สรรพากร เตรียมเก็บภาษีผู้มีรายได้จากต่างประเทศ แม้ไม่นำเงินเข้าไทย
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมฯ เตรียมแก้ไขกฎหมายให้บุคคลผู้มีเงินได้จากต่างประเทศ และพำนักอยู่ในประเทศไทยเกินกว่า 180 วัน( Resident ) มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แม้ไม่ได้นำรายได้เข้าประเทศไทยก็ตาม จากปัจจุบันกำหนดว่า จะต้องเสียภาษีให้กับประเทศไทยเมื่อนำรายได้นั้นๆเข้ามาในประเทศไทยจะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับกรมสรรพากร ซึ่งพบว่าเกิดปัญหาความยุ่งยากในการเสียภาษี เพราะมีกรณีที่ผู้เสียภาษีมีการนำเงินรายได้เข้ามาในประเทศล่าช้า ไม่ตรงกับปีที่ได้รับรายได้ในต่างประเทศ
“ขณะนี้เราอยู่ระหว่างดำเนินการยกร่างหลักการ เพื่อเตรียมแก้ไขกฎหมายในมาตรา 41 เพื่อไม่ไปผูกกับการนำเงินรายได้เข้ามา แต่เมื่อท่านมีรายได้จากต่างประเทศไม่ว่าจากที่ใดแล้วนำเข้ามาในไทยจะต้องหน้าที่ต้อง declare แล้วต้องเสียภาษีเงินได้ เราต้องดูในเรื่องสร้างความเป็นธรรมในหลักของ world wide income ให้กับผู้เสียภาษี และนำรายได้เข้ารัฐ ” นางสาวกุลยา กล่าว
นางสาวกุลยา กล่าวต่อว่า ยืนยันว่าการเก็บภาษีดังกล่าว จะไม่เกิดการเสียภาษีซ้ำซ้อนระหว่างกัน สมมุติว่าแหล่งรายได้มาจากประเทศอเมริกา และผู้นั้นได้เสียภาษีให้กับอเมริกาแล้ว 40% ของเงินได้สุทธิ ก็ไม่ต้องเสียให้กับไทยอีก ซึ่งเป็นเกณฑ์ระหว่างประเทศที่มีข้อตกลงแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน ตามองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD ยกเว้นแต่ว่าประเทศนั้นๆที่มีการเก็บภาษีต่ำกว่าไทย ที่ไทยปัจจุบันเก็บอยู่ที่ 35% ของรายได้สุทธิ ก็ต้องจ่ายส่วนต่างภาษีให้กับไทยด้วย
ทั้งนี้ กรมฯจะเร่งร่างหลังการ เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) หลังจากนั้นจะนำเข้าสู่ขั้นตอนของกฎหมาย เมื่อแล้วเสร็จ จะบังคับใช้ให้เร็วที่สุดในช่วงปี 2568
นอกจากนี้ กรมฯ อยู่ระหว่างเร่งเสนอกฎหมายและเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่ม ตามหลักการ Pillar2 การจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ (Global Minimum Tax) ที่กำหนดให้กลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติขนาดใหญ่เสียภาษีเงินได้ในอัตราภาษีที่แท้จริงไม่น้อยกว่า 15% ซึ่งภาษีดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงระหว่างประเทศ ที่อยู่ในกรอบความตกลง OECD ที่บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่จะต้องเสียภาษีในอัตราไม่น้อยกว่า 15% ซึ่งหากประเทศเราดำเนินการจะสามารถเก็บภาษีดังกล่าวได้เช่นเดียวกัน ซึ่งเรื่องนี้อยู่ระหว่างเสนอครม. พิจารณาในการออกกฎหมาย
สำหรับ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% จากนำเข้าสินค้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาทนั้น ขณะนี้กรมฯ ได้ร่วมกับผู้ประกอบการ แพลตฟอร์มต่าง ๆ กำลังพัฒนาระบบ เพื่อจัดเก็บภาษีดังกล่าว โดยหลักการ คือ แพลตฟอร์มจะเป็นผู้นำส่งภาษี ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและจะสามารถดำเนินการใช้ได้ในช่วงต้นปี 2568
สำหรับ ภาพรวมการจัดเก็บรายได้ในช่วง 11 เดือน ของปีงบประมาณ 2567 (ต.ค.66-ส.ค.67) ว่า สามารถจัดเก็บรายได้ อยู่ที่ 1.96 ล้านล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 8.48 พันล้านบาท หรือ 0.4% และสูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 4.79 หมื่นล้านบาท หรือ 2.5% เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศเริ่มมีการฟื้นตัว รวมถึงมาตรการด้านภาษีของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะมาตรการ Easy E-Receipt และมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว ที่ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่จัดเก็บจากการบริโภคภายในประเทศขยายตัวได้ดีกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 7.7%
"กรมฯ มั่นใจว่าในปีงบประมาณ 2567 จะสามารถจัดเก็บภาษีได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ที่ 2.28 ล้านล้านบาท ขณะที่ในปีงบประมาณ 2568 กรมฯ ได้รับเป้าหมายการจัดเก็บรายได้อยู่ที่ 2.37 ล้านล้านบาท เติบโต 4.2% จากปีงบประมาณ 2567" นางสาว กุลยา กล่าว
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.