คลัง เตรียมออกมาตรการภาษี กระตุ้นการใช้จ่ายปลายปี67 ดันจีดีพีโต3%

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังปาฐกถาพิเศษในงาน Fitch on Thailand 2024 ว่า รัฐบาลมีความพยายามจะผลักดันให้เศรษฐกิจไทยในปี 2568 ขยายตัวได้มากกว่า 3% ส่วนหนึ่งเป็นเม็ดเงินจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 ใส่เข้าไปในระบบเศรษฐศกิจ รวมทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้งใหญ่ ทำให้มีผลต่อจีดีพีขยับขึ้น อีกราวกว่า 0.3% ทั้งนี้ คาดว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้ มีโอกาสขยายตัวได้ใกล้เคียง 2.7% เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิมที่ 2.6%

“ถ้าไม่รวมเงินจากโครงการฯ คาดว่าเศรษฐกิจก็จะโตได้ 2.6% แต่ถ้ารวมผลของเงิน 1 หมื่นบาทเข้าไป ก็จะโตเพิ่มได้อีก 0.3% กว่า ๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมีผลเฉพาะแค่ปีนี้ มันจะลากยาวไปต้นปีหน้าด้วย " นายเผ่าภูมิ กล่าว

โดย ในช่วงปลายปีนี้ รัฐบาลได้เตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไว้แล้ว โดยยืนยันว่า ไม่ใช่รูปแบบโครงการ "คนละครึ่ง" แต่จะเป็นรูปแบบของมาตรการภาษีและการกระตุ้นใช้จ่าย แต่จะเป็นรูปแบบใดให้รอดู เรามีไทม์ไลน์ชัดเจนแล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้
 

นายเผ่าภูมิ ได้ชี้แจงให้บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Rating Agency) ตลอดจนนักลงทุนต่าง ๆ ได้เห็นถึงศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทยในหลายด้าน ทั้งด้านการเงิน และด้านการคลัง ซึ่งเป็นจุดแข็งสำคัญของไทย ที่ Rating Agency จะนำไปใช้ประกอบการพิจารณาจัดอันดับประเทศไทย โดยดูจาก 3 ด้านหลักสำคัญ คือ 


1. ไทยมีแนวโน้มที่จะมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในทิศทางบวก โดยมีแนวโน้มที่เศรษฐกิจจะโตสูงกว่าเป้าหมายที่คาดไว้เดิมที่ 2.7% เป็นผลจากการดำเนินมาตรการทางคลังและการเงินอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง รวมถึงผลจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งจะมีแรงส่งทางเศรษฐกิจต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 2 ของปี 2568 และรัฐบาลได้เตรียมเครื่องมือทางการคลังและการเงินเข้ารักษาแรงส่งทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในปี 2568 

2. ไทยมุ่งรักษาความมั่นคงทางการคลัง หนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ในเกณฑ์ที่กลาง-ต่ำ อยู่ในเกณฑ์ที่รัฐบาลสามารถบริหารจัดการ ทั้งนี้ หากใช้นิยามหนี้สาธารณะตามมาตรฐาน IMF ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลแล้ว ประเทศไทยจะมีหนี้สาธารณะต่อ GDP เพียง 58.28% เท่านั้น ซึ่งอยู่ในเกณฑ์กลาง-ต่ำ หากเทียบกับประเทศคู่ค้า และดุลการคลังจะเข้าสู่ร้อยละ 3 ในช่วงปี 2570  

 

3. ศักยภาพและการเติบโตของตลาดทุนอยู่ในเกณฑ์สูง กระโดดขึ้นจาก 12% ของ GDP ในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง สู่ระดับ 94% ของ GDP รวมถึงความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน สภาพคล่อง ฐานนักลงทุน เป็นปัจจัยพื้นฐานที่ดีต่อการเติบโตของภาคเอกชนไทย

 

4. การบริโภคของประเทศมีสัญญาณบวก ตัวเลข Real VAT เติบโตอย่างต่อเนื่อง 7 เดือนแรกโตถึง 7.4% โดยรัฐบาลอยู่ระหว่างการรักษาแรงส่งทางเศรษฐกิจ ส่งผ่านการบริโภคไปสู่การลงทุนของภาคเอกชนในระยะต่อไป 

 

5. คลังและธปท. ทำงานร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด เพื่อหาจุดสมดุลระหว่างการรักษาเสถียรภาพและศักยภาพของระบบเศรษฐกิจ โดยเร่งรักษาเสถียรภาพของค่าเงินที่ต้องไม่ผันผวนเกินไป ระดับของค่าเงินที่สอดคล้องกับประเทศคู่ค้า ระดับเงินเฟ้อที่อยู่ในกรอบเป้าหมาย ช่วงว่างเงินฝาก-เงินกู้ที่เอื้อต่อภาคเอกชน ปริมาณและความเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อที่ส่งเสริมการเจริญเติบโตของประเทศ
 

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.