เจาะลึก TVH ผู้นำ InsurTech จากจุดเริ่มต้นนวัตกรรม “ประกันรถเปิด-ปิด”
ปัจจุบันพฤติกรรมผู้บริโภคคนไทยมีความคุ้นชินกับการใช้ Mobile Banking Application มากขึ้นเป็นอย่างมาก เมื่อเทียบกับช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้บริษัทประกันหลายแห่งเริ่มหันมาให้ความสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างจริงจัง อาทิ การนำเทคโนโลยี IoT หรือ AI มาประเมินมูลค่าความเสียหาย ส่งใบประเมินราคาผ่านระบบออนไลน์ได้แบบเรียลไทม์ เพื่อลดขั้นตอนการเคลมประกันให้มีความรวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำมากขึ้น
ทั้งนี้ เพื่อหวังต่อยอดในการก้าวสู่ InsurTech อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมประกันภัย และภาพรวมเศรษฐกิจประเทศให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนในอนาคต
โดย “ประกันภัยไทยวิวัฒน์” ได้มุ่งเน้นเดินหน้าคิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีมาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลากว่า 70 ปีที่ผ่านมา เพื่อหวังยกระดับประสิทธิภาพงานบริการ รวมถึงออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยรูปแบบใหม่ ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการ รองรับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างลงตัว
“เทพพันธ์ อัศวะธนกุล” รองกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยวิวัฒน์ โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TVH เปิดเผยกับ “โพสต์ทูเดย์” ว่า บริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) หรือ TVI จัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2494 หรือจะครบ 72 ปี ในเดือน ต.ค.2566
โดยตั้งแต่รุ่นคุณปู่ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท มีพันธกิจ คือ เป็นหลักประกันที่มั่นคงของคนไทย เป็นบริษัทแรกๆ ของประกัน เริ่มจากประกันอัคคีภัย จากนั้นมีประกันรถยนต์เข้ามาเพิ่มเติม และช่วงที่ตนเข้ามาบริหาร เมื่อปี 2559 หรือเมื่อ 7 ปีก่อน มีการขยายไปยังไลฟ์สไตล์มากขึ้น ทั้งประกันสุขภาพ ประกันการเดินทาง และในช่วงโควิด-19 ก็ได้เพิ่มประกันสัตว์เลี้ยง เข้ามาเพิ่มเติมอีก ซึ่งบริษัทพร้อมที่จะเติมเต็มการใช้ชวิตของประชาชนให้มีความมั่นคง ใช้ชีวิตได้อย่างอิสระ ขณะเดียวกัน ความคุ้มครองมีการตอบโจทย์รายบุคคลมากขึ้น และได้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยมากขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ในอดีตบริษัทมีการนำเทคโนโลยี และนวัตกรรม เข้ามาใช้อย่างต่อเนื่อง เช่น บริษัทเป็นรายแรกที่นำเอาระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในการรับประกันภัย เป็นต้น หรือการเคลม มีการใช้ GPS ส่งสัญญาณโทรศัพท์เข้ามาแจ้งสถานที่เกิดเหตุ ถือได้ว่าผู้นำของบริษัทตั้งแต่อดีตมีพันธกิจในลักษณะนี้มาโดยตลอด
