“TDRI” เตือนรัฐบาล เข็นแจกเงิน 10000 เฟส3 เสี่ยงกระทบหนักฐานะการคลัง
ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสจากสถาบันการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยว่า ตนมีเห็นสอดคล้องกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เสนอให้รัฐบาลนำเงินบางส่วนจากโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท (เฟส3) ไปใช้สำหรับการลงทุนภาครัฐ โครงการพัฒนาบุคคลากร ที่นอกจากกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว ยังช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว
ซึ่งในภาพรวม การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการแจกเงินดิจิทัลไม่มีความเหมาะสมในภาพรวมโดยมีหลากหลายสาเหตุ เช่น สถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจไม่ได้ถดถอยจนต้องแจกเงินถึง 5 แสนล้านบาท รูปแบบการกระตุ้นยังไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเมื่อเทียบกับกลไกเดิมที่เคยดำเนินการ เช่น โครงการคนละครึ่ง หรือแม้แต่การพัฒนาในรูปแบบเงินดิจิทัลก็เป็นการสร้างระบบที่ซ้ำซ้อนกับสิ่งที่มีอยู่เช่น พร้อมเพย์
พอแยกส่วนมาเป็น 3 เฟส จะพบว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจจะกระจายได้นานขึ้นจาก 1 เป็น 3 ระยะ ซึ่งเฟสแรกจะดูมีความพอดีของทั้งขนาดเม็ดเงินที่กระตุ้นและกลุ่มเป้าหมายที่มีความเปราะบาง พอมาระยะที่สองจะเริ่มมีความเหมาะสมน้อยลง เพราะเริ่มกระตุ้นมากเกินความจำเป็น และกลุ่มเป้าหมาย (ผู้สูงอายุ) มีความเปราะบางแค่บางส่วน และเมื่อไปดูเฟสสามที่ไม่น่าจะมีเหตุผลทางวิชาการมาสนับสนุนเลยเพราะเป็นส่วนต่อขยายจากการกระตุ้นที่มากเกินความจำเป็น และกลุ่มเป้าหมายก็ไม่มีความเปราะบาง
ดังนั้น ผมเห็นด้วยกับ ธปท. ว่าการแจกเงินเฟส3 หรือแม้แต่เฟส2 ก็ควรเอาไปทำเรื่องระยะยาว มากกว่าการกระตุ้นในระยะสั้น
ทั้งนี้ การแจกเงิน 10,000 บาทร่วมกับแผนการจ่ายงบประมาณแบบขาดดุล (รัฐจ่ายมากกว่ารับ) จะทำให้หนี้สาธารณะเข้าใกล้ระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่กำหนดตามกฏหมาย (กรอบหนี้สาธารณะต่อจีดีพีไม่เกิน 70%)ซึ่งจะเป็นความเสี่ยงมาก หากเป็นการดำเนินการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น อัดฉีดแล้วก็หมดไป ถ้าใช้จ่ายสูงแต่มีหวังผลอนาคตแบบที่ธปท. แนะนำยังอุ่นใจได้ว่าเป็นการสร้างพื้นฐานเพื่อให้เศรษฐกิจในอนาคตดีขึ้น และทำให้รายได้ภาครัฐมีแนวโน้มมากขึ้น สามารถเอาเงินมาใช้หนี้ที่ก่อขึ้นมาได้
เมื่อระดับหนี้สาธารณะเข้ามาใกล้ระดับเพดานตามกฎหมาย แม้ว่ากฏหมายจะเปิดช่องให้ปรับเพดานเพื่อกู้มาใช้กรณีฉุกเฉินได้ แต่ก็เป็นสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงต่อการบริหารประเทศในระยะยาวมาก เพราะหนี้ที่สูง ภาระดอกเบี้ยก็สูงตามไปด้วย และอาจถูกปรับลดเครดิตประเทศทำให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น การก่อหนี้ที่ไม่จำเป็นอาจกลายเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองที่แก้ได้ยาก
ส่วนกรณีที่รัฐบาลมั่นใจว่า หลังจากที่รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตั้งแต่ไตรมาส3 ปี 2567 อาทิ แจกเงิน 10,000 บาท เฟส 1 และ2 ,โอนเงินชาวนาไร่ละพัน , Easy E-Receipt จะส่งให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 1.5 แสนล้านบาท จะช่วยผลักดันให้จีดีพีไทยปี 2568 เติบโตได้ 3% นั้น มองว่ามีความเป็นไปได้ แต่ก็ไม่ง่าย เพราะเศรษฐกิจยังมีความเสี่ยงมากมายที่รออยู่ เช่น สงครามการค้า ปัญหาเศรษฐกิจจีน ปัญหาหนี้ครัวเรือน หนี้ธุรกิจไทย ความถดถอยของความสามารถในการแข่งขัน
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.