ส่งออกเม.ย.2567 พลิกบวก 6.8% ขณะที่ 4 เดือนแรกโต 1.4%

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) แถลงถึงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนเมษายน และ 4 เดือนแรกของปี 2567 ว่า การส่งออกของไทยในเดือนเมษายน 2567 มีมูลค่า 23,278.6 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 834,018 ล้านบาท  ขยายตัวเพิ่มขึ้น 6.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 11.4%

 

การส่งออกของไทยพลิกกลับมาขยายตัวเป็นบวกอีกครั้ง สอดคล้องกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่มีมุมมองว่า เศรษฐกิจโลกมีการฟื้นตัวที่ดีจากอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของโลกที่ชะลอตัวลง ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อภาคการผลิตทั่วโลก โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นหลายรายการ ขณะที่ผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลง แต่อานิสงส์ด้านราคาตามความต้องการของตลาดโลก ส่งผลให้การส่งออกสินค้าเกษตรบางรายการยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง 

 

ส่วนตลาดส่งออกที่ต้องจับตา คือ ตลาดจีน หดตัว 7.8% (หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ผลิตภัณฑ์ยาง และเม็ดพลาสติก และสินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้และยางพารา


ขณะที่ การส่งออกไทย 4 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัว 1.4% และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 3.7%  โดยการส่งออก มีมูลค่า 3,338,028 ล้านบาท ขยายตัว 6.2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 3,595,217 ล้านบาท ขยายตัว 9.7% ดุลการค้า 4 เดือนแรกของปี 2567 ขาดดุล 257,190 ล้านบาท

 

ตลาดส่งออกสำคัญส่วนใหญ่กลับมาขยายตัวหลังจากหดตัวในเดือนก่อน สอดคล้องกับสัญญาณการขยายตัวของภาคการผลิตโลก อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปตลาดจีน และญี่ปุ่นยังคงหดตัว

 

ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่าง ๆ อาทิ (1) ตลาดหลัก ขยายตัว 6.7% โดยขยายตัวต่อเนื่องในตลาดสหรัฐฯ 26.1% และ CLMV 5.1% กลับมาขยายตัวในตลาดอาเซียน  3.7% และ สหภาพยุโรป (27) 20.2% แต่หดตัวต่อเนื่องในตลาดจีน 7.8% และญี่ปุ่น 4.1%  ตลาดรอง ขยายตัว 14.4% โดยตลาดทวีปออสเตรเลีย ขยายตัวต่อเนื่อง 18.6% และกลับมาขยายตัวในตลาดเอเชียใต้ 13.0% ตะวันออกกลาง 17.8% แอฟริกา 32.1% ลาตินอเมริกา  41.9% รัสเซียและกลุ่ม CIS 8.6% ขณะที่สหราชอาณาจักร หดตัว 33.7%  ตลาดอื่น ๆ หดตัว 68.5% อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ หดตัว 79.3% ตลาดสหรัฐฯ ขยายตัว 26.1% (ขยายตัวต่อเนื่อง 7 เดือน) ตลาดจีน หดตัว7.81% (หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ผลิตภัณฑ์ยาง และเม็ดพลาสติก 

 

ส่วน ตลาดอาเซียน (5) ขยายตัว 3.7% (กลับมาขยายตัวในรอบ 3 เดือน) ตลาด CLMV ขยายตัว 5.1% (ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน)


สำหรับ แนวโน้มการส่งออกในปี 2567 กระทรวงพาณิชย์คาดว่า การส่งออกของไทยในปี 2567 จะยังสามารถเติบโตได้ดีจากความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมที่เติบโตตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว และปัญหาเงินเฟ้อที่เริ่มบรรเทาลง ส่งผลดีต่อกำลังซื้อในหลายประเทศ ขณะที่สภาพอากาศแปรปรวนสร้างแรงผลักดันต่อราคาสินค้าเกษตรและความต้องการนำเข้าเพื่อความมั่นคงทางอาหาร แต่กดดันปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดโลก นอกจากนี้ยังมีความไม่แน่นอนจากปัญหา

 

ด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางที่มีแนวโน้มขยายวงกว้าง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ติดตามประเมินสถานการณ์เป็นระยะ และจะทำงานร่วมกับทูตพาณิชย์ในแต่ละประเทศเพื่อแสวงหาแนวทางสร้างโอกาสและลดอุปสรรคในการส่งออกต่อไป

 

"คาดว่าการส่งออกของไทยในเดือนพ.ค.จะขยายตัวเป็นบวกได้ตอเนื่อง จากการส่งออกสินค้าผลไม้ที่ปรับตัวดีขึ้น เพราะเดือนพ.ค.เป็นเดือนที่ผลผลิตทุเรียนออกสู่ตลาดมากที่สุด ส่วนไตรมาส 2 คาดว่า ส่งออกจะเป็นบวก 0.8-1% ทำให้กระทรวงพาณิชย์ยังคงเป้าหมายส่งออกทั้งปีไว้ที่ 1-2%ต่อปี" นายพูนพงษ์ กล่าว

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.