และในขณะนี้ที่เทคโนโลยีโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สามารถทำอะไรได้เร็วมากขึ้น ทำให้สนุกมากขึ้นในการดีไซน์ผลิตภัณฑ์ที่ตอบจทย์รายบุคคลมากขึ้น ทำให้ประกันภัยเข้าถึงคนได้มากขึ้น และยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้ดีขึ้น ซึ่งในเรื่องนี้ถือเป็นเป้าหมายหนึ่งของบริษัท
ล่าสุด TVI ได้มีการปรับโครงสร้างการถือหุ้นให้เป็นในรูปแบบ Holding Company โดยการนำ บริษัท ไทยวิวัฒน์ โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TVH เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และขอเพิกถอนหุ้น TVI ออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ
โดยออกและเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ของ TVH พร้อมกับการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์เดิมของ TVI ด้วยการแลก 1 หุ้นสามัญที่ออกใหม่ของ TVH ต่อ 1 หุ้นสามัญของ TVI ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จไปเมื่อเดือน ก.ค.2566 และ TVH เริ่มเข้าซื้อในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 14 ก.ค.2566 ที่ผ่านมา
“พอเป็น Holding Company ก็ทำอะไรได้มากขึ้น เดิมที่เป็นบริษัทประกันภัยจะขึ้นตรงกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) แต่ตอนนี้มี TVH เป็นบริษัทแม่ และ TVI เป็นบริษัทลูก เพื่อสนับสนุนบริษัทประกันภัย และลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ เปิดกว้างมากขึ้น ทำให้อีโคซิสเต็มส์ประกันภัยแข็งแรงมากขึ้น”
“เทพพันธ์” เล่าย้อนกลับไปในช่วงที่ได้เข้ามาร่วมบริหารงานบริษัทเมื่อปี 2559 โดยเป็น GEN ที่ 3 หลังจากจบปริญญาตรี และไปทำงานธนาคาร ในตำแหน่ง Product Manager จากนั้นเรียนต่อปริญญาโท บริหารธุรกิจ ที่สหรัฐอเมริกา และกลับมาทำ Project ที่ TVI
ต่อมาไปทำที่ Consultant ที่ Boston Consulting Group (BCG) ประมาณ 1 ปี ก่อนที่จะมาเริ่มงานบริหารที่ TVI หลังจากที่เคยทำ Project มาก่อนดังกล่าว ซึ่งมีความสนุกในการทำงาน คิดและลงมือทำได้จริง ประกอบกับคุณพ่อ “จีรพันธ์ อัศวะธนกุล” มีไอเดีย ในเรื่องของประกันรถเปิด-ปิด ทำให้สนใจเข้ามาร่วมบริหารที่ TVI ด้วยความสมัครใจ
โดยจุดเริ่มต้นของประกันรถเปิด-ปิด เริ่มจากการที่คุณพ่อ ได้เดินทางไปเยี่ยมตนที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งอยู่ไม่นาน จึงเกิดคำถามว่าทำไมจะต้องซื้อซิมรายเดือน ประกอบกับเศรษฐกิจไทยไม่ค่อยดีในช่วงนั้น จนทำให้คิดหาวิธีทำยังไงให้คนยังมีประกันได้อยู่ในราคาย่อมเยาว์ลงมา เสียค่าเบี้ยแค่ตอนเวลาเปิด เวลาปิดไม่ต้องเสียค่าเบี้ย จึงเป็นที่มาของประกันรถเปิด-ปิด ที่คุณพ่อคิดขึ้นมา โดยคุณพ่อมีวิสัยทัศน์ แต่ไม่มีคนช่วยดำเนินการ เลยอยากเข้ามาช่วยตรงนี้
สำหรับประกันรถเปิด-ปิด เปิดตัวมาแล้ว 5 ปี โดยบริษัทเป็นรายแรก และรายเดียวในไทย ถือเป็นผู้นำนวัตกรรมในด้านนี้ โดยมีการพัฒนามาโดยตลอด ปัจจุบันมีฐานลูกค้ากว่า 150,000 ราย
