FETCO ชงรัฐบาลออกมาตรการปลายปีนี้ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจถึงกลางปี 67
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยว่า รัฐบาลควรมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2566 หลังจากงบประมาณล่าช้าไป 1 ไตรมาส ประกอบกับเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทย หากมีมาตรการช่วยกระตุ้น จะทำให้พยุงเศรษฐกิจไทยได้ถึงกลางปี 2567 อย่างไรก็ตาม อาจจะต้องเลือกมาตรการที่จะกระตุ้น เพื่อให้ให้งบประมาณที่มีจำกัดประมาณ 200,000 ล้านบาท ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
สำหรับมาตรการกระต้นเศรษฐกิจ อาทิ ด้านการท่องเที่ยว เช่น มาตรการฟรีวีซ่า เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศได้อย่างรวดเร็ว และใช้งบประมาณน้อย, มาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย, มาตราการค้ำประกันการเข้าถึงสินเชื่อของภาคท่องเที่ยว เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการเร่งโครงการลงทุนต่างๆ ที่มีการอนุมัติไว้แล้ว และการดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ หรือผู้เชี่ยวชาญเข้ามาในประเทศไทย
“ความกังวลต่อนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จะกระทบต่อนโยบายการเงินการคลังหรือไม่นั้น ต้องให้ทางรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องหารือกันก่อน และยังต้องติดตามดูว่ารายละเอียดของนโยบายดังกล่าวจะออกมาอย่างไร โดยอันดับแรกรัฐบาลจะต้องไปแก้ไขในเรื่องของกฎหมายให้เรียบร้อยก่อน เพื่อให้รองรับกับการใช้จ่ายภาครัฐ และกำหนดกรอบวงเงินงบประมาณ ซึ่งต้องไปดูว่างบประมาณมีเพียงพอเท่าไหร่ และจะต้องหาเพิ่มเข้ามาอีกเท่าไหร่” นายกอบศักดิ์ กล่าว
นอกจากนี้ FETCO เตรียมนำข้อเสนอ และนโยบายส่งเสริมตลาดทุนไปหารือกับรัฐบาล ซึ่งจะมีนโยบายหลาอย่าง เช่น การส่งเสริมการลงทุนระยะยาวของนักลงทุน, บทบาทของตลาดทุนในการช่วยเหลือรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รวมไปถึงช่วยเหลือ SME พัฒนาชุมชน สิ่งแวดล้อมร่วมกับรัฐบาล
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือนสิงหาคม 2566 พบว่า “ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในอีก 3 เดือนข้างหน้า (พฤศจิกายน 2566) อยู่ที่ระดับ 141.27 ปรับขึ้น 69.3% จากเดือนก่อนหน้า อยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง”
โดยความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคล ปรับเพิ่ม 75.6% อยู่ที่ระดับ 165.00 อยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรงอย่างมาก” กลุ่มนักลงทุนสถาบัน ปรับเพิ่ม 47.1% อยู่ที่ระดับ 147.06 และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศปรับเพิ่มขึ้น 87.5% อยู่ที่ระดับ 125.00 อยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” ในขณะที่ความเชื่อมั่นกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ คงตัวอยู่ที่ระดับ 112.50 อยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว”
ทั้งนี้ นักลงทุนมองว่าความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาล เป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมา คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และ การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว
สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สถานการณ์เศรษฐกิจจีน รองลงมา คือ สถานการณ์การเมืองในประเทศในการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล และการประกาศจะจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ (Financial Transaction Tax: FTT)
ขณะเดียวกัน หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดพาณิชย์ (COMM) ส่วนหมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดแฟชั่น (FASHION)
SET Index มีความผันผวนสูงในช่วงครึ่งแรกของเดือน จากความไม่แน่นอนทางการเมืองในการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่อ่อนตัวลง จากราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างมาก และค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารปรับตัวสูงขึ้น จากการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมถึงได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจจีนที่อ่อนแอลงและวิกฤติภาคอสังหาริมทรัพย์จีน อีกทั้งการที่ Fitch ปรับลด Credit Rating ระยะยาวของสหรัฐ จากระดับ AAA เหลือ AA+
อย่างไรก็ตาม SET Index กลับมาปรับตัวในทิศทางบวกในช่วงสองสัปดาห์สุดท้ายของเดือน หลังการลงมติเลือก คุณเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ซึ่งสะท้อนแนวโน้มความมีเสถียรภาพทางการเมือง โดย SET Index ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2566 ปิดที่ 1,565.94 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.6% จากเดือนก่อนหน้า ปริมาณซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในเดือนสิงหาคม 2566 อยู่ที่ 58,579 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิกว่า 14,755.28 ล้านบาท ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ของปีนี้ โดยตั้งแต่ต้นปี 2566 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิรวมกว่า 132,936 ล้านบาท
ทางด้านปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตาม ได้แก่ มาตรการทางการเงินของธนาคารกลางประเทศต่างๆ หลังสหรัฐปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 5.25-5.50% และธนาคารกลางยุโรปปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 3.75% ซึ่งสูงสุดนับตั้งแต่ใช้เงินสกุลยูโรตั้งแต่ปี 2542 อีกทั้งจับตาภาวะเศรษฐกิจจีนจากผลกระทบของวิกฤติภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีนหลังบริษัท ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ ประกาศล้มละลาย
ในส่วนของปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ นโยบายต่างๆ ของรัฐบาลชุดใหม่ที่จะสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจและภาคตลาดทุน ภาคการส่งออกของไทยที่ยังติดลบเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว รวมถึงความท้าทายเรื่องหนี้ครัวเรือนที่ปัจจุบัน สูงถึง 90.6% ของ GDP
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.