"นฤมล" เปิดงาน FARM EXPO 2024 ดันสินค้าเกษตรไทยมีมูลค่าสูงขึ้น
ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงาน ฟาร์มเอ็กซ์โป 2024 (FARM EXPO 2024) ภายใต้ธีม REVOLUTIONISING FARM BUSINESS มุ่งเน้นการสร้างวิสัยทัศน์ใหม่นำเกษตรกรสู่นักธุรกิจการเกษตร ยกระดับการพัฒนาภาคการเกษตรอย่างยั่งยืน สร้างโอกาสตลาดใหม่ให้ผู้เกี่ยวข้องในภาคเกษตรอุตสาหกรรมคนไทย นำเสนอเทคโนโลยีการเกษตรที่นำไปใช้งานได้จริง โดยมีโซนที่ตอบโจทย์ความสนใจของผู้เยี่ยมชมงานมากกว่า 14 โซน โดยงานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-6 ตุลาคม 2567 นี้ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
ดร.นฤมล กล่าวเปิดงานว่า ตนรู้สึกเป็นเกรียติอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมเปิดงานในวันนี้ เพราะถือเป็นการจัดงานครั้งแรกเพื่อนำผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้องในภาคการเกษตรมาพบกัน เราหวังว่า จะเกิดการจับคู่ทาง ธุรกิจ หรือ จับคู่ทางการวิจัยการพัฒนาภาคกาคเกษตรต่อไป โดยภาคการเกษตรของไทยอยู่ในแกนหลักของประเทศในเชิงประชากร ในขณะนี้เรามีประชากรภาคการเกษตรที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงเกษตรฯอยู่ประมาณ 8.8 ล้านคน แต่ยังมีส่วนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนและอยู่ในรายงานภาคการเกษตรอีกรวมแล้ว 20 กว่าล้านคน ซึ่งภาคการเกษตรมีสัดส่วนประมาณ 15 % ของ GDP ประเทศ ยังไม่นับรวมถึงสินค้าแปรรูปอื่น ๆ อย่างเช่นยางพาราที่แปรไปเป็นถุงมือยาง หรือ ยางล้อรถยนต์ ดังนั้นหากเราเพิ่มศักยภาพของภาคการเกษตรให้เข้าสู่การแปรรูปมากยิ่งขึ้น ตัวเลขก็จะไปโตในภาคอุตสาหกรรม
“หลายคนอาจจะงงว่า อาจารย์ผันตัวเองจากภาคการศึกษามาสู่การเมืองได้อย่างไร นั่นก็เพราะอาจารย์ไม่ได้มาจากครอบครัวที่ร่ำรวย และการศึกษาทำให้เราพ้นจากความยากจนมา แต่ก็เพราะได้รับทุนจากรัฐบาล จึงรู้สึกเป็นหนี้ของประชาชนที่เสียภาษีส่งเสียเราเรียนมาโดยตลอด จึงมีความตั้งใจว่าอยากจะนำความรู้มาทำงานเพื่อตอบแทนให้กับพี่น้องประชาชน“ศ.ดร.นฤมล กล่าว
ศ.ดร.นฤมล กล่าวต่อว่า งานวิจัยพบว่าเกษตรกรไทยยังอยู่ในกับดักความยากจนก็เพราะ ั
1. ขาดความรู้ในการทำเกษตรสมัยใหม่
2.โอกาสในเรื่องที่ดินที่ทำกิน ซึ่งที่ผ่านมา ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯได้เดินหน้าแก้ปัญหาให้ประชาชนในเรื่องนี้ไปมากแล้ว ในการจัดการที่ทำกิน ทำให้เกษตรกรมีที่ทำกินที่ถูกต้อง
และ 3.ขาดแหล่งเงินทุน อย่างเช่น ธนาคารของภาครัฐอาจจะมาร่วมงาน FARM EXPO ในปีนี้ไม่ทัน แต่เชื่อว่าในปีหน้าจะมีภาคีเครือข่ายเพิ่มมากขึ้น และถ้ามีอะไรให้กระทรวงเกษตรฯสามารถสนับสนุนได้ก็ยินดี
ศ.ดร.นฤมล ยังกล่าวถึง นโยบายขับเคลื่อนงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า หลัก ๆ เราเน้นไปที่การยกระดับสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง ผ่านนวัตกรรม การสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ การสร้าง Brand หรือ Story ให้กับเกษตรกรเพื่อทำให้สินค้าเกษตรมีมูลค่ามากขึ้น ทั้งนี้ รัฐบาลยังคงเน้นแนวคิด “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้”โดยเน้นไปที่ตลาดทั้งในและนอกประเทศ อย่างประเทศในตะวันออกกลาง หรือเอเชียกลาง ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพ ที่ทำให้ในปีที่ผ่านมาการส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นประมาณ 6.9% ซึ่งยังมีโอกาสอีกเยอะ โดยเฉพาะประเทศจีนที่ยังเปิดรับสินค้าเกษตรรวมถึงสินค้าแปรรูปต่างๆ หรือญี่ปุ่นก็ให้ความสนใจในสินค้าของเราเพิ่มขึ้น อย่างเช่น กล้วยหอมทอง
ทั้งนี้ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของเกษตรยั่งยืนในกลุ่มประเทศ EU เขาก็ออก EUDR (European Union Deforestation-free Regulation) แล้วว่าสินค้าที่จะส่งไปจากประเทศใดก็ตามในโลกที่จะเข้ากลุ่ม EU ต้องปฎิบัติตามกฎหมาย EUDR ในส่วนของสินค้าเกษตรอย่าง ยางพาราเราส่งออกเป็น 1 ใน 3 ของโลก ปริมาณการส่งออกประมาณเกือบๆ 5 ล้านตันต่อปี ตอนนี้เราเร่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติที่จะดูแลเรื่อง EUDR นี้ ส่วนทางการยางแห่งประเทศไทย เราก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า ไม่ได้เพาะปลูกอยู่ในที่ผิดกฎหมาย ที่บุกรุกป่า ที่ทำลายป่า โดยขณะนี้มีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกยางแล้วประมาณ 15 ล้านไร่ ซึ่ฃจะสามารถทำตามกฎหมาย EUDR ได้แน่นอน
“การขับเคลื่อนนโยบายด้านการเกษตรเพื่อไปสู่ความสำเร็จได้ กระทรวงเกษตรทำคนเดียวไม่ได้ เราจะทำสำเร็จได้ จะเป็นเกษตรมูลค่าสูง จะเป็นเกษตรยั่งยืนได้ ต้องได้ความร่วมมือจากทุกท่านที่นั่งอยู่ในที่นี้ ต้องได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายที่อยู่นอกห้องนี้อีกที่จะมาร่วมกันสนับสนุน ช่วยให้ภาคเกษตรกรของไทยเติบโตมากยิ่งขึ้นและมีมูลค่าสูงมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้หวังว่าผลลัพธ์ที่ได้จากการจัดงานในครั้งนี้ จะนำไปต่อยอดทำให้เกิดความร่วมมือของกระทรวงเกษตร และ ภาคเกษตรของไทยต่อไป”ศ.ดร.นฤมล กล่าว
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.