หลังจากที่เข้ามาช่วยบริหาร นอกจาก “ประกันรถเปิด-ปิด” ตนยังตั้งทีมกลยุทธ์ขึ้นมาใหม่ เนื่องจากไม่มีแผนกลยุทธ์ระยะยาวที่ชัดเจน รวมทั้งเซตวัฒนธรรมองค์กร และแบรนดิ้ง และทำมาร์เก็ต รีเสิร์ซ ว่าคนเข้าใจแบรนด์ของ “ไทยวิวัฒน์” เป็นอย่างไร นอกจากดูกลยุทธ์ ก็ดูมาร์เก็ตติ้ง ผลิตภัณฑ์ ตัวเลข ทีมขาย รวมไปถึงไอที และอินโนเวชั่น เพิ่งจัดตั้งได้ 4 ปี
“การทำแอปพลิเคชันประกันเปิด-ปิด ในช่วงเริ่มต้น ใช้ Outsource แต่ปัจจุบันย้ายมาเป็น In house ซึ่งทุกคนมีความแป็นเจ้าของโปรเจกต์ รวมไปถึงปรับ ขยับได้เร็วขึ้น ได้ Feedback จากลูกค้าตรง มาปรับ ทดลอง และเปิดตัวได้เลย”
ความท้าทายในการเข้ามาบริหาร คือ ต้องผสมผสานให้ดีระหว่างวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นแบบสตาร์ทอัพ ทุกคนแสดงไอเดียได้ กับความเป็นองค์กรเก่าแก่ที่มีประสบการณ์ความรู้มากว่า 70 ปี ซึ่งจะมีคนเก่าแก่ ที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยม แต่ในความท้าทายก็ต้องมองให้เป็นโอกาสให้ได้ ซึ่งมองว่าเป็นจุดแตกต่างขององค์กร
ทั้งนี้ บริษัทได้มีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงปลายปี 2563 ได้มีการพัฒนาแอปฯ Thaivivat เป็น Super App ซึ่งทำให้ทุกเรื่องประกันภัยเป็นเรื่องง่าย รวมทุกกรมธรรม์ และจัดการได้ในแอปฯ เดียว จากเดิมที่บริษัทจะมีแอปฯ หลายตัว เช่น แอปฯ สำหรับประกันสุขภาพ, ประกันรถยนต์ และประกันเดินทาง นอกจากนี้ แอปฯ Thaivivat ยังสามารถทำนอกเหนือจากเรื่องประกันได้ด้วย เช่น การจองที่จอดรถ ซึ่งได้ร่วมกับ เซ็นทรัล
ไม่หยุดพัฒนาปั้นสตาร์ทอัพลุย AI
นอกจากนี้ บริษัทได้ลงทุนสร้างสตาร์อัพ โดยบริษัทได้เข้าลงทุนใน บริษัท มอเตอร์ เอไอ เรคอกนิชั่น โซลูชั่น จำกัด (MARS) เป็นบริษัทจำกัดที่จัดตั้งขึ้นใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบธุรกิจเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจประกันภัย มีทุนจดทะเบียนจำนวน 20 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 200,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 100 บาท โดยบริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 75%
“การลงทุนใน MARS เป็นบริษัทที่ทำ AI อย่างเดียวเลย มองเป็นอนาคตของตลาดประกันภัย ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อปี 2563 โดยมีทีมงานสตาร์ทอัพจาก บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) หรือ THCOM มาคุยกับเรา และมีความเห็นตรงกัน จึงเริ่มทำโปรเจกต์ขึ้นมาก่อน เป็นโปรเจกต์เกี่ยวกับการนำ AI มาวิเคราะห์ชิ้นส่วนรถยนต์ ซึ่งประสบความสำเร็จ จากนั้นจึงมองต่อถึงโอกาสทางธุรกิจที่มีอย่างมาก”
โดยปัจจุบันได้เปิดตัวไปแล้ว 2 บริการ ได้แก่ MARS Inspect AI การตรวจสภาพรถก่อนทำประกันภัยด้วย AI ผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งเปิดตัวเมื่อปี 2565 ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงการประกันภัยได้ง่ายขึ้น และไม่ต้องเสียเวลา ส่วนในปี 2566 เปิดตัว MARS Garage นวัตกรรมการเคลมประกันรถยนต์ โดยการนำระบบ AI มาประมวลผล ประเมินการซ่อมรถ อย่างแม่นยำ และเรียลไทม์ ขณะนี้มีอู่ที่เข้าร่วมประมาณ 1,000 แห่ง
