“ชัยวุฒิ” จ่อฟ้องปิดเฟซบุ๊ก ผิด พ.ร.บ.คอมพ์ รับเงินโฆษณาเพจหลอกลวง
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ดีอีเอสจะดำเนินการฟ้องต่อศาล เพื่อขอคำสั่งปิดกั้นแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก ภายใน 1 เดือนไม่ให้บริการในไทย หลังจากที่ผ่านมา เฟซบุ๊ก ได้มีการรับเงินโฆษณาจากเพจปลอม ที่หลอกชักชวนลงทุน จนเกิดความเสียหายต่อคนไทยจำนวนมาก
โดยจากสถิติการหลอกลวงลงทุนผ่านโซเซียลมีเดียกว่า 70% เป็นการหลอกลวงผ่านเฟซบุ๊ค และจำนวน 90% เป็นการหลอกขายของออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊ก มูลค่าความเสียหายมากกว่าหมื่นล้านบาท โดยกระทรวงดีอีเอสได้เชิญตัวแทนเฟซบุ๊กมาหารือถึงปัญหาดังกล่าวในวันนี้ (21 ส.ค.2566) แต่เฟซบุ๊กไม่มา
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเฟซบุ๊กมีการรับเงินจากเพจเหล่านี้ ซึ่งถือเป็นรายได้เข้าบริษัท แต่กลับไม่มีการตรวจสอบว่าเป็นเพจที่หลอกลวงหรือไม่ แต่กลับปล่อยให้เพจเหล่านี้มาหลอกลวงคนไทยจำนวนมาก แม้ที่ผ่านมา ดีอีเอส จะรวบรวมเสนอศาลขอคำสั่งปิดแต่เพจเหล่านี้ก็จะไปเปิดใหม่ เหมือนแมวไล่จับหนู ไม่จบสิ้น
นายชัยวุฒิ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้จะมีการแนะนำให้ผู้เสียหายแจ้งความดำเนินคดีกับแพลตฟอร์มด้วย ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาด้วย ขณะที่ทางดีอีเอสจะประสานกับทางตำรวจทำการรวบรวมหลักฐานเพื่อฟ้องต่อศาลเพื่อปิดกั้นแพลตฟอร์มเฟซบุ๊กไม่ให้บริการในไทย เนื่องจากผิด พรบ.คอมพิวเตอร์ ในการสบคบกับผู้กระทำผิดโดยการรับเงินโฆษณาจากมิจฉาชีพเหล่านี้
กระทรวงดีอีเอสต้องทำตามหน้าที่เสนอปิดกั้น ที่ผ่านมาพบการซื้อโฆษณามาหลอกลวงคนไทยจำนวนมาก โดยจะดำเนินการภายในเดือนนี้ แล้วก็มีดุลยพินิจของศาลว่าจะมีคำสั่งปิดกั้นหรือไม่ เป็นอำนาจของศาล และแพลตฟอร์มก็มีสิทธิร้องคัดค้าน ส่วนจะเป็นการกระทบสิทธิของผู้ใช้งานทั่วไปหรือไม่นั้น ก็คงต้องให้ศาลเป็นผู้พิจารณา และก็ไม่กลัวทัวร์ลง โดยตนจะขอทำหน้าที่เป็นรัฐมนตรีคนแรกที่ฟ้องเฟซบุ๊กเป็นผู้ร่วมกระทำความผิด ถือเป็นผลงานชิ้นสุดท้ายก่อนลงจากตำแหน่ง
อย่างไรก็ตาม ด้านพล.อ.ต. อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) เปิดเผยว่า สกมช.ได้ทำการสำรวจ เรื่อง เฟค แอด ในโซเชียล มีเดีย หรือสื่อสังคมออนไลน์ ที่เป็นการหลอกลวง พบว่า คนไทยกว่า 70% พบโฆษณาหลอกลวง บนโซเซียล มีเดีย มากกว่า 50% ของโฆษณาทั้งหมดในแต่ละวัน โดยโฆษณาหลอกลวง ที่พบมากที่สุดเป็นเรื่อง หลอกให้ลงทุนกว่า 52% รองลงมา ชักชวนเล่นพนัน 43% หลอกขายของถูกเกินจริง 40% หลอกทำงาน 24% และอื่นๆ 14%
ปัจจุบันมีโฆษณาหลอกลวงบนโซเซียล มีเดีย จำนวนมาก ทั้งที่ซื้อโฆษณา และที่โฆษณาแฝง เช่น ชักชวนเล่นพนัน และหลอกลวงลงทุน จึงอยากเตือนประชาชน ได้ตรวจสอบความน่าเชื่อถือ ของโฆษณาต่างๆบนโซเซียล มีเดีย อย่าหลงเชื่อง่ายๆ และ หากพบเห็นของให้ช่วยรายงาน ไปที่ เจ้าของแพลตฟอร์มโซเซียลมีเดียที่ให้บริการในไทย ซึ่งผู้ให้บริการเหล่านี้ก็พร้อมที่จะตรวจสอบ และทำการแก้ไข ระงับ เพื่อไม่ให้ผู้ใช้งานหลงเชื่อ หรือตกเป็นเหยื่อโฆษณาเหล่านี้
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.