึงกับเมา ยังสามารถประคองสติและขับรถกลับบ้านได้ ซึ่งก็เพราะความคิดแบบนี้นี่เองที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุโดยไม่คาดคิดบ่อยครั้ง และทำให้คนที่เขาไม่เกี่ยวอะไรด้วยต้องเดือดร้อนไปด้วย ซึ่งมันคงจะดีกว่าถ้ารู้จักรับผิดชอบต่อสังคม หากดื่มเครื่องดื่มมึนเมาแม้จะเพียงเล็กน้อย ก็ควรเลือกใช้บริการรถสาธารณ ะหรือเดินทางไปพร้อมกับรถของคนอื่น ๆ ที่ไม่ได้ดื่มจะดีกว่า
การใช้โทรศัพท์มือถือในระหว่างขับขี่
ช่วงเวลาระหว่างขับขี่นั้น สมาธิถือเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก เราจำเป็นที่จะต้องโฟกัสอยู่กับถนน และรถมากมายที่รายล้อมอยู่รอบ ๆ เพื่อให้เกิดการขับขี่ที่ปลอดภัย แต่ยุคสมัยนี้คนติดโทรศัพท์มือถือกันมาก หลายต่อหลายคนติดจนถึงขั้นที่ต้องถือติดตัวตลอดเวลา แต่ถ้าหากขับขี่อยู่ ก็จะต้องหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาใช้ทุกครั้งที่มีโอกาสที่จะทำได้ โทรศัพท์มือถือจึงจัดเป็นสิ่งรบกวนสมาธิที่อาจนำไปสู่ความบกพร่องในการขับขี่ และกลายเป็นปัญหาด้านความปลอดภัยบนท้องถนนที่เพิ่มมากขึ้นด้วย แม้ว่ากฎหมายบ้านเราจะมีพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ที่ว่าหากฝ่าฝืนใช้งานโทรศัพท์มือถือระหว่างการขับขี่ จะมีโทษปรับ 400-1,000 บาท แต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไร
เพราะทุกวันนี้ เราจะเห็นได้ทั่วไปว่าผู้ขับขี่จำนวนมาก ขับ (ขี่) รถไปใช้โทรศัพท์มือถือไป หลายคนอาจมีความจำเป็นที่ต้องรีบตอบแชตธุระสำคัญ หรือไรเดอร์จำนวนมากที่จะต้องคอยดูแผนที่เพื่อไปส่งอาหาร แต่ท้ายที่สุด มันก็ทำให้สมาธิในการขับขี่และการตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ รอบตัวลดลงอยู่ดี และอาจเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุได้ มีข้อมูลที่ระบุว่าผู้ขับขี่ที่ใช้โทรศัพท์มือถือ มีแนวโน้มที่จะเกิดอุบัติเหตุมากกว่าผู้ขับขี่ที่ไม่ได้ใช้โทรศัพท์มือถือประมาณ 4 เท่า เพราะการใช้โทรศัพท์ขณะขับขี่จะทำให้เวลาในการตอบสนองช้าลง ทั้งการเบรก สัญญาณไฟจราจร การรักษาระยะห่างจากคันข้างหน้า การรักษาเลนตัวเองจนอาจไปเฉี่ยวเพื่อนร่วมทางข้าง ๆ เพราะสายตาจับจ้องอยู่ที่หน้าจอมากกว่า
การส่งข้อความจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุได้มากขึ้น เพราะผู้ขับขี่ต้องก้มหน้าดูโทรศัพท์ พร้อมใช้ปลายนิ้วสัมผัสเพื่อเลื่อนหน้าจอ พิมพ์ข้อความสนทนาโต้ตอบ ทำให้ต้องละสายตาจากเส้นทาง ซึ่งแม้จะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ แต่ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการขับขี่แน่นอน โดยการพิมพ์หรืออ่านข้อความทางโทรศัพท์ เพิ่มความเสี่ยงต่อที่จะเกิดอุบัติเหตุมากขึ้น 23 เท่า อีกทั้งการใช้โทรศัพท์มือถือจะทำให้เหลือมือจับพวงมาลัยเพียงข้างเดียวหรือบางคนอาจปล่อยพวงมาลัยทั้ง 2 มือ แล้วใช้เท้าบังคับรถเท่านั้นก็มี ซึ่งหากเกิดเหตุฉุกเฉิน จะไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าได้ทันท่วงที
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลว่าการใช้โทรศัพท์แบบแฮนด์ฟรี ก็ไม่ได้ปลอดภัยไปกว่ามากนัก (แต่ก็ยังมีข้อมูลว่าการสนทนาโทรศัพท์โดยไม่ใช้อุปกรณ์เสริม ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น 5 เท่า) เพราะการพูดคุยโทรศัพท์ก็ทำให้สมาธิของผู้ขับขี่จดจ่ออยู่กับบทสนทนาทางโทรศัพท์เช่นกัน สนใจสภาพแวดล้อมบนเส้นทางได้ลดลง ไม่สามารถจดจำรายละเอียดเส้นทาง ป้ายจราจร
หรือต่อให้ผู้ขับขี่จะไม่ได้ตอบข้อความและไม่ได้สนทนาทางโทรศัพท์ แต่พฤติกรรมเปิดความบันเทิงทิ้งไว้ แสงสว่าง ภาพเคลื่อนไหว เสียง ก็รบกวนสมาธิในการขับขี่เช่นกัน การฟังเพลงเสียงดัง ยังทำให้ผู้ขับขี่ไม่ได้ยินเสียงจากภายนอกรถ หากเกิดสิ่งผิดปกติขึ้น หรือผู้ขับขี่รถคันอื่นบีบแตรส่งสัญญาณเตือน ก็อาจไม่ได้ยิน ไม่สามารถแก้ไขเหตุฉุกเฉินเฉพาะหน้าได้ทันท่วงที และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ
บทความต้นฉบับ >> เมื่อเรา “สมัครใจประมาท” จนนำไปสู่อุบัติเหตุบนท้องถนน
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.