โปรเจกต์ และแผนงานสำคัญ
แรงบันดาลใจและโจทย์หลักที่อยากทำประกันภัย เนื่องจากมองว่าการประกันภัยเป็นพื้นฐานที่สำคัญของคนที่ทำให้คนเรามีชีวิตที่ดีขึ้น และประเทศเจริญขึ้นได้ ขณะเดียวกัน เห็นทั่วโลกแก้ปัญหาการไม่มีการวางแผนทางการเงิน ด้วยการรีไฟแนนซ์ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่ต้นเหตุที่แท้จริง คือ การไม่มีการวางแผนทางการเงิน ดังนั้นจึงอยากให้คนเข้าถึงประกันภัยได้มากขึ้น โดยการทำผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์รายบุคคลมากขึ้น ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย
โจทย์ต่อมา คือ ทางด้าน ESG มองว่าต้องทำเพื่อตอบแทนสังคม ขณะเดียวกัน ก็เป็นอนาคตของโลก ถ้าบริษัทไปทางนี้ก็เติบโตได้ในเชิงธุรกิจ เช่น ปีนี้ Tesla เข้ามาในไทยครั้งแรก ซึ่งบริษัทได้รับคัดเลือกเป็น 1 ในบริษัทประกันภัยสัญชาติไทยให้เป็นผู้ออกประกันภัยสำหรับรถยนต์ Tesla
มองเทรนด์อุตสาหกรรมประกันภัยในอนาคต
มองว่ายังมี High Potential เพราะ Penetration Rate ของประกันชีวิตและประกันภัยในไทยยังต่ำมาก ไม่ถึง 5% ของ GDP ขณะที่ประเทศที่เจริญแล้ว มี Penetration Rate มากกว่า 20% หากไม่รวมประกันชีวิต Penetration Rate ของประกันภัย น้อยกว่า 2% ดังนั้นยังมีโอกาสในการเติบโตได้อีกมาก
ส่วนผลิตภัณฑ์ประกันภัย ก็จะไปในทิศทางที่มีนวัตกรรม และตอบโจทย์ความเสี่ยงรายบุคคลมากขึ้น รวมไปถึงเทรนด์ Green Energy ซึ่งบริษัทก็ต้องเข้าไปเติมเต็มความเสี่ยงที่เกิด Green Energy เช่น รถ EV, โซลาร์เซลล์ เป็นต้น
“คนมีรถส่วนบุคคลประมาณ 15 ล้านคัน แต่กรรมธรรม์ภาคสมัครใจมีเพียง 7 ล้านคัน ดังนั้นมากกว่า 50% ที่คนไม่มีประกันภาคสมัครใจเลย เพราะเบี้ยมันแพงเกินไป ขณะที่ประกันรถเปิด-ปิด จ่ายเบี้ยตามเวลาที่ใช้จริง ก็ทำให้เราเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น”
เป้าหมายการเติบโตปี 66-67
การเติบโตเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เติบโตกว่าอุตสาหกรรม 4 เท่า โดยอุตสาหกรรมเติบโต 4% ขณะที่บริษัทเติบโต 16% หรือมีเบี้ยรับรวมอยู่ที่กว่า 7,000 ล้านบาท ในปี 2565 ซึ่งตอกย้ำว่าสิ่งที่บริษัทได้ทำมาตอบโจทย์คนไทย ด้วยการใช้นวัตกรรม ซึ่งนวัตกรรมที่บริษัทใช้ ส่วนหนึ่งก็มาจากลูกค้าด้วย สำหรับในปี 2566 บริษัทตั้งเป้าหมายมีเบี้ยรับรวมอยู่ที่กว่า 8,000 ล้านบาท และปี 2567 มีเบี้ยรับรวมอยู่ที่ 10,000 ล้านบาท
3 กลยุทธ์หลักสู่เป้าหมาย
1.Innovation ใช้นวัตกรรม และใช้ระบบ Design Thinking รวมไปถึงการหา Technology Partner ใหม่ๆ อยู่ตลอด
2. Customer Centric โดยทุกอย่างที่คิด มาจากมุมของลูกค้าก่อน
3. Lean (ลีน) วิธีการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ขยับได้รวดเร็ว